กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7 8 9 10
31
บทความ บทกวี / ...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙...
« กระทู้ล่าสุด โดย เว็บมาสเตอร์... เมื่อ 10 มี.ค. 2565, 06:14:27 »


...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙...

...การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปนั้น
เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ในทาง
พระพุทธศาสนาเรียกว่ากฎ
พระไตรลักษณ์คือความไม่เที่ยง
ความเป็นทุกข์ ความเป็นสิ่งสมมุติ
ทั้งหลาย ยึดถือไม่ได้ อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา เป็นธรรมดาของ
สรรพสิ่งในโลกนี้...

...โลกและธรรม ทิศทางที่ต่างกัน...
๐ โลกธรรม นำมา ซึ่งสะสม
ค่านิยม สังคม ในยุคใหม่
เพื่อโอ้อวด แข่งขัน กันเรื่อยไป
ต่างกอบโกย กำไร ไม่ระวัง
๐ ทั้งลาภยศ สรรเสริญ เพลินในสุข
ทำให้ทุกข์ ตามมา ในภายหลัง
เมื่อเสื่อมยศ เสื่อมลาภ ให้ล้มพัง
มีคนชัง ไม่สรรเสริญ ไม่เยินยอ
๐ กินกามเกียรติ กอบโกย เพราะโหยหา
ให้ได้มา ในสิ่ง ที่ร้องขอ
เพราะความที่ อยากได้ ไม่รู้พอ
จึงเกิดก่อ ความทุกข์ ไม่สุขใจ
๐ ความสำเร็จ ของชีวิต ที่คิดหา
คือทรัพย์สิน เงินตรา นั้นหาไม่
ความสำเร็จ ของชีวิต อยู่ที่ใจ
บอกว่าพอ เมื่อไหร่ ก็ใช่เลย
๐ เมื่อมุ่งหวัง มาเป็น สมณะ
เพื่อลดละ ทุกสิ่ง ไม่นิ่งเฉย
ทั้งอัตตา ตัวตน ที่คุ้นเคย
กิเลสเอย ตัณหาเอย เร่งละวาง
๐ อยู่กันแบบ พอเพียง ก็เพียงพอ
การร้องขอ เกินไป ออกให้ห่าง
เดินตามธรรม มีธรรม เป็นแนวทาง
ตามแบบอย่าง พระอาจารย์ ท่านทำมา
๐ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง
ท่านได้สร้าง แบบไว้ ให้ศึกษา
ตามหลักธรรม ขององค์ พระสัมมา
ใช้ปัญญา ใช้สติ หมั่นตริตรอง
๐ ธรรมวินัย ศึกษา ปฏิบัติ
ให้เคร่งครัด ทำตัว ไม่มัวหมอง
มรรคองค์แปด เส้นทางธรรม ตามครรลอง
เพื่อปกป้อง สืบทอด ธรรมวินัย...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕...
32
บทความ บทกวี / ...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๘...
« กระทู้ล่าสุด โดย เว็บมาสเตอร์... เมื่อ 09 มี.ค. 2565, 06:24:33 »


...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๘...

....กาลเวลานั้นย่อมหมุนเวียน
และเปลี่ยนไป ไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุด
และหยุดนิ่งสรรพสิ่งย่อมเคลื่อนไหว
โลกนั้นแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา
ไม่เคยหยุดนิ่ง กระแสแห่งโลกนั้น
จึงไม่มีวันที่จะสิ้นสุดและหยุดอยู่
...แต่จิตของมนุษย์นั้นย่อมมีวัน
ที่จะสิ้นสุดและหยุดนิ่ง ถ้าได้รู้
และได้เห็นความเป็นจริงของชีวิต
จิตวิญญาน สิ้นสุดด้วยการที่รู้จักพอ
โดยไม่ร้องขอและแสวงหาอีกต่อไป...

...มากมาย หลายเรื่องราว
ซึ่งข่าวคราว ที่ส่งมา
ร้อยเรื่อง ร้อยปัญหา
ทำให้คิด และติดตาม

...ทางโลก และทางธรรม
จิตน้อมนำ มิมองข้าม
เฝ้าดู อยู่ทุกยาม
เฝ้าดูจิต ที่คิดไป

...ผัสสะ มากระทบ
และมันจบ ลงที่ใจ
บางครั้ง จิตหวั่นไหว
ต่อผัสสะ ที่มีมา

...คล้อยตาม กระแสโลก
จึงทุกข์โศก กับปัญหา
เพราะจิต มีอัตตา
ชี้ถูกผิด ด้วยจิตตน

...พลั้งเผลอ ใช่พลั้งพลาด
มีโอกาส จะฝึกฝน
เผลอไป ให้รู้ตน
เตือนสติ ให้กลับมา

...วางจิต อยู่ในกาย
ไม่เสาะส่าย ออกไปหา
ดูจิต ดูกายา
ไม่ส่งจิต ออกนอกกาย

...จิตที่ ส่งออกนั้น
รู้ให้ทัน อย่าให้หาย
เป็นเหตุ สมุทัย
ทำให้ทุกข์ นั้นเกิดมา

...จิตรู้ จิตเห็นจิต
เห็นความคิด รู้ปัญหา
สิ่งนั้น คือมรรคา
ที่จะดับ ทุกข์นั้นไป

...ผลจาก การเห็นจิต
ดับสนิท สิ้นสงสัย
สว่าง ขึ้นในใจ
เป็นนิโรธ ที่ดับลง

...วางจิต ไว้ในกาย
อย่างมั่นหมาย มิไหลหลง
ตั้งจิต ให้มั่นคง
โดยเอาธรรม มานำทาง

...นำทาง สร้างชีวิต
และนำจิต สู่สว่าง
เดินใน ทางสายกลาง
ตามมรรคแปด ควบคุมตน

...ชีวิต อิสระ
ไร้พันธะ เพราะหลุดพ้น
หลุดออก จากวังวน
ในวัฏฏะ ที่เป็นมา

...เข้าสู่ กระแสธรรม
บุญหนุนนำ ให้ล้ำค่า
ก่อเกิด ซึ่งปัญญา
ตาสว่าง เพราะทางธรรม...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๙ มีนาคม ๒๕๖๕...
33


...เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๘...

...เตือนย้ำอีกครั้งสำหรับพี่น้องชาวไทย...

...กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘...

...รณรงค์ให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง...

...ยกธรรมกล่าวอ้าง ให้เป็นแบบอย่าง
อักษรวิธี กาพย์กลอนโคลงฉันท์ สิ่งนั้นควรมี
เพราะเป็นของดี มาแต่โบราณ

...การใช้ภาษา สืบทอดกันมา ครูบาอาจารย์
เขียนให้ถูกต้อง สอดคล้องกับงาน
เพื่อจะสืบสาน ภาษาของไทย

...อย่าได้มักง่าย เพราะว่าความหมาย
มันจะเปลี่ยนไป คิดก่อนจะเขียน จงเพียรแก้ไข
ภาษาที่ใช้ ตามหลักตำรา

...คำพูดคำเขียน จงเพียรใส่ใจ ไว้เสริมปัญญา
ภาษาวิบัติ อย่าหัดมาใช้ ไม่ใช่ของไทย
มันไม่งดงาม

...เตือนจิตเตือนใจ รักษากันไว้ อย่าได้มองข้าม
ภาษาของชาติ ประกาศชื่อนาม อย่าให้เขาหยาม
ภาษาของเรา

...ภาษาที่ใช้ คือภาษาไทย อย่าอายใครเขา
สดสวยงดงาม ติดตามตัวเรา อย่าให้ใครเขา
ติฉินนินทา...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๙ มีนาคม ๒๕๖๕...
34


...เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๗...

...มีหลายคนมาบ่นระบายให้ฟังอยู่เสมอ
ว่า“ ทำดีไม่ได้ดี ทำดีแล้วไม่มีคนยอมรับ ”
หรือทำความดี แล้วมีคนมานินทาให้ร้าย
จึงทำให้ไม่อยากจะทำความดีอีกต่อไป
น้อยอกน้อยใจในเสียงสะท้อนที่ตอบกลับมา
จึงได้มาบ่นระบายให้พระฟัง
...ทุกชีวิตย่อมมีความผิดพลาดมากบ้าง
น้อยบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนคนที่
ยังไม่หมดกิเลส สติยังไม่สมบูรณ์เต็มพร้อม
ในทุกขณะจิต ความคิดและการกระทำย่อม
อาจจะมีพลั้งเผลอ ไปตามแรงกิเลสตัณหา
และอุปาทาน แต่เมื่อใดที่มีสติระลึกรู้แล้ว
ควรห้ามจิตห้ามใจไม่กระทำในสิ่งนั้นต่อ
ความรู้สึกส่วนลึกใต้จิตสำนึกของทุกคนนั้น
ต่างก็อยากจะเป็นคนดีของสังคม
...แต่บางครั้งการมีทัศนคติต่อสังคมในแง่ร้าย
ของเขานั้น ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปในทางไม่ดี
โดยมีพฤติกรรมทางกายที่เรียกว่า การประชด
สังคม อ้างว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขา ทั้งที่ความ
จริงแล้ว สังคมเปิดโอกาสให้เขาอยู่ตลอดเวลา
แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นตัวพิสูจน์เพื่อให้สังคม
ยอมรับและเชื่อมั่นในพฤติกรรม
...เพราะความใจร้อนที่อยากจะได้ผลตอบรับ
โดยเร็วไว จึงทำให้คิดว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขา
ไม่ยอมรับในความดีที่เขาได้ทำ ซึ่งความสำเร็จ
ทุกอย่างนั้นต้องอาศัยความอดทน จังหวะเวลา
โอกาสบุคคลและสถานที่มาเป็นเหตุปัจจัย
ให้เกิดความสำเร็จ ความยอมรับของสังคม
การกระทำที่เสมอต้นเสมอปลาย ในสิ่งที่ดี
ทั้งหลายนั้น จะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้สังคมเขายอมรับ...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๘ มีนาคม ๒๕๖๕...
35
บทความ บทกวี / ...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๗...
« กระทู้ล่าสุด โดย เว็บมาสเตอร์... เมื่อ 08 มี.ค. 2565, 06:34:58 »


...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๗...

... "อย่าไปหวั่นไหวกับกระแสโลก
จนเกินไป คืออย่าไปยินดี ยินร้าย
กับคำสรรเสริญและคำนินทา
ความสุขหรือความทุกข์ และลาภยศ
ทั้งหลาย อย่าไปหวั่นไหวกับมัน
เพราะว่าความหวั่นไหวนั้น มันจะทำ
ให้เราขาดความเชื่อมั่นและศรัทธา
ในตนเอง เรียกว่าเป็นคนไม่แน่นอน
ทำอะไรไม่แน่นอน จิตนั้นย่อมทุรน
ทุรายหวั่นไหวไปกับโลกธรรม นำมา
ซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเราวางใจ
ให้อยู่เหนือโลกธรรมได้เมื่อไร
ใจของเรานั้นก็จะเป็นสุข"...

๐ น้อมเอาธรรม คำสอน แต่ก่อนกาล
พระอาจารย์ ท่านสอน แต่ก่อนเก่า
ให้ดูกาย ดูจิต ความคิดเรา
ดูแล้วเอา มาเป็น เส้นแนวทาง
๐ " ทุกข์เท่านั้น เกิดมา พาหลงใหล
สมุทัย ที่เกิด ทุกสิ่งอย่าง
นิโรธธรรม นำไป ให้ถูกทาง
มรรคนั้นสร้าง ทางสัจจะ สู่พระธรรม
๐ เป็นของจริง สัจจะ อริยะ
องค์พุทธะ เลิศล้น ชนดื่มด่ำ
บอกโลกรู้ ดูให้เป็น จึงเห็นธรรม
เพื่อจะนำ ชีวิต ไม่ผิดทาง "
๐ คือบทกลอน สอนใจ ชวนให้คิด
ชี้ถูกผิด นำมา เป็นแบบอย่าง
ปฏิบัติ ให้ตรง ไม่หลงทาง
คือแบบอย่าง ของครูบา พระอาจารย์
๐ สอนให้คิด สอนให้ทำ และนำชี้
รู้ชั่วดี มีความคิด จิตอาจหาญ
ทำให้ดี ทำให้ชอบ ประกอบการ
การทำงาน ทั้งทางโลก และทางธรรม
๐ ไม่มีใคร รู้ซึ้ง เท่าหนึ่งจิต
เห็นสิ่งผิด ทางชั่ว ไม่ถลำ
มุ่งทางดี ทางชอบ ประกอบกรรม
สิ่งที่ทำ นำสุข เพื่อทุกคน
๐ เอาพระธรรม นำทาง สร้างชีวิต
นำความคิด นำจิต สู่กุศล
เพื่อให้เกิด ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตน
เพื่อฝึกฝน เจริญจิต ภาวนา
๐ เพราะส่งจิต ไปนอกกาย ทำให้ทุกข์
คิดว่าสุข ทำไป ตามตัณหา
เพราะโลภหลง รักใคร่ ในกามา
จึงนำพา ให้เวียนว่าย ในวังวน
๐ เมื่อรู้ธรรม จงเอาธรรม นำชีวิต
เปลี่ยนความคิด หยุดวุ่นวาย ไม่สับสน
ประกอบกรรม ทำความดี หน้าที่ตน
สร้างกุศล ผลบุญ เป็นทุนรอน
๐ ชีวิตนี้ ไม่นาน ก็แตกดับ
ต้องลาลับ เหลือเพียง อนุสรณ์
วันเวลา ผ่านไป พึงสังวร
จงมองย้อน ทบทวน ใคร่ครวญดู...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ - สมณะไร้นาม...
...๘ มีนาคม ๒๕๖๕...
36


...เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๖...

...บนเส้นทางแห่งโยธากัมมัฏฐาน...
...โยธากัมมัฏฐานคือการทำงานอย่าง
มีสติและสัมปชัญญะ เป็นการเจริญ
ซึ่งอิริยาบถบรรพ ในสติปัฏฐาน ๔
มีความระลึกรู้ แยกแยะผิดชอบชั่วดี
มีการคิดพิจารณาในทุกขณะของ
การเคลื่อนไหว เป็นไปเพื่อประโยชน์
ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม...

...ทุกชีวิต ก้าวไป ในบทบาท
ตามโอกาส จังหวะ ของชีวิต
ล้วนแต่กรรม นำพา มาลิขิต
จะถูกผิด ล้วนแต่กรรม นั้นนำไป

...ไม่ใช่โชค ชะตา ฟ้าลิขิต
กรรมนิมิต นำมา ซึ่งสิ่งใหม่
จะสุขทุกข์ นั้นเกิด ขึ้นที่ใจ
ทำสิ่งใด โปรดคิด ใช้จิตตรอง

...เมื่อใจทุกข์ จงมอง ประคองจิต
ดูความคิด ดูจิต ที่เศร้าหมอง
เพ่งพินิจ ใคร่ครวญ และตริตรอง
จงเฝ้ามอง ให้เห็น ความเป็นจริง

...สรรพสิ่ง ล้วนตั้ง อยู่บนหลัก
พระไตรลักษณ์ คือหลัก สรรพสิ่ง
พระไตรลักษณ์ เป็นหลัก แห่งความจริง
สรรพสิ่ง ไม่เที่ยงแท้ และแน่นอน

...มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป เป็นคำสอน
อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ และแน่นอน
ทุกข์ราญรอน เพราะใจ ไปยึดมัน

...ไม่ยอมลด ยอมละ ซึ่งความอยาก
ต้องการมาก ยึดติด ไม่แปรผัน
ไม่อยากสูญ ไม่อยากเสีย พรากจากกัน
ทุกสิ่งนั้น ล้วนเป็น อนัตตา

...นี้เป็นกฎ ธรรมชาติ พระไตรลักษณ์
นี้คือหลัก ของพุทธะ ศาสนา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ใช้ปัญญา มองให้เห็น ความเป็นจริง

...เข้าใจโลก ก็เห็นธรรม เมื่อนำคิด
ทำให้จิต นั้นสงบ และหยุดนิ่ง
จะได้รู้ ได้เห็น ความเป็นจริง
สรรพสิ่ง ว่ามันเป็น เช่นนั้นเอง...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๗ มีนาคม ๒๕๖๕...
37
บทความ บทกวี / ...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๖...
« กระทู้ล่าสุด โดย เว็บมาสเตอร์... เมื่อ 07 มี.ค. 2565, 06:13:06 »


...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๖...

...ในส่วนลึกของจิตของทุกคนนั้น
ล้วนแต่อยากจะเป็นคนดี อยากจะ
ทำความดี แต่ส่วนใหญ่ได้แต่คิด
แต่ไม่กล้าที่จะทำ เพราะว่าขาด
ความมั่นใจและความศรัทธาในตนเอง
จึงต้องให้มองย้อนกลับไป ว่าในชีวิต
ที่ผ่านมานั้น มีอะไรบ้างที่เราได้ทำ
ลงไปและสิ่งนั้นมันเป็นความภาคภูมิใจ
ของเรา เมื่อเราคิดถึงสิ่งนั้นครั้งใด
ทำให้ใจเรามีความสุขและมีความ
ภาคภูมิใจ สิ่งที่คิดนั้นคือการปลุก
ศรัทธาให้กับตัวเรา...

...ห้วงหนึ่งแห่งกาลเวลา...

...เก็บมา ใคร่ครวญ ขบคิด
ตั้งจิต สนใจ ใฝ่หา
เรียนรู้ กับโลก มายา
ค้นหา ให้เห็น ตัวตน

...ค้นหา ให้เห็น พื้นฐาน
คือการ เรียนรู้ เบื้องต้น
รู้จิต รู้ใจ ของคน
เริ่มต้น ที่ตัว ของเรา

...รู้กาย รู้จิต ของตัว
รู้ทั่ว รู้พร้อม ไม่เขลา
ตามดู รู้เห็น จิตเรา
ขัดเกลา ฝึกจิต คิดดี

...เมื่อไหร่ ที่เห็น จิตเรา
ก็เข้า ใจซึ่ง จิตนี้
จิตเรา จิตเขา ที่มี
จิตนี้ ก็คล้าย คลึงกัน

...ล้วนมี กิเลส ตัณหา
อัตตา ตัวตน ทั้งนั้น
ตามดู ตามรู้ ให้ทัน
จิตนั้น เคลื่อนไหว ไปมา

...เคลื่อนตาม สิ่งที่ กระทบ
เมื่อพบ เจอกับ ปัญหา
ผัสสะ ที่ผ่าน เข้ามา
ทางตา ทางลิ้น กายใจ

...จิตนั้น เข้าไป รับรู้
ติดอยู่ จึงให้ หวั่นไหว
ปรุงแตก คล้อยตาม มันไป
หวั่นไหว เพราะจิต คิดตาม

...หยุดคิด หยุดจิต ที่ปรุง
เรื่องยุ่ง ก็จะ ก้าวข้าม
วางสิ่ง รู้เห็น ไม่ตาม
เห็นความ สงบ พบจริง

...สยบ ซึ่งความ เคลื่อนไหว
ทำใจ ของเรา ให้นิ่ง
รู้เห็น ตามที่ เป็นจริง
ทุกสิ่ง สมมุติ ขึ้นมา

...เข้าใจ ในพระ ไตรลักษณ์
รู้หลัก ต้นเหตุ ปัญหา
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ จากลา
อัตตา ก็จะ ลดลง...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๗ มีนาคม ๒๕๖๕...
38
ไหว้ครูบูรพาจารย์ / ตอบ : ไหว้ครูปี 2565
« กระทู้ล่าสุด โดย โยคี เมื่อ 06 มี.ค. 2565, 10:57:46 »


39


...เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๕...

...“ ทำความเพียรมากเกินไปจิตใจก็ฟุ้งซ่าน
ทำความเพียรอ่อนไปก็กลายเป็นเกียจคร้าน ”
“ อจฺจารทฺธํ วิริยํ อุทฺธจฺจาย สํวตฺตติ
อติลีนํ วิริยํ โกสชฺชายํ สํวตฺตติ ”...
...พุทธสุภาษิต โสณสูตร ๒๒/๓๘๗...
๐ เชื่อมั่น และศรัทธา
น้อมนำมา ซึ่งพลัง
สู่สิ่ง ที่คาดหวัง
สร้างด้วยจิต ความคิดตน
๐ ตั้งจิต คิดให้ดี
ในสิ่งที่ มีเหตุผล
ความดี มีทุกคน
ที่ได้สร้าง และทำมา
๐ ความดี มีในจิต
จงค้นคิด จิตค้นหา
เสริมสร้าง ความศรัทธา
ในความดี สิ่งที่ทำ
๐ ย้ำเตือน และย้ำคิด
ปลุกปลอบจิต กุศลกรรม
ความดี ที่เคยทำ
เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ
๐ จิตดี ส่งกายเด่น
มันเฉกเช่น เครื่องกลไก
ขับเคลื่อน จากภายใน
ให้จิตนี้ มีพลัง
๐ ปลุกกาย และปลุกจิต
ปลุกชีวิต สู่ความหวัง
สร้างเสริม เติมพลัง
ให้ชีวิต เมื่อคิดทำ
๐ ความดี คือกุศล
นั้นส่งผล อย่างเลิศล้ำ
มันเป็น กุศลกรรม
ปลุกชีวิต จิตศรัทธา
๐ เริ่มต้น จากความคิด
จงฝึกจิต คิดค้นหา
สิ่งที่ ได้ทำมา
และเรานั้น ภาคภูมิใจ
๐ เมื่อใจ ระลึกถึง
สิ่งที่ซึ่ง ได้ทำไว้
มีความ ประทับใจ
และจดจำ มิลืมเลือน
๐ เพลิดเพลิน ขณะคิด
ทำให้จิต นั้นขับเคลื่อน
ฝึกทำ เพื่อย้ำเตือน
ปลุกให้จิต มีพลัง
๐ จิตดี ส่งกายเด่น
สิ่งที่เห็น เป็นความหวัง
เมื่อใจ มีพลัง
ทุกสิ่งอย่าง ก็สบาย...

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๖ มีนาคม ๒๕๖๕...
40
บทความ บทกวี / ...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๕...
« กระทู้ล่าสุด โดย เว็บมาสเตอร์... เมื่อ 06 มี.ค. 2565, 06:19:44 »


...รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๕...

...ถามตัวเองอยู่เสมอว่า วันเวลา
ที่ผ่านไปนั้น เราได้อะไรจากวันเวลา
และคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไปหรือไม่
เพื่อไม่ให้เราหลงไปกับวัยและเวลา
ของชีวิตที่เหลืออยู่และจะได้รีบเร่ง
สร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต แม้จะเพียง
น้อยนิด ก็ยังดีกว่าที่จะไม่ได้ทำอะไรเลย
ไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องเป็นชาตินี้หรือ
ชาติหน้า เพียงแต่ตั้งใจไว้ว่าทำ
ต่อไปเรื่อยๆ ถึงเมื่อไหร่ก็ไปเมื่อนั้น
จะไม่สร้างความกดดันให้กับตัวเอง
ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเกร็ง เพราะเรา
เคร่งจนเกินไป ซึ่งมันจะทำให้เครียด
เป็นการเบียดเบียนตนเอง ไม่รีบ ไม่เร่ง
อยู่กับกุศลจิต คิดและทำในสิ่งที่ดี
ชีวิตนี้ก็เพียงพอแล้ว...

...ใคร่ครวญทบทวนธรรมเป็นคำกวี...
...อยู่กับโลก ด้วยธรรม นำความคิด
ปรับชีวิต เข้ากับธรรม นำเหตุผล
มีสติ ระลึกทั่ว ทั้งตัวตน
วิญญูชน คือคนที่ ต้องมีธรรม
...พึงพอใจ ในสิ่ง ที่ตนมี
ความพอดี พอเพียง มาหนุนค้ำ
ไม่ปล่อยใจ ให้ความโลภ เข้าครอบงำ
สิ่งที่ทำ สิ่งที่ได้ ใจเพียงพอ
...ทำหน้าที่ ของตน ให้เต็มที่
อย่าให้มี จิตใจ ที่ย่อท้อ
อย่าเพียงหวัง โชคชะตา ตั้งตารอ
เพียงแต่ขอ แต่ไม่ทำ กรรมของคน
...เพียงหวังพึ่ง เทวดา และอาจารย์
อยากให้ท่าน มาช่วย อำนวยผล
นั่งงอมือ งอเท้า ไม่ดิ้นรน
รอกุศล จากครูบา และอาจารย์
...ความสำเร็จ จะเกิดได้ ต้องหมายมั่น
ต้องช่วยกัน ทำกิจ คิดประสาน
ทั้งภายนอก และภายใน ให้ทันการ
ผลของงาน นั้นจึงออก น่าพอใจ
....ตนเองนั้น ต้องช่วย ตนเองก่อน
บุญจะย้อน กลับมา หาเราใหม่
บารมี ครูอาจารย์ ท่านให้ไป
ส่งผลให้ ได้พบ ประสพดี
...ประสพสุข สำเร็จ เพราะเสร็จกิจ
นำชีวิต ก้าวไป ได้ถูกที่
ทั้งทางโลก และทางธรรม นำชีวี
ก็จะมี แต่ความสุข ไม่ทุกข์เอย....

...ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต...
...รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม...
...๖ มีนาคม ๒๕๖๕...
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7 8 9 10