หมวด เส้นทางสายบุญ > เส้นทางสายบุญภาคเหนือ

วัดน้ำฮู อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

(1/2) > >>

ธรรมะรักโข:
น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากเศียรพระแห่งวัดน้ำฮู



 



 
 
หลวงพ่ออุ่นเมืองพระพุทธรูปที่มีน้ำไหลซึมออกมาจากพระเศียร



 
 
“ปาย” แม้จะเป็นชื่อของอำเภอเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในดงม่านหมอกแห่งขุนเขา จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ก็เป็นที่เลื่องลือถึงความความงดงามอันเงียบสงบ มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และวัดวาอารามที่มีอยู่ทั่วเมือง

และหนึ่งในนั้นก็คือ “วัดน้ำฮู” ที่ตั้งอยู่ที่ ต.เวียงใต้ ห่างจากตัวอำเภอปาย ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งวัดนี้เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระพี่นางสุพรรณกัลยา ดังนั้นภายในวัดแห่งนี้ จึงมีพระเจดีย์อนุสรณ์สถานของพระพี่นางสุพรรณกัลยาตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์


สำหรับวัดน้ำฮูแห่งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ภายในโบสถ์ของวัดนั้นเป็นสถานที่ประดิษฐาน “องค์หลวงพ่ออุ่นเมือง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย ลักษณะเป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม (ศิลปะเชียงแสน-ล้านนา) อายุเก่าแก่ร่วม 500ปี ทำด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 28 นิ้ว สูง 30 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปองค์เล็กที่ประดิษฐาน อยู่ด้านหน้าของพระพุทธรูปองค์ใหญ่อีกทีหนึ่ง

ซึ่ง “องค์หลวงพ่ออุ่นเมือง” นั้นมีลักษณะอันเป็นคุณสมบัติที่แปลกกว่าพระพุทธรูปทั่วไป ประการหนึ่งคือ พระเศียรส่วนบนกลวง พระโมฬีสามารถเปิดออกได้ และภายในจะมีน้ำขังอยู่ โดยน้ำจะซึมออกมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุของการที่น้ำซึมขึ้นมานั้น ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่เมื่อสอบถามกับทางวัดแล้ว มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากวัสดุที่ใช้ทำพระพุทธรูปก็เป็นได้

โดยพระพุทธรูปองค์นี้ มีตำนานเล่าขานกันมาว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพไปตีเมืองตองอู แต่ไม่สามารถตีได้เพราะมีป้อมปราการแข็งแรง เนื่องจากเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน กอปรกับกองทัพขาดเสบียงและมีไข้ป่าชุกชุม จึงมีรับสั่งให้ยกทัพกลับ

เมื่อกองทัพเดินทางมาถึงบริเวณที่เป็นวัดน้ำฮูปัจจุบัน ก็มีรับสั่งให้พักไพร่พล พอตกค่ำก็ทรงมีพระสุบินนิมิตว่า สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา เสด็จมาหาและตรัสว่า พระนางเปรียบเหมือนคนสองแผ่นดิน ย่อมผูกพันอยู่ชายแดนพม่าและไทยคือ เมืองปายแห่งนี้ ขอฝากองค์จันทร์ไว้ให้องค์ดำดูแลด้วย

เมื่อตื่นบรรทมจึงรับสั่งให้ม้าเร็วไปรับคุณท้าวจันทรเทวี นางกำนัลที่ได้ทำการตัดพระเกศา ให้แก่สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาในวันที่ทรงถูกประหารมายังเมืองปาย โดยให้นำผอบบรรจุเส้นพระเกศาไปด้วย สมเด็จพระนเรศวร ทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิพระพี่นาง ที่มีคนมอญนำมาถวาย ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระพี่นาง พระพุทธรูปดังกล่าวก็คือ “พระอุ่นเมือง” นั้นเอง

และเมื่อปีพ.ศ.2515มีพระธุดงค์จากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มานมัสการ และเกิดความสงสัยว่าข้างในเศียรพระจะมีน้ำอยู่จริงหรือไม่ จึงได้เปิดดูก็พบว่ามีน้ำอยู่ข้างในจริง จากนั้นเรื่องนี้ก็เริ่มแพร่สะพัดเป็นที่เลื่องลือไปอย่างกว้างขว้างกล่าวกันว่าที่มาของชื่อ “วัดน้ำฮู” ก็มาจากการที่มีน้ำไหลออกมาจาก “ฮู”หรือ “รู” นั่นเอง

ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้อัญเชิญพระอุ่นเมือง มาประดิษฐานเป็นพระประธานในโบสถ์ โดยในทุกๆ 10วัน ทางวัดจะมีการเปิดพระเศียร และตักน้ำข้างในออกมา ซึ่งน้ำที่มีอยู่ด้านในพระเศียรก็ไม่ได้มีมากมายจนท่วมพระเศียร กลับมีปริมาณเพียงแค่หนึ่งช้อนชาเท่านั้น

ซึ่งทางวัดจะนำน้ำที่ได้จากพระเศียรนั้นมาผสมกับน้ำเปล่า เพื่อนำมาทำเป็นน้ำมนต์ไว้ให้ประชาชนที่ต้องการน้ำศักดิ์สิทธิ์จากองค์พระได้นำกลับไปใช้สอยตามปรารถนา โดยไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปีนป่ายขึ้นไปตักน้ำจากพระเศียรของพระด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด

หากว่านักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาชมความอัศจรรย์ของ “องค์หลวงพ่ออุ่นเมือง” อย่างใกล้ชิดในโบสถ์นั้น ทางวัดจะเปิดให้เข้าชมได้เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น ซึ่งถ้ามานอกฤดูกาล นักท่องเที่ยวต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาสเพื่อเปิดโบสถ์ก่อน


สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจ.แม่ฮ่องสอน ที่ว่าการอ. เมือง (หลังเก่า) ถ.ขุนลุมประพาส อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โทร.0-5361-2982-3,0-5361-5029



 
 

ขอบคุณที่มาจาก  ผู้จัดการออนไลน์

~เสน่ห์ack01~:
เมืองปาย เคยแต่แวะทานข้าว ไม่เคยเดินเที่ยวเลยครับ

เป็นเมืองที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวในฤดูหนาวจริงๆ

...ขอบคุณสำหรับประวัติวัดน้ำฮู ครับ...

۞เณรน้อยเส้าหลิน۞:
ไว้ไปเที่ยวปาย จะแวะไปกราบครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ 

สาธุ สาธุ อนุโมทามิ  :054: :054: :054:

umpawan:
ขอบคุณท่านธรรมรักโขครับ ถ้ามีโอกาศผ่านไปแถวนั้นจะแวะไปนมัสการครับ 


ขอบคุณสำหรับประวัติด้วยนะครับ  ขอบคุณครับ

~@เสน่ห์เอ็ม@~:
ขอบคุณท่านมากครับ
ชีวิตผมจะได้มีโอกาศไปกับเขาใหมก็ไม่รู้อะครับ
ไม่เค่ยได้ไปไหนเลย

สาธุด้วย ครับ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version