ผู้เขียน หัวข้อ: ท่านผู้สามารถบำเพ็ญภาวนาในเมืองฤาษี,โยคี...พระกัสสปมุณี  (อ่าน 4793 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
 ประวัติท่าน สนุกตื่นเต้นน่าสนใจดี ท่าน เคยปะลองกสิน กับ โยคีมาแล้ว ดังมากเลย ในอินเดียช่วงนั้น ท่านมีทั้ง อิทธิฤทธิ์ และ บุญฤทธิ์พอตัว ใครชอบแนวอภิญญาพลาดไม่ได้ แถม ความรู้เรื่อง อินเดียแบบ เต็ม อิ่มไปเลยท่านผู้สามารถบำเพ็ญภาวนา ในเมืองฤาษีโยคี ... หลวงพ่อกัสสปมุนี 

สวัสดีครับ ท่านที่เคารพ วันนี้มาเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้างนะครับ เมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน สมัยที่กระผมยังหนุ่มมากๆ อยู่นั้น เพื่อนที่สนิท และเป็นผู้ใฝ่ในธรรม ได้มาชักชวนให้กระผม ไปหาหลวงพ่อองค์หนึ่ง ซึ่งท่านจะเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลา ๗ วัน ทุกปี แต่จนแล้วจนรอด กระผมก็ยังไม่ได้ไปหาท่าน เขาก็เลยหาประวัติ และเรื่องราว ของพระคุณเจ้ารูปนั้นมาให้อ่าน ซึ่งก็น่าทึ่ง และน่าสนใจดีมาก จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปพบท่าน เนื่องจากท่านรับนิมนต์ลูกศิษย์ มาที่กรุงเทพฯ บ้านของลูกศิษย์ท่านนั้น อยู่แถวๆ หัวถนนสีลม พวกเราก็ชวนกันไปหลายคน หลวงพ่อองค์นั้นก็คือ หลวงพ่อกัสสปมุนี ที่เราจะได้อ่านเรื่องของท่าน นี่แหละครับ

ขณะที่ไปถึงเป็นเวลาหัวค่ำ (คือเลิกงานแล้ว เราแวะทานข้าวแล้วก็ไปกันเลย) คนยังไม่มากนัก ไปคอยอยู่สักครู่หนึ่ง ก็ได้พบกับท่าน หลวงพ่อฯมีอายุมากแล้ว ประมาณสัก ๗๐ ปีเศษ รูปร่าง ผอม โปร่ง ท่าทางกระฉับกระเฉง และ ยังนั่งหลังตรง เป็นสง่า ท่านยิ้มอย่างมีเมตตามาก เพื่อนๆก็พากันคลาน และกระเถิบเข้าไปใกล้ๆท่าน ส่วนกระผมนั้นด้วยความเลว ก็เลี่ยงไปนั่งหลังสุด แต่ก็คอยเงี่ยหูฟังอยู่ (ตอนนั้น กระผมได้พบหลวงพ่อฤาษีฯแล้ว และก็มีความรู้สึกเหมือน ดร.ปริญญา ที่ว่า เรามีครูอาจารย์ที่เก่งมากๆอยู่แล้ว (พบท่านอื่นๆ เราก็เลยเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น จนโดนพระองค์ที่สิบท่านสอนว่า “ ไอ้คนบางคนมันถือตัวว่ามีอาจารย์ดี แล้วตัวมันเองดีเหมือนอาจารย์หรือเปล่า” ...) หลังจากได้สอบถามเรื่องทั่วๆไป เช่นหน้าที่การงาน อะไรต่างๆ เป็นการเริ่มต้นแล้ว ท่านก็บอกว่า ช่วงนี้ ท่านมาพักผ่อน เพราะสุขภาพท่านไม่ค่อยดี จะไม่สอนข้อธรรมะอะไร คุยกันไปเรื่อยๆก็แล้วกัน แล้วท่านก็เริ่มคุยเรื่องทั่วๆไป แต่แหมมันกระทบเข้ากับกิเลสในใจของกระผมอย่างแรง

เพียงเวลาไม่ถึงยี่สิบนาที กระผมก็ค่อยๆกระเถิบ จากหลังสุดขึ้นไปอยู่หน้าสุด และเริ่ม ซักถามพูดคุยกับท่านบ้าง สายตาของท่านที่มองมานั้น กระผมอยากให้ท่านได้ไปเห็น ท่านมองกระผมเหมือนกับจะบอกว่า เธอชอบธรรมะอย่างนี้ใช่ไหมเล่า อาตมารู้นะว่าเธอคิดยังไง เป็นสายตาที่ ออกจะขบขัน (ปนสังเวช) แต่แฝงด้วยความเมตตา แต่ละคำพูดของท่าน แหลมคม... แหลมคมมากๆ ทำให้กระผมนึกถึง หลวงพ่อฤาษีฯ ของเราขึ้นมาทันที ถ้าสองท่านนี้ ได้มาปุจฉาวิสัชนากัน คงจะเป็นธรรมบันเทิงอันสุดยอด สำหรับศิษย์ทั้งหลาย และ สาธุชนผู้ชมชอบในปฏิภาณไหวพริบ เวลาล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว เป็นเวลาถึงชั่วโมงเศษๆ ก่อนลาท่านกลับ ท่านพูดยิ้มๆ เหมือนกับเจตนาจะบอกกับกระผมโดยตรงว่า “ คนบางคน เมื่อแรกพบกันก็รู้สึกเฉยๆ แต่เมื่อได้พูดจาวิสาสะกันแล้ว กลับมีความรู้สึกว่า เหมือนได้รู้จักคุ้นเคยกันมาแสนนานทีเดียว” ... นับแต่วันนั้น กระผมก็ตั้งใจไว้ว่า คราวหน้าถ้าท่านเข้านิโรธสมาบัติอีก จะต้องลางานไปทำบุญกับท่านให้ได้ แต่ปรากฏว่า บุญของกระผมน้อย เพราะท่านได้มรณภาพ ก่อนวันที่กระผมจะเดินทางเพียงวันเดียวเท่านั้น ...
                                                                                     __________________
           ก่อนอื่น ขอเรียนให้ทราบเกี่ยวกับประวัติคร่าวๆ ของท่านเสียก่อนนะครับ (จากนิตยสารโลกทิพย์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เขียนโดย ท่านสิทธา เชตวัน ปัจจุบันนี้ท่านบวชแล้วนะครับ) หลวงพ่อกัสสปฯ ท่านบวชเมื่ออายุ ๕๐ ปีเศษ สมัยที่ยังไม่บวชท่านทำงาน อยู่ฝ่ายสรรพสามิตและดื่มเหล้าเก่ง ตอนหลังท่านเห็นโทษของการดื่มเหล้า และเกิดเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส จึงได้ลาออกจากราชการ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านได้ไปฝากตัวอยู่กับสมเด็จ พระวันรัต (ต่อมาทรงได้รับสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดโพธิ์ ท่าเตียน) โดยเป็นอุบาสก นุ่งขาวห่มขาว ถือศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัด ในที่สุดจึงได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ในปี
พ.ศ. ๒๕๐๕ แม้บวชได้เพียงพรรษาเดียว หลวงพ่อกัสสปมุนี ได้ออกธุดงค์ ไปบำเพ็ญเพียรภาวนา อยู่บนยอดเขาภูกระดึง อันแสนจะหนาวเหน็บ (เดือน พ.ย. ๒๕๐๖) หลังจากนั้นถัดมาอีกเพียง พรรษาเดียว ท่านก็ได้จาริกแสวงบุญ ไปบำเพ็ญภาวนาในแดนไกล คือเมือง ฤาษีเกษ ประเทศอินเดีย เมืองนี้เป็นที่ชุมนุม ของโยคี ฤาษี มุนีไพร ผู้ทรงตบะและฤทธาอันแก่กล้ามากมาย ต้องเก่งจริงๆ ถึงจะอยู่ได้อย่างสันติอิสระ...

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อออกพรรษา ปวารณาปีพ.ศ. ๒๕๐๗ แล้ว หลวงพ่อฯก็ได้เดินทางไปยังประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย. ๒๕๐๗ โดยสายการบิน ซี.พี.เอ. ร่วมกับคณะทัศนาจรแสวงบุญ ซึ่งมีทั้งพระ และฆราวาส อาทิเช่น ท่านเจ้าคุณราชปัญญาเมธี เจ้าคณะจังหวัดยะลา ท่านเจ้าคุณสิริสารโสภณ เจ้าคณะอำเภอยะลา หลวงพ่อทิม วัดช้างไห้ ผู้สร้างพระเครื่อง หลวงพ่อทวด อันลือลั่นไปทั่วประเทศ และท่านเจ้าคุณ ญาณวิริยาจารย์ วัดธรรมมงคล ซอยปุณณวิถี พระโขนง ซึ่งเป็นศิษย์เอก พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฝ่ายฆราวาสก็มี นายเอื้อ บัวสรวง ธ.บ. และ เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต นายน่วม
นันทวิชัย นายกพุทธสมาคม สิงห์บุรี จุดมุ่งหมายของคณะจาริกแสวงบุญ คือจะพากันไปนมัสการ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธคุณ และ เพื่อปลงธรรมสังเวช หลวงพ่อกัสสปนั้น ต้องการจะเดินทางต่อไป เพื่อไปจำศีลภาวนาที่เมือง “ฤาษีเกษ” อันเป็นเมืองของนักพรต ฤาษีชีไพร นักบำเพ็ญตบะ พวกนุ่งลมห่มฟ้า (ฑิฆัมพร) และ นักบวชนิกายต่างๆ

           การเดินทางไปนมัสการ ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ไปชมเมืองราชคฤห์ หรือรัฐพิหารในปัจจุบัน ไปเมืองพาราณสี แล้วขึ้นรถไฟไปยังตำบล สารนาถ คือ ป่าอิสิปตน มฤคทายวัน อันเป็นสถานที่ พระบรมศาสดาทรงแสดงปฐมเทศนา เสร็จสิ้นไปตามลำดับ ต่อจากนั้นก็ไปยังตำบลกุสินาราน์ สถานที่เสด็จดับขันธ์ ปรินิพพาน ซึ่งหลวงพ่อกัสสปมุนี เล่าถึงตอนนี้ว่า “รถได้พาคณะเรามาถึงเมือง กุสินาราน์ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. ความใฝ่ฝันของอาตมาภาพแต่อดีต ที่ใคร่จะได้เห็นเมืองกุสินาราน์ และสถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานยิ่งนัก บัดนี้ความใฝ่ฝันนั้น ความปรารถนาอันแน่วแน่นั้น ก็ได้บรรลุผลแล้ว ใครจะเดินล่วงหน้าไปแล้วก็ตาม อาตมาภาพยังคงยืนเหลียวไปโดยรอบ เพื่อพินิจพิจารณา บริเวณสถานที่นั้นให้เต็มตา

แต่อนิจจา ! อันว่าป่าสาลวัน อันเป็นสวนที่แวะพักของเหล่ามัลละกษัตริย์ และเป็นที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ของพระบรมศาสดาของเรา คงมีเหลืออยู่แต่ชื่อ อันเป็นที่หมายรู้เท่านั้น เพราะบัดนี้มีสภาพเป็นที่โล่ง มีต้นไม้เบาบาง ปราศจากหมู่ และกลุ่มไม้ ต้นสาละ หรือต้นรังอินเดีย มีอยู่ไม่มากนัก แต่ทางการอินเดียเขาได้จัดรักษา และบำรุงอย่างดีมาก แม่น้ำหิรัญญวดี ที่ได้กล่าวไว้ในพระสูตรก็มิได้มี นี้ก็เป็นอนุสสติให้ระลึกพิจารณา ถึงความแปรปรวนแห่งสังขาร เครื่องผสมปรุงแต่ง ว่าไม่เที่ยง ย่อมแปรผันเปลี่ยนไป อาตมาสลดใจจึงรีบเดินตามหมู่พวกไป เห็นพวกเรากำลังขึ้นบันได เข้าสู่อาคารหลังหนึ่ง ทำแบบวิหาร อาตมาภาพจึงตามติดเข้าไป ที่นี่เอง คือที่ตั้งพระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ปางอนุฏฐานไสยาสน์ (คือปางเสด็จบรรทม โดยไม่ลุกอีกต่อไป) นายช่างปฏิมากรรม เขาปั้นเป็นพระพุทธรูปนอนตะแคงขวา แต่ไม่หลับพระเนตร เลยกลายเป็น พระพุทธปฏิมานอนลืมพระเนตร ช่างปั้นคงไม่ได้คิดถึงข้อนี้ เพราะเป็นช่างแขกอินเดีย ซึ่งพิจารณาดูแล้ว เห็นว่าผิดความจริงอย่างยิ่ง
 

           แต่ก็ประหลาดอย่างยิ่งอีกเหมือนกัน เพราะขณะที่อาตมาภาพยืนอยู่นั้น รู้สึกเหมือนกับว่า ได้เข้ามาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์ ซึ่งผิดกับสถานที่อื่นๆ เช่น ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อันเป็นที่ตรัสรู้ และ ที่สารนาถที่แสดงปฐมเทศนา เอ๊ะ... นี่ยังไงกัน ? ที่นี่เหมือนมีแม่เหล็ก อาตมาจึงพิงไม้เท้าไว้ที่ประตู ปลดย่ามลงจากบ่า ทรุดตัวลงคุกเข่าพร้อมกับเพื่อน สพรหมจารี จุดธูปเทียนน้อมอภิวาทถวายนมัสการบูชา ด้วยหัวใจอันวังเวง ดูเหมือนว่ามีอะไรอบอุ่นวนเวียนอยู่ใกล้ๆ และมีอะไรเย็นๆ พรมไปตามตัว มิใยใครจะลุกไปแล้ว อาตมาภาพก็ยังคงคุกเข่า พนมมือหลับตา ใจจดใจจ่ออยู่อย่างนั้น ช่างอบอุ่นร่มเย็น และสงบแท้ นี่เป็นความรู้สึกขณะนั้น จนคณะพากันออกไปหมด อาตมาภาพจึงได้ลุกขึ้นเดินเวียนประทักษิณ แล้วจะเดินออกประตู เห็นหลวงพ่อทิมวัดช้างไห้ กำลังยืนพนมมืออยู่ข้างมุมประตู ตาลืมจ้องดูที่พระพุทธรูป อาตมาจึงเอื้อมมือจะไปหยิบไม้เท้าที่พิงอยู่ ข้างประตู

ทันใดนั้น อัศจรรย์ยิ่ง อัศจรรย์จริงๆ มีเสียงหนึ่งกระซิบที่หูเบาๆ แต่ชัดเจนว่า “ทำไมไม่กราบพระบาท! ทำไมไม่กราบพระบาท!” อะไรกัน อาตมาหันขวับไปดู หลวงพ่อทิมวัดช้างไห้ ก็เห็นกำลังยืนอยู่ไม่ห่างในท่าเดิม แล้วเป็นเสียงใคร? อาตมาจึงหันมาจะหยิบไม้เท้าอีก ก็มีเสียงกระซิบอีกอย่างชัดเจน อ่อนน้อมว่า “ ทำไมไม่กราบพระบาท! ทำไมไม่กราบพระบาท! ” อาตมาชะงัก ฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้บางอย่าง หันกลับเดินไป ทรุดคุกเข่าอยู่ที่ปลายพระบาท พระพุทธปฏิมาปางไสยาสน์ เสด็จดับขันธ์ ปรินิพพาน กราบแล้วกราบอีก แล้วพนมมือน้อมระลึกถึง พระพุทธคุณ และพุทธานุภาพ ที่ได้ทรงปกแพร่ไปเป็นอนันตเขต แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนานแล้ว แต่พุทธเกษตรนี้ยังกระจ่าง อีกนานไกล อาตมาภาพพนมมือ ค้อมตัวลงปลงธรรมสังเวช เสียงหลวงพ่อทิม วัดช้างไห้ สะอื้นเบาๆอยู่ทางเบื้องหลัง ไม่ทราบว่าหลวงพ่อทิม มายืนอยู่ตั้งแต่เมื่อไร อาตมาลุกขึ้น ถามท่านว่า “หลวงพ่อสะอื้นทำไม ?” “เห็นแล้วมันตื้นตันใจ บอกไม่ถูก” หลวงพ่อทิม ตอบเสียงสะอื้น เป็นคำตอบที่กลั่นออกมาจากหัวใจของพระสาวก ถึงแม้จะเกิดทีหลัง ห่างไกล นานถึง สองพันปีเศษก็ตาม ความผูกพันในพระพุทธบิดา ย่อมมีอยู่แก่ สมณศากยบุตรพุทธชิโนรส ด้วยประการฉะนี้
 
           วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗ คณะของหลวงพ่อกัสสป ฉันอาหารเช้าแล้ว ได้เวลา ๙.00 น. จึงพาพวกอุบาสกและอุบาสิกาออกเดินทาง ไปยังสถานีเนาก้า เพื่อไปยังสวนป่าลุมพินีวันในแคว้นเนปาลอันเป็นสถานที่พระบรมศาสดาทรงประสูติ ถึงสถานีเนาก้าเวลา ๑๑.๐๐ น. แต่เจ้ากรรมแท้ๆ... ที่พนักงานรถไฟแขกอินเดียมันมักง่าย ตัดรถตู้คณะของหลวงพ่อกัสสปมุนีออกปล่อยทิ้งไว้ อยู่ห่างจากตัวสถานีเกือบสามร้อยเมตร ตรงที่รถตู้ถูกตัดออกนี้เป็นที่ลาดต่ำกว่าที่ตั้งสถานี และห่างจากที่รถบัสจอดเกือบครึ่งกิโลเมตร ในคณะแสวงบุญของหลวงพ่อ มีอุบาสิกาอยู่ในวัยชราหลายคนจะต้องเดินไกลทั้งตัวรถตู้ก็สูง บันไดก็ยิ่งลอยสูงขึ้นไปด้วย เพราะรถถูกตัดทิ้งไว้ในที่ลาดต่ำ แม้แต่ผู้ชายที่แข็งแรงอย่างนายเอื้อ บัวสรวง ก็ยังต้องเกร็งข้อโหนตัวลอยขึ้นไป ยิ่งเป็นพระเป็นผู้หญิงยิ่งทุลักทุเลใหญ่ ทำให้นายสุวรรณ เจามหาสุข ผู้อำนวยการเดินทางในครั้งนี้ และนายเอื้อ บัวสรวงโมโหมาก ปัญหาจึงมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะให้ตู้รถแล่นขึ้นไปจอดบนชานชาลาเหนือสถานีได้ ในที่สุดปรึกษาตกลงกันได้ว่า ให้คณะแสวงบุญที่ขึ้นไปก่อนลงมาจากรถเพื่อให้รถเบาขึ้น แล้วจ้างพวกแขกสองสามคน และเด็กแถวนั้นให้ช่วยกันดันรถ แต่เมื่อทำดูแล้วรถไม่ได้ขยับเขยื้อนเลย เพราะตู้รถไฟใหญ่กว่าตู้รถไฟในบ้านเมืองเรามาก มีน้ำหนักเป็นตันๆ และจะต้องดันให้เคลื่อนขึ้นที่สูงเสียด้วย มันต้องใช้ช้างสารฉุดถึงจะเขยื้อนขึ้นไปได้

ตอนนี้นายเอื้อ บัวสรวงเห็นหมดหนทางที่จะพึ่งแรงคน จึงคิดจะพึ่งแรงบารมีของพระเสียแล้วจึงได้หันมาอาราธนาขอร้อง อาจารย์วิริยัง (ท่านเจ้าคุณญาณวิริยาจารย์) ช่วยให้รถเคลื่อนด้วยอานุภาพที่ท่านมีอยู่ เพราะมองไม่เห็นใครที่จะช่วยได้ ก็ต้องพึ่งพระกันบ้าง ท่านพระอาจารย์วิริยัง ได้เข้าไปยืนข้างตู้รถไฟภาวนาอยู่สักครู่ก็ทำท่าดัน แล้วบอกให้ทุกๆ คนช่วยกันดันรถ แต่ดันเท่าไหร่ๆ รถก็ไม่มีทีท่าจะเขยื้อน นายเอื้อจึงได้หันมาอาราธนาท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดยะลา ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะอำเภอยะลาและหลวงพ่อทิมวัดช่างไห้ ขอให้ช่วยแสดงอานุภาพทำให้ตู้รถไฟเคลื่อนที่ แต่ท่านทั้งสามองค์ก็ตอบตรงๆ ว่าไม่ได้ฝึกมาทางนี้ คือไม่ได้ฝึกทางอภิญญา สุดท้ายนายเอื้อ บัวสรวงหมดหนทางอับจนปัญญา จึงได้ขอร้องให้ หลวงพ่อกัสสปมุนี ช่วยด้วย “ยังเหลือแต่หลวงพ่อกัสสป องค์เดียวเท่านั้น ผมเชื่อว่าคงจะไม่สิ้นหวังเสียทั้งหมด” นายเอื้อ บัวสรวง พูดค่อนข้างเสียงดังเปิดเผย พลางพนมมือนอบน้อม หลวงพ่อกัสสป จึงเอ่ยว่า “ทำไมมาเจาะจงอาตมา ก็ท่านเหล่านั้นยังรับไม่ไหว แล้วอาตมาภาพจะรับได้ยังไง” นายเอื้อ บังสรวง ได้ยืนกรานว่า “ถึงอย่างนั้น ก็ขอให้หลวงพ่อเห็นแก่ญาติโยมผู้หญิง และคนแก่ เถอะครับ ที่จะต้องโหนตัวขึ้นรถ” ว่าแล้วก็ไหว้อีก หลวงพ่อกัสสปเห็นนายเอื้อมีความมั่นใจเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องช่วยสงเคราะห์ จึงบอกเบาๆว่า “โยมบอกพวกนั้นให้ดันรถพร้อมๆกัน พอเห็นอาตมาเดินขึ้นหน้ารถก็ดันเลย”

           นายเอื้อก็รับคำเตรียมอยู่ข้างตู้รถไฟ จากนั้นหลวงพ่อกัสสป ก็เดินขึ้นไปทางริมรั้วสถานี ครั้นพอถึงหน้ารถตู้ นายเอื้อก็ร้องบอกให้พวกนั้นดันรถ เสียงรถเคลื่อนดังครืด แล่นตามหลังหลวงพ่อกัสสปมาได้หน่อยหนึ่ง หลวงพ่อกัสสปจึงยื่นไม้เท้าให้นายเอื้อจับปลายไว้ นายเอื้อเอื้อมมือขวามาคว้าปลายไม้เท้าไว้ ส่วนมือซ้ายจับอยู่ที่ราวบันไดรถ หลวงพ่อจับหัวไม้เท้าไว้ข้างแล้วจูงนำหน้า เท่านั้นเอง ตู้รถไฟอันใหญ่โตหนักอึ้ง ก็แล่นปราดๆขึ้นไปตามรางสู่สถานีอย่างง่ายดาย น่ามหัศจรรย์ สร้างความตะลึงงันให้แก่ญาติโยม อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้เห็นประจักษ์ทั่วหน้า นับว่าหลวงพ่อกัสสป ได้ฝังรากความมั่นใจให้แก่นายเอื้อ และญาติโยมในที่นั้นว่า อานุภาพของพุทธศาสนานั้น เป็นของมีจริง ที่พระสาวกของพระพุทธองค์ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เมื่อถึงคราวจำเป็น หรือวาระอันสมควรจะพึงแสดง! คณะแสวงบุญทัศนาจร ได้ท่องเที่ยวไปชมสถานที่ สำคัญๆนอกเหนือจากสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง แล้วอีกหลายแห่ง จนฉ่ำชื่นใจสมปรารถนาทั่วหน้ากัน จากนั้นก็ได้ถึงวันเวลาที่จะต้องแยกทางจากกัน โดยหลวงพ่อกัสสปได้แยกทาง ลงที่เมืองปัตนะ (เมืองปาตลีบุตร ครั้งพุทธกาล) เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๗ เพื่อจะได้จาริกท่องเที่ยวไปตามลำพัง สององค์กับ พระวิเวกนันทะ

พระภิกษุวิเวกนันทะ มาจากวัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ได้ศึกษาอยู่ในอินเดียถึงสิบปี ได้ปริญญา เอ็ม.เอ.ทางพุทธศาสตร์ ท่านวิเวกเป็นผู้กว้างขวางในประเทศอินเดีย และแว่นแคว้นใกล้เคียง เช่น เนปาล... สามารถพูดภาษาพื้นเมืองได้คล่อง เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นต่างๆ ในอินเดียได้อย่างดี ท่านเป็นพระที่เปี่ยมเมตตา เป็นที่รักใคร่นับถือจากชาวอินเดียทุกหนทุกแห่งที่ท่านย่างก้าวไปถึง เพื่อเผยแพร่ธรรมะ ท่านวิเวกนันทะ ไม่เคยรู้จักกับ หลวงพ่อกัสสปมาก่อนเลย เพิ่งมารู้จักกันคราวมาแสวงบุญที่อินเดียนี้เอง โดยท่านวิเวกได้รับการติดต่อจาก คุณสุวรรณ เจามหาสุข ผู้อำนวยการนำเที่ยวแสวงบุญ ให้ท่านวิเวกช่วยอำนวยความสะดวก พระสงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกา ในการแสวงบุญในครั้งนี้ “ท่านวิเวกนันทะ กับอาตมา ดูเหมือนว่าชาติปางก่อนได้เคยเป็น ญาติมิตรอันสนิทยิ่งกันมา ยังงั้นแหละ มาชาตินี้จึงได้ถูกอัธยาศัยกันมาก คล้ายกับว่าเป็นเพื่อนร่วมตายกันมานาน ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย” หลวงพ่อกัสสปกล่าว ท่านวิเวกนันทะ ได้พาหลวงพ่อกัสสป ท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนทำความรู้จักกับพวก สวามีและมหาฤาษี สำคัญๆ ตามสำนักต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนวิชาความรู้กันในเรื่องธรรมะ และการฝึกจิตอย่างถึงแก่น

           ความเป็นอัจฉริยภาพ และพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงพ่อกัสสป ได้สร้างความประทับใจให้แก่มหาฤาษี และสวามีคุรุทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษอันคล่องแคล่วแตกฉาน ของหลวงพ่อในธรรมะ ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ อย่างพระสงฆ์ที่รู้แจ้งเห็นจริงของหลวงพ่อนั่นเอง ทำให้บุคคลเหล่านั้นบังเกิดความเคารพศรัทธา ในหลวงพ่อกัสสป ทุกหนทุกแห่งที่ย่างเหยียบไปในแผ่นดินชมพูทวีป พูดได้ว่า หลวงพ่อเป็นพระไทยองค์เดียว ที่ไปสร้างความประทับใจอย่างพิเศษพิสดาร ทั้งทางธรรม และอภิญญาให้แขกอินเดียชื่นชม และอัศจรรย์อย่างถึงใจยิ่งนัก คนสำคัญของอินเดียท่านหนึ่ง ที่จะต้องกล่าวถึงคือ ดร.เมตตา เป็นนักปราชญ์ใหญ่ มีความรอบรู้แตกฉานในเรื่องศาสนาต่างๆ อย่างยอดเยี่ยมทางภาคทฤษฎี พักอยู่หอพักตึกห้าชั้นชื่อ เมย์แฟร์ในมหานครบอมเบย์ อันศิวิไลชั้นหนึ่งของอินเดีย ดร.เมตตา ประพฤติตนอย่างนักพรต นุ่งขาวห่มเฉียงบ่า รูปร่างบุคลิกลักษณะเป็นสง่า ไว้หนวดและเคราเป็นพุ่มงามสะอาด ภายในห้องรับรองบ้านพัก จัดเป็นห้องพระไปในตัว

โต๊ะพระจัดดังนี้ คือ ตอนบนสุดมีเศียรพระพุทธรูปติดไว้กับผนัง เป็นเศียรผ่าครึ่งคล้ายหัวตุ๊กตาทำขาย ถัดลงมาเป็นรูปพระเยซู ยืนเต็มตัว ถัดลงมาอันดับที่สาม เป็นรูปปั้นพระศิวะ ท่านั่งสมาธิ มีกระถางธูป และที่เสียบดอกไม้ ทางด้านขวามือมีโต๊ะหมู่ตั้งพระพุทธปฏิมามหายาน แบบญี่ปุ่นอยู่ชิดกับผนัง ขณะที่หลวงพ่อกัสสปก้าวเข้าไปในห้องนี้นั้นมีแขกผู้มีเกียรติชั้นคหบดี อันเป็นเสมือนศิษย์ของ ดร.เมตตานั่งอยู่ ๒ คน และ หลานสาวสวยของ ดร.เมตตา ๑ คน และพระภิกษุไทยสามองค์ คือ ท่านวิเวกนันทะ พระมหาสุเทพ และพระมหาอุดม รวม ๘ คน หลวงพ่อกัสสปนุ่งห่มดองรัดประคตอกอย่างรัดกุม ผิดกับพระไทยทั้งสามองค์ที่นั่งอยุ่ในนั้น (ห่มดองคือครองผ้าเหมือนพระบวชใหม่ในโบสถ์) แถมหลวงพ่อกัสสปยังถือไม้เท้ายาว สะพายย่าม จึงเป็นเป้าสายตาของ ดร.เมตตา และพรรคพวกเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยเห็นพระภิกษุไทยในอินเดียนุ่งห่มครองจีวรแบบนี้มาก่อน ดร.เมตตา เพ่งมองดูหลวงพ่อกัสสป ด้วยนัยน์ตาแหลมคมอย่างพินิจพิเคราะห์ พลางกล่าวเชิญให้นั่งแต่มิได้บอกว่าจะให้นั่งตรงไหน อาสนะที่จัดไว้ในห้องนั้นก็มีเรียงรายหลายที่ด้วยกัน หลวงพ่อกัสสปกล่าวขอบใจเบาๆ เดินช้าๆ ผ่านเข้าไปนั่งที่อาสนะตรงกลาง โดยนั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวตรง
 
           ดร.เมตตาได้ยกมือขึ้นไหว้ แล้วถามเรียบๆ ว่า “ท่านมาจากเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไร มาประเทศอินเดียด้วยความมุ่งหมายอะไร ท่านมีหน้าที่อะไรในฝ่ายพุทธศาสนา ในเมืองไทย ?” หลวงพ่อกัสสปมาทราบภายหลัง จากท่านวิเวกนันทะ และพระมหาสุเทพว่า ดร.เมตตาผู้นี้ยังไม่เคยยกมือไหว้พระสงฆ์องค์ไหนเลย หลวงพ่อกัสสป ได้ตอบไปว่า “อาตมาภาพมาถึงอินเดียเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ปีก่อน ตั้งใจมาก็เพราะเพื่อต้องการให้ได้เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตาตนเอง ตามที่ได้อ่าน และได้ศึกษามาทางพระพุทธศาสนาว่า สถานที่ต่างๆที่ได้กล่าวไว้ในพระสูตรนั้น ยังจะคงมีอยู่จริงหรืออย่างไร และคนอินเดียในชมพูทวีปเป็นอย่างไร สำหรับหน้าที่ กิจการงานทางฝ่ายศาสนานั้น อาตมาภาพไม่มีเพราะมุ่งไปทางปฏิบัติอย่างเดียว” ดร.วาสวาณี อายุ ๓๖ ปียังสาวโสด ใบหน้างาม เป็นหลานสาวของ ดร.เมตตา ดร.วาสวาณีเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสถิติ อุตสาหกรรม เธอไม่ยอมมีเรือน บอกว่ายุ่งยากใจ และไม่มีอิสระ เพราะประเพณีของชาวอินเดียกด และกีดกันผู้หญิงมาก เธอบอกว่าอยู่อย่างนี้ดีกว่า ทั้งที่พ่อแม่ของเธอก็อ้อนวอนให้แต่งงาน แต่เธอก็ไม่ยอมแต่ง ดร.วาสวาณี ได้ถามหลวงพ่อกัสสป เป็นเชิงขอความเห็นในเรื่องนี้ว่า “หรือท่าน กัสสปเห็นอย่างไร ที่ดิฉันพูดนี้ ?”

หลวงพ่อกัสสปตอบอย่างกลางๆว่า “อันการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ถ้าทำตัวให้เป็นไทแก่ตัวเองได้เท่าไร ก็ห่างจากทุกข์ได้เท่านั้น” ดร.วาสวาณีเม้มริมฝีปาก แล้วย้อนถามว่า “พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นหรือ ?” “อาตมาภาพกล่าวตามพุทธวจนะ” ดร.วาสวาณีนิ่งคิด แล้วกล่าวว่า “จริงอย่างท่านกัสสปว่า ดิฉันเห็นด้วย” ตั้งแต่วันนั้นมา ดร.วาสวาณี ได้ให้ความสนิทสนมเลื่อมใสมากขึ้น ทำให้หลวงพ่อกัสสป ต้องระวังตัวยิ่งขึ้นเช่นกัน หวนรำลึกถึงพระโอวาท ของพระพุทธองค์บรมศาสดาเจ้า ที่ประทานไว้ว่า “จะพูดกับมาตุคามต้องถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ” หมายความว่า สมณะนักบวชในพระพุทธศาสนา หากจะพูดคุยกับสตรีเพศ พึงมีสติสัมปชัญญะ ควบคุมใจตัวเองไว้ให้มั่นคง เราส่วนเรา เขาส่วนเขา อย่าเอาเรา และเขามาปนกัน แล้วความปลอดภัยจักมีด้วยประการฉะนี้ ดร.เมตตาได้ถามวิธีปฏิบัติทางจิต กับหลวงพ่อกัสสป และถามต่อไปว่า หลวงพ่อกัสสปได้กำลังจิตขั้นไหนแล้ว ? มีความสามารถอย่างไร ? ศิษย์ทางเมืองไทยมีมากเท่าใด? คำถามนี้ทำให้ทุกคนในห้อง พากันนิ่งฟังนิ่งเงียบ หลวงพ่อกัสสปนิ่งพิจารณา แล้วจึงตอบว่า “คำถามที่ท่าน ดร.ถามนี้ ถ้าเป็นคำถามที่ต้องการรู้ด้วยความจริงใจแล้ว อาตมาภาพก็จะตอบให้ฟัง แต่ถ้าถามเป็นเชิงลองเปรียบเทียบแล้ว ก็ขอให้พักไว้ก่อน เพราะทิฐิความเชื่อของบุคคลนั้น ไม่เหมือนกัน”
 
           ดร.เมตตา มองหน้าหลวงพ่อกัสสปอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงพูดว่า “ท่านกัสสปทราบได้อย่างไรว่า ข้าพเจ้าจะถามเพื่อเป็นเชิงลองเปรียบเทียบ ?” “แล้วจริงหรือไม่เล่า ที่ท่านคิดเช่นนั้น ?” หลวงพ่อย้อนถาม ดร.เมตตาถอนใจยาว เส้นหนวดปลิว พยักหน้าช้าๆ หลวงพ่อจึงกล่าวต่อไปว่า “ นั่นเป็นคำตอบของอาตมาที่ได้ตอบคำถามข้อที่สองของท่านแล้ว ” “ ข้อที่สองอะไรที่ข้าพเจ้าถาม ? ” “ ก็ที่ท่านถามว่า อาตมาได้กำลังจิตถึงขั้นไหนแล้ว นั่นยังไง ” หลวงพ่อตอบ ดร.เมตตายกมือพนม แขกผู้มีเกียรติอีก ๒-๓ คนในห้องชาวอินเดีย ก็ยกมือพนมเช่นเดียวกัน ส่วนดร.วาสวาณี คงนั่งขัดสมาธิ ประสานมือฟังด้วยความตั้งใจ ดร.เมตตากล่าวอย่างปลื้มปิติว่า “ข้าพเจ้าพอใจอย่างยิ่ง ที่ได้พบกับท่านกัสสป ซึ่งข้าพเจ้ายังไม่พบภิกษุใดในพุทธศาสนา ตอบข้าพเจ้าอย่างนี้เลย จดหมายของวิเวกนันทะ ได้พูดถึงท่านหลายอย่าง” “และอาตมาก็ยังไม่เคยพบบุคคลใด ที่มีคำถามอันทรงปัญญาอย่างท่าน” หลวงพ่อกัสสป กล่าวอย่างสำรวมฉันท์เมตตาจิต ทำให้ดร.นักบุญชาวภารตะ ต้องเอื้อมมือมาบีบมือหลวงพ่อกัสสป ด้วยความนับถืออันสนิท แล้วพูดต่อไปอย่างเบิกบานใจว่า “ก่อนที่ท่านกัสสปจะจากไป ยังจะมีอะไร ให้เป็นความรู้ในทางจิตแก่ข้าพเจ้า แม้เพียงเล็กน้อยก็จะเป็นบุญอย่างยิ่ง”

หลวงพ่อกัสสป บีบมือแกตอบ ใบหน้าแกแจ่มใส หลวงพ่อตอบว่า “ ท่านดร. อายุของท่านมากแล้ว จงพยายามอย่าทำจิตให้ฟุ้งซ่านเกินไป จงอยู่คนเดียวในที่สงัดให้มากที่สุด พูดแต่น้อย กินพอประมาณ อย่าเห็นแก่นอน ตัดอารมณ์เครื่องครุ่นคิดทั้งหมด แล้วทำใจให้แจ่มกระจ่างผ่องใส นี้แหละคือทางที่จะพาเราไปสู่ความล่วงทุกข์ ได้โดยหมดจด ไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า นี่เป็นธรรมที่อาตมาได้ศึกษา ฝึกฝนมา แม้จนบัดนี้ ” ดร.เมตตา ได้ฟังแล้ว จึงพูดว่า “ท่านกัสสป ข้าพเจ้ายังมีธุระที่จะต้องทำอีกมาก ยังต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอีกมาก... ถึงอย่างนั้นก็จะพยายาม” “นั่นแหละท่าน ดร. แม้ข้อนี้ เราก็พึงสังวรระวัง ตราบใดเรายังมีธุระมาก ยังเกี่ยวข้องกับบุคคลอีกมาก ตราบนั้นเรายังไม่ใช่คนพิเศษเหนือคน ยังมีความเป็นอยู่เหมือนๆเขาอยู่ แล้วเราก็ยังสอนเขาไม่ได้เต็มที่ ขอจงจำข้อนี้ไว้ให้ดี” หลวงพ่อกัสสปกล่าว แขกผู้มีเกียรติของ ดร.เมตตา จำนวน ๒-๓ คนที่นั่งฟังอยู่ที่นั้น มีความพอใจมาก ที่ได้ฟังหลวงพ่อพูดโต้ตอบกับ ดร.เมตตามาทั้งหมด ต่างก็พนมมือ คนหนึ่งสูงอายุพูดขึ้นว่า “ข้าพเจ้ายังไม่เคยได้ยิน นักบวชคนใดพูดอย่างนี้เลย” ดร.เมตตา ได้ขอนิมนต์ หลวงพ่อกัสสปว่า พรุ่งนี้เขาขอจัดอาหารเพลถวายด้วยฝีมือตนเอง เป็นการเลี้ยงส่ง ใคร่ขอนิมนต์หลวงพ่อให้มาฉัน ในห้องรับรองภายในบ้านของเขาด้วย ซึ่งหลวงพ่อรับทราบด้วยอาการดุษณี ท่านวิเวกนันทะ และ พระมหาสุเทพ บอกในภายหลังว่า “ยังไม่เคยเห็น ดร.เมตตาให้เกียรติใครอย่างนี้”
 
           วันรุ่งขึ้น หลวงพ่อออกจากห้องพัก ไปฉันเพลยังห้องรับรองส่วนตัว ของดร.เมตตา ซึ่งอยู่ภายในตึกเดียวกัน อาหารทุกอย่าง ดร.เมตตา ลงมือปรุงเองอย่างประณีต มีแกงดาลใส่มันฝรั่ง และมะเขือเทศ อย่างโอชา ข้าวผัดถั่ว ผัดมะเขือเทศ ปนมันฝรั่ง ผัดถั่วลันเตา ส่วนของหวานมีพวกขนมหวาน และชาร้อนใส่นมสด เมื่อเสร็จอาหารเพลแล้ว หลวงพ่อกัสสป ออกมาเก็บกลด และบาตร พอเวลา ๒๑.๐๐ น. หลวงพ่อได้กลับเข้าไปลา ดร.เมตตาอีกเป็นครั้งสุดท้าย ตอนนี้มีแขกผู้มีเกียรติ นั่งอยู่ด้วยสามคน หลวงพ่อได้กล่าวให้พร และอนุโมทนาในกุศลจิต และการกระทำในส่วนดีของ ดร.เมตตา ตลอดระยะเวลาหลายวันที่หลวงพ่อ ได้พำนักอยู่ ณ สำนักนี้ ขอส่วนกุศลคุณความดีนั้น จงบันดาลให้ ดร.เมตตา จงประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์ ทุกประการ ดร.เมตตาพนมมือรับพร พอหลวงพ่อกัสสป ลุกขึ้นจากอาสนะ ดร.เมตตาก็ตรงเข้ามาสวมกอดไว้ ค่าที่แกเป็นแขกอินเดียร่างใหญ่ อ้วนสมบูรณ์กว่าหลวงพ่อกัสสปมาก ทำให้หลวงพ่อต้องยืนตั้งหลักใช้ไม้เท้ายันไว้กับพื้นข้างหน้า มิฉะนั้นเป็นต้องล้มคะมำแน่ ดร.วาสวาณีจ้องมองตาเขม็ง ต่อเป็นครู่ใหญ่ แกจึงได้ปล่อยมือจากหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อก็ก้าวออกจากห้องด้วยลีลาอันทิ้งไว้เพื่อให้เป็นที่ประทับใจ ซึ่งทุกผู้ในที่นั้นจะต้องจดจำไปอีกนาน

ท่านวิเวกนันทะ บอกอย่างปลาบปลื้มว่า “ ผมยังไม่เคยเห็น ดร.เมตตา แสดงความรักเคารพเลื่อมใสใครอย่างนี้เลย แกนับถือหลวงพ่อมากทีเดียว ” ขณะที่หลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะเดินออกมายังรถแท็กซี่ ที่จอดอยู่ คหบดีผู้เป็นแขกผู้มีเกียรติ ของดร.เมตตาคนหนึ่งได้รีบตามออกมา คหบดีคนนั้นได้ทรุดตัวลง ไหว้หลวงพ่อกัสสป แล้วเอาธนบัตรใบละ ๑๐ รูปีวางลงบนหลังเท้าของหลวงพ่อ พร้อมกับเอามือแตะหลังเท้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วเงยหน้าขึ้นพนมมือเพียงอก กล่าวว่า “ขอถวายเงินนี้ สำหรับไว้ใช้ตามทาง” หลวงพ่อได้อนุโมทนาให้พร สร้างความปลาบปลื้มปีติให้แก่ คหบดีชาวภารตะผู้นั้น จนน้ำตาคลอ ... 

           “จากนั้นหลวงพ่อก็ขึ้นแท็กซี่พร้อมกับท่านวิเวกนันทะ ตรงไปยังสถานีเซ็นทรัล เรลเวย์ รถออกเวลาสี่ทุ่มเศษ เดินทางสู่เมืองมัดดร๊าส แคว้นทางใต้ของอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ อันตระประเทศ ” เพื่อท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนสำนักปฏิบัติทางศาสนา ของคณาจารย์ลัทธิต่างๆ ท่านวิเวกนันทะได้มาส่ง หลวงพ่อกัสสป เข้าสู่เมืองฤาษีเกษ โดยนั่งรถไฟมาลงที่เมืองหาดวาร์ รถไฟเข้าถึงหาดวาร์ เวลาตี ๕ เศษ เอาข้าวของฝากเก็บไว้ในห้องฝากเก็บของสถานีรถไฟ แล้วออกมานั่งรอเวลาที่ม้ายาว ชานชาลาจนสว่าง ลูบหน้าลูบตาที่ก๊อกน้ำของสถานี แล้วว่าจ้างสามล้อถีบไปฉันน้ำชาในตลาด ฉันเสร็จแล้วไปชมสะพานหาดวาร์ และท่าอาบน้ำหาดวาร์ สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงโค้ง ของ แม่น้ำคงคามหานที ใต้เมืองฤาษีเกษ น้ำไหลเชี่ยวทั้งน่ากลัว และน่าดู ตรงกลางแม่น้ำหมุนคว้างบิดเป็นเกลียว พวกฮินดูชาวพื้นเมือง และต่างเมือง มีนักบวช นักพรต ฤาษี โยคี ฯลฯ มากมายลงอาบน้ำเต็มไปหมด ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ หลวงพ่อกัสสปเล่าว่า เขาทำเป็นชานชลาเทคอนกรีตลงไปที่กลางน้ำ เปิดท่าให้ลงอาบได้ทั้งสองด้าน ของชานชลา ตรงกลางเป็นที่ตั้งร้านแผงลอย ขายดอกไม้และเครื่องเจิมทุกชนิด ริมชานชลาทำเป็นขั้นบันไดซีเมนต์สำหรับลงอาบ และมีรั้วตาข่ายเหล็กกั้นอยู่ข้างหน้าตามความยาวของชานชลา ห่างจากบันไดที่ลงอาบราวสองเมตร เพื่อป้องกันสัตว์น้ำ ที่หาดวาร์นี้มีสะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่ง เพราะเป็นที่แคบ ง่ายต่อการก่อสร้าง

เวลาบ่ายโมงนั่งรถไฟไปเมืองฤาษีเกษ ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงก็ถึง แล้วเช่ารถม้านั่งต่อไปที่ท่าเรือข้ามฟาก “ท่าเรือศิวะนันทะ” ข้ามแม่น้ำคงคาไปทางฝั่งซ้าย อันเป็นที่ตั้งสำนัก “สวรรค์ อาศรม” ฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคานี้ ภูมิประเทศสวยงาม และเงียบสงบกว่าฝั่งขวา ฝั่งขวาแม่น้ำคงคา เป็นที่ตั้งของสำนักอาศรม “ศิวะนันทะ” อันมีชื่อเสียง แต่ไม่เงียบสงบเท่าที่ควร เพราะใกล้ทางรถยนต์ รถม้า และทางเดินผ่านของผู้คน ประกอบกับตั้งอยู่ต่ำจากถนนเพราะเป็นไหล่เขา รถวิ่งอยู่บนหลังคาอาศรมหนวกหูมาก พวกฤาษี นักบวช และนักพรตอยู่ในอาศรมศิวะนันทะ อย่างแออัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หลวงพ่อกัสสปจึงเปลี่ยนใจไม่พักบำเพ็ญเพียรที่สำนักแห่งนี้ เพราะไม่สงบเท่าที่ควร จึงได้ข้ามฝากไปฝั่งซ้ายที่สำนักอาศรมสวรรค์ดังกล่าว หลวงพ่อกัสสปเล่าถึงการเข้าสู่สำนัก สวรรค์อาศรม อย่างน่าสนใจว่า กว่าจะลงเรือที่ท่า ศิวะนันทะ ข้ามฟากแม่น้ำคงคามาฝั่งซ้ายได้ ต้องออกพละกำลังกันนิดหน่อย เพราะพวกที่รอจะลงเรือบนฝั่ง ไม่มีวัฒนธรรม พอเรือเข้าเทียบจอดก็เฮโลดาหน้ากันมา พวกที่อยู่ในเรือก็จะขึ้นบก เลยเกิดดันกันชุลมุน หลวงพ่อตัวเล็กเพราะเป็นคนไทย สู้แขกอินเดียตัวใหญ่ๆไม่ไหว เลยต้องใช้หัวกลดเป็นเครื่องเบิกทางโดยเอากลดหนีบรักแร้แล้วพุ่งตัวไปข้างหน้า แหย่พรวดเข้าไปกลางหมู่แขกที่ไม่มีมารยาท ทำเอาพวกมันส่งเสียงร้องกันเอ็ดตะโร หงายหลังผลึ่งไป ๓-๔ คน เพราะถูกขอทองเหลืองที่หัวกลดกระแทกเอา “ขอทองเหลืองที่หัวกลดนี้มีประโยชน์มาก เวลาขึ้นรถไฟชุลมุนในเมืองแขกก็ใช้ขอทองเหลืองเป็นใบเบิกทางแหย่เข้าไปก่อน พวกแขกที่เห็นแก่ตัวชอบแย่งกันขึ้นลงชุลมุน เป็นต้องร้องขรมหลีกทางให้เป็นแถว” หลวงพ่อกล่าวขำๆ “... ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่มีทางได้ขึ้นหรือลง เพราะบางกลุ่มคนเมืองแขก พูดไม่รู้เรื่อง และไม่นึกถึงวัฒนธรรม”
 
           พวกร้านขายของริมท่าน้ำคงคากับพวกฤาษีมากหน้าหลายตา ต่างพากันยืนดูหลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะด้วยความแปลกใจ เพราะยังไม่เคยเห็นพระภิกษุสงฆ์ ในพุทธศาสนา เข้ามาในเมืองฤาษีชีไพรแห่งนี้มาก่อนเลย หลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะพากันเดินเรื่อยไป ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปหาใคร จึงพากันเดินเรื่อยไป จนถึงเนินเขาหลังที่ทำการของสำนักอาศรมสวรรค์ ได้พบอาชีวกหนุ่มผู้หนึ่ง นุ่งผ้าเตี่ยวเปลือยตัว หน้าตาคมขำ ผมเป็นกระเซิงไม่มีหนวดเครา ลักษณะท่าทางทะมัดทะแมงเป็นสง่า ได้สอบถามว่า มาจากไหน ต้องการอะไร ท่านวิเวกนันทะจึงตอบแทนว่า หลวงพ่อชื่อ กัสสปมุนี ต้องการมาบำเพ็ญเพียรที่ฤาษีเกษชั่วระยะหนึ่ง หวังว่าคงจะได้รับการอนุเคราะห์ด้วยดี สำหรับท่านวิเวกนันทะเป็นแต่เพียงมัคคุเทศก์ นำทางมาเท่านั้น อาชีวกหนุ่มทราบเช่นนั้น จึงสั่งให้ชายสูงอายุผู้หนึ่งอยู่ ณ อาศรม ให้นำหลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะไปยังที่ทำการของสำนัก ชายสูงอายุผู้นี้ชื่อ นายเอช.แอล.เศรษฐี ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสำนัก “สวรรค์ อาศรม” นั่นเอง มีกิรกยาวาจาเรียบร้อย แสดงว่าได้รับการศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี จากนั้นผู้จัดการสำนักก็เขียนใบสมัคร ขอเข้าอยู่ในสำนักอาศรมให้เรียบร้อย โดยกรอกข้อความให้เสร็จ เพียงแต่ให้หลวงพ่อเซ็นชื่อเท่านั้น

หลวงพ่อกัสสปได้จ่ายปัจจัยเงินรูปี ให้เป็นค่าบำรุงสำนัก อาศรมสวรรค์ตามสมควร แล้วแสดงหนังสือรับรองของ ทูตทหารอากาศประเทศไทยประจำอินเดีย ให้แกดูประกอบ รู้สึกว่านาย เอช.แอล.เศรษฐี ผู้จัดการสำนักมีความพอใจอย่างยิ่ง กล่าวยิ้มแย้มว่า “ดีมากที่ท่านสวามีกัสสป มาพำนักเพื่อบำเพ็ญเพียรที่นี่” เสร็จแล้วแกก็พาหลวงพ่อ และท่านวิเวกนันทะ ตรงไปยังที่จะให้พัก โดยให้เด็กของอาศรมช่วยแบกของตามไปด้วย หลวงพ่อครุ่นคิดว่า ที่พักนี้คงจะเป็นกุฏิสร้างด้วยดินเหนียวเก่าๆ พออาศัยนอนตามลักษณะของพวกบำเพ็ญพรต ฤาษีชีไพร ตามแถบเชิงเขาหิมาลัยนิยมอยู่อาศัยกัน แต่เมื่อเดินมาถึงที่พักกลับพบว่า กุฏิที่แกจัดให้พักเป็นตึกใหม่เอี่ยมหลังหนึ่ง มีรั้วลวดหนามล้อมรอบ “ขอเชิญท่านอยู่ที่กุฏิหลังนี้ เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อแปดวันมานี้เอง ยังไม่มีใครเข้ามาอยู่เลย ผมมอบให้ท่านอยู่เป็นคนแรก” นายเศรษฐีบอกอย่างยิ้มแย้ม พลางจัดแจงไขประตูเปิดให้ผ่านเข้าไป ท่านวิเวกนันทะกระซิบ อย่างตื่นเต้นว่า “บุญของหลวงพ่อจริงๆ ไม่มีใครได้เข้ามาอยู่เช่นนี้ นอกจากจะเป็นมหาฤาษีชั้นสำคัญ หรือผู้ที่เขานับถือจริงๆ เท่านั้น” กุฏิหลังนี้สร้างอย่างทันสมัย แต่กลับไม่มีห้องน้ำห้องส้วม ทำความประหลาดใจให้หลวงพ่ออย่างมาก
 
           นายเศรษฐีผู้จัดการอาศรม ยิ้มอย่างกว้างขวาง อธิบายว่า “ถ้าจะถ่ายทุกข์ ต้องเข้าไปถ่ายในป่า” หลวงพ่อได้ฟังคำตอบของแกแล้วก็กังวลใจ เพราะจะต้องเข้าไปหาที่ถ่ายหนักถ่ายเบาในป่า ซึ่งตนไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศ อันว่าป่าแถบนั้นเป็นป่าขอบหิมพานต์ก็ว่าได้ เพราะอยู่เชิงเทือกทิวเขาหิมาลัย แน่ละว่าจะต้องมีสิงห์สาราสัตว์ชุกชุม สำหรับน้ำอาบนั้นให้ถือเอาแม่น้ำคงคา เป็นที่อาบสาธารณะ อยากอาบต้องเดินไปอาบเอง ห้องน้ำในกุฏิไม่มีให้ เช้าวันรุ่งขึ้น ตรงกับวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. หลวงพ่อกับท่านวิเวกนันทะ จึงครองจีวรถือบาตรออกไปรับภัตตาหาร ที่โรงครัวทาน ของสำนักอาศรม แต่ระฆังสัญญาณแจกอาหารยังไม่ดี หลวงพ่อจึงเดินเลยไปนั่งสนทนากับผู้จัดการอาศรม จำนวนพวกฤาษีโยคี สัญญาสี อาชีวก และปริพาชกที่มายืนคอยรับอาหารที่ครัวทาน มีในราว ๓๐ คน นายเศรษฐีผู้จัดการชี้แจงให้ฟังว่า ขณะนี้เป็นหน้าหนาว พวกฤาษีชีไพรเหล่านี้ ส่วนใหญ่พากันหลบอากาศหนาว ลงไปบำเพ็ญเพียรอยู่ทางภาคใต้ แถบถิ่นมัชฌิมประเทศ และอันตระประเทศ กว่าจะกลับเข้ามารวมหมู่คณะที่เมือง ฤาษีเกษ ก็ในราวเดือน มีนาคม ที่โรงครัวทานของอาศรมสวรรค์ ผู้ทำหน้าที่ภัตตุเทสก์ (ผู้แจกภัตตาหาร) เป็นฤาษีชั้นผู้ใหญ่อายุ ๖๐ เศษ ท่าทางทะมัดทะแมง ชื่อ “ โคปาละ ” นุ่งผ้าเตี่ยวตัวเดียว หน้าหนาวหรือหน้าร้อน ก็นุ่งอย่างนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง คล้องด้ายดำสะพายเฉียงจากขวามาซ้าย หนวดและเคราเกรอะกรังเป็นสังกะตัง ร่างกายเป็นเกล็ด เพราะไม่เคยอาบน้ำ

ที่ประพฤติตนแบบนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญตบะเผากิเลสอย่างหนึ่ง คือไม่นิยมยินดีในร่างกายของตนเอง มันจะเป็นยังไงก็ช่างมัน ถือธรรมะ คืออาตมัน (วิญญาณ) เป็นใหญ่ เพื่อให้อาตมันเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ พระศิวะเจ้า ฤาษีโคปาละ พอเห็นหน้าหลวงพ่อกัสสป ก็ยิ้มจ้องมองแล้วหัวเราะ ส่งเสียงทักทายเป็นภาษาฮินดี แต่หลวงพ่อไม่ถนัดภาษาฮินดี จึงเพียงแต่ยิ้มตอบ ฤาษีโคปาละหยิบจาปตี้ปิ้ง ใส่ลงในบาตรสี่แผ่น ข้าวสุกหนึ่งทัพพีใหญ่ แกงดาลสองทัพพีใหญ่ สับจี๊ (แกงข้น) หนึ่งทัพพี ใส่โล๊ะรวมกันลงไปในบาตร กำลังร้อนๆ ต้องเอาผ้าเช็ดหน้ารองก้นบาตร เสร็จแล้วนำบาตรกลับมานั่งฉันที่กุฏิ “มีอาหารอย่างนี้ หลวงพ่อพอไปไหวไหม ?” ท่านวิเวกถามด้วยความเป็นห่วง หลวงพ่อกัสสปหัวเราะ ตอบว่า “อาหารแขกอย่างนี้ให้ฉันไปอีกสิบปีก็ฉันได้อยู่ได้ ไม่ไหวอย่างเดียวคือการเข้าไปหาที่ถ่ายทุกข์ในป่า” ฉันอาหารอิ่มแล้วถือบาตรไปล้างที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ล้างมือแปรงฟันที่นั่นเสร็จ พอหันกลับจากแม่น้ำก็พอดีพบกับ มาดามบริจิต ชาวอิตาลี ซึ่งเคยพบกันมาครั้งหนึ่ง ที่กุลิตาลัยต้นเดือนก่อน เธอเป็นชาวยุโรปที่ชอบแสวงหาสัจจะให้กับชีวิต ได้เดินทางมายังชมพูทวีป เพื่อศึกษาและ ปฏิบัติตามแนวลัทธิโยคี ได้เคยสนทนาธรรมกับหลวงพ่อมาแล้ว
 
           มาดามบริจิต นุ่งห่มแบบนักพรตผ้าสีเหลืองอ่อน ทำให้ร่างงามของเธอระหงยิ่งขึ้น เธอยิ้มอย่างแช่มช้อยดีใจที่ได้พบหลวงพ่ออีกครั้ง เธอเล่าว่าได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ที่เมืองฤาษีเกษได้ ๑๗ วันแล้ว อีกราว ๓-๔ วันก็จะเดินทางกลับอิตาลี ขณะเดินสนทนากันกลับกุฏิ มาดามบริจิตมองหลวงพ่อด้วยสายตาหวานเยิ้ม มีความหมายชอบกล หลวงพ่อรำพึงว่า มาตุคาม (สตรีเพศ) ก็เป็นอย่างนี้เอง ความมีเสน่ห์ยั่วยวนใจเพศตรงข้ามย่อมแสดงออกได้เสมอ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา แต่ใจเรานิ่งแน่ไม่หวั่นไหวเสียแล้ว หามีความรู้สึกใดไม่ ถึงกระนั้นสมณะก็อย่าพึงประมาท จงระวังมาตุคามให้จงหนัก มาตุคามย่อมเป็นภัยกับพรหมจรรย์ มาดามบริจิต เดินตามมาส่งถึงกุฏิแล้ว ก็ไหว้อภิวาทอย่างงามแช่มช้อย อำลาจากไป บ่ายโมงเศษท่านวิเวกนันทะพาเดินชมภูมิประเทศ เมืองฤาษีเกษ โดยย้อนขึ้นไปทางต้นแม่น้ำคงคา เพื่อเดินดูสถานที่ และภูมิประเทศ ตลอดจนชุมนุมเหล่านักพรต ลัทธินิกายแปลกๆ ภูมิประเทศที่เดินย้อนขึ้นไปทางต้นแม่น้ำนี้ เรียกว่า “ ลักษมัณจุฬา ” มีอาศรมของพวกฤาษีมุนี มีโบสถ์พระศิวะ หรืออิศวรอยู่เชิงเขา ตามริมถนนมีโรงเรียนแถว และสถานีตำรวจประจำถิ่น ทำเลภูมิประเทศเมืองฤาษีเกษ ทางฝั่งซ้ายต้นแม่น้ำคงคานี้ เป็นป่าใหญ่จริงๆ

น้ำในแม่น้ำก็ใสสะอาดเขียวมรกต เย็นยะเยือก ไม่มีรสกร่อยเลย เพราะเพิ่งไหลออกมาจากธารน้ำใหญ่น้อยในภูเขา ริมฝั่งต้นแม่น้ำได้ถูกดัดแปลง ก่อสร้างเป็นปูชนียสถาน มีท่าลงอาบน้ำสนานกายล้างบาป และท่าเรือข้ามฟาก ปูชนียสถานที่ว่านี้มีชื่อต่างๆกัน ทางฝั่งขวามี ศิวะนันทะอาศรม มีอาณาเขตริมแม่น้ำ และทางหลังด้านถนน มีกุฏิตึกใหญ่น้อยระดะขึ้นไป ทางฝั่งซ้ายมี สำนักสวรรค์อาศรม สำนักปรมาทนิเกตัน กีตะภวัน และสำนักลักษมัณจุฬา เดินเรื่อยไปขึ้นไปสำนักลักษมัณจุฬา อยู่ติดกับแม่น้ำ ส่วนกุฏิของหลวงพ่ออยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำประมาณหนึ่งกิโลเมตร ขณะนั้นได้เดินสวนทางกับนักพรตหนุ่มคนหนึ่ง พูดภาษาอังกฤษพอใช้ได้ หลวงพ่อได้ถามว่า ขึ้นไปทางภูเขาด้านหลังร้านรวงนี้ มีสำนักฤาษี และโยคีอยู่บ้างหรือไม่ นักพรตหนุ่มตอบว่า บนภูเขาเหนือขึ้นไปมีถ้ำสำนักของฤาษีอยู่หลายแห่ง (คำว่า “ฤาษี” นี้ภาษาฮินดีออกเสียง เรียกว่า “ริชชี”) แต่ดดยมากเป็นถ้ำร้าง เพราะเจ้าของย้ายไปอยุ่ที่อื่น มีทางพอขึ้นไปได้ เดินเรื่อยมาพักใหญ่ก็ถึงสะพานแขวนข้ามแม่น้ำคงคา กว้างประมาณห้าเมตร ส่วนยาวประมาณร้อยเมตร หัวสะพานทั้งสองข้างทำเป็นเสาสูงหล่อคอนกรีต และโครงเหล็กก่อยันอยุ่สองฟากฝั่ง ตัวสะพานลอยแขวนข้าม โดยไม่มีเสายันข้างล่าง โครงสะพานทำด้วยเหล็กแกร่งมาก ไม่มีแกว่งไกว ห้ามเฉพาะรถยนต์ และช้างข้าม ส่วนผู้คนและวัวควาย ข้ามได้สบายมาก ขณะข้ามสะพานนี้ก้มดูพื้นท้องแม่น้ำในฤดูหนาว น้ำไม่มากนักแต่ไหลเชี่ยวมาก กระทบโขดหินใหญ่น้อยดังซ่าๆ สองฝั่งเป็นภูเขาล้อมรอบ ติดกันเป็นพืดทำให้ดูงดงามยิ่ง
 
           หลวงพ่อกัสสป และท่านวิเวกนันทะ เมื่อเข้ามาอยู่เมืองศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่ชุมนุมของผู้วิเศษทั้งหลายเชิงเขาหิมาลัย ก็มิได้นิ่งดูดายวางตัวโอ่อ่าแต่อย่างใด คงสำรวมตนอยู่ในจริยาวัตรอันงาม มีการเที่ยวไปทำความรู้จักกับบรรดาโยคีชั้นสวามี และมหาฤาษีตามสำนักต่างๆ ในแดนฤาษีเกษ ตลอดจนพวกนักบวช
พราหมิน (ภักดีต่อพระพรหมแน่วแน่) เป็นการผูกมิตรไมตรีสร้างบรรยากาศแห่งความอยู่ร่วมกันโดยสันติ นักพรต นักบวช โยคี ฤาษี ชีไพร เหล่านี้ บางรูปก็มีอัธยาศัยดี จิตใจใฝ่ธรรมอย่างแท้จริง มีเมตตา และถืออุเบกขา แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นพวกมิจฉาทิฐิ อวดดี ยะโส โอหัง พูดจากระโชกโฮกฮากชอบข่มขู่หลวงพ่อ เพราะเห็นเป็นภิกษุในพุทธศาสนา และโดยเฉพาะเป็นคนไทยซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างผิวพรรณไปจากพวกแขกอินเดีย แต่พอได้ทราบชื่อหลวงพ่อว่า “กัสสปมุนี” รู้สึกว่าทำความประหลาดใจให้แก่พวกฤาษี โยคี อาชีวก ฯลฯ เป็นอย่างมาก ท่าทีอันจองหองทะนงตนก็ลดลงไปแยะ โยคี ฤาษี บางรูปทะนงตนว่ามีตบะแก่กล้าฤทธิ์เดชมาก เข้ามาหาหลวงพ่อกัสสปที่กุฏิ ใช้กิริยาอันกระด้าง พูดจาข่มขู่โฮกฮาก แต่พอได้ทราบชื่อ กัสสปเท่านั้น ก็พนมมือหรือไม่ก็แตะหน้าผาก ยิ่งมีการโต้ตอบกันด้วยข้อธรรมะ การปฏิบัติทางจิตแล้ว โยคี ฤาษีรุปนั้นยิ่งอ่อนยวบยาบลงไป แสดงความอ่อนน้อมแทบไม่น่าเชื่อ

วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ฉันภัตตาหารแล้ว ท่านวิเวกนันทะได้กำหนดเวลาที่จะเดินทาง กลับเมืองมัดดร๊าส และ จะเลยกลับเมืองไทย ปล่อยให้หลวงพ่อกัสสปอยู่บำเพ็ญเพียรที่ ฤาษีเกษ ตามลำพังอย่างแท้จริงต่อไป “ต่อไปนี้ หลวงพ่อจะต้องอยู่ในหมู่ฤาษีโยคีแต่ลำพังองค์เดียว แต่ผมเชื่อว่า หลวงพ่อคงจะอยุ่ได้อย่างสบาย” ท่านวิเวกนันทะกล่าวอย่างอาลัย ไม่อยากจะจากไปเหมือนกัน เพราะมีความเคารพรัก เลื่อมใสในหลวงพ่อกัสสปมาก หลวงพ่อกัสสป ก็ได้ตอบว่า “ท่านอย่าเป็นห่วงผมเลย แผ่นดินทุกแห่งบนโลกนี้ ผมอยู่ได้เหมือนเจ้าของแผ่นดินนั้นเหมือนกัน” พอบ่ายโมง หลวงพ่อก็ออกจากกุฏิมาส่งท่านวิเวกนันทะ นั่งเรือข้ามฟากไปยังฝั่งศิวะนันทะอาศรม เพื่อไปขึ้นรถไฟ ท่านวิเวกนันทะได้แนะนำหลวงพ่อ ให้รุ้จักกับนักบวชฮินดู ศิษย์ของศิวะนันทะ ชื่อ นิมลานันทะ ผู้ซึ่งมีนิสัยสุภาพเรียบร้อย และสนใจในหลวงพ่อกัสสปมาก นักบวชนิมลานันทะ ได้ถามว่า “ท่านกัสสป สมาธินี้ทำอย่างไรถึงจะถูก ? ” หลวงพ่อตอบอย่างง่ายๆ พอเป็นสังเขปว่า “ จงกำจัดความนึกคิด และความกังวลเสีย ทำจิตให้สงบเป็นหนึ่ง นี่แหละคือความถูกต้อง ท่านนิมลานันทะ โปรดจำไว้เถอะ” นักบวชลัทธิฮินดูยกมือขึ้นพนม ใบหน้าแจ่มใสเบิกบาน กล่าวว่า “สาธุ ท่านคุรุจีกัสสป”
 ขณะที่นักบวชนิมลานันทะ กล่าวนี้ อยู่ที่ท่าเรือศิวะนันทะ ทำให้บรรดาฤาษี โยคี อาชีวก และผู้คนจำนวนมากที่กำลังมารอลงเรือข้ามฝาก ต่างก็หันมามอง หลวงพ่อกัสสปมุนีเป็นตาเดียว แสดงความประหลาดใจเป็นล้นพ้น ที่นักบวชชาวไทยร่างเล็ก เป็นพระภิกษุสงฆ์ ในพุทธศาสนา ได้รับการนอบน้อมยอมรับ จากนักบวชฮินดูถึงเพียงนี้ หลังจากท่านวิเวกนันทะจากไปแล้ว พอตกเย็นวันนั้นในราว ๖ โมง
ท้องฟ้าอากาศเมืองฤาษีชีไพร อันศักดิ์สิทธิ์เชิงป่าหิมพานต์ แดนหิมาลัยประเทศ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ลมพัดดังกระหึ่ม ก้องสะท้อนหุบเขากลับไปกลับมา ท้องฟ้ามืดสนิท ลมพัดกระหน่ำ ผงฝุ่นและใบไม้ปลิวว่อน ต้นไม้ภายในบริเวณกุฏิหักโผงผาง หลวงพ่อกัสสปเห็นท่าไม่ได้การเลยรีบปิดกุฏิ เสียงฟ้าผ่าดังเปรี้ยงๆ กึกก้องไปหมด “เอ้อเฮอ... ฝนฟ้าพายุของชมพูทวีปแถบหิมาลัยดุเดือดอย่างนี้เทียวหรือ ?” หลวงพ่อรำพึงขณะเริ่มนั่งเข้าสมาธิในกุฏิอันมืดตื้อ ทันใด เสียงฟ้าคำรามดังครืนสนั่น แผ่นดินสะเทือนพะเยิบเหมือนมีลูกขุนเขาขนาดใหญ่ กลิ้งอยู่ภายใต้พื้นโลก พริบตานั้น ภายในกุฏิของหลวงพ่อกัสสปก็สว่างจ้าขึ้นเรืองรอง ไม่ใช่แสงฟ้าแลบฟ้าผ่า แต่เป็นแสงที่เกิดขึ้นเอง หลวงพ่อรู้สึกสงสัยจึงลืมตาขึ้นดู
ก็พบว่า แสงสว่างนั้นคล้ายแสงอาทิตย์ในยามรุ่งอรุณ แปลกมาก ขณะเดียวกันก็มีกลิ่นหอมระรื่นประหลาด เย็นซ่านตลบอบอวลไปทั้งกุฏิ แสงสว่างอันลึกลับนั้นมองดูคล้ายเป็นสายพุ่งผ่านกันไปมาฉวัดเฉวียน

หลวงพ่อรู้สึกเคลิบเคลิ้มงงงวย บังเกิดความร่มรื่นชื่นใจคล้ายนั่งอยู่ในแดนวิเวกอันเป็นทิพย์ที่ไหนสักแห่ง ได้สูดดมกลิ่นอันหอมเย็นไม่เคยมีในโลก เข้าในช่องจมูกผ่านลงลำคอ ซ่านไปทั่วทรวงอก ออกทางช่องปาก ทำให้อวัยวะภายในทุกส่วนอิ่มเอมแน่วแน่ หลวงพ่อคงนั่งลืมตาเพ่งมองไม่กระพริบ ในอิริยาบถอันสงบอยู่อย่างนั้น แล้วแสงนั้นก็ค่อยๆ เรืองรอง น้อยลงๆ ภายในกุฏิค่อยๆ มืดเข้าๆ ในที่สุดแสงนั้นก็จับอยู่เฉพาะที่ประตูกุฏิ อย่างแพรวพราวชัดเจน อีกครั้งหนึ่งแล้วจึงจางหายไป หลวงพ่อบอกตัวเองว่า ถ้ายังเป็นฆราวาสอยู่ หากบังเอิญได้เห็นแสงประหลาดมหัศจรรย์เช่นนี้ เราคงตื่นเต้นขนลุกขนพองเป็นแน่ แต่มาสมัยนี้เราเป็นสมณะนักบวช ผู้มีจิตใจมั่นคง ความขนพองสยองเกล้า และความหวาดกลัวใดๆ ได้สูญหายไปจากจิตใจเสียแล้ว ด้วยอำนาจพระธรรม ชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาด อา... พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ช่างมีคุณอนันต์สุดประเสริฐ ต่อเวไนยนิกรสัตว์ ถึงเพียงนี้ จากนั้นหลวงพ่อก็เอนตัวลงจำวัตร เมื่อฝนซาตอนใกล้รุ่ง ตื่นนอนเอา ๗ โมงเช้า อากาศหนาวพอทน ถึงกระนั้นก็ต้องเอาผ้าเช็ดตัวพันศีรษะ เพราะอากาศเย็นถึงคอหอย แล้วจึงออกจากกุฏิไปฉันน้ำชาที่ร้านนายฤาษีราม ห่างจากอาศรมประมาณ ๔๐๐ เมตร บอกให้นายฤาษีรามช่วยหาซื้อไม้กวาด และหาคนช่วยล้างกุฏิให้ด้วย หลวงพ่อทำคนเดียวไม่ไหว เพราะกุฏิยังใหม่ ผงปูน และ ขี้กบยังซุกอยู่ ตามซอกตามมุม และใต้แท่นที่นอน ซึ่งนายฤาษีรามก็รับปากจะจัดการให้ ....

หลวงพ่อ กัสสปเล่าว่า นายฤาษีรามนี้ ไม่ทราบว่าเคยเป็นลูกศิษย์ลูกหามาแต่ปางใด ดูแกเคารพ และรักหลวงพ่อมากจริงๆ เอาเป็นธุระให้เกือบทุกอย่าง วันไหนฝนตกไม่หยุด แกก็อุตส่าห์แบกถาดน้ำชาขนมปังมาให้ถึงกุฏิ ให้ลูกชายลูกสาวช่วยกวาดลานบริเวณกุฏิ และตักน้ำทูนหัวมาให้วันละหนึ่งถัง อายุแก ๕๐ เมียอายุ ๔๖ มีลูก ๖ คน คนโตผู้ชายชื่อ พิษณุ อายุ ๑๕ คนที่สองผู้หญิงอายุ ๑๒ ชื่อ บุษบา คนที่สามผู้ชายชื่อ ราเมศร์ คนที่สี่เป็นผู้หญิงชื่อ อันปูรนา คนที่ห้าเป็นชายชื่อ มเหศวร คนที่หกเป็นหญิงชื่อ อุษา เพิ่งสอนคลาน ครอบครัวนี้มีฐานะพอเลี้ยงตัวได้ไม่ยากจนนัก ใส่บาตรหลวงพ่อหลายครั้ง และได้นิมนต์ไปฉันอาหารที่ร้านแกสองครั้ง พอหลวงพ่อนั่งขัดสมาธิ ใช้มือเปิบข้าวเข้าปากแบบแขกอินเดีย แกดูแล้วชอบใจมาก บอกว่าการจับข้าวเข้าปาก หลวงพ่อทำได้ดีกว่าแกมากทีเดียว หลวงพ่อจึงแสดงการหยิบคำข้าวให้แกดู สำหรับเมียของแกนั้น คอยเอาใจใส่ปฏิบัติดูแลจนหลวงพ่อฉันอิ่ม เธอนั่งพนมมือรับพรอนุโมทนา

วันรุ่งขึ้น หลวงพ่อไม่ได้ไปรับภัตตาหารที่โรงครัว เพราะถึงเวลา ๙ โมงเช้า ฝนเทกระหน่ำลงมาอีก เป็นฝนลูกเห็บก้อนโต ขนาดกำปั้นบ้าง โตขนาดมะนาวบ้าง ฝนลูกเห็บตกลงมาอย่างถล่มทลายน่ากลัวมาก ดีแต่ว่าหลังคาของบ้านเมืองแขก ทำเป็นหลังคาเทปูนแข็งแรง จึงไม่เป็นอันตราย หลวงพ่อต้องปิดประตูหน้าต่างนั่งเข้าสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง อยู่จนกระทั่งบ่ายสี่โมงฝนจึงหยุดตก หลวงพ่อได้นึกถึงแสงสว่างอันเป็นรัศมีประหลาด เมื่อตอนหัวค่ำวานนี้ แล้วจึงได้แผ่ส่วนกุศลอุทิศให้แก่ดวงวิญญาณของท่านผู้นั้น วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ปีนั้น เป็นวันเริ่มต้นของศิวาราตรี มีประชาชนชาวอินเดียต่างถิ่นต่างเมือง เริ่มเดินทางจาริกแสวงบุญเข้ามาเป็นทิวแถว บางหมู่ทำเป็นขบวนแห่ เดินขึงธงยาวใหญ่เต็มถนน บางหมู่ก็แบกธงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมสีต่างๆ เดินย่ำเท้าร้องเพลงประสานกันมาดังลั่นถนน ตกตอนบ่ายคนยิ่งเดินกันมากเข้าทุกที หลวงพ่อจึงถามฤาษีชราที่อยู่กุฏิใกล้ๆ ว่า คนมามากอย่างนี้หรือ? แกบอกว่าคนจะเข้ามาบูชาพระเป็นเจ้า และสนานกายที่ท่าอาบของอาศรมสองฟากแม่น้ำ เป็นเวลา ๑๑ วัน หลวงพ่อจึงนั่งดูขบวนประชาชนแต่งตัวต่างๆ กัน บางพวกมาจากปัญจาบแต่งตัวไปอย่างหนึ่ง ที่มาจากกุชราษฎร์แต่งตัวไปอย่างหนึ่ง มาจากมัดดร๊าสแต่งตัวไปอย่างหนึ่ง มาจากแคว้นกาลิงคะ และอุตตระกาสีก็แต่งไปอย่างหนึ่ง
 

(มีต่อ...)

ออฟไลน์ ธรรมะรักโข

  • มีสติ...กำหนดรู้...อยู่ที่จิต
  • อัฏฐมะ
  • ***
  • กระทู้: 749
  • เพศ: ชาย
  • ผู้รักษาธรรม
    • ดูรายละเอียด
พวกผู้หญิงเผ่ากาลิงคะนุ่งผ้าโจงกระเบน เห็นรูปก้นเป็นปั้นทีเดียว ผู้คนเหล่านี้อุตส่าห์พากันมาแต่ไกล เพื่อจาริกแสวงบุญ ขณะที่หลวงพ่อกัสสปนั่งขัดสมาธิ อยู่บนม้าหินหน้ากุฏิดูชมอยู่นี้ พวกประชาชน
กลุ่มใหญ่ก็เปิดประตูรั้วเข้ามา ตรงเข้ามากราบหลวงพ่อกัสสป กราบแบบหน้าผากจรดพื้น พวกผู้ชายเอามือแตะแขนหลวงพ่อ แล้วเอาไปแตะที่หน้าผากของตนเช่นเดียวกัน เสร็จแล้วก็ทรุดตัวลงกราบอีก
หลวงพ่อกัสสป ได้ให้พรเป็นภาษาฮินดีอย่างกระท่อนกระแท่นว่า “ตุม ซับบะ ประสันระฮีเย ปีน้ากีชีคดุ๊เค่” แปลความว่า ขอพวกเธอทุกคนจงอยู่เป็นสุข และปราศจากภัย บางคนก็ยิ้มอย่างชื่นชม บางคนก็พนมมือกล่าวว่า “นมัสการ สวามีจี นมัสการ” แล้วพวกเขาก็พากันเดินออกไป บางคนพ้นประตูออกไปแล้วยังหันกลับมาไหว้อีก หลวงพ่อก้มมองดูปัจจัยที่พวกเขาบริจาคทาน แล้วรำพึงว่า “นี่แหละคือทานที่ได้โดยชอบในต่างถิ่นต่างแดน เป็นทานที่ปราศจากมลทิน เกิดจากศรัทธาอย่างแท้จริงของผู้บริจาค” ตอนเย็นวันนั้น หลวงพ่อได้นำเอาปัจจัยทั้งหมดเกือบสองรูปี ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักอาศรม ทำให้เลขานุการของสำนักอาศรมแปลกใจ ถามว่า “ทำไมท่านไม่เก็บเอาปัจจัยที่ศรัทธาบริจาxxxให้นี้ เก็บเอาไว้ใช้อย่างฤาษี หรือสาธุอื่นๆ ?” “อาตมาไม่ขัดสน อาหารจากโรงทานของอาศรมก็เป็นการเพียงพอแล้ว และ นี้เป็นส่วนของทานที่ได้มา จึงขอมอบให้สำนักไว้ แล้วแต่จะจัดการ” หลวงพ่อกล่าวชี้แจง ทำให้เลขานุการของสำนักอาศรม ยกมือพนมสาธุ ด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างจริงใจ

หลวงพ่อได้รับบริจาคทานทำนองนี้ ตลอดเวลาที่บำเพ็ญธรรมอยู่เมืองฤาษีเกษ ได้เงินเป็นจำนวนหลายรูปี ไม่เคยเก็บไว้เลย ได้นำไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของอาศรมเสมอมา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ในสำนักอาศรมทุกคน ให้ความคารวะนับถือ คอยช่วยเหลือต่างๆ อยู่เสมอมา ต่อมาในเช้าวันหนึ่ง ขณะที่หลวงพ่อกัสสปกำลังล้างบาตร และภาชนะสองสามใบหลังจากฉันภัตตาหารแล้ว ฝูงชนยังคงเดินหลั่งไหลอยู่ทั่วเมืองฤาษีเกษ ขณะนั้นมีชายกลางคนผู้หนึ่งแต่งตัวเรียบร้อย เปิดประตูเดินตรงเข้ามาหาหลวงพ่อ แล้วเอ่ยขอน้ำสักหนึ่งขัน หลวงพ่อบอกว่าไม่มีขัน มีแต่ถ้วย ชายคนนั้นก็ว่าขอสักถ้วยเถอะ หลวงพ่อคิดว่าแกเดินทางมาเหนื่อยคงจะมาขอน้ำกิน จึงได้เดินไปตักน้ำมาส่งให้ แกรับน้ำแล้วก็รีบเดินหันหลังกลับออกไป เอาน้ำไปส่งให้กับผู้หญิงแก่คนหนึ่ง พอยายนั่นรับถ้วยน้ำได้ ก็รีบเดินหายเข้าไปในป่า หลวงพ่อนึกเอะใจร้องในใจว่า “ตายละวา เจ้าหมอนั่นเอาถ้วยน้ำอาตมา ไปให้ยายแก่นั่นล้างก้นแน่ๆ” สักครู่ยายแก่นั่นก็กลับออกมาจากป่าส่งถ้วยคืนให้เจ้าหมอนั่น แล้วหมอนั่นก็รีบเอาถ้วยมาส่งคืนให้หลวงพ่อ ซ้ำยังขอกินน้ำอีกสักถ้วย หลวงพ่อจึงเอาถ้วยใบนั้นแหละตักน้ำในถังส่งให้ แต่หมอไม่รับ กลับทำมือห่อจรดเข้าที่ปาก บอกให้เทน้ำลงในมือของแก หลวงพ่อก็ทำตาม ชายคนนั้นจึงเอามือรับน้ำหยอดใส่ปากตัวเองดื่ม แสดงว่าประเพณีของพวกเขา คงเป็นอย่างนั้นเอง เป็นอันว่าถ้วยน้ำใบนั้น หลวงพ่อเลยไม่กล้าใช้ จึงเอาไว้ตักน้ำล้างเท้าต่อไป
 

           ในราวบ่ายสามโมง มีสามีภรรยาครอบครัวหนึ่ง พร้อมทั้งพ่อตาแม่ยายและลูกชายอายุ ๑๒ ปี ชื่อราเชนทร์ ได้พากันเข้ามาหาหลวงพ่อกัสสปที่กุฏิ เสื้อผ้าการแต่งตัวแสดงถึงฐานะอันมั่นคง เมื่อได้เข้ามา และแสดงคารวะอย่างนอบน้อมแล้ว ก็บอกว่า เขาชื่อนายมหลตรา และภรรยา เด็กคนนี้เป็นบุตรชายคนโต และบุรุษและสตรีชราทั้งสอง เป็นพ่อตาแม่ยายของเขา สำหรับนางมหลตราใบหน้าสวยยิ้มเสมอ รูปร่างค่อนข้างอ้วน นั่งขัดสมาธิลงกับพื้นซีเมนต์ โดยไม่คำนึงถึงว่าเสื้อผ้าอันสะอาดงามของแกจะเปื้อน ส่วนเด็กชายราเชนทร์นั้น ยืนมือไขว้หลังดูหลวงพ่ออยู่อย่างสนใจ นายมหลตราถามว่า “ท่านมาจากไหน เป็นสาธุของลัทธิใด เพราะผมเห็นกิริยาอาการของท่าน แปลกกว่าพวกฤาษีและสาธุที่นี่” หลวงพ่อกัสสปได้ตอบให้แกทราบอย่างไม่ปิดบัง ทำให้นายมหลตราและภรรยาแปลกใจ และพอใจมาก สำหรับพ่อตาและแม่ยายขออนุญาตเข้าไปในกุฏิเพื่อดูชม ครั้นเมื่อได้เห็นกลดธุดงค์แขวนอยู่ และบาตรใหญ่ที่วางไว้บนหิ้งชั้นกลาง แกได้ไต่ถามว่า ของเหล่านี้ใช้สำหรับทำอะไร? ซึ่งหลวงพ่อก็ได้อธิบายให้เป็นที่เข้าใจทุกประการ ทำให้ทุกคนพอใจ และเลื่อมใสมาก ผู้เป็นพ่อตาได้ถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะทำใจให้เป็นสมาธิได้ ?” “จงทำใจของท่านให้ดับจากความขุ่นเคือง ดับจากความครุ่นคิดถึงสิ่งใด รักษาอารมณ์ของใจให้สงบนิ่ง มีสติรู้สึกตัว ทำได้อย่างนี้เมื่อใด เมื่อนั้นใจท่านอยู่ในสมาธิแล้ว” “จริงสินะท่านภิกขุ จริงอย่างที่ท่านพูด ผมจะพยายามกระทำอย่างที่ท่านแนะนำ” ชายชราพูดเสียงแจ่มใส ส่วนหญิงชราได้แต่พนมมือ


นางมหลตราถามว่า “อย่างดิฉันและคุณผู้ชายนี่ จะทำได้ไหม?” “ได้ซิ แม้แต่พ่อหนูราเชนทร์ก็สามารถจะกระทำได้ ถ้าตั้งใจจริง” หลวงพ่อตอบพลางเอื้อมมือไปจับแขนเด็กน้อยดึงเข้ามาใกล้ ซึ่งแกก็ไม่ขัดขืน หน้าตาท่าทางแกน่ารัก นางมหลตรามองดูหลวงพ่อด้วยแววตาสดใส ส่วนนายมหลตรายืนยิ้ม นางมหลตราบอกว่า “ราเชนทร์นี่ดื้อจริงๆค่ะท่านกัสสป จะสั่งให้ทำอะไรก็มักจะโกรธขัดขืนอยู่เสมอ ท่านช่วยเตือนหน่อยซิคะ ว่าแกควรจะทำอย่างไร” “อันธรรมดานั้น ลูกย่อมผูกพันกับแม่และพ่อ ถ้าเป็นคำพูดคำเตือนของพ่อและแม่แล้ว ลูกก็ไม่ปรารถนาจะขัดขืน ฉะนั้นถ้าพ่อและแม่รู้จักอัธยาศัยของลูก รู้ธาตุแท้ของลูก ให้คำเตือนสั่งสอนว่ากล่าว ให้ถูกกับอัธยาศัย และธาตุแท้ของเขาแล้ว เขาจะไม่ดื้อดึงขัดขืนเลย มีแต่เพิ่มพูนความรักความผูกพัน ในพ่อแม่ยิ่งขึ้น จริงไหมราเชนทร์ ?” หลวงพ่อกล่าว พลางหันไปถามหนูน้อยอย่างปรานี ซึ่งราเชนทร์ได้มองดูหลวงพ่ออย่างยิ้มแย้มถูกใจ “ท่านจะกลับเมืองไทยเมื่อใด?”
นายมหลตราถาม หลวงพ่อได้ตอบให้ทราบ จะออกจากเมืองฤาษีเกษในวันที่ ๑๐ เมษายน จะไปพักที่สำนักชาวพุทธซีลอน ที่กรุงเดลลีก่อนสัก ๒-๓ วัน แล้วจึงจะไปกัลกัตตาขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย ซึ่งนายมหลตราได้บอกว่า เขาจะไปรอพบหลวงพ่อที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นได้ถวายปัจจัยไว้เป็นเงิน ๑๐ รูปี ก่อนอำลาจากไป พวกนักพรต นักบวช ลัทธินิกายต่างๆ ในเมืองฤาษีเกษ ได้ถูกคหบดีชาวอินเดียผู้มั่งคั่งนิมนต์เลี้ยงอาหารอยู่เสมอ โดยแจกสลาก แต่เป็นการเลี้ยงในตอนเย็น หลวงพ่อกัสสปฉันอาหารตอนเช้ามื้อเดียว จึงได้มอบสลากนั้นให้กับเพื่อนฤาษีรูปอื่นไปแทน นั่นแสดงว่าผู้ที่มีใจศรัทธาในศาสนานั้น มีอยู่ทุกแห่งไม่ว่าประเทศใด พวกเขาหวังประกอบการกุศล เพื่อเป็นเสบียง และกำลังอุดหนุนค้ำชูตน ทั้งภพนี้และภพหน้า นับว่าชนเหล่านี้เป็นสาธุชน เป็นกัลยาณชนที่ควรคบหาสมาคมด้วย

           อนึ่ง การที่หลวงพ่อกัสสปมุนี ได้เข้ามาอยู่ในท่ามกลางกลุ่มฤาษี และโยคีใหญ่น้อยในเมืองฤาษีเกษอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ยิ่งนานวันเข้า หลวงพ่อได้ตกเป็นเป้าเพ่งเล็ง ด้วยสายตาที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ประกอบกับอากาศหนาวเริ่มจางไป และอากาศอบอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บรรดาฤาษีผู้สูงอาวุโส ได้ทยอยกันกลับมาบำเพ็ญธรรมที่เมืองฤาษีเกษมากหน้าหลายตา บางครั้งหลวงพ่อกัสสปนั่งสมาธิอยู่เงียบๆ ก็มีฤาษีและโยคีบางรูปได้เข้ามาที่กุฏิถามด้วยเสียงอันดัง บางคนทำท่าจะก้าวเข้าไปในกุฏิอย่างล่วงเกินดูหมิ่น หลวงพ่อต้องร้องห้ามไว้จึงชะงักอยู่แค่ประตู มีฤาษีโยคีหลายรูปถามเป็นเชิงขู่ตะคอกว่า หลวงพ่อมาจากไหน? มีฐานะสำคัญอย่างไร ? จึงได้มาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ หลวงพ่อก็ตอบไปว่า “อาตมาภาพมาจากเมืองไทย ดินแดนพระพุทธศาสนา เข้ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ให้ไปถามผู้จัดการอาศรมดูก็แล้วกัน พวกท่านเห็นอย่างไร ที่เราเข้ามาอยู่ที่นี่ ท่านรังเกียจเราหรือ ?” ก็ได้รับคำตอบพร้อมกับโคลงศีรษะว่า “ก็ไม่เห็นอย่างไร เราจะไปรังเกียจทำไม” ว่าแล้วก็ทำท่ายกไม้ยกมือขึ้นชู เปล่งเสียงว่าโองการ เกือบเป็นเสียงตะโกนว่า “โห โห โอม...นารายณ์...นารายณ์...โอม” แล้วเดินปึงปังออกไป แต่อีกหลายคนไม่ยิ้ม มีแต่มองถxxxทึงแสดงความไม่เป็นมิตร

เช้าวันหนึ่ง หลวงพ่อเดินจงกรมชักลูกประคำคอภาวนาอยู่ มีอุบาสกผู้หนึ่งแต่งตัวสะอาดโอ่โถงเข้ามาฟุบหมอบกราบอยู่ตรงหน้า หลวงพ่อจึงถามว่า “สุขีระฮีเย่ อุปาสะกะ ท่านมีกิจอะไรหรือ?” อุบาสกผู้นั้นลุกขึ้นพนมมือ ถามอาตมาภาพเป็นภาษาอังกฤษว่า “ขอประทานอภัย ท่านเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาใช่ไหมครับ?” “ใช่...อุบาสก” “ท่านมาแต่ไหนครับ ?” “มาจากเมืองไทย” หลวงพ่อตอบ อุบาสกผู้นั้นทรุดตัวลงกราบ ที่หลังเท้าหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่ง แล้วลุกขึ้นยืนพนมมือ “กระผมนึกไม่ผิด ว่าท่านต้องเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา กระผมได้ออกเดินทุกเช้า และยืนดูท่านที่ริมรั้วทุกวัน ท่านก็ไม่มองออกไป วันนี้จึงตัดสินใจเข้ามากราบเท้า กระผมชื่อซิบรามโสบั๊ด เป็นข้าราชการประจำประเทศพม่า ๑๐ กว่าปี จนพม่าได้รับเอกราช กระผมจึงถูกเรียกตัวกลับอินเดีย และเดี๋ยวนี้ได้ถูกปลดจากข้าราชการ รับเบี้ยบำนาญ เพราะอายุมากแล้ว” “ขอบใจท่านอุบาสก จงเรียกอาตมาภาพว่า กัสสปมุนี ท่านพักอยู่ที่ไหน ?” “กระผมมาแสวงวิเวกกับภรรยา พักอยู่ที่ปรมาทนิเกตันนี่เองครับ กระผมดีใจอย่างยิ่งที่ได้พบท่าน” นายซิบรามโสบั๊ดว่าแล้ว ก็กราบจนหน้าผากจรดพื้นสามครั้ง แล้วควักปัจจัยถวาย ๑๐ รูปี จากนั้นก็กล่าวคำอำลานมัสการจากไป พอตกตอนเย็นนายซิบรามโสบั๊ด ได้พาใครต่อใครมาอีก ๒-๓ คน เข้ามานมัสการหลวงพ่อกัสสปอีก ด้วยการก้มลงสองมือจับข้อเท้าหลวงพ่อไว้ แล้วใช้ปากจุ๊บที่หลังเท้า อันเป็นการแสดงความเคารพ ยิ่งไปกว่าเมื่อเช้า ส่วนบุคคลนอกนั้น มีสุภาพสตรีอายุอยู่ในวัยเดียวกันได้คุกเข่าลงกราบ

“กระผมได้กลับไปเล่าเรื่อง ที่ได้พบท่านกัสสปเมื่อเช้านี้ให้ภรรยาฟัง เธอทราบเรื่องแล้วก็อยากจะมาเห็นท่าน เพราะเราไม่ได้พบพระภิกษุมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ออกจากประเทศพม่ามา กระผมสองคนผัวเมียได้ปรึกษากัน ตกลงว่าจะขอปวารณาเป็นโยมอุปัฏฐากท่านกัสสปมุนี นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงได้ชวนเพื่อนอีกสองคนมาเป็นพยานด้วย” นายซิบรามโสบั๊ดกล่าว หลวงพ่อได้กล่าวอนุโมทนาในกุศลจิตของสองผัวเมียชาวอินเดีย แล้วการกล่าวคำปวารณาตัว เป็นโยมอุปัฏฐากตลอดชีวิตของสองผัวเมียก็ได้กระทำขึ้น ณ บัดนั้น นายซิบรามโสบั๊ดกล่าวว่า “นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ท่านไม่ต้องไปรับอาหารที่โรงครัวทานอีกแล้ว กระผมจะนำมาส่งให้ทุกเช้า โดยจะทำอาหารสับเปลี่ยนกัน คือเป็นอาหารจาปาตีวันหนึ่ง และเป็นอาหารข้าวสุกวันหนึ่ง” “โยมอย่าลำบากเลย เพราะอยู่ไกล อาหารทางโรงครัวทาน เป็นอาหารประจำ ก็พอแก่ความเป็นอยู่ของอาตมาภาพแล้ว” “อาหารโรงครัวทานไม่ค่อยเปลี่ยน ทำไม่ค่อยดีนัก ท่านกัสสปอย่าคิดอะไรเลย เป็นหน้าที่ของดิฉันและคุณผู้ชายเองจะจัดทำ ตอนเช้าเราเดินทุกเช้าเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ลำบากอะไร ผู้ภรรยากล่าว ซึ่งฝ่ายสามีก็รับรอง หลวงพ่อเลยต้องนิ่งโดยดุษณีภาพ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ความเป็นอยู่ของหลวงพ่อที่เมืองฤาษีเกษ ก็ดีขึ้นเหมือนกับอยู่เมืองไทย ไม่ต้องไปยืนเข้าคิว และถูกแซงคิวที่โรงครัวทาน

หลวงพ่อพูดถึงการแซงคิวให้ฟังว่า วันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อกำลังยืนเข้าคิว รอรับแจกอาหารทานอยู่นั้น ได้มีเจ้าโยคีคนหนึ่ง นุ่งเตี่ยวห่มขาวหนวดเครารุงรัง เนื้อตัวสกปรกมอมแมม ผมเป็นกระเซิงสะพายย่ามถือไม้เท้า เดินแซงพรวดเข้ามายืนบังหน้าหลวงพ่อไว้ แล้วหันหน้ามามองหลวงพ่อ ทำท่ายียวน แต่พอดีผู้จัดการสำนักอาศรมยืนดูอยู่ เพื่อความเป็นระเบียบ ได้เอามือชี้หน้าโยคีตวาดว่า “ถอยออกไป ไม่รู้ระเบียบหรืออย่างไร ถอยไป” เจ้าโยคีไม่มีมารยาทนั่นทำหน้าล่อกแล่ก รีบถอยกรูดหนีไปอยู่ท้ายแถวโดยเร็ว ทำให้หลวงพ่อกัสสปต้องรำพึงว่า “นี่แหละฤาษีก็ฤาษี โยคีก็โยคีเถอะ ถ้ามันยังมีความอยากอยู่ตราบใด ก็แสดงออกซึ่งกิเลสในxxxตราบนั้น” ….


           “นับตั้งแต่บัดนั้นมา หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว หลวงพ่อก็จะเก็บอาสนะ แล้วขึ้นทางด้านหลังกุฏิ ลัดเลาะขึ้นไปตามทางบนภูเขา ไปประมาณ หนึ่งชั่วโมง แล้วหลบเข้าไปเจริญสมณธรรมอยู่ในหลืบเขา ปกคลุมด้วยดงมะม่วง และมะตูม มะขามป้อม เป็นที่เงียบวังเวงยิ่งนัก แต่งูชุกชุมมาก แต่มันก็ไม่ได้สนใจหลวงพ่อแต่อย่างใด บ่ายวันหนึ่ง โยม ซิบรามโสบั๊ด และภรรยา ได้นำดอกไม้ธูปเทียน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่มแบรงเก็ต พร้อมทั้งผ้าเช็ดเท้า และไม้กวาดแข็งมาถวาย มีโยคี ฤาษี และอาชีวกหลายรูป ยืนชุมนุมกันจ้องมองดูอยู่นอกรั้ว พลางเอียงหน้าเข้าซุบซิบกัน ครั้นพอโยมซิบรามโสบั๊ด และภรรยากลับไปแล้ว พวกฤาษีโยคี และอาชีวกเหล่านั้น ได้พากันเข้ามายืนล้อมหลวงพ่อไว้ แล้วตะคอกถามว่า “คนทั้งสองนั่นเป็นอะไรกับสาธุ เขามาทำอะไรให้ ?” หลวงพ่อกัสสปมุนี มองหน้าพวกฤาษี และโยคี แต่ละคนด้วยอาการสงบ ไม่โกรธ ไม่รัก ไม่ชัง เพียงรู้สึกเฉยๆ ท่านได้ตอบไปเรียบๆว่า “ไม่ได้เป็นอะไรกะเรา เป็นแต่เพียงเขาคอยช่วยเหลือ ปฏิบัติเราด้วยความเคารพนับถือ พวกท่านเห็นแล้วจะถามทำไม ?” เมื่อได้ยินคำตอบเฉยเมยเช่นนี้ พวกฤาษีโยคีเหล่านั้นต่างก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก พอดีมีพวกประชาชนชาวอินเดียจากรัฐต่างๆ พากันแห่เข้ามาไหว้ หลวงพ่อกัสสปมุนี เพราะยังอยู่ในระหว่างวันพิธีศิวาราตรี

เลยทำให้พวกฤาษีโยคีเหล่านั้น ผละจากไปอย่างไม่พอใจ แต่ก็ไปรีๆรอๆ อยู่ที่ประตูรั้ว ยิ่งได้เห็นประชาชนอินเดียหลั่งไหลมาไหว้ หลวงพ่อกัสสปมุนี แล้วยังเอาสตางค์ถวายให้อีกด้วย พวกฤาษีโยคีเหล่านั้น ก็พากันชะเง้อมองเป็นการใหญ่ แล้วเที่ยวได้แบมือขอสตางค์จากประชาชนบ้าง ประชาชนบางคนก็ให้สตางค์แก่พวกฤาษีโยคีเหล่านั้นบ้าง ไม่ให้บ้าง แสดงความรังเกียจบ้าง ดูๆ ไปก็แปลก รู้สึกว่ากิริยาท่าทางของพวกฤาษีโยคีเหล่านี้ เหมือนไม่เต็มเต็ง หลวงพ่อกัสสปมุนีครุ่นคิดว่า เรามาอยู่ในต่างถิ่น ท่ามกลางพวกนักพรตโยคีฤาษีชีไพร นิกายแปลกๆเช่นนี้ หากเราสงบสำรวมไม่แสดงสิ่งที่ปกปิดไว้นานแล้ว หมายถึงอานุภาพของพุทธศาสนา ให้พวกมิจฉาทิฐิเจ้านิกายแปลกพิสดารเหล่านี้ ได้รู้เสียบ้าง เห็นทีเราจะอยู่ที่นี่ไม่ได้อย่างสงบสันติเสียแล้ว ฉะนั้นเพื่อความสวัสดีแก่เราเอง ทั้งบัดนี้และกาลต่อไป เราควรออกไปต่อสู้กับฤาษีโยคีเจ้าของถิ่น ให้รู้แจ้งแดงแจ๋กันเสียที ในตอนประมาณ ๖ โมงเย็นวันนั้น ภายหลังที่หลวงพ่อกัสสปมุนี ได้นำปัจจัยที่ได้จากการบริจาคทาน ไปมอบให้กับสำนักงาน ดำเนินกิจการอาศรมแล้ว หลวงพ่อกัสสปก็กลับมาเดินจงกรม อยู่ที่ลานดินหน้ากุฏิที่พัก โดยชักลูกประคำภาวนาไปเรื่อยๆ “ลูกประคำ” นี้ ภาษาฮินดีเรียกว่า “หม่าลัย” คล้ายสำเนียงไทยๆเราว่า “มาลัย”


           ขณะนั้นได้มีโยคีหนุ่มชาวอินเดียสองคน ได้เข้ามาหยุดยืนขวางหน้าหลวงพ่อกัสสปไว้ ทำให้ท่านต้องหยุดชะงักเดินจงกรม เงยหน้าขึ้นถามเป็นภาษาอังกฤษว่า “มีธุระอะไร ?” โยคีหนุ่มกล่าวตอบว่า “ท่านมหาฤาษีอาจารย์ของผม ให้มาเชิญท่านไปพบหน่อย” “มหาฤาษีของเธอชื่ออะไร ?” หลวงพ่อกัสสปจ้องหน้าถาม “อยู่ไกลแค่ไหน ?” โยคีหนุ่มทั้งสองตอบว่า “ท่านอาจารย์ของผมชื่อ รามด๊าส ขณะนี้กำลังนั่งชุมนุมอยู่กะศิษย์ทั้งหลาย บนลานหินกว้างอันศักดิ์สิทธิ์กลางแม่น้ำคงคา อยู่เหนือสะพานแขวน ลงไปไม่มากนัก” “แล้วมีธุระอะไร ?” “ไม่ทราบครับ” “ให้อาตมาไปเดี๋ยวนี้รึ ?”
“อย่างนั้นครับ” “ถ้าอาตมาไม่ไป ?” “โอ... ถ้าท่านกัสสปไม่ไป ท่านมหาฤาษีรามด๊าส และพวกเราเหล่าสานุศิษย์ทั้งหลาย ที่ชุมนุมคอยอยู่ที่โน่น จะเสียใจกันมากทีเดียวครับ” โยคีหนุ่มทั้งสองพูดละล่ำละลัก หลวงพ่อกัสสปมุนียิ้มให้ด้วยไมตรี พลางถามเป็นนัยๆ ว่า “เธอสองคนสามารถเดินตามอาตมาทันรึ ?” โยคีหนุ่มทั้งสองมองหน้ากันอย่างงุนงง แต่ก็กล่าวตอบว่า “นมัสเต้” หลวงพ่อกัสสปมุนี ยิ้มฉันท์เมตตาจิตน้อยๆ เก็บสายประคำแล้วเข้าไปเอาย่าม และไม้เท้าในกุฏิจัดแจงปิดประตูใส่กุญแจให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเชิญชวนให้โยคีหนุ่มทั้งสองตามไป

พอก้าวพ้นประตูรั้ว หลวงพ่อกัสสปมุนีได้หันมาพูดยิ้มๆ กับโยคีทั้งสองเป็นนัยๆ อีกครั้งว่า “ เธอทั้งสองเดินตามอาตมาให้ทันนะ ! ” “นมัสเต้” ทั้งสองกล่าวรับ หลวงพ่อกัสสปมุนี กำหนดจิตด้วยความชำนาญในชั่วขณะจิต จิตวูบเข้าสู่ปฐมฌานเร็วยิ่งกว่ากระพริบตา ใช้ปฐมฌานเป็นบาทฐาน ออกจากปฐมฌานในแวบเดียวของขณะจิต เข้าสู่อากาศธาตุในแวบจิตเดียว ทำร่างกายให้เบาดุจปุยนุ่น หรือละอองสำลี ! อธิษฐานจิตให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปดุจลมพัด แล้วออกก้าวเดินช้าๆ ตามปกติในสายตาปุถุชน โยคีหนุ่มทั้งสองออกเดินตาม รู้สึกว่าหลวงพ่อเดินตามธรรมดา โยคีทั้งสองกลับก้าวตามไม่ทัน จนต้องออกจ้ำอ้าวแทบกลายเป็นวิ่ง แต่ก็ไม่สามารถตามหลวงพ่อได้ทัน สร้างความประหลาดใจให้โยคีหนุ่มทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อกัสสปมุนีไปยืนรอโยคีหนุ่มทั้งสอง อยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เลยสะพานแขวนไปประมาณ ครึ่งกิโลเมตร ห่างจากลักษมัณจุฬา ประมาณกิโลเมตรเศษ หลวงพ่อกัสสปยืนรออยู่เกือบ ๒๐ นาที โยคีทั้งสองจึงได้ตามมาถึง ในอาการหอบเหนื่อยอย่างแรง เพราะต้องเดินจ้ำอ้าว คล้ายวิ่งตามหลวงพ่อมาตลอดทาง “โอ... ท่านกัสสปเดินยังไง ถึงได้รวดเร็ว น่ามหัศจรรย์แท้ ?” โยคีหนุ่มทั้งสองถามพลางหายใจกระหืดกระหอบด้วยความเหนื่อย

           หลวงพ่อกัสสปมุนี กลับถามว่า “ไหนที่อาจารย์ของเธอรออยู่ พาอาตมาไปซิ ?” โยคีทั้งสองรีบชิงกันเดินนำหน้า ลงไปตามริมตลิ่งแม่น้ำอันสูงชันมาก พอลงไปถึงก็ต้องก้าวข้ามโขดหินเป็นระยะ ไปในแม่น้ำอันไหลเชี่ยวกรากน่ากลัว หลวงพ่อกัสสปมุนี ก้าวตามไปอย่างสงบไม่ยินดีไม่ยินร้ายใดๆ มองไปข้างหน้าในความมืดกลางแม่น้ำคงคา ตรงพลาญหินกว้างก้อนใหญ่กลางแม่น้ำ เห็นกองไฟลุกส่องแสงสว่างโชติช่วง ชุมนุมไว้ด้วยเหล่าฤาษี โยคี และพวกพราหมมิน นั่งล้อมเป็นหมู่ๆ จำนวนมากมายหลายสิบคน พอเข้าไปใกล้ก็เห็นมหาฤาษีชราร่างใหญ่อ้วนคนหนึ่ง เกล้าผมเป็นมวยสูง หนวดและเครายาวเป็นพุ่ม คิ้วดกหนา ห่มผ้าสีเหลืองหม่นเฉวียงบ่า กิริยาที่นั่งเป็นสง่ามาก ไม่มองดูหลวงพ่อกัสสปมุนีเลย คงนั่งหลับตาก้มหน้านิดหนึ่ง สองมือท้าวหัวเข่า โยกตัวไปข้างหน้า และข้างหลังอย่างช้าๆ ตรงหน้ามีกองไฟขนาดเขื่อง ลุกเป็นเปลวโชติช่วง บรรดาพวกที่เป็นสานุศิษย์ นั่งห้อมล้อมอยู่นั้นต่างพากันหันมามองหลวงพ่อ กัสสปมุนีเป็นตาเดียว แต่มิได้กล่าวคำเชิญใดๆ หลวงพ่อกัสสปมุนีสังเกตดูพบว่า ตรงข้ามกับมหาฤาษีรามด๊าสผู้ยิ่งใหญ่ มีกองไฟคั่นกลางนั้น มีอาสนะแบบเสื่อกกปูไว้ผืนหนึ่ง เข้าใจได้ทันทีว่า นั่นคืออาสนะที่มหาฤาษีรามด๊าส จัดไว้สำหรับให้หลวงพ่อกัสสปมุนีนั่ง อย่างไม่ลังเล หลวงพ่อกัสสปมุนีก้าวตรงเข้าไปดึงเอาอาสนะส่วนตัวออกจากย่าม แล้วปูทับลงไปบนเสื่อของเจ้าภาพ


ทำให้พวกสานุศิษย์มหาฤาษี จ้องมองอย่างประหลาดใจ ตาไม่กระพริบเลยทีเดียว แต่หลวงพ่อกัสสปมุนีไม่ได้เอาใจใส่ จึงทรุดกายลงนั่งขัดสมาธิ ตรงข้ามกับมหาฤาษีรามด๊าสอย่างเงียบๆ ท่ามกลางสายตาของพวกฤาษีโยคี และพราหมมิน และบรรยากาศอันเย็นยะเยียบของแม่น้ำคงคา ขอบป่าหิมพานต์อันวิเวกวังเวงใจ เป็นอันว่าตอนนี้กองxxxรณ์อัคคีใหญ่ ลุกโชติช่วงร้อนแรงกล้า อยู่ท่ามกลางระหว่าง หลวงพ่อกัสสปมุนี และมหาฤาษีรามด๊าส โดยมีพวกสานุศิษย์ของมหาฤาษีนั่งล้อมอยู่ทั้งสองด้าน บรรยากาศเงียบสงัดน่าสะพรึงกลัว แต่ลมพัดอู้รุนแรง เสียงกระแสน้ำคงคาไหลเชี่ยว กระแทกโขดหินดังอยู่ตลอดเวลา เป็นที่น่าประหลาดว่า ไฟโชติช่วงในกองxxxรณ์ ได้ลุกพลุ่งโพลงขึ้นไปบนท้องฟ้าในความมืด เป็นลำไฟขนาดใหญ่ตั้งตรงดุจลำเสาแดงฉาน แน่วแน่ไม่ไหวติง แผ่ความร้อนอันรุนแรงกระจายไปทั่ว แสงสว่างเต็มพลาญหิน และพื้นน้ำคงคา กระแสลมพัดอู้ไม่สามารถทำให้ลำแสงไฟขนาดใหญ่นั้นไหวติงเลย ต่อเมื่อมหาฤาษีรามด๊าส โยกตัวไปข้างหน้า และข้างหลังอย่างช้าๆ นั่นแหละ ลำแสงไฟจึงเคลื่อนไหวพุ่งสูงขึ้นไปทุกที ลมยังคงพัดอู้ไปทิศทางตรงกันข้าม แต่ทันใดลำเปลวไฟสูงลิ่วนั้นได้ถูกมหาฤาษีบังคับให้สวนทางลม ตวัดโค้งมายังหลวงพ่อกัสสปมุนี เปลวไฟร้อนแรงกล้าแทบจะเผาไหม้ร่างหลวงพ่อทีเดียว

           หลวงพ่อกัสสปมุนีรู้ได้ในฉับพลันว่า เขาเชิญมาทดลองวิชาเพื่อพิสูจน์ว่าฝ่ายใดจะแน่กว่ากัน และบัดนี้เขาได้เริ่มทดลองแล้ว โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า การกระทำของเขาด้วยการบังคับลำแสงไฟมา จะให้เผาไหม้เรานี้ เป็นการประกาศอยู่ในตัวว่า เขาจะกระหนาบเราให้เห็นอำนาจของเขา ว่าเหนือกว่าพุทธศาสนา แล้วก็จะข่มเราในภายหลัง ถ้าเราไม่มีอะไรเหนือเขา หรือมีเพียงเสมอกับเขา เราก็จะอยู่ในแดนฤาษีเกษเชิงภูเขาหิมาลัยป่าหิมพานต์ ได้อย่างไม่ปกติสุขสงบราบรื่นแน่ๆ เขาจะต้องคอยข่มขู่ดูหมิ่นบีบบังคับให้เราตกเป็นเบี้ยล่างตลอดไป หลวงพ่อกัสสปมุนีรำพึงในใจว่า เมื่อเราอยู่เมืองไทย ก็อยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่ได้สำแดงอะไร เพราะเรามีอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ต้องเคารพ แต่เมื่อเราย่างเหยียบเข้ามาสู่ต่างแดน ต่างลัทธินิกายศาสนาเช่นนี้ เมื่อเห็นสมควรว่าจะสำแดง เพื่อความสงบสวัสดีก็พึงสำแดงเถิด ธรรมดาพญานาคราช หรือ พญากุมภีร์จะเป็นใหญ่ในถ้ำที่สถิตย์ อย่างมีสง่าทรงอำนาจนั้น ย่อมจะต้องถึงพร้อมด้วยอิทธิที่มีอยู่ในกาย เมื่อคิดรำพึงได้แล้วเช่นนี้ หลวงพ่อกัสสปมุนีจึงน้อมจิตรำลึกถึง พระพุทธคุณ พระอริยสาวกานุภาพ ตลอดทั้งไตรสิกขานุภาพ และทั้งเทพยดาผู้ติดตามรักษา พลางเพ่งสายตาจับอยู่ที่กองไฟมหึมา ที่กำลังลุกโชติช่วงสูงตระหง่าน ปานต้นไม้ไฟขนาดใหญ่ ส่งเสียงลุกฮือกระหึ่มคล้ายเสียงปิศาจร้าย คุกคามจะเอาชีวิตก็ปานนั้น หลวงพ่อกัสสปมุนีจึงระงับจิตรวมสงบเข้าสู่ ปฐมฌานเป็นบาทฐาน ออกจากปฐมฌานเข้าสู่อากาศสมาบัติ แล้วอธิษฐานจิตประมวลอากาศธาตุ เข้าตัดลำแสงไฟนั้นให้ลดวูบลงมาครึ่งหนึ่งในพริบตา

เพื่อทดลองกำลังจิตอิทธิของมหาฤาษีรามด๊าส จะไปถึงขั้นไหน เจตนาของหลวงพ่อ มิใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อรุกราน แต่ปฏิบัติครั้งนี้เพื่อการปะทะ และระงับความหลงผิดมิจฉาทิฐิ ของพวกมหาฤาษีเท่านั้นเอง เมื่อกระแสลำแสงไฟอันโชติช่วงสูงตระหง่านถูกบังคับให้ลดวูบลงมากึ่งหนึ่ง มหาฤาษีรามด๊าสทำอาการคล้ายสะดุ้งนิดหนึ่ง แต่ยังนั่งตัวตรงหลับตาอยู่ ปากภาวนามนตรามหาเวทอยู่ในลำคอไม่ขาดระยะ ร่างกายเบ่งพองขึ้นแสดงถึงการเร่งพลังจิตกำลังภายใน ตามลัทธิโยคีมุนีไพร ของตนอย่างเต็มที่ หลวงพ่อกัสสปมุนี จึงลองถอยอากาศสมาบัติออกเป็นช่องว่างดู ก็ปรากฏว่าลำแสงไฟได้พวยพลุ่งขึ้นฟ้าไปอีก ตามอิทธิพลังจิตสาธยายมนต์ของมหาฤาษีรามด๊าส ทำให้มหาฤาษีรามด๊าสมีสีหน้าปีติลิงโลดใจ จึงเร่งภาวนาใหญ่บังคับลำแสงไฟด้วยการโยกตัวไปมา ทำให้ลำแสงไฟแผ่กว้างโค้งวูบเข้ามาหาหลวงพ่อกัสสปมุนี เพื่อจะให้ไฟเผาผลาญร่างกาย แสงไฟใกล้เข้ามาห่างระยะประมาณหนึ่งวา หลวงพ่อกัสสปมุนีจึงบังคับ อากาศสมาบัติในฉับพลัน อากาศตัดลำแสงไฟของมหาฤาษีวูบวาบลงต่ำจนติดกองไฟ มีเปลวแสงนิดหน่อยเท่ากับไฟแลบก้นหม้อเท่านั้น ครั้นแล้วหลวงพ่อก็ประมวลสรุปอากาศสมาบัติกดประทับกองไฟ ให้ดับวูบมอดสนิทไปหมดสิ้น แม้แต่ควันก็จางหายไปด้วยในพริบตา

           มหาฤาษีรามด๊าส สะดุ้งเฮือกขึ้นสุดตัว ผงะแทบหงายหลังด้วยความตะลึงลานตื่นตระหนก หายใจดังฟืดฟาดกระหืดกระหอบ คล้ายวัวควายเหน็ดเหนื่อย ทำให้พวกสานุศิษย์ของมหาฤาษีทั้งหลาย ที่นั่งชุมนุมอยู่ที่นั้นโดยรอบ ต่างขยับเคลื่อนไหวกระสับกระส่าย ระคนเสียงถอนใจ และเสียงเคาะนิ้วกับพลาญหิน หลวงพ่อกัสสปมุนี คงนั่งนิ่งสงบดุษณีภาพ เพ่งมองหน้ามหาฤาษีรามด๊าสฉันท์เมตตาจิต มหาฤาษีรามด๊าส ถอนหายใจยาว ยิ้มแย้มออกมาอย่างนักพรตที่เข้าถึงธรรม ยกมือขึ้นนมัสการอย่างนอบน้อมแค่อก พลางเปล่งวาจาออกมาโดยปราศจากทิฐิมานะว่า “โอม นมัสเต กัสสปมุนี” หลวงพ่อกัสสปมุนี กล่าวตอบยิ้มแย้มว่า “ยีระเตโฮ้ รามด๊าส ยีระเตโฮ้” มหาฤาษีรามด๊าสผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองฤาษีเกษ ถอนใจยาว ลุกขึ้นก้าวเข้ามานั่งลงข้างๆ หลวงพ่อ พลางเอามือหนาใหญ่ของแกจับเข่าหลวงพ่อแสดงความเคารพนับถือ หลวงพ่อกัสสปมุนีตบหลังมือแกเบาๆ นัยน์ตาของมหาฤาษี เป็นประกายแจ่มใสปีติยินดี แม้แกจะอายุ ๗๘ ปี ชรามากแล้ว แต่นัยน์ตาก็ใสกระจ่าง และดูร่างกายแข็งแรงอยู่มาก แกหัวเราะอย่างบริสุทธิ์ใจ กล่าวถามว่า หลวงพ่อกัสสปพูดภาษาฮินดีได้มากไหม หลวงพ่อตอบว่าพูดได้บ้าง พอกระท่อนกระแท่นเท่านั้น แต่ภาษาอังกฤษใช้ได้ดี

มหาฤาษีรามด๊าสเปิดเผยว่า ตัวแกเมื่อสมัยหนุ่มจบการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งอังกฤษ แล้วก็เข้าทำงานเป็นข้าราชการกรมรถไฟอยู่นาน ครั้นต่อมาจึงได้ออกจากราชการมาปฏิบัติธรรม จากนั้นมหาฤาษีรามด๊าสได้นิมนต์หลวงพ่อให้กลับกุฏิ และบอกว่าพรุ่งนี้จะไปเยี่ยมคารวะ ครั้นรุ่งขึ้นวันต่อมา มหาฤาษีรามด๊าสก็เดินเข้าประตูรั้วมา ด้วยใบหน้าเบิกบาน ดังวาจาที่ได้พูดไว้จริงๆ รูปร่างของแกใหญ่อ้วนผึ่งผาย หนวดเคราดกงาม แต่วันนี้แกปล่อยผมยาวลงมาปรกหลัง ถือไม้เท้าท่อนโต เมื่อเชิญให้นั่งเรียบร้อยแล้วแกก็ถามว่า หลวงพ่อจะอยู่ที่เมืองฤาษีเกษนานสักเท่าใด หลวงพ่อกัสสปมุนีตอบไปว่า อย่างเร็วสองเดือน อย่างช้าก็สามเดือน ถ้าไม่รังเกียจ อยากให้ท่านมหาฤาษีรามด๊าส ช่วยแนะนำสอนภาษาฮินดีให้บ้าง เพื่อจะได้เป็นการสะดวกในการพูดจากับคนทั่วไป เพราะประชาชนคนอินเดียทั่วไป ไม่รู้ภาษาอังกฤษ มหาฤาษีรามด๊าสไม่ขัดข้อง ยินดีสอนให้ด้วยความเต็มใจ มหาฤาษีได้มาสอนภาษาฮินดีให้หลวงพ่อทุกวัน สอนเสร็จแล้วก็มักชวนกันไปนั่งฉันน้ำชาที่ร้านนายฤาษีราม โดยหลวงพ่อกัสสปมุนีเป็นเจ้ามือทุกวัน นายฤาษีรามทั้งแปลกใจ และดีใจมาก เพราะแกเองก็เคารพนับถือมหาฤาษีรามด๊าสไม่น้อยเหมือนกัน มหาฤาษีรามด๊าสเป็นมหาฤาษีผู้ใหญ่ ที่มีลูกศิษย์มากมาย ดังนั้น จึงไม่ยอมเป็นเพื่อนคบหา สนิทสนมกับใครง่ายๆ การที่มหาฤาษีรามด๊าส ยอมเคารพนับถือ หลวงพ่อกัสสปมุนี ทำให้บรรดาพวกนักพรตนิกายต่างๆ ในเมืองฤาษีเกษ มีความเคารพยำเกรง ในตัวหลวงพ่อกัสสปมุนีอย่างมาก
           เวลาเดินสวนทางกันตามถนน ต่างก็จะก้มศีรษะพนมมือคารวะ หลวงพ่อกัสสปมุนี และเปล่งคำว่า “โอม” ทุกคนไป ต่อมาก็ได้รู้จักสนิทสนมกับนักพรต โยคีฤาษี มากขึ้นทุกวัน เท่าที่จำได้ก็มีมหาฤาษี
ศิวานันทะ ฤาษีโกรกานันทะ นักพรตกมลาคีรี และอีกมากที่จำชื่อไม่ได้ ต่อมาในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๘ ประมาณ ๑๐ โมงเช้า มหาฤาษีรามด๊าสได้มาเยี่ยม และขออำลากลับกรุงเดลลี แล้วจะเลยขึ้นไปปัญจาบ และกัษมีระ ต่อจากนั้นแกก็เดินทางไปบำเพ็ญธรรมที่ไกรลาสคีรี แดนส่วนลึกของหิมพานต์ “ท่านกัสสป นับแต่เราได้วิสาสะกันมาตลอดเวลาเดือนเศษนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกรัก และเลื่อมใสในน้ำใจ ตลอดจนการปฏิบัติธรรมของท่านมาก สักเมื่อใดเราจะได้พบกันอีก เพราะไม่ช้าท่านเองก็จะกลับเมืองไทยแล้ว” มหาฤาษีรามด๊าสกล่าวอย่างซาบซึ้งตรึงใจ หลวงพ่อกัสสปมุนีรู้สึกซึ้งในน้ำใจของแก แม้จะต่างกันในลัทธิศาสนา และในการปฏิบัติธรรม แต่ในส่วนน้ำใจแล้วเหมือนกัน คือใฝ่สันติสงบสุข หลวงพ่อจึงได้ตอบไปว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกเช่นเดียวกะท่านมหาฤาษี เราคงจะไม่ได้พบกันอีกนาน หรืออาจไม่ได้พบกันเลย แต่อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของเราทั้งสอง ยังคงอยู่ตราบเท่าที่เรายังระลึกถึงกัน สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน เราอาจจะได้พบกันหรือไม่ได้พบกันก็ได้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้ท่านมหาฤาษีจงเดินทางไปด้วยความปลอดภัย และผาสุก”

มหาฤาษีรามด๊าส พนมมือรับพรแล้วพูดว่า “ข้าพเจ้าจะกระทำอย่างไร ในระหว่างการเดินทาง จึงจะเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย” “ท่านมหาฤาษีเองก็มีวิชชาอยู่กะตัว ไม่น่าจะถามข้าพเจ้าอย่างนั้นเลย” “ไม่ใช่อย่างนั้นท่านกัสสป ข้าพเจ้าหมายถึงความสบายภายใน ข้าพเจ้าใคร่จะขอฟังคำแนะนำจากท่าน” “ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟัง จงอย่ายึดมั่น อย่าเพลิดเพลินในสิ่งที่ได้พบเห็นใดๆ ทั้งสิ้นในโลกนี้ จงดับอารมณ์ความครุ่นคิดทั้งหลายให้หมดสิ้น ทำใจให้ผ่องแผ้ว นั่นแล ท่านจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางทุกประการ ” มหาฤาษีรามด๊าส หลับตาตั้งใจฟัง พลางผงกศีรษะอันขาวโพลนเนิบๆ ใบหน้ามีปีติอิ่มเอิบ แสดงว่ามีความเข้าใจในความหมายคำพูดของหลวงพ่อกัสสปมุนี อย่างซาบซึ้ง” ...

ขอขอบพระคุณที่มาจาก:http://www.praruttanatri.com/webboar...atipata&No=127
                                                                                   __________________
 

ออฟไลน์ ~@เสน่ห์เอ็ม@~

  • ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย พระคุณบิดามารดาผู้มีพระคุณ แล ครูบาอาจารย์ผู้เกื้อหนุน สาธุ..
  • เด็กวัด
  • *****
  • กระทู้: 5894
  • เพศ: ชาย
  • ศิษวัดบางพระ
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณพี่ธรรมมะรักโขมากครับ สำหรับบทความการบำเพ็ญภาวนาในเมืองฤาษี โยคี พระกัสสปมุณี

ได้ความรู้มากมาย ขอบคุณครับ

ออฟไลน์ nirutjif

  • ฉัฏฐะ
  • *
  • กระทู้: 120
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณมากๆๆๆครับ :054:

ออฟไลน์ ~เสน่ห์ack01~

  • ผู้คุมกฎ
  • *****
  • กระทู้: 5330
  • เพศ: ชาย
  • " ไม่เมาเหล้าแล้วเรายังเมารัก"
    • ดูรายละเอียด
ยาวแต่อ่านแล้วเพลินมากครับ ขอบคุณมากครับ :001:

ทำบุญ วันคล้ายวันเกิด หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ
วันอาทิตย์ ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕