หมวด มิตรไมตรี > บทความ บทกวี

โรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม)

(1/1)

ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์):

   ตามที่พี่หนึ่ง (ผู้การเสือ) ได้วานให้ข้าพเจ้าหาข้อมูล รวมถึงที่ตั้งของโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับให้เพื่อนสมาชิกกระดานสนทนาวัดบางพระได้ศึกษาประวัติความเป็นมาอันเป็นประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับวัดบางพระมาอย่างช้านาน

   ประกอบกับขณะนี้ทางวัดบางพระได้บอกบุญสาธุชนให้ได้ร่วมบริจาคปัจจัย เพื่อสมทบทุนในโครงการบูรณะโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) โดยจะเริ่มทำการบูรณะตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๖

   โอกาสนี้เองข้าพเจ้าจึงไปลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากชาวบ้านในละแวกโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) เพื่อนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง รายละเอียดมีดังนี้

   โรงเจวัดบางพระ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ศาลเจ้าแม่ทับทิม" จากคำบอกเล่าของป๋าทุม ท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนท่านเกิดมาก็เห็นโรงเจวัดบางพระแห่งนี้แล้ว จำได้ว่าสมัยก่อนยังเคยไปดูงิ้วที่มาแสดงที่โรงเจวัดบางพระนี้ด้วย เมื่อสอบถามไปถึงที่ตั้งของโรงเจก็ได้ความว่าอยู่บริเวณหน้าวัดบางพระแค่นี้เอง จากนั้นจึงสอบถามเส้นทางกับพี่นรินทร์ได้ความว่า ที่ตั้งของโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) อยู่บริเวณเดียวกับเส้นทางบิณฑบาตของหลวงพี่นัน ข้าพเจ้าจึงเดินไปสำรวจเส้นทางดังกล่าว พร้อมกับถามชาวบ้านในละแวกนั้น จึงมาถึงยังโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม)

ภาพมุมสูงจาก google
เส้นทางเดินเท้าไปยังโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) เริ่มต้นที่ซุ้มประตูทางเข้าหน้าวัดบางพระ
เมื่อพ้นจากซุ้มประตูหน้าวัดบางพระ ฝั่งตรงข้ามจะเป็นร้านค้า ซอยทางเข้าโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) อยู่บริเวณวงกลมสีแดง
ซอยตรงข้ามวัดบางพระ ทางเข้าโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม)
เดินเข้าไปจนสุดซอยแล้วเลี้ยวขวา
เมื่อเลี้ยวขวามาแล้ว ก็เดินตามทางไปเรื่อยๆตามลูกศรสีแดง
เดินตรงไปแล้วเลี้ยวขวาตรงเสาไฟฟ้า
เดินตรงเข้าไป โรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) อยู่ทางด้านขวามือ
ถึงโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม)
   จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในแถบนี้เล่าว่า โรงเจแห่งนี้มีอายุเก่าแก่เป็นร้อยปีขึ้นไป คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนที่โรงเจแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม และเป็นโรงทานแจกอาหารเจ ตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ก็จะมีคนหลั่งไหลมาสักการะบูชาประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อกันอย่างมากมาย และอยู่คู่กับวัดบางพระเสมอมาตั้งแต่โบราณ

   จากเดิมที่เป็นโรงเจ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม เหตุเพราะมีผู้คนพบเห็นวิญญาณผู้หญิงชุดไทยเดินอยู่บนโรงเจ แม้แต่ผู้ที่สัญจรทางเรือ เมื่อมองขึ้นมาบนฝั่งก็พบเห็นวิญญาณผู้หญิงชุดไทยเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดความเชื่อว่าสถานที่ตรงนี้เป็นที่สถิตของวิญญาณที่คอยปกปักษ์รักษาผู้คนในแถบนี้ ในสมัยก่อนจะเรียกว่า "อาม่า" มาปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "เจ้าแม่ทับทิม"

มุมภาพที่มองขึ้นมาจากแม่น้ำนครชัยศรี จะสังเกตเห็นโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) อยู่ตรงกลางพอดี
ถัดจากโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) ไปเล็กน้อย จะเป็นแม่น้ำนครชัยศรี ติดกับวัดบางพระ
   สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นถึงความแตกต่างระหว่างโรงเจทั่วไปกับโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) แห่งนี้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวนั่นคือ ตามปกติโรงเจจะสร้างด้วยศิลปะแบบจีน แต่ที่โรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) แห่งนี้ กลับเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย โครงสร้างทั้งหมดทำจากไม้สัก ประกอบกันด้วยการเข้าสลักไม้ (ไม่ใช้ตะปู) ยกพื้นลักษณะคล้ายเรือนไทยภาคกลาง หรือแม้แต่เสาฟ้าดินของเดิมก็เป็นเสาไม้สัก (ปัจจุบันชาวบ้านได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นศาลเล็กๆ แทน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าข้างซ้ายของโรงเจ)

ลักษณะการเข้าสลักไม้ของโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม)
ศาลที่สร้างแทนเสาฟ้าดิน บริเวณด้านหน้าข้างซ้ายของโรงเจ
   ด้านหน้าข้างขวาของโรงเจ ก็ยังพบเตาเผาหงิ่นเตี๋ย (กระดาษเงิน-กระดาษทอง, กระดาษที่ใช้รองอาหารเซ่นไหว้ตามความเชื่อของจีน) แต่ลักษณะรูปทรงเป็นแบบไทย และมีร่องรอยลายศิลปะตกแต่งบนผิวปูนชั้นนอกอีกด้วย ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเป็นลายที่มีมาแต่เดิม ไม่ได้ทำใหม่แต่อย่างใด

เตาเผากระดาษศิลปะรูปทรงแบบไทย บนผิวปูนมีลายปรากฏให้เห็น
   สภาพที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้รับการปรับปรุงบ้างแล้วบางส่วน อาทิเช่นชาวบ้านนำตะปูมาตอกยึดเพื่อช่วยพยุงโครงสร้างไม่ให้พังลงมา สำหรับความเชื่อที่ว่าเจ้าแม่คอยคุ้มครองผู้คนแถวนี้ ก็ดูได้จากกระเบื้องหลังคาหรือชิ้นส่วนโครงสร้างตัวอาคารของโรงเจบางส่วนที่ชำรุดหล่นลงมาจำนวนมาก ก็ไม่เคยเกิดอันตรายแก่ผู้คนที่ผ่านไปมาแถวนั้นเลย ปัจจุบันชิ้นส่วนที่ชำรุดตกหล่นทั้งหมด ชาวบ้านได้นำมากองรวมไว้บริเวณใต้ศาล โดยไม่มีใครกล้าหยิบเอาไปเลย เพราะกลัวว่าจะส่งผลไม่ดีต่อตนเองและครอบครัว

ชิ้นส่วนโครงสร้างที่ชำรุดผุพัง
   ในส่วนบันไดทางขึ้นด้านหน้าที่เห็นว่าทำขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านเล่าว่าเดิมก่อนที่จะปรับปรุงขึ้นใหม่อย่างในปัจจุบัน ขั้นบันไดมีสภาพที่ผุพังชำรุดอย่างมาก เหตุเพราะเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารจึงตากแดดตากฝน ทำให้ผุพังชำรุดมากกว่าส่วนอื่นๆ เรียกได้ว่าหากเหยียบขึ้นไปก็เกรงว่าบันไดจะพังลงมา
   
   ผู้ที่มาสร้างบันไดใหม่นี้คือเจ้าของโรงสีปฐมวิวัฒน์ (ทางเข้าห้วยพลู) โดยทางเจ้าของโรงสีปฐมวิวัฒน์ (ป้าลุ้ย) ได้ว่าจ้างช่างมาสร้างบันไดใหม่ ช่างได้เล่าให้ชาวบ้านฟังว่า เจ้าแม่ไปเข้าฝันเจ้าของโรงสี บอกว่าทางขึ้นบ้านชำรุด อยากมาช่วยทำใหม่ให้หน่อย จึงได้ว่าจ้างช่างมาทำบันไดทางขึ้นให้ใหม่ตามที่เจ้าแม่ไปเข้าฝันขอความช่วยเหลือ

บันไดทางขึ้นโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) ที่สร้างขึ้นใหม่
   ในปัจจุบันโรงเจวัดบางพระ หรือศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ ก็ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน โดยในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านก็จะนำอาหารคาวหวานมาเซ่นไหว้ บนบานสานกล่าวอยู่เป็นประจำ และในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีงานประจำปี โดยชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์, ฉันภัตตาหาร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าแม่ทับทิมเป็นประจำทุกปี (ในปีนี้จะจัดในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๖)

   ความเชื่อของชาวบ้านเกี่ยวกับการขอการบนบานเจ้าแม่ทับทิมนี้ ท่านห้ามเรื่องการเสี่ยงโชคทุกชนิด ประมาณว่าหากจะมาขอเรื่องโชคลาภที่เกี่ยวเนื่องกับอบายมุขเป็นอันไม่สำเร็จทุกราย แต่ถ้าหากขอโชคลาภการทำมาค้าขายในทางสุจริตก็จะสำเร็จเป็นอัศจรรย์ โดยนิยมแก้บนด้วยผลไม้, ชุดไทยฯ

   นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่า เมื่อครั้งสมัยที่หลวงพ่อเปิ่นยังดำรงสังขารอยู่ ท่านเคยบอกไว้ว่า ที่โรงเจวัดบางพระ หรือ ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ ยังคงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตประจำอยู่ ทำให้ชาวบ้านยิ่งมีความเคารพนับถือเจ้าแม่ทับทิมมากยิ่งขึ้น


บรรยากาศด้านในโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม)

   ขณะนี้ทางวัดบางพระนำโดยพระครูอนุกูลพิศาลกิจ (สำอางค์ ปภสฺสโร) มีโครงการที่จะบูรณะโรงเจวัดบางพระ (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) โดยยังขาดทุนทรัพย์อีกจำนวนมาก ท่านใดที่ประสงค์จะร่วมบุญบูรณะโรงเจวัดบางพระ เรียนเชิญที่วัดบางพระกันได้ครับ


   ทั้งนี้สามารถร่วมบุญรับมงคลวัตถุ "เทพจำแลงภมร" เป็นที่ระลึกนึกถึงบุญครั้งนี้ได้ที่กุฏิหลวงพี่ญาและกุฏิหลวงพี่ปาด จัดสร้าง ๒ พิมพ์ ด้านหน้าเป็นเทพภมรจำแลงเพ้นท์สี ด้านหลังเป็นยันต์ลายมือหลวงพ่อเปิ่น

   ๑. พิมพ์ใหญ่ เพ้นท์สี ฝังพลอย ร่วมบุญ ๑,๕๐๐ บาท (จำนวนสร้างประมาณ ๖๐๐ องค์)


   ๒. พิมพ์เล็ก เพ้นท์สี ร่วมบุญ ๓๐๐ บาท (จำนวนสร้างประมาณ ๕๐๐ องค์)



        ๓. พิมพ์เล็ก ไม่เพ้นท์สี ร่วมบุญ ๕๐ บาท


   เทียบขนาดพิมพ์ใหญ่กับพิมพ์เล็ก
   รายละเอียดเพิ่มเติมจากระทู้ของพี่นนท์ http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=29234

อนุโมทนากับผู้ร่วมบุญครั้งนี้ทุกท่านด้วยครับ
.สาธุ..สาธุ..อนุโมทามิ.
ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

shagath:
อ่านจบแล้วมีภาพประกอบด้วยเข้าใจง่ายดีครับขอบคุณ คุญปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)สำหรับข้อมูลดีๆครับ

peachsama:
อยากให้ท่านโพสเลขบัญชีบริจาคสมทบทุนบูรณะด้วยท่านเผื่อ มีคนอยากโอนเงินร่วมสมทบทุนบูรณะครับ ขอบคุณครับ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version