ผู้เขียน หัวข้อ: วัดไหล่หินหลวง... อารามเก่าแก่สำคัญของเมืองลำปาง  (อ่าน 8121 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ pepsi

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 325
  • เพศ: ชาย
  • ทําดี คิดดี พูดดี
    • ดูรายละเอียด
    • http://sbntown.com/forum/group.php?groupid=33


ลำปาง: "วัดไหล่หินหลวง" อำเภอเกาะคา อารามเก่าแก่สำคัญของเมืองลำปาง    วัดไหล่หินหลวง หรือ วัดเสลารัตนปัพพตาราม วัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางที่มีอายุหลายร้อยปี จากหลักฐานทางด้านโบราณ จารึกและตำนานต่างๆ ได้กล่าวถึงวัดไหล่หินในอดีตว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญทางศาสนา มีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.2181 วัดไหล่หินสมัยนั้นยังเป็นอารามเล็กๆ มีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยบวชเรียนเป็นจำนวนมาก



   ในตำนานการสร้างวัดได้กล่าวอ้างถึง "พระมหาป่า" หลายรูปซึ่งเป็นเจ้าอาวาสที่ถือธุดงควัตรเป็นหลักปฏิบัติในการสืบทอดพระศาสนา แต่มีพระมหาป่ารูปหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาคือ "พระมหาป่าเกสร ปัญโญ" (ครูบาศีลธรรมเจ้า) จากคำบอกเล่าที่ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือประวัติวัดไหล่หินหลวงที่ทางวัดได้จัดพิมพ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ท่านพระมหาเกสรปัญโญเป็นพระนักปฏิบัติ นักศึกษาศาสนธรรมคำสั่งสอนอันยืงยง ท่านมีความรู้แตกฉานสามารถเขียนและแต่งธรรมได้วันละมากๆ เล่ากันว่าจารวันหนึ่งได้มูลเหล็กจารเต็มกะลามะพร้าว ซึ่งหาใครเสมอเหมือนมิได้เลย นอกจากนี้ท่านได้ประพฤติปฏิบัติสมณธรรมอย่างจริงจัง โดยปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำฮางฮุ้งจนจิตเป็นสมาธิได้ญาณสมาบัติอภินิหารเป็นอัจฉริยะ.." ด้วยจริยวัตรของท่านจึงทำให้มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธา ไม่เพียงแต่คนในท้องถิ่นแต่ได้เลื่องลือไปถึงถิ่นอื่นๆ จนถึงเมืองเชียงตุง




ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้มาสร้างวิหารที่วัดไหล่หินหลวง ต่อมาภายหลังเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้มาสร้างโบสถ์รวมทั้งผู้คนจากในชุมชนและที่อื่นๆ ได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดไหล่หินให้มีสภาพสมบูรณ์ ความสำคัญของวัดไหล่หินนอกเหนือจากเป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางแล้วนั้น ยังเป็นสถานที่เก็บคัมภีร์โบราณที่ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาศึกษาและคัดลอกกัน ปัจจุบันคัมภีร์ส่วนหนึ่งที่ชำรุดเสียหายไป แต่ยังมีบางส่วนที่คงสภาพดีและได้เก็บรักษาไว้ในโรงธรรมของวัด คัมภีร์โบราณของวัดเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของวัดไหล่หินในฐานะที่เป็นแหล่งศึกษาพระธรรมในสมัยโบราณ พบว่ามีเอกสารโบราณที่มีอายุเก่ากว่า 700 ปีเศษ จารเป็นภาษาบาลี ตัวอักษรล้านนา ซึ่งจารไว้เมื่อปี จ.ศ.601 (พ.ศ.1782 ชื่อคัมภีร์ "สกาวกณณี" มีทั้งสิ้น 7 ผูก จำนวน 364 หน้า) ในวัดไหล่หินยังมีโบราณสำคัญต่างๆ มากมาย อาทิ วิหารโถง โบสถ์ เจดีย์ ซุ้มประตูโขงและโรงธรรม ซึ่งนับเป็นโบราณสถานสำคัญทั้งในด้านความเก่าแก่และมีคุณค่าทางด้านศิลปะที่แสดงออกถึงความสามารถในเชิงช่าง การสร้างสรรค์ความงามในด้านโครงสร้างสถาปัตยกรรมและการประดับตกแต่งตามคติความเชื่อและการใช้ประโยชน์ของชุมชน วิหารโถง เป็นวิหารแบบล้านนาขนาดเล็ก ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 9 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน การประดับตกแต่งวิหารมีการประดับทั้งภายในและภายนอกเป็นภาพและลวดลายต่างๆ เช่น ภาพเขียนสี เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผ่นไม้ที่บริเวณส่วนบนของโครงสร้างหลังคาเป็นภาพพระพุทธรูปประทับยืน ภาพลายคำ เป็นภาพที่ทำด้วยเทคนิคการพิมพ์เป็นลวดลายลงบนพื้นสีทอง ลายประดับบนวิหารนี้ทำเป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายเครือเถา ลายช่อดอกไม้ ลายดอกบัวและกลีบบัว นอกจากนั้นก็มีภาพบุคคลเช่น ภาพพระพุทธเจ้า ภาพเทวดา นางฟ้า และภาพสัตว์หลากหลายชนิด ตาม



ประวัติการสร้างวิหารหลังนี้มีบันทึกไว้บนแผ่นไม้ที่ท้องขื่อในวิหารกล่าวว่า ในปี จ.ศ.1045 (พ.ศ.2226) พระมหาป่าเกสร ปัญโญ เป็นประธานพร้อมด้วยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงและศิษยานุศิษย์ได้สร้างวิหารนี้ขึ้นในปีกดไก๊ เดือน 5 เป็งไทยเต่าสง้า จากรูปทรงสันนิษฐานว่าคงมีการปฏิสังขรณ์ให้คงอยู่ในสภาพเดิมมาหลายยุคหลายสมัย เนื่องจากชาวบ้านสมัยนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับข้อห้ามในการรื้อถอนอาคารสิ่งก่อสร้างทางศาสนา หากผู้ใดละเมิดจะพบกับความหายนะ จึงทำให้วิหารหลังนี้ได้รับการอนุรักษ์ตลอดมา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานวิหารหลังนี้ไว้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2523 ซุ้มประตูโขง เป็นซุ้มประตูบริเวณด้านหน้าวิหาร ลักษณะเป็นซุ้มทรงปราสาทสกุลช่างลำปาง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่ตัวอาคารเป็นลายบัวคอเสื้อ ลายประจำยามและลายบัวเชิงล่าง ชั้นหลังคาตกแต่งปูนปั้นด้วยลายพญานาค รูปหงส์ ตัวเหงาและลายพันธุ์พฤกษา ด้านข้างประตูทั้งสองมีรูปกินนรีแบบนูนต่ำประดับอยู่ ส่วนหน้าบันทำเป็นลายปูนปั้นแบบนูนต่ำตกแต่งด้วยภาพเขียนสี ลักษณะเด่นของซุ้มประตูโขงวัดไหล่หินที่แปลกกว่าวัดอื่นก็คือ การประดับชั้นหลังคาด้วยรูปสัตว์ที่ทำด้วยดินเผาเคลือบ โบสถ์ ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาส เป็นโบสถ์ขนาดเล็กแบบเปิดโล่งกว้าง 3 เมตรยาว 5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก

    พระอุตตะมะอาราธิบดีและเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย เป็นประธานในการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2459 รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบยุคหลังสร้างเป็นอาคารโถงมีผนังกั้นด้านหลัง มีราวลูกกรงไม้กั้นเตี้ย ๆ ล้อมรอบ พื้นยกสูงเล็กน้อย หน้าบันเป็นลายแกะสลักกระจกสีส่วนของค้ำยันเป็น "นาคตัน" หลังคามุมด้วยกระเบื้องเคลือบ ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุลายซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันทั่วไปในเมืองลำปางขณะนั้น โรงธรรม เป็นอาคารที่อยู่ในเขตสังฆาวาสใกล้ประตูทางเข้าทิศเหนือ พระอุตตะมะอารามะธิบดี พร้อมด้วยหนานมณีวรรณ หนานวงศ์ พญาศรีวิเลิศและพญาแสนต้าร่วมกันสร้างในปี จ.ศ.1281 (พ.ศ.2462) แต่เดิมใช้เป็นกุฏิ ปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณ โรงธรรมหลังนี้สร้างขึ้นตามแบบแผนกุฏิเก่าของวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีจารึกบนแผ่นไม้ว่าสร้างในปี พ.ศ.2027 นับว่าเป็นอาคารที่สร้างตามแบบกุฏิโบราณของล้านนา วัดไหล่หินหลวง นับว่าเป็นโบราณสถานที่ยังคงใช้ประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ในปัจจุบัน และเป็นวัดสำคัญที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง

   ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมความสวยงามของศิลปกรรมล้านนาและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่วัดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก หากมีโอกาสผ่านไปยังอำเภอเกาะคา ลองแวะมาชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ดู

เอกสารประกอบ วัดเสลารัตนปัพพตาราม (วัดไหล่หินหลวง)
เรียบเรียงโดยสามเณรดวงจันทร์ ครุขยัน จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ข้อมูลจาก
http://chumchontai.com/webboardAnswer.php?w_id=00052

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 ต.ค. 2553, 05:48:36 โดย pepsi »
กาลเวลาเป็นเครื่องชี้ตัวตนแห่งคน

ออฟไลน์ ~กระจกเงา~

  • ปัญจมะ
  • *****
  • กระทู้: 180
    • ดูรายละเอียด
เหมือนเคย ผ่าน เพราะ ผมจะไป วัดพระธาตุลำปางหลวงครับ เพื่อนพาไปทางลัด :005: