หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล > ธรรมะ

การอุบัติเพื่อตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ

(1/1)

นร...:
การอุบัติเพื่อตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ

โดย?. ไม้หนึ่ง

ที่มา?. http://www.praonline.com

หลังจากที่พระบรมมหาโพธิสัตว์เจ้า ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบถ้วน ๓๐ ทัศ บริบูรณ์แล้ว พระองค์จะเสด็จ
ไปรออยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิต รอจนถึงกาลอันเหมาะสม ซึ่ง เหล่า เทพยดา และ พรหมทั้งหลาย จักมาทูลอัญเชิญให้เสด็จลงไปตรัสรู้บนโลกมนุษย์ ซึ่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ จะลงมาที่มนุษย์ภูมิเท่านั้น เหมือนดังเป็นพระพุทธประเพณี เพราะ เป็นภูมิที่เหมาะสม ด้วยประการทั้งปวง เช่น ถ้าอยู่ในภูมิเทวดา เมื่อทรงแสดงพระพุทธานุภาพ อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า สำเร็จเพราะฤทธิ์แห่งการเป็นเทวดา และนอกจากนี้ภูมิแห่งเทวดา และพรหม มีแต่ความสุข ไม่เห็นทุกข์ การเทศน์โปรด เพื่อให้เห็นอริยสัจ ๔ จึงเป็นไปได้ยาก

ครั้นเมื่อเหล่าพรหม เทวดาทั้งหลายมาทูลอัญเชิญลงไปตรัสรู้แล้ว พระบรมมหาโพธิสัตว์เจ้าจักเล็งดูความ
เหมาะสม ๘ ประการ หรือที่เรียกว่า มหาวิโลกนะ ๘ มหาวิโลกนะ ๘ มีองค์ประกอบดังนี้
๑. ทรงแลดูกาล คือ ทรงตรวจดูว่า ในกาลนั้นอายุขัยของมนุษย์มีเท่าไร เพราะถ้าหากว่าอายุขัยสั้น หรือยาวเกินไปจะทำให้ คนเข้าใจในกฏพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)ไม่ชัดเจน
๒. ทรงแลดูทวีป คือ ทรงตรวจดูทวีป ท่านจะอุบัติในชมพูทวีปเท่านั้น เนื่องเพราะทวีปอื่น ๆ นั้นสภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (ทวีป มี ๔ ทวีป คือ อมรโคยานทวีป ปุพพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป และ ชมพูทวีป)
๓. ทรงแลดูประเทศ คือ ทรงตรวจดูว่า ประเทศนั้นสมควรจะเสด็จอุบัติหรือไม่
๔. ทรงแลดูตระกูล คือ ทรงตรวจดูว่า ในขณะนั้นตระกูลใดเป็นที่นับถือแก่คนทั้งปวง ก็จักเสด็จอุบัติในตระกูลนั้น เช่น เป็นกษัตริย์ หรือ พราหมณ์
๕. ทรงแลดูพุทธมารดา คือ ตรวจดูว่า ผู้มีบุญญาธิการสมควรแก่การเป็นพุทธมารดา และได้เคยตั้งความปรารถนาเป็น พุทธมารดานั้นมีอยู่หรือไม่
๖. ทรงแลดูอายุ คือ ตรวจดูว่า พุทธมารดาย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย หรือยัง ทั้งนี้เพราะ พระโพธิสัตว์ชาติสุดท้ายจะไม่เกิดร่วม พระมารดากับผู้อื่น ดังนั้นจึงถือปฏิสนธิในเวลาที่พระมารดามีพระชนมายุย่างเข้ามัชฌิมวัยแล้ว และนับจากถือปฏิสนธิ
พระมารดา จะมีพระชนมายุอยู่ได้อีกเพียง ๑๐ เดือน กับ ๗ วัน ( หลังคลอด ๗ วัน พระมารดาจะสิ้นพระชนม์ )
๗. ทรงแลดูเดือน คือตรวจดูเดือนที่เหมาะสมสอดคล้องกับข้อ ๖
๘. ทรงแลดูการเสด็จออกบรรพชา คือ ตรวจดูกาลที่จะเสด็จออกบรรพชาว่าเหมาะสมหรือไม่
(บางตำรา มีเพียง ๕ ประการ เรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ จะไม่มี อายุ เดือน และการเสด็จออกบรรพชา)

หลังจากที่ทรงตรวจดูความพร้อมต่าง ๆ แล้ว ว่าเหมาะสม จึงรับคำเชิญของเหล่าพรหม เทวดา จากนั้นเทวดา และ พรหม ก็จักกลับไป ยังวิมานของตน เหลือแต่เหล่าพระโพธิสัตว์ที่จะพากันแวดล้อมพระองค์ พาเข้าไปในสวนนันทวัน พระโพธิสัตว์จะรำลึก ถึงบุญกุศลที่เคยทรงบำเพ็ญแล้วจุติลงมาสู่พระครรภ์พุทธมารดา ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะพอดี ก่อนถึงวันเพ็ญ ๗ วัน พุทธมารดาจะทรงอธิษฐานสมาทานอุโบสถศีล และในขณะที่หลับไป จะทรงพระสุบินนิมิตเห็นพระยาช้างเผือก แทรกเข้าพระครรภ์ ซึ่งการจุติของพระมหาโพธิสัตว์ชาติสุดท้ายจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ปรากฏตาม มหาปทานสูตร ดังนี้
๑. พระโพธิสัตว์จะจุติลงมายังพระครรภ์อย่างผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
๒. ขณะจุติจะปรากฎเหตุอัศจรรย์ กล่าวคือ มีแสงสว่างบังเกิดขึ้นในทุกโลกธาตุ และเกิดการสะท้านไหว ของโลกธาตุ เนื่องด้วยพระบารมี
๓. ตลอดเวลาที่อยู่ในพระครรภ์จะมีเทพยดา ๔ องค์ คอยอารักขาดูแล พระมารดา จะสามารถแลเห็น ซึ่งเทพยดานี้ได้
๔. ตลอดเวลาที่อยู่ในพระครรภ์ พุทธมารดาจะทรงศีล ๕ เป็นปกติ
๕. ตลอดเวลาที่อยู่ในพระครรภ์ พุทธมารดาจะไม่บังเกิดจิตปฏิพัทธ์ในบุรุษเพศเลย และไม่มีผู้ใด สามารถจะล่วงเกินพระองค์ได้
๖. ตลอดเวลาที่อยู่ในพระครรภ์ พุทธมารดาจะพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก
๗. ตลอดเวลาที่อยู่ในพระครรภ์ พุทธมารดาจะทรงมีพลานามัยสมบูรณ์ ไม่ประชวร และทรงสามารถมองเห็น พระโพธิสัตว์ในพระครรภ์
๘. พุทธมารดาจะทรงพระครรภ์ ๑๐ เดือนพอดีไม่ขาดไม่เกิน
๙. พุทธมารดาจะยืนประสูติพระโพธิสัตว์
๑๐. เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติพ้นจากพระครรภ์พระมารดาแล้ว เทวดาจะคอยรับ แล้วนำมาประทับยืนอยู่เบื้องหน้า พระมารดา พร้อมทั้งกราบทูลแสดงความยินดีต่อพระนาง
๑๑. พระโพธิสัตว์เมื่อออกจากครรภ์พระมารดา พระองค์จะทรงมีพระฉวีวรรณสะอาดผุดผ่อง ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินใด ๆ
๑๒. เวลาที่พระองค์ประสูติ จะบังเกิดสายน้ำสองสายตกลงมาจากอากาศ สายหนึ่งเป็นน้ำเย็น อีกสายหนึ่งเป็นน้ำร้อน เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยของพระองค์
๑๓. พระโพธิสัตว์จะก้าวเดินด้วยพระบาท ๗ ก้าว ไปทางทิศอุดร แล้วทรงเปล่งพระอาภิสวาจา ว่า
อคฺโคหมสฺมิ เราเป็นยอดของโลก
เชฎฺโฐหมสฺมิ เราเป็นใหญ่ของโลก
เสฏโฐหมสฺมิ เราเป็นผู้ประเสริฐสุดของโลก
อยมนฺติมา ชาติ เกิดนี้เป็นที่สุดของเรา
นตถิทานิ ปุนพภโวติ ในกาลนี้ การเกิดอีกไม่มี
๑๔. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระพุทธมารดาก็จักสิ้นพระชนม์ แล้วไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
ขณะเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงอยู่ในพระครรภ์นั้น จะทรงนั่งในพระครรภ์ดุจนักปราชญ์ผู้งามสง่ากำลังนั่งเทศนา
บนธรรมาสน์ และองค์ท่านนั้นจะเรืองงามดังทอง บุคคลอื่นสามารถเห็นรัศมีเรืองงามนี้ออกมานอกพระครรภ์ ครั้นเมื่อ ออกจากพระครรภ์ก็จักทรงเหยียดพระบาทแล้วลุกขึ้นยืนจึงออกจากท้อง มิได้กลับตัวนำศีรษะออกก่อนเหมือนปุถุชนทั่วไป

ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะออกผนวชจะทรงเห็นจตุรนิมิตร คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเกิดจาก เหล่า เทพยดา และ
พรหม สำแดงให้เห็นเพื่อให้พระองค์ระลึกได้แล้วค้นหาหนทางดับทุกข์ เมื่อพระโพธิสัตว์ ทรงออกผนวชเพื่อจะตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มหาพรหมจะนำเอาอัฐบริขารลงมาถวาย ที่มาของอัฐบริขารนั้นเริ่มจากตอนเริ่มกำเนิดกัปมหาพรหม จะลงมาดูว่ามีดอกบัวเกิดขึ้นกี่ดอก ถ้ามี ๑ ดอก แสดงว่าในกัปนั้นมีพระพุทธเจ้าเพียง ๑ พระองค์ ถ้ามี ๒ ดอก ก็จะมี ๒ พระองค์ และอาจมีได้สูงสุดถึง ๕ ดอก คือ มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ถ้าไม่มีดอกบัว แสดงว่ากัปนั้นเป็นสุญกัป จะไม่มีพระพุทธเจ้าลงมาตรัส ในดอกบัวนั้นจะมีอัฐบริขาร มหาพรหมก็จะนำขึ้นไปเก็บรักษาไว้ในพรหมโลก รอกาลจนกว่า พระมหาโพธิสัตว์จะออกผนวชเพื่อตรัสรู้จึงนำลงมาถวาย ครั้นพระองค์รับเครื่องอัฐบริขารแล้วก็จะเปลื้อง
เครื่องทรงออกจากพระวรกาย พรหมนั้นก็จักรับเอาไปเก็บรักษาไว้ในทุศเจดีย์บนอกนิฏฐพรหมโลก เพื่อสักการบูชา


ทศพลญาณ
ทศพลญาณ นั้น แปลได้ว่าเป็นญาณของพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์กล่าวกับพระสารีบุตร
ว่า ดูก่อนสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยกำลัง ๑๐ ประการ จึงได้อยู่ในฐานะอันสูงสุด ได้บรรลือสีหนาทในท่ามกลาง พุทธบริษัททั้งหลาย กำลังทั้ง ๑๐ อย่างนั้น คือ
๑. ฐานาฐานญาณ ตถาคตย่อมรู้ฐานะโดยความเป็นฐานะ รู้อฐานะโดยความเป็น อฐานะ คือรู้ว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้
๒. วิปากญาณ ตถาคต ย่อมรู้วิบากของกรรม ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยเหตุ โดยฐานะ โดยความเป็นจริง
๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ตถาคตย่อมรู้ ซึ่งปฏิปทาอันจะยังให้สัตว์ไปสู่ภูมิทั้งปวง โดยความเป็นจริง
๔. นานาธาตุญาณ ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกธาตุ อันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ ตามความเป็นจริง
๕. นานาธิมุตติกญาณ ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายตามความเป็นจริง
๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความยิ่งหย่อนในอินทรีย์แห่งสัตว์ทั้งหลาย (อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา)
๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเศร้าหมอง ความผ่องใส องค์ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามความเป็นจริง
๘. บุพเพนิวาสานุสติญาณ ตถาคตย่อมสามารถระลึกย้อนอดีตชาติได้ไม่จำกัด
๙. จุตูปปาตญาณ ตถาคตย่อมเห็นความเป็นไปแห่งสัตว์ทั้งหลาย ( จุติ ที่ไปอุบัติ)
๑๐. อาสวักขยญาณ ตถาคตย่อมสามารถทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ตัดกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิง

 :001:

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version