หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล > ธรรมะ

อภัยทานกับธรรมทานอย่างไหนอานิสงส์มากกว่ากัน?

(1/3) > >>

ทรงกลด:
อภัยทานกับธรรมทานอย่างไหนอานิสงส์มากกว่ากัน

สวัสดีครับ กัลยาณธรรมทุกๆ ท่าน วันนี้ผมมีประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงและยังเป็นเรื่องที่หลายคนยังสงสัยคือ ระหว่างอภัยทานกับธรรมทานอย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน เรื่องนี้ผมก็เคยสงสัยมานาน เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนว่า สัพพะ ทานัง ธัมมะ ทานัง ชินาติ การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธองค์จะสอนผิด แต่ก็มีอีกหลายท่านที่กล่าวว่า “อภัยทาน คือ ทานอันสูงสุด เป็นปรมัตถบารมี”
เรื่องนี้มีการถกเถียงกันมากในหมู่ชาวพุทธเรา หลายท่านมักหาทางออกง่ายๆ คือ สรุปว่าก็ดีทั้งสองอย่างนั่นแหล่ะ ทำทั้งสองไปเลย…อันนี้ก็เห็นด้วยครับ แต่ไม่ใช่คำตอบของคำถามนี้ ผมว่าเรามาหาคำตอบกันดีกว่าครับ
เรื่องอภัยทานกับธรรมทานนี้ แม้แต่อาจารย์ทางธรรมที่ผมนับถือ ก็ยังสอนไม่เหมือนกัน ท่านหนึ่งเป็นพระโสดาบัน ท่านสอนว่า ธรรมทานได้บุญมากกว่าอภัยทาน ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นพระอรหันต์ ท่านสอนว่า อภัยทาน ก็จัดเป็นธรรมทานประเภทหนึ่ง และเป็นทานสูงสุดในหมวดธรรมทาน ขออนุญาตนำ link มาให้ทุกท่านได้ลองพิจารณาก่อนครับ ว่าจะเชื่อหรือไม่อย่างไร…

อภัยทานคือทานอันสูงสุด-หลวงพ่อฤาษีฯ

ผมเคยไปอ่านบทความเรื่องนี้ในกระทู้ธรรมะตามเวบต่างๆ ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นไปต่างๆ นานา หลายท่านสรุปว่า ธรรมทานได้บุญมากกว่า อภัยทาน เพราะยึดตามพุทธพจน์ที่ว่า “สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ “ คนที่กล่าวว่าอภัยทาน ได้บุญมากกว่าธรรมทาน ถือว่า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งตัวผมเองไม่เห็นด้วยกับบทสรุปนี้ จึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้น ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่อยากจะเขียนเรื่องที่เสี่ยงจะเป็นการโต้เถียงกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือดีไม่ดี เวบนี้อาจจะโดนด่า หาว่าสอนสิ่งที่ผิดๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิก็เป็นได้ แต่ผมเองก็อดไม่ได้ที่จะแสดงบทสรุปที่ผมได้ศึกษามา เอาเป็นว่า ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูเอาละกันนะครับ….

ที่มา
http://www.dhammatan.net/2011/08/ อภัยทานกับธรรมทาน/

ทรงกลด:
อภัยทาน คือ อะไร

อภัยทาน เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในยุคปัจจุบัน แต่ในพระไตรปิฎกกล่าวถึง อภัยทานไว้น้อยมาก เหมือนกับคำว่า เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งชาวพุทธเรานำมาใช้กันภายหลัง หากลองค้นในพระไตรปิฎก จะเจอผลการค้นหาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 15 ดังนี้
>ผลการค้นหาในพระไตรปิฎก คำว่า อภัยทาน
>>ส่วนที่กล่าวถึงอภัยทานในพระไตรปิฎก
ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

อภัยทาน หมายถึง ให้ความไม่มีภัย, ให้ความปลอดภัย

ที่มาของพุทธพจน์บทพระบาลี ที่ว่า สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ : การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง มีกล่าวใน ทานสูตร

ซึ่งกล่าวแต่เพียงว่า การให้ทานมี 2 แบบ คือ อามิสทาน กับ ธรรมทาน และธรรมทานเป็นเลิศกว่าทานอื่น ไม่ได้กล่าวถึง อภัยทานแต่อย่างใด
แต่ในส่วนของอรรถกถา ได้กล่าวไว้ว่า “ในอธิการนี้ อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทานนั่นเอง”

>>อ่านบทอรรถกถาเรื่องทานสูตร
หากเรายึดหลักฐานในพระไตรปิฎกตามนี้ ก็จะเห็นด้วยที่ว่า พระพุทธองค์ทรงจัดให้ อภัยทาน อยู่ในหมวด ธรรมทานนั่นเอง ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับคำสอนของหลวงพ่อฤาษีฯ ที่ยก link มาให้อ่านในตอนต้น ที่หลวงพ่อท่านสอนว่า อภัยทาน เป็น ทานอันสูงสุดในหมวดธรรมทาน โดยสรุปหลวงพ่อสอนว่า

ธรรมทาน = การให้ธรรม, คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นทาน และ การให้อภัยทาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่เป็นบทสรุปของผม โดยยึดหลักที่ว่า ผมเชื่อว่า อรรถกถาจารย์กล่าวถูกต้อง แต่หลายท่านอาจไม่เห็นด้วยกับผม เพราะมีหลายท่านที่ไม่เชื่ออรรถกถาจารย์ ดังนั้นจึงแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่านครับ ที่จะเชื่ออย่างไร

ที่มา
http://www.dhammatan.net/2011/08/ อภัยทานกับธรรมทาน/

ทรงกลด:
อภัยทาน ครอบคลุมถึงศีลและภาวนา

ตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 3 การทำบุญประกอบด้วย 3 หมวดคือ ทาน ศีล และภาวนา โดยสามารถแยกย่อยออกได้เป็น 10 อย่าง (บุญกิริยาวัตถุ 10) ตามมุมมองของผม คำว่าอภัยทานนี้ กินความหมายกว้าง สามารถจัดเข้าได้กับการทำบุญครบทั้งสามหมวด คือหมวดทาน ศีล และภาวนา ดังนี้

-  จัดว่าเป็นการทำทาน : เข้าได้กับธรรมทาน ดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นตามที่อรรถกถาจารย์ท่านกล่าวไว้
- จัดเข้าได้กับการทำบุญในหมวดศีล : เพราะคำว่าอภัยทาน แปลว่า การให้ความไม่มีภัย ใครเคยไปวัดป่า คงเคยสังเกตเห็นแผ่นป้ายที่ติดในเขตวัดว่า “เขตอภัยทาน” หมายถึง เป็นเขตรักษาศีล ไม่ให้ฆ่าสัตว์ เป็นต้น
- จัดเข้าได้กับหมวดภาวนา : เพราะการให้อภัย คือ การละโทสะในใจตน และเป็นการเจริญเมตตา อุเบกขา ซึ่งเป็นการเจริญพรหมวิหารธรรม อันเป็นหนึ่งใน กรรมฐาน 40 กอง (อันประกอบไปด้วย หมวดกสิน ๑๐ หมวดอสุภกรรมฐาน ๑๐ อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ หมวดพรหมวิหาร ๔ หมวดอรูปฌาณ ๔ หมวดอาหาเรปฏิกูลสัญญา และ หมวดจตุธาตุววัฏฐาน)

ดังนั้นอภัยทานจึงมีอานิสงส์มากมาย มากเกินกว่าการให้ทานทั่วไป เพราะเป็นการทำให้จิตมีเมตตา คือขณะที่เราตั้งจิตคิดให้อภัยทานใครนั้น หากลองสังเกตจิตดูก็จะรู้ได้ว่าตอนนั้น จิตเรามีศีลคลุม จิตเราเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม จึงจะสามารถให้อภัยได้ ท่านผู้อ่านลองคิดเปรียบเทียบดูง่ายๆ ก็ได้ครับ สมมุติว่าเราเกลียดคนคนหนึ่งมาก ถ้าเจอหน้าแทบจะอยากฆ่าให้ตายเลย ถามว่า เราจะอยากให้ทานเขาหรือไม่ สมมุติเป็นให้ธรรมะเป็นทานก็ได้ ผมว่าคงไม่มีใครอยากจะให้ เพราะหน้ายังไม่อยากจะมองเลย เรื่องอะไรจะเอาของดีคือ ธรรมะไปให้มัน จริงมั้ยครับ ตราบใดที่เรายังให้อภัยเขาไม่ได้ เราก็คงให้ทานอย่างอื่นเขาไม่ได้ ถึงให้ก็ด้วยความฝืนใจ ซึ่งอานิสงส์คงน้อย ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมาทุกประการว่า “ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว“

ที่มา
http://www.dhammatan.net/2011/08/ อภัยทานกับธรรมทาน/

ทรงกลด:
ข้อมูลสนับสนุน

   การเจริญเมตตาในขณะที่จิตเปี่ยมด้วยสมาธินี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เคยกล่าวเอาไว้ว่า เพียงทำแค่อึดใจเดียว ก็มีอานิสงส์มากกว่าการสร้างโบสถ์(วิหารทาน) เสียอีก หลายท่านอาจจะแย้งในใจว่า การเจริญเมตตาเกี่ยวอะไรกับอภัยทาน มันคนละส่วนกัน

เรื่องนี้ขออธิบายดังนี้ครับ หลักการแผ่เมตตาที่ผมเคยไปปฏิบัติธรรมมาที่วัดป่าม่วงไข่ อ.ภูเรือ จ.เลย (ลูกศิษย์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม) คือ อันดับแรกให้เราคิดถึงคนที่เรารักที่สุด แล้วตั้งจิตแผ่เมตตาให้เขามีความสุข ต่อมาคิดถึงคนที่รักน้อยลงมาแล้วแผ่เมตตาให้เขามีความสุข อันดับต่อมาให้คิดถึงคนที่เราไม่รักไม่ชังแล้วแผ่เมตตาให้เขามีความสุข อันดับต่อมาให้คิดถึงคนที่เราเกลียดหรือไม่ชอบหน้าแล้วแผ่เมตตาให้เขามีความสุข อันดับต่อมาคือให้คิดถึงคนที่เราเกลียดที่สุดแล้วตั้งใจแผ่เมตตาให้เขามีความสุข สุดท้ายให้ตั้งใจแผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด ท่านสอนว่าแรกๆ อาจจะฝืนใจหน่อย แต่หากทำได้ดังนี้อยู่เรื่อยๆ เราก็จะไม่มีคนที่เราเกลียดเลย ซึ่งจะสังเกตว่า การให้อภัยทานก็เป็น subset ของการเจริญเมตตานั่นเอง…
ผมเคยไปอ่านเจอในกระทู้หนึ่ง มีบางท่านแย้งว่า การให้ทานต้องมีผู้ให้และผู้รับ การให้ธรรมะเป็นทานยังมีผู้รับ ส่วนการให้อภัยไม่มีผู้รับ ดังนั้น การให้ธรรมะเป็นทานจึงน่าจะมีอานิสงส์มากกว่า ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะการทำบุญที่มีอานิสงส์มากที่สุด ตามคำสอนของพระศาสดาคือ การเจริญภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ วิปัสสนาภาวนา ซึ่งจะสังเกตว่า บุญสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือบุญที่ทำกับจิตเราเอง ไม่มีผู้รับแต่อย่างใด และการให้อภัยทาน จัดเป็นสมถกรรมฐาน เพราะเป็นการเจริญพรหมวิหารธรรม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อภัยทานจะมีอานิสงส์มากกว่าการให้ธรรมะเป็นทาน

นอกจากนี้ ยังมีบางท่านแย้งว่า การให้ธรรมะเป็นทานมีอานิสงส์มากกว่าอภัยทาน เนื่องด้วย การให้ธรรมะเป็นทาน จัดเป็นภาวนามัย เพราะเป็นการให้ปัญญา ซึ่งเป็นการกล่าวผิดหลักที่พระพุทธองค์ทรงสอน เพราะพระพุทธองค์ก็ได้จัดให้ธรรมะเป็นทานเอาไว้ในหมวดทานเท่านั้น ส่วนภาวนามัยคือ การเจริญสมถกรรมฐาน และการเจริญวิปัสสนา….
ทั้งหมดนี่เป็นบทสรุปที่่ผมค้นคว้ามาได้ ซึ่งอาจจะผิดหรือถูกผมก็ไม่รู้ ท่านผู้อ่านคงต้องพิจารณาเองครับว่าจะเห็นด้วยหรือไม่
 
ขอให้เจริญในธรรมครับ


ที่มา
http://www.dhammatan.net/2011/08/ อภัยทานกับธรรมทาน/

หนุ่ม:
 :053:ขึ้นอยู่ที่เจตนาครับ  ธรรมรู้ได้ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติธรรมขอบคุณครับสำหรับข้อธรรมที่ควรรู้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

Go to full version