กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ, กฎแห่งกรรม และ ประสบการณ์วิญญาณ => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวี สัจจะ... ที่ 28 ก.ย. 2554, 12:59:39

หัวข้อ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ กย. ๕๔ ...
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 28 ก.ย. 2554, 12:59:39
คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ กย. ๕๔ ...
ตถตาอาศรม เขาเรดาร์ บ้านบึง ชลบุรี
พุธที่  ๒๘  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๕๔
           การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติเน้นเรื่องสมาธิและจิตเชิงพลังงานมากเกินไป
สิ่งที่ควรระวังก็คือเรื่องของอัตตา มานะทิฏฐิ  ความถือตัวถือตนนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่าย
คือการสำคัญตนว่า ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า  ผู้อื่นเขา มองผู้อื่นนั้นว่าด้อยกว่าตน
เพราะส่วนมากแล้ว การเข้าสู่จิตเชิงพลังงานนั้น จะข้ามขั้นตอนปฏิบัติในเรื่องของศีล
ไปเน้นทีจิต คือเรื่องของสติและสมาธิ เพื่อต้องการพลังจิตที่สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ทำให้สตินั้นไม่ผ่านกระบวนการของศีล ทำให้ขาดซึ่งองค์แห่งคุณธรรมที่จะคุ้มครองจิต
สิ่งนั้นคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ซึ่งองค์แห่งคุณธรรมนี้จะเกิดมีขึ้นได้นั้น
ก็ต้องผ่านกระบวนการแห่งศีล คือการมีสติ สำรวมระวังและยับยั้งอกุศลทั้งหลาย
ทั้งทางกาย วาจาและจิต  ไม่ประมาทพลาดผิด เพราะจิตละอายและเกรงกลัวต่อบาป
สิ่งนี้คืออานิสงค์อันเกิดจากการรักษาศีล......
            การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราได้เห็นความโง่
ความหลงผิดในอดีตของเราที่ผ่านมา ยิ่งปฏิบัติก็ทำให้เราได้เห็น ในสิ่งที่เรานั้นยังไม่รู้
ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เราอาจจะคิดว่าเรารู้ถูกต้องและเข้าใจหมดแล้ว
ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เรายังไม่รู้จริง เรายังไม่เข้าใจในความจริง อย่างที่เราเคยคิด
 ยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้และไม่เข้าใจ.......
          การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เราเห็นกิเลสของเรา ที่เรายังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสนใจ
ทำให้เรารู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นและกิเลสที่มีอยู่แล้ว ในกายในจิตในความคิดของเรา
 ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดว่าการปฏิบัติธรรม ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เราหมดซึ่งกิเลส
 กิเลสเบาบางลง ทำให้เราหลงตัวเองเพราะการที่เรามีความคิดอย่างนั้นมันเป็นการก่อเกิด
และเพิ่มซึ่งอัตตา มานะ การถือตัวถือตนโดยเราไม่รู้ตัว คิดว่าตนเองบริสุทธิ์และสมบูรณ์ด้วยศีล
ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกว่าผู้อื่น เกิดการหลงตัวเองโดยที่เรารู้ไม่เท่าทัน ขึ้นมาที่ละน้อย ซึ่งนานเข้า
มันจะมากขึ้น จนอาจจะยากในการแก้ไขและปรับปรุงตัวเองได้......
            เมื่อเราได้มีเวลาทบทวนพิจารณา สิ่งที่ผ่านมาในอดีตของเรา ทำให้เราได้เห็นความประมาท
 ความผิดพลาด ในการดำเนินชีวิตของเราที่ผ่านมา เรานั้นไปติดอยู่เพลินอยู่กับความสะดวกสบาย
ในสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ทำให้เราไม่เห็นทุกข์ คลุกคลีกับหมู่คณะเกินไป จนทำให้การ
ปฏิบัติย่อหย่อน ซึ่งเมื่อเราได้พิจารณาและเห็นในสิ่งนั้น เห็นในความประมาทและผิดพลาดของตัวเรา
จึงทำให้เราระลึกได้ในหลักธรรมเรื่อง " อัตตา ตัวกู ของกู "ที่เคยได้ศึกษามา เพราะว่าอัตตานั้น
 มันจะบดบังสัจจธรรมที่แท้จริง เราต้องเปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ทำลายอัตตาลบภาพมายาทั้งหลาย
ให้มันหายไป หมดไป แล้วเราจะได้พบกับ "สัจจธรรม" ธรรมชาติของจิตที่แท้จริง.....
            อย่าได้เชื่อทันทีในสิ่งรู้และในสิ่งที่เห็น เพราะมันอาจจะชักนำไปสู่ความงมงายไร้ปัญญา
ควรคิดพิจารณา ถึงเหตุและผล ให้เห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของ
สิ่งที่รู้และสิ่งที่ได้เห็นนั้นและในทางกลับกัน อย่าได้ปฏิเสธทันทีในสิ่งได้ที่รู้และในสิ่งที่ได้เห็น นั้น
เพราะการปฏิเสธในทันทีนั้น มันอาจจะทำให้เราเสียโอกาส เกิดความประมาททางจิตขึ้นมาได้
จงใช้สติสัมปชัญญะและปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ด้วยเหตุและผลแห่งทุกข์ ภัย โทษ ประโยชน์
และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นนั้น แล้วจึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ.......
                       เชื่อมั่น-ศรัทธา-ปรารถนาดี-ด้วยไมตรีจิต
                             รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๘ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐.๕๘ น. ณ ตถตาอาศรม บ้านบึง ชลบุรี
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ กย. ๕๔ ...
เริ่มหัวข้อโดย: boomee ที่ 28 ก.ย. 2554, 07:50:36
กราบนมัสการครับพระอาจารย์ :054:
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ กย. ๕๔ ...
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 28 ก.ย. 2554, 09:59:38
กราบนมัสการท่านพระอาจารย์ :054:

อ้างถึง
การปฏิบัติธรรมนั้นทำให้เราเห็นกิเลสของเรา ที่เรายังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสนใจ
ทำให้เรารู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นและกิเลสที่มีอยู่แล้ว ในกายในจิตในความคิดของเรา
 ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราคิดว่าการปฏิบัติธรรม ทำให้เราฉลาดขึ้น.......
หัวข้อ: ตอบ: คุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป ๒๗ กย. ๕๔ ...
เริ่มหัวข้อโดย: yout ที่ 28 ก.ย. 2554, 06:53:54
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ............. :090: :090: :114: :090: :090:...............