กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด มิตรไมตรี => รวมสมาชิก (มิตรไมตรี) => ข้อความที่เริ่มโดย: ทรงกลด ที่ 20 ส.ค. 2554, 01:46:27

หัวข้อ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 20 ส.ค. 2554, 01:46:27
เห็นว่าท่านsaken6009 ไม่รู้จักภิกษุณี เลยขออนุญาตนำมาฝากให้อ่านกันครับ
=================
ภิกษุณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธ

ภิกษุณี (บาลี: ภิกฺขุณี; สันสกฤต: ภิกฺษุณี; จีน: 比丘尼) เป็นคำใช้เรียกนักบวชหญิง ในพระพุทธศาสนา คู่กับ ภิกษุ ที่หมายถึงนักบวชชายในพระพุทธศาสนา คำว่า ภิกษุณี เป็นศัพท์ที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา โดยเป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่ใช้เรียกนักบวชในศาสนาอื่น
ภิกษุณี หรือ ภิกษุณีสงฆ์ จัดตั้งขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาต ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี โดยวิธีรับคุรุธรรม 8 ประการ ในคัมภีร์เถรวาทระบุว่าต่อมาในภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวิธีการอุปสมบทภิกษุณีให้มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น จนศีลของพระภิกษุณีมีมากกว่าพระภิกษุ โดยพระภิกษุณีมีศีล 311 ข้อ ในขณะที่พระภิกษุมีศีลเพียง 227 ข้อเท่านั้น เนื่องจากในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมาก่อน และการตั้งภิกษุณีสงฆ์ควบคู่กับภิกษุสงฆ์อาจเกิดข้อครหาที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการประพฤติพรหมจรรย์และพระพุทธศาสนาได้ หากได้บุคคลที่ไม่มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นนักบวช
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งวงศ์ภิกษุณีเถรวาทขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในประเทศพุทธเถรวาทที่เคยมี2หรือไม่เคยมีวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ในปัจจุบัน3 ต่างก็นับถือกันโดยพฤตินัยว่าการที่อุบาสิกาที่มีศรัทธาโกนศีรษะนุ่งขาวห่มขาว ถือปฏิบัติศีล 8 (อุโบสถศีล) ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า แม่ชี เป็นการผ่อนผันผู้หญิงที่ศรัทธาจะออกบวชเป็นภิกษุณีเถรวาท แต่ไม่สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีเถรวาทได้[1] โดยส่วนใหญ่แม่ชีเหล่านี้จะอยู่ในสำนักวัดซึ่งแยกเป็นเอกเทศจากกุฎิสงฆ์
ภิกษุณีสายเถรวาทซึ่งสืบวงศ์มาแต่สมัยพุทธกาลด้วยการบวชถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท ที่ต้องบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ ได้ขาดสูญวงศ์ (ไม่มีผู้สืบต่อ) มานานแล้ว คงเหลือแต่ภิกษุณีฝ่ายมหายาน (อาจริยวาท) ที่ยังสืบทอดการบวชภิกษุณีแบบมหายาน (บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว) มาจนปัจจุบัน ซึ่งจะพบได้ในจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และศรีลังกา1
ปัจจุบันมีการพยายามรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีในฝ่ายเถรวาท โดยทำการบวชมาจากภิกษุณีมหายาน และกล่าวว่าภิกษุณีฝ่ายมหายานนั้น สืบวงศ์ภิกษุณีสงฆ์มาแต่ฝ่ายเถรวาทเช่นกัน[2] แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายมหายานมีการบวชภิกษุณีสืบวงศ์มาโดยมิได้กระทำถูกตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีศีลที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย ทำให้มีการไม่ยอมรับภิกษุณี (เถรวาท) ใหม่ ที่บวชมาแต่มหายานว่า มิได้เป็นภิกษุณีที่ถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีการยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างว่าพระพุทธศาสนาจำกัดสิทธิสตรีด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้มีภิกษุณีที่นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีนักบวชหญิงเป็นศาสนาแรกในโลก เพียงแต่การสืบทอดวงศ์ภิกษุณีได้สูญไปนานแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถบวชสตรีเป็นภิกษุณีตามพระวินัยเถรวาทได้


ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/ภิกษุณี
หัวข้อ: ตอบ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 20 ส.ค. 2554, 01:49:34
ประวัติการเกิดภิกษุณีสงฆ์

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/c/c1/Bhikkhuni.jpg)
ภาพวาดพระพุทธประวัติ ตอนพระนางปชาบดีโคตมีทูลขอบวชเป็นพระภิกษุณี

ในสมัยพุทธกาลนั้น แรกเริ่มเดิมที สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีได้ เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้อายุของพระพุทธศาสนาไม่ยั่งยืน[3]
ต่อมา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ผู้เป็นพระน้านางและพระมาตุจฉา หรือพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านได้มีศรัทธาอยากออกบวชจึงทูลอ้อนวอนขอบวชต่อพระพุทธเจ้าถึงสามครั้งสามครา แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งพระอานนท์ได้ทูลขอให้ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่า พระนางปชาบดีโคตมีจะต้องรับเอาครุธรรมแปดประการ (แปลว่าข้อปฏิบัติที่หนักและทำได้ยาก) ไปปฏิบัติ
ดังนั้นภิกษุณีที่ทรงอุปสมบทให้องค์แรกได้แก่ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ซึ่งบวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในโลกด้วยการรับ ครุธรรมแปดประการ (ท่านเป็นรูปเดียวที่บวชด้วยวิธีเช่นนี้)
ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ในการรับผู้ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี และวางวินัยของภิกษุณีไว้มากมาย เพื่อกลั่นกรองผู้ที่ประสงค์จะบวชและมีศรัทธาจริง ๆ [4]เช่น ภิกษุณี เมื่อบวชแล้วต้องถือศีลถึง 311 ข้อ มากกว่าพระภิกษุ[5] ซึ่งถือศีลเพียง 227 ข้อ (วินัยของภิกษุณีที่มีมากกว่าพระภิกษุ เพราะผู้หญิงมีข้อปลีกย่อยในการดำรงชีวิตมากกว่าผู้ชาย เช่น ต้องมีผ้ารัดถัน (ผ้ารัดอก) ซึ่งผู้ชายไม่จำเป็นต้องมี เป็นต้น) [6]

ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/ภิกษุณี
หัวข้อ: ตอบ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 20 ส.ค. 2554, 01:55:12
การบวชเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาท

การบวชเป็นสิกขมานา

ก่อนที่ผู้หญิงจะบวชเป็นภิกษุณีได้นั้น ต้องบวชเป็น "สิกขมานา" เสียก่อน สิกขมานาเป็นสามเณรีที่ต้องถือศีล 6 ข้ออย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 2 ปี หากศีลขาดแม้แต่ข้อเดียวจะต้องเริ่มนับเวลาใหม่
การบวชเป็นสิกขมานา จะบวชได้ต้องอายุครบ 18 ปี เพราะว่าคนที่จะบวชเป็นภิกษุณีได้นั้นต้องอายุครบ 20 แต่สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว พระพุทธองค์อนุญาตให้บวชเป็นสิกขมานาได้ตั้งแต่อายุ 12 เพราะว่าคนที่แต่งงานจะได้เรียนรู้ความยากลำบากของชีวิต รู้จักสุข ทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์ก็จะรู้จักสมุทัย นิโรธ มรรค ได้ จนนำไปสู่การบรรลุในที่สุด

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/9/90/Bhikkhuni_01.jpg)
รูปพระภิกษุณี พระนางปชาบดีโคตมี วัดเทพธิดาราม
การบวชเป็นภิกษุณี

เมื่อผู้ที่ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี ได้เป็นสิกขมานา ถือศีล 6 ข้อครบ 2 ปีแล้ว แล้วจึงมีสิทธิ์ที่จะเข้าพิธีอุปสมบท โดยต้องอุปสมบทในฝ่ายของ ภิกษุณีสงฆ์ ก่อน แล้วไปเข้าพิธีอุปสมบทในฝ่าย ภิกษุสงฆ์ อีกครั้งหนึ่งจึงจะเป็นภิกษุณีได้โดยสมบูรณ์ (บวชในสงฆ์สองฝ่าย)


การสูญวงศ์ของภิกษุณีฝ่ายเถรวาท

ปัจจุบันผู้หญิงผู้ศรัทธาออกบวชในฝ่ายเถรวาทนิยมโกนหัวนุ่งขาวห่มขาวถือศีลอุโบสถบวชเป็น แม่ชี แทน
ก่อนที่ภิกษุณีสงฆ์จะหมดไปจากอินเดียนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระธรรมทูตออกไป 9 สาย 1 ในนั้นคือ พระมหินทรเถระ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง ในสายพระมหินทรเถระนี้ไปศรีลังกา การเผยแพร่ศาสนาพุทธประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง พระนางอนุลา น้องสะใภ้ของกษัตริย์ศรีลังกา ทรงอยากผนวช จึงนิมนต์ พระนางสังฆมิตตาเถรี พระธิดาของพระเจ้าอโศก มาเป็นปวัตตินีให้ ("ปวัตตินี" คือพระอุปัชฌาย์ที่เป็นผู้หญิง)
จากศรีลังกา ภิกษุณีสงฆ์ได้ไปสืบสายไว้ในจีน ไต้หวัน และอื่น ๆ อีกมาก จนกระทั่งพุทธศาสนาที่อินเดียและศรีลังกาเสื่อมลงลงไปในช่วงหลัง ทำให้ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทซึ่งมีศีลและข้อปฏิบัติที่ยุ่งยากไม่สามารถรักษาวงศ์ของภิกษุณีเถรวาทไว้ได้ จึงทำให้ไม่มีผู้สืบทอดการบวชเป็นภิกษุณีสายเถรวาทในปัจจุบัน

ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/ภิกษุณี
หัวข้อ: ตอบ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 20 ส.ค. 2554, 01:59:22
การพยายามรื้อฟื้นภิกษุณีสายเถรวาทในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน มีความเชื่อว่ายังมีภิกษุณีสายเถรวาทเหลืออยู่ และอ้างหลักฐานยืนยันว่าภิกษุณีทางสายมหายาน วัชรยานนั้นสืบสายไปจากภิกษุณีสายเถรวาท โดยถือกันว่าหากภิกษุณีสายเถรวาทสืบสายไปเป็นมหายานได้ (ภิกษุณีจากลังกาไปบวชให้คนจีน) ภิกษุณีมหายานก็สืบสายมาเป็นเถรวาทได้เช่นกัน

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/09/Dhammananda09.jpg/150px-Dhammananda09.jpg)
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้บวชเป็นภิกษุณี (เถรวาท) หลายรูป โดยบวชมาจากคณะภิกษุณีสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เช่น ภิกษุณีธัมมนันทา (ในภาพ) มีสำนักภิกษุณีป็นเอกเทศคือ วัตรทรงธรรมกัลยาณี

ในกรณีนี้เคยมีประเด็นถกเถียงอยู่ช่วงหนึ่งว่าปัจจุบันนี้สามารถบวชภิกษุณีได้หรือไม่ มีข้อสรุปจากทางพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีการบวชเป็นภิกษุณีได้ก็ต่อเมื่อบวชต่อสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือต้องบวชทั้งฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เป็นการลงญัตติจตุตถกรรมวาจาทั้งสองฝ่าย จึงจะสามารถเป็นภิกษุณีได้ ดังนั้นในเมื่อภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้เสื่อมสิ้นลงไม่มีผู้สืบต่อ จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทำการบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทได้ การที่มีข้ออ้างว่าสายมหายานสืบสายวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ไปก็ไม่สามารถอ้างได้ เพราะการสืบสายทางมหายานมีข้อวินัยและการทำสังฆกรรมบวชภิกษุณีที่ไม่ถูกต้องกับพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท

ปัจจุบันศรีลังกาพยายามฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ จนมีหลายร้อยรูป ที่เมืองไทยเองก็มีคนบวชเป็นภิกษุณีหลายรูปแล้วเช่นกัน แต่คณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์เพราะสาเหตุดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

บริขารอังสะมิใช่บริขารของภิกษุ สามเณรแต่เดิม เป็นของภิกษุณี สามเณรี และสิกขมานาเนื่องจากเป็นสตรีจึงต้องมีเสื้อหรืออังสะใส่เพื่อปกปิดถันเอาไว้ และยังมีผ้าพันถัน รวมถึงผ้านิสีทนะผ้า3ชาย(ที่มักอธิบายกันว่าเป็นผ้าปูนั่งหรือสันถัต)นุ่งเช่นเดียวกับผ้าเตี่ยว(เหมือนกางเกงใน)เมื่อมีประจำเดือนจะใช้ห่อผ้าซับเลือด (ดุจผ้าอนามัยสมัยนี้)

ที่มา
http://th.wikipedia.org/wiki/ภิกษุณี
หัวข้อ: ตอบ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: Au_Ahoo ที่ 20 ส.ค. 2554, 04:00:24
ขอบพระคุณที่ให้ความรู้ได้อย่างอ่อนโยนค่ะ

จะคิดกันไปทำไมว่าโดนจำกัดสิทธิ ในเมื่อ ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม   :001:
หัวข้อ: ตอบ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: saken6009 ที่ 20 ส.ค. 2554, 04:18:00
ภิกษุณี เมื่อบวชแล้วต้องถือศีลถึง 311 ข้อ 41; 41;
                             
ขอบคุณท่าน ทรงกลด ที่นำบทความที่ดีมากๆ มาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ :053: :053:
                                                                                                                                                         
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน เพื่อเป็นความรู้ ขอบคุณมากครับ) :033: :033:
หัวข้อ: ตอบ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) ที่ 20 ส.ค. 2554, 08:06:58
อนุโมทนาครับพี่ทรงกลด

   ตั้งแต่พระอานนท์ทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๓ ครั้ง พระองค์จึงทรงอนุญาติให้พระนางปชาบดีโคตมีอุปสมบทเป็นภิกษุณีด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ พระนางบำเพ็ญเพียรไม่นานก็บรรลุอรหัตผล ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะทางรัตตัญญู คือเป็นผู้รู้ราตรีนาน(อุปสมบทเป็นภิกษุณีก่อนคนอื่นๆทั้งหมด)

   จริงอยู่ที่ว่ามรรคและผลไม่จำกัดเฉพาะชาย คือสามารถเข้าถึงได้ทั้งชายและหญิงไม่แยกชั้นวรรณะ พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าหากให้หญิงเข้ามาบวชแล้วพระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ไม่นานจึงปฏิเสธคำขอของพระอานนท์ (หรือจะมองอีกมุมว่าเป็นการให้ความสำคัญว่าในการบวชเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นจงรักษาไว้ให้ดีที่สุด ในทางอ้อมก็ตามที) จึงได้ทรงประทานครุธรรม ๘ ประการ(หมายถึงธรรมอันหนัก,อันยากยิ่ง ๘ ประการ) ในการรับพระน้านางเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุณี และบัญญัติพระวินัยสำหรับภิกษุณีผู้บวชในพระศาสนาถึง ๓๑๑ ข้อ

   พระภิกษุสงฆ์นั้น มีพระวินัย เป็นเครื่องควบคุมรักษากาย วาจา หรือเรียกว่าศีล ๒๒๗ ข้อ และมีอาบัติปาราชิก(แปลว่าผู้พ่าย) เปรียบเสมือนโทษของฆาราวาสคือโทษประหารชีวิต กล่าวคือ หากภิกษุต้องอาบัติปาราชิกเข้าแล้ว ก็จะขาดจากความเป็นภิกษุทันที และจะกลับมาบวชเป็นภิกษุอีกไม่ได้ในชาตินั้นๆ

   สำหรับภิกษุณี ก็มีพระวินัยเช่นเดียวกับพระภิกษุ แต่มีถึง ๓๑๑ ข้อ และอาบัติปาราชิกก็มีบัญญัติเช่นเดียวกันกับภิกษุเช่นกัน จะแตกต่างกันไปในรายละเอียด

   ที่เคยได้ยินได้ฟังมาในอาบัติปาราชิกของภิกษุณีข้อนึง ได้มีกล่าวไว้ทำนองว่า"ภิกษุณีหากนอนหงาย ต้องอาบัติปาราชิก" คือ หากในขณะนอนนั้น ภิกษุณีนอนหงาย ก็จะขาดจากความเป็นภิกษุณีทันที ไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาบวชเป็นภิกษุณีอีกเด็ดขาดในชาตินั้นๆ หรืออีกข้อนึงมีกล่าวทำนองว่า "หากรู้อาบัติปาราชิกของนางภิกษุณี แล้วไม่ประกาศให้ทราบว่าภิกษุณีรูปนั้นๆต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ภิกษุณีผู้รู้แล้วไม่ประกาศบอกต้องปรับอาบัติปาราชิกเช่นเดียวกัน" ด้วยเหตุนี้เองนางภิกษุณีจึงมีจำนวนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มีให้ปรากฏในพุทธบริษัท ๔ ในปัจจุบันเลย

   การอุปสมบทภิกษุณีก็ทำได้ยาก กล่าวคือต้องบวชในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ระเบียบข้อบังคับเยอะกว่า แสดงอาบัติก็ต้องแสดงในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย แม้ภิกษุที่เพิ่งอุปสมบทในวันนั้น นางภิกษุณีก็ต้องไหว้ทำความเคารพ และอีกหลายๆประการ ปัจจุบันนี้จะยังคงยึดถือแบบแผนปฏิบัติเดิมไว้หรือไม่....ไม่มีใครทราบ......พระวินัยปิฎกเป็นคำตอบได้อย่างชัดแจ้งที่สุดครับว่าปัจจุบันนี้คืออะไร...
หัวข้อ: ตอบ: ภิกษุณี
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 20 ส.ค. 2554, 08:27:39
ขอขอบพระคุณท่าน ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

ที่ได้ให้ความรู้เสริมเพิ่มเติมครับ  :025: