ผู้เขียน หัวข้อ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค  (อ่าน 10082 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« เมื่อ: 16 มี.ค. 2554, 10:12:50 »
ความเป็นมาและโครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

ในคัมภีร์มหาวงส์กล่าวถึงประวัติ พระพุทธโฆสะ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ว่าท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ ใกล้กับเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดียฝ่ายใต้ ในวัยเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียน ศิลปวิทยา ตามธรรมเนียมของพราหมณ์ เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวทมาก ท่านได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ของอินเดีย เพื่อโต้ตอบเรื่องปรัชญากับนักปราชญ์ทั้งหลาย วันหนึ่งท่านได้พบกับพระเรวัตเถระที่วัดแห่งหนึ่ง หลังจากที่ไต่ถามปัญหาทางธรรมะ จึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และขอออกบวช ได้สมญานามว่า พุทธโฆสะ เพราะเสียงของท่านมีความลึกซึ้ง สื่อความหมายทางธรรมดุจดังพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้า

 

เมื่อบวชแล้วพระพุทธโฆสะได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย และอัตถสาลินี - อรรถกถาของธัมมสังคณี อันเป็นคัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก เมื่อท่านเริ่มเขียนอรรถกถาปริตร พระเรวัตแนะนำให้ท่านเดินทางไปประเทศลังกา เพื่อศึกษาภาษาสิงหลและคัมภีร์อรรถกถาที่ลังกา แล้วแปลอรรถกถาสิงหลออกเป็นภาษามคธ (บาลี) เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาสิงหล เพราะในอินเดียเวลานั้นมีแต่พระไตรปิฎก ไม่มีอรรถกถาเหมือนอย่างลังกา

 

พระพุทธโฆสะเดินทางไปประเทศลังกา ตรงกับช่วงรัชกาลของพระมหานาม พระพุทธโฆสะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านสังฆปาล ในสำนักของฝ่ายมหาวิหาร และขออนุญาตแปลอรรถกถาสิงหลเป็นภาษามคธ (บาลี) คณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารขอให้ท่านพิสูจน์ความสามารถด้วยการเขียนอธิบายขยายความคาถา 2 บท พระพุทธโฆสะอธิบายได้อย่างละเอียด มีเนื้อความครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า คือ กล่าวถึงเรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญา ผลงานนี้คือ

คัมภีร์วิสุทธิมรรค

คัมภีร์วิสุทธิมรรค จัดเป็นคัมภีร์สำคัญฝ่ายเถรวาทคัมภีร์หนึ่งในชั้นนวัฎฐกถา รจนาขึ้น เมื่อหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 956 ปี (ราวพุทธศตวรรษที่ 9) พระพุทธโฆสะอาศัยโบราณอรรถกถา 3 คัมภีร์ เป็นหลักใหญ่ในการแต่ง อรรถกถา 3 คัมภีร์ที่ว่านั้น คือ

1. มหาอรรถกถา เป็นคัมภีร์เดิมที่เคยผ่านการสังคายนาครั้งแรก อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธานมาแล้ว และถูกถ่ายทอดเป็นภาษาสิงหลเมื่อสังคายนาครั้งที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนายังนานาประเทศ

2. มหาปัจจรีอรรถกถา แต่งขึ้นที่ประเทศลังกา

3. กุรุณทีอรรถกถา แต่งขึ้นที่ประเทศลังกาเช่นกัน

อรรถกถาทั้ง 3 คัมภีร์นี้จารึกไว้เป็นภาษาสิงหล ใช้เป็นคัมภีร์หลักในการแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคดังกล่าว

 
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 16 มี.ค. 2554, 10:14:13 »
4.1.1 ความสำคัญของคัมภีร์วิสุทธิมรรค


อรรถกถาทั้งหลายในสมัยอนุราชปุระ ถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เป็นหลักในการเขียนอรรถกถา และคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันบรรจุในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลีประโยค ปธ.8 วิชาการแปลมคธเป็นไทยด้วย นับว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของพระพุทธโฆสะ ทำให้พุทธชนรุ่นหลังได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีนักวิชาการชาวต่างประเทศหลายท่านที่กล่าวถึงคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ อาทิ

R.C. Cnilders กล่าวยกย่องไว้ในคำนำของหนังสือ Pali English Dictionary ว่า คัมภีร์
วิสุทธิมรรคนี้เปรียบเหมือนสารานุกรมแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ใช้ภาษาที่สั้นและชัดเจน แสดงถึงความเข้าใจทั่วถึงในเรื่องที่แต่งอย่างน่าอัศจรรย์ (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : ง)

Dr. B.C.Law กล่าวไว้ในหนังสือ Buddhaghosa ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 1946 โดยให้ทัศนะว่าเป็นคัมภีร์ที่ให้ภาพรวมที่แสดงถึงระบบแห่งพระพุทธศาสนาทั้งหมด มิได้เพิ่มอะไรให้แก่ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่มุ่งหมายในการจัดสารบาญของพระไตรปิฎกให้เป็นระบบระเบียบ (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : จ)

Spence Hardy เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Buddhism กล่าวว่างานชิ้นนี้เสนอเนื้อหาส่วนที่เป็นคำสอนและอภิปรัชญาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ทั้งหลักฐานและความถูกต้อง (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : ช)

พระธรรมปิฎก (สากัจฉา วิมุตติมรรค, 21 ก.ย.38) มีความเห็นว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรค ให้ความรู้ที่เป็นฐานเพื่อก้าวลงสู่มหาสมุทรแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา มีจุดยืนที่การนำเสนอภาคปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน


4.1.2 โครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

 
พระพุทธโฆสะ เริ่มจับประเด็นตรงที่ว่า ปรารภเทพบุตรองค์หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ในคืนหนึ่งได้ทูลถามปัญหาเพื่อแก้ไขความสงสัยของตนว่า

“ธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นชัฏทั้งภายใน ชัฏทั้งภายนอก ประชาชนถูกชัฏ (นั้น) เกี่ยวสอดไว้แล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าขอทูลถามพระองค์ ใครเล่าจะพึงถางชัฏนี้ได้”

ด้วยพระทสพลญาณอันหาประมาณมิได้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ (แก้ปัญหา) แก่เทพบุตร ด้วยพระคาถาว่า

สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ

อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏฺเย ชฏํํ

นรชนผู้ฉลาด มีความเพียรเครื่องเผากิเลสอย่างต่อเนื่อง มีปัญหา คือ สัมปชัญญะ 4 (นับ) เป็นภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏะ (เมื่อ) ตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว อบรมจิต (สมาธิ) และปัญญาอยู่นรชนผู้นั้น จะพึงถางรกชัฏอันนี้ออกเสียได้

(สํ. ส. 15/20)

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 16 มี.ค. 2554, 10:16:28 »
จากพระคาถาที่ทรงพยากรณ์แก่เทพบุตรนี้ พระพุทธโฆสะได้นำมาเป็นบทตั้งในการรจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ขยายความบทกระทู้ดังกล่าว ว่าด้วยไตรสิกขาไว้อย่างพิสดาร นับว่าเป็นปกรณ์สำคัญปกรณ์หนึ่ง ที่ประมวลธรรมในคัมภีร์พระไตรปิฎก มาแสดงไว้เป็นหมวดหมู่โดยตั้งเป็นรูปคำถาม-คำตอบ แบ่งเป็น 3 ภาคใหญ่ ๆ ถือแนววิสุทธิ 7 ประการเป็นหลัก โดยขยาย

สีลวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่งต่างหาก เรียกว่า สีลนิเทศ แยกจิตวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่ง เรียกว่า สมาธินิเทศ และแยกปัญญาวิสุทธิทั้ง 5 มีทิฏฐิวิสุทธิ เป็นต้น ออกเป็นอีกนิเทศหนึ่ง เรียกว่า ปัญญานิเทศ รวมทั้งหมดแล้วมี 23 นิเทศ เนื้อหาใน 3 ภาคใหญ่ ๆ นั้น ได้แก่


ภาคแรกกล่าวถึงเรื่องศีล เริ่มตั้งแต่อธิบายว่า ศีลคืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร ศีลมีลักษณะ มีกิจ มีผลปรากฎ และมีอะไรเป็นเหตุใกล้ มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตอย่างไร มีกี่ชนิด มีอะไรเป็นอุปสรรค ควรรักษาศีลกันอย่างไร ตลอดจนกล่าวเฉพาะเรื่องการประพฤติปฏิบัติของผู้ถือบวชด้วย


ภาคที่ 2 กล่าวถึงเรื่องสมาธิ คล้ายกับเรื่องศีล คือ เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า สมาธิคืออะไร โดยความหมายอย่างไรจึงเรียกว่าสมาธิ มีกี่ชนิด อะไรเป็นอุปสรรคไม่ให้มีสมาธิ หรืออะไรทำให้สมาธิที่มีไม่พัฒนา อะไรคือวิธีเจริญสมาธิ ในเรื่องวิธีการเจริญสมาธินี้ได้กล่าวอย่างละเอียด เช่น เรื่องลักษณะสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เจริญสมาธิได้ดี การมีกัลยาณมิตรช่วยส่งเสริมแนะนำ ลักษณะจิตของผู้ที่ต้องการฝึกสมาธิและวิธีการเจริญที่เหมาะสมกับจริตแต่ละแบบ การเจริญสมาธิแบบ กสิณ ฌาน พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ มรณานุสสติ ฯลฯ การฝึกสมาธิแบบ อานาปานสติ รูปฌาน ประโยชน์ของการฝึกสมาธิอภิญญาจิต


ภาคที่ 3 กล่าวถึงเรื่องปัญญา เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่าปัญญา ลักษณะของปัญญา ชนิดของปัญญา วิธีการเจริญปัญญา ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาวความเป็นจริง ซึ่งจำเป็นต้องรู้อย่างชัดเจนเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น ได้แก่ การเข้าใจเรื่องชีวิตซึ่งเป็นเบญจขันธ์ คือ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ระดับของความเข้าใจเรื่องขันธ์ 5 ดังกล่าว อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจจ์ 4 ปฏิจจสมุปบาท วัฏจักรแห่งกรรมและผลแห่งกรรม กฎไตรลักษณ์ ลำดับขั้นแห่งปัญญา ตลอดจนประโยชน์ของการเจริญปัญญาและการหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง ฯลฯ


กล่าวโดยสรุป คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เป็นการรวบรวมเนื้อหาสาระเกี่ยวกับศีล สมาธิ ปัญญา และหมวดธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก มาอธิบายขยายความไว้อย่างเป็นระบบ ให้รายละเอียดในแง่มุมต่าง ๆ ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของธรรมที่พึงทราบเหล่านั้น ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ว่า ถ้าหากจะปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ความรู้เหล่านั้นมีหลักการอย่างไร จะต้องปฏิบัติอะไรก่อน และอะไรหลัง เป็นต้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มี.ค. 2554, 10:18:02 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 16 มี.ค. 2554, 10:21:15 »
4.2 แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับกรรมฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

 
คำว่า วิสุทธิ ในที่นี้ พระพุทธโฆสะหมายเอาพระนิพพานเท่านั้น พระนิพพานเป็นธรรมอันปราศจากมลทินทั้งปวง และมีความบริสุทธิ์แท้จริง วิสุทธิมรรคจึงหมายถึงทางสู่ความบริสุทธิ์ หรืออุบายที่เป็นเครื่องบรรลุ (พระนิพพาน)
ทางหรืออุบายที่ว่านี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้หลายนัยด้วยกัน เช่น

 
ในที่บางแห่ง พระองค์ทรงแสดงถึงธรรมที่บริสุทธิ์เนื่องเพราะกรรมไว้ว่า

“มัจจะทั้งหลายหมดจดได้ด้วยธรรม 5 ประการนี้ คือ กรรม วิชา ธรรม ศีล และอุดมชีวิต ไม่ใช่ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์”

(สํ. ส. 15/78)

บางแห่งพระองค์ทรงแสดงถึงธรรมที่บริสุทธิ์เนื่องเพราะศีล เช่น

“ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีปัญญา มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีตนอันส่งไปแล้วในกาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามโอฆะอันยากที่จะข้ามได้”

(สํ. ส. 15/74)

บางครั้งพระองค์ทรงแสดงธรรมที่บริสุทธิ์ได้เนื่องเพราะฌานและปัญญา เช่น

“ฌานย่อมไม่มีแต่ผู้หาปัญญามิได้ ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ใกล้พระนิพพาน”

(ขุ. จ. 25/65)

บางครั้ง พระองค์ก็ทรงแสดงถึงความบริสุทธิ์มีได้ด้วยวิปัสสนาอย่างเดียว เช่น

“เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นเขาย่อมหน่ายในทุกข์ นั่นคือ ทางแห่งวิสุทธิ”

(ขุ. ธ. 25/51)

และบางครั้ง พระองค์ก็แสดงว่าความบริสุทธิ์มีได้เนื่องด้วยสติปัฏฐาน เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย ทางที่ไปอันเอกนี้ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อวิสุทธิแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี้คืออะไร คือสติปัฏฐาน 4”

(ที. ม. 10/325)

 
เนื่องจากธรรมที่ให้ถึงความบริสุทธิ์ มีลักษณะการอธิบายได้อย่างหลากหลาย ทั้งต่างสถานที่ ต่างบุคคล ต่างสถานการณ์ ดังนั้น ทางหรืออุบายจึงมีต่างระดับกัน เพราะภูมิธรรมของบุคคลและจริตอัธยาศัยความชอบไม่เหมือนกัน อุบายหรือทางต่างระดับนี้ แต่ละระดับมีขีดความสามารถไปถึงจุดหมายไม่เท่ากัน ระดับต่ำเป็นพื้นฐานไปสู่ระดับสูง เมื่อใช้เส้นทางระดับต่ำจนสุดทางที่ระยะหนึ่งแล้ว จำเป็นต้องผ่านจุดเชื่อมทาง เพื่อไปใช้เส้นทางอีกระดับที่สูงกว่าไปได้ไกลกว่าแทน จึงจะถึงจุดหมายได้ เช่น

การบริจาคทาน รักษาศีล เป็นการเตรียมพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ เพราะทานและศีลเป็นที่มาของโภคทรัพย์ เวลาว่าง และสุขภาพดี เหตุที่มีความเชื่อมั่นและเรียนรู้ง่ายก็ด้วยอำนาจของสมาธิ ส่วนการสร้างความเห็นถูกในการดำรงชีวิตอย่างมีเหตุผลเป็นอานุภาพของปัญญา เป็นต้น

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 16 มี.ค. 2554, 10:30:15 »
พฤติกรรมต่างระดับของศีล สมาธิ และปัญญาจึงมีขีดความสามารถในหน้าที่ต่างกัน แต่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ความสมบูรณ์ไม่อาจเกิดจากการเจริญเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จากการไม่ขัดสนในโภคทรัพย์ ทำให้มีเวลาสำหรับการศึกษาค้นหาความจริง ทานและศีลจึงเป็นทางเชื่อมโยงไปสู่ความมีปัญญา แต่มิได้เป็นเหตุให้เกิดปัญญาโดยตรง เป็นต้น

 
เมื่อทางมีอยู่มากมาย และระยะทางก็ไม่เท่ากัน จุดเชื่อมทางจึงมีความสำคัญอยู่ที่การขยายขีดความสามารถในการเดินทางได้ไกลกว่า ชุมทางสุดท้ายที่เชื่อมทางร่วมต่างระดับอื่นๆ จนเหลือทางเอกทางเดียวก่อนถึงจุดหมาย ก็คือ สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง


สติปัฏฐาน 4 เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาโดยตรง ดังนั้น สติปัฏฐาน 4 จึงเปรียบเป็นทางเชื่อมสำคัญทางเดียวที่นำไปสู่ทางเอกสุดท้าย ทางเอกนั้นคือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะวิปัสสนากรรมฐานมีจุดหมายปลายทางแน่นอน คือ วิสุทธิเท่านั้น


เมื่อถึงที่หมายคือวิสุทธิแล้ว เป็นการสิ้นสุดการเดินทางท่องเที่ยวไปมาในวัฏฏะสงสาร กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิปัสสนากรรมฐาน มีสติปัฏฐานเป็นเหตุ และมีวิสุทธิเป็นผล ความบริสุทธิ์มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความเชื่อ หรือการอ้อนวอน แต่เกิดขึ้นด้วยการพิสูจน์หรือด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น


ขอบคุณที่มา
http://www.abhidhamonline.org/thesis/visudhi/vis1.htm

การพิสูจน์เหมือนวิทยาศาสตร์ :053:

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 16 มี.ค. 2554, 10:57:12 »
[แก้ไข]วิสุทธิมรรค ฉบับแปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) และคณะ

วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคศีล และ ภาคสมาธิ
นิทานกถา
วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคศีล
ปริเฉทที่ ๑ สีลนิเทศ
ปริเฉทที่ ๒ ธุตังคนิเทศ

วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคสมาธิ

ปริเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ
ปริเฉทที่ ๔ ปถวีกสิณนิเทศ
ปริเฉทที่ ๕ เสสกสิณนิเทศ
ปริเฉทที่ ๖ อสุภกัมมัฏฐานนิเทศ
ปริเฉทที่ ๗ ฉอนุสสตินิเทศ

วิสุทธิมรรค เล่ม ๒ ภาคสมาธิ
ปริเฉทที่ ๘ อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ
ปริเฉทที่ ๙ พรหมวิหารนิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๐ อารูปปนิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๑ สมาธินิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๒ อิทธิวิธนิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๓ อภิญญานิเทศ

วิสุทธิมรรค เล่ม ๓ ภาคปัญญา
ปริเฉทที่ ๑๔ ขันธนิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๕ อายตนธาตุนิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๖ อินทริยสัจจนิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๗ ปัญญาภูมินิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๘ ทิฎฐิวิสุทธินิเทศ
ปริเฉทที่ ๑๙ กังขาวิตรณวิสุทธินิเทศ
ปริเฉทที่ ๒๐ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ
ปริเฉทที่ ๒๑ ปฏิปทาญาณวิสุทธินิเทศ
ปริเฉทที่ ๒๒ ญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ
ปริเฉทที่ ๒๓ ปัญญาภาวนานิสังสนิเทศ
[แก้ไข]ดูเพิ่ม


วิสุทธิมรรค ฉบับแปลโดย มหามกุฏราชวิทยาลัย
วิสุทธิมรรค ฉบับแปลโดย มหาวงศ์ ชาญบาลี (พิมพ์โดย แม่พลอย โกกนุท)
http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มี.ค. 2554, 11:14:40 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 17 มี.ค. 2554, 11:17:00 »
ความเป็นมาเพิ่มเติม
---------------------
คัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้ บัณฑิตทั้งปวงพึงรู้ว่าพระคันถรจนาจารย์ ผู้มีนามปรากฏว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งได้จตุปฏิสัมภิทาญาณรู้แตกฉานชำนาญในพระไตรปิฎก ผู้มีปัญญาวิสารทะแกล้วกล้า ได้รจนาตกแต่งไว้ เพื่อให้ประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา
   จะกล่าวความอุบัติบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธโฆษาจารย์ เลือกคัดข้อความตามนิทานประวัติที่มีมาในคุมภีร์พุทธโฆสุปปัตติ แลคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์แต่โดยสังเขป

  มีความว่า พระผู้เป็นเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์พระองค์นี้ แต่ปุเรชาติปางก่อนได้บังเกิดเป็นเทพบุตร มีนามว่าโฆสเทวบุตร เสวยทิพยสมบัติอยู่ในดาวดึงส์เทวโลก

   ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๒๓๖ พรรษา นับตั้งแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาค เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระมหินทเถรเจ้าผู้เป็นองค์พระอรหันต์ผู้วิเศษ ได้ออกไปประดิษฐานพระปริยัติธรรมศาสนาไว้ในลังกาทวีป ครั้นล่วงกาลนานมาในภายหลังกุลบัตรในชมพูทวีปนี้ จะเรียนรู้พระปริยัติธรรมได้โดยยากในกาลใดในกาลนั้น จึงมีมหาเถระองค์หนึ่ง เป็นพระมหาขีณาสพ มีนามว่าพระธรรมโฆษาจารย์ อีกนามหนึ่งเรียกว่า พระเรวัตมหาวเถระเป็นผู้มีฤทธิ์ คิดจะบำรุงพระปริยัติศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาให้ถาวรรุ่งเรื่อง จึงเข้าสู่ฌานสมาบัติ สำแดงฤทธิ์ขึ้นไปปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์สมเด็จท้าวสักกะเทวราช ในดาวดึงส์พิภพ ขอให้อาราธนาโฆสเทวบุตร ผู้มีสมภารบารมีได้สร้างสมอบรมมาในสำนัก พระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนหลายพระองค์เป็นผู้มีไตรเหตุกปฏิสนธิปัญญาอันแก่กล้า ให้จุติลงมาบังเกิดในมนุษย์ ช่วยบำรุง พระปริยัติศาสนา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถาวรรุ่งเรืองสืบไป

   ครั้นในโฆสเทวบุตร รับอาราธนาสมเด็จท้าวเทวามินทรเทวราชแล้วก็จุติลงมาเกิดในครรภ์นางเกสินีพราหมณี ผู้เป็นภรรยาเกสิพราหม์ปุโรหิตาจารย์ ผู้รู้ชำนาญในไตรเพท อยู่ในบ้านโฆสคามเป็นที่ใกล้ต้นพระมหาโพธิ์ในพระนคร อันเป็นแว่นแคว้นแผ่นดินมัชฌิมประเทศ ในชมพูทวีป

  ขณะเมื่อทารกนั้นบังเกิด เสียงคนในบ้านตลอดถึงทาสกรรมกรเป็นต้น กล่าวคำมงคลแก่กันและกัน ดังแซ่ซ้องกึกก้องไป มารดาบิดาแลญาติญึงให้นามแก่ทารกนั้นว่า โฆสกุมาร เพราะเหตุเสียงกล่าวมงคลกถาอันดังกึกก้องนั้น

  ครั้นโฆสกุมารมีวัยวัฒนาการอายุได้ ๗ ขวบ ก็มีสติปัญญาสามารถเฉลียวฉลาดยิ่งนัก ได้เล่าเรียนรู้คัมภีร์ไตรเพทแตกฉานแต่ภายในอายุ ๗ ขวบ

  ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตบิดาโฆสกุมาร เป็นพระมหาราชครูผู้สั่งสอนไตรเวททางคศาสตร์ แด่สมเด็จบรมกษัตริย์ในพระนครนั้น แลได้พาบุตรเข้าไปในพระราชวังด้วยเป็นนิตย์

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: 17 มี.ค. 2554, 11:20:38 »

 ในเวลาวันหนึ่ง พราหมณ์ปุโรหิต บอกสอนไตรเพทแด่พระมหากษัตริย์ถึงบทคัมภีร์คัณฐี ในไตรเพทบทหนึ่ง ก็มีความสงสัยคิดอรรถาธิบายไม่ออกได้ จึงทูลลาพาบุตรกลับมาบ้าน คิดตรึกตรองอยู่เนือง ๆ ก็ยังไม่ลงเห็นอรรถาธิบายนั้นได้

   ฝ่ายโฆสกุมารรู้ว่า บิดาคิดอรรถาธิบายแห่งบทไตรเพทนั้นติดตัน จึงเขียนข้ออธิบายแห่งบทคัณฐีในเตรเพทลงไว้ในใบลาน ครั้นบิดาออกมาได้เห็นอักษร ก็เข้าใจในอรรถาธิบายนั้น แล้วรู้ว่าบุตรของตนมีปรีชาเชี่ยวชาญเลียวฉลาดยิ่งนัก มาเขียนอรรถาธิบายแห่งข้อสงสัยนั้นไว้ให้ ก็ชื่นชมดีใจหาที่สุดมิได้ จึงพาบุตรเข้าไปเฝ้าพระมหากษัตริย์กราบทูลประพฤติเหตุนั้น

  สมเด็จบรมขัตติยราชก็ทรงพระโสมนัส ชอบพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงสวมกอดเจ้าโฆสกุมารให้นั่งขึ้นนั่งเหนือพระเพลา จุมพิตศิรเกล้า แลมีพระราชดำรัสว่า แต่นี้ไปเจ้าจงเป็นบุตรบุญธรรมของเรา แลตรัสสรรเสริญปัญญาโฆสกุมารเป็นอันมาก

   ครั้นโฆสุกุมาร มีวัยวัฒนาการเจริญขึ้น ได้มาบรรพชาในสำนักพระธรรมโฆษาจารย์ ผู้เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยไตรปิฎก (เอามาเรเนว) ในประมาณเดือนเดียวเท่านั้นก็ได้สำเร็จรู้พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ทั้งสามปิฎก ครั้นได้อุปสมบทบวรเป็นภิกษุภาพในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็มีปัญญาวิสารทะแกล้วกล้า ได้สำเร็จจตุปฏิสัมภิทาญาณ รู้แตกฉานชำนาญในบาลีแลอรรถกถา แลนิรุติ บทวิคคหะแลปฏิภาณ การกล่าวโต้ตอบโดยคล่องแคล่ว พร้อมองค์แห่งปฏิสัมภิทาญาณทั้งสี่ มากิตติคุณสรรเสริญปัญญา เลื่องลือกึกก้องแผ่ไปในสกลชมพูทวีป จึงมีนามปรากฏว่า พระพุทธโฆสภิกษุ และพระพุทธโฆษาจารย์เปรียบปานดุจดังสมเด็จพระพุทธองค์ ยังทรงทรมานมีพระชนม์อยู่ ซึ่งมีพระกิตติศัพท์ แลพระกิตติคุณแผ่ฟุ้งเฟื่องไปในพื้นมหิดล หาที่สุดมิได้

   ครั้นอยู่มาถึงเวลาสมควร พระมหาเถระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์จึงมีเถรศาสน์สั่งสอนพระพุทธโฆษาจารย์ ให้ไปแปลพระพุทธวจนะปริยัติธรรมไตรปิฎกในลังกาทวีป ออกจากสีหฬภาษากลับขึ้นมาสู่มคธภาษามายังชมพูทวีป เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป

  ฝ่ายพระพุทธโฆษาจารย์ รับอุปัชฌาย์ศาสน์ จึงขอผลัดเวลาไปทรมานบิดาซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ ให้กลับเป็นสัมมาทิฏฐินับถือเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จนได้สำเร็จพระโสดาปัตติผลแล้ว พระผู้มีพระเป็นเจ้าก็กลับมานมัสการลาพระอุปัชฌาย์ ลงสู่สำเภากับด้วยพวกพาณิชสำเภาก็แล่นออกไปสู่มหาสมุทร ในขณะนั้น ด้วยเดชะวิสุทธิมรรคศีลาทิคุณ แลอำนาจบุญเจตนาของพระพุทธโฆษจารย์ ซึ่งตั้งจิตจะแปลพระปริยัติธรรม ช่วยบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไปนั้น เป็นบุญกิริยาวัตถมหากุศล บังเกิดเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์ ผลจึงมีเทวราชานุภาพของท้าวสักกะเทวราช แลพรหมานุภาพของพระพรหมผู้มีมหิทธิฤทธิ์ มาช่วยพิทักษ์รักษาสำเภาพระพุทธโฆษาจารย์ให้แล่นไปในมหาสมุทรโดยสวัสดี ไม่มีภัยอันตราย

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: 17 มี.ค. 2554, 11:23:32 »
 เมื่อสำเภาพระพุทธโฆษาจารย์แล่นไปได้ ๓ วัน ได้พบสำเภาพระพุทธทัตตเถระองค์หนึ่ง ซึ่งแล่นออกจากท่าลังกาทวีปาในมหาสมุทร พระเถระทั้ง ๒ ได้ออกมาปฏิสันถารไต่ถามถึงกิจต่อกัน ครั้นพระพุทธทัตตะทราบว่า พระพุทธโฆษาจารย์จะออกไปแปลพระปริยัติธรรมในลังกาทวีป ดังนั้น ก็ยินดีเลื่อมใสยิ่งนัก จึงแจ้งว่าท่านได้แปลพระปริยัติธรรมไว้ ๓ คัมภีร์ คือบาลีชินาลังกา ๑ บาลีทันตธาตุ ๑ บาลีพุทธวงศ์ ๑ แต่ยังหาได้รจนาคัมภีร์อรรถกถา แลคัมภีร์ฎกีกาไม่ จึงอาราธนาพระพุทธโฆษาจารย์ให้ช่วยตกแต่งคัมภีร์อรรถกถา แลคัมภีร์ฎีกาสำหรับบาลี ๓ คัมภีร์นั้น เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาสืบไป แล้วพระพุทธทัตตเถระ จึงถวายผลสมอเป็นยาฉันแก้โรค ๑ เหล็กจารมีด้าม ๑ ศิลาลับเหล็กจาร ๑ แก่พระพุทธโฆษาจารย์ สิ่งของทั้ง ๓ สิ่งนี้ สมเด็จท้าวสุชัมบดีเทวราชได้ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้ามาแต่ก่อน ในคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์กล่าวว่า สมเด็จท้าวสักกะเทวราชก็ได้ถวายผลหริตกี คือสมอไทยฉันเป็นยาแก้โรคกับเลขณี กับเหล็กจาร แก่พระพุทธโฆษาจารย์ดุจเดียวกัน ในวันที่พระผู้เป็นเจ้าลงสู่ท่าสำเภา ออกมาจากชมพูทวีปนั้น

   ครั้นแล้วสำเภาพระพุทธทัตตเถระ ก็แล่นเข้ามาสู่ชมพูทวีปนี้ สำเภาพระพุทธโฆษาจารย์ ก็แล่นออกไปถึงท่าที่จอดในลังกาทวีป

   ครั้นได้เวลาสมควร พระพุทธโฆษาจารย์ จึงไปสู่สำนักสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีผู้มีนามว่าพระสังฆบาล ผู้เป็นจอมสงฆ์ในลังกาทวีปซึ่งสถิตในมหาวิหาร นั่งอยู่เบื้องหลังศิษย์ผู้มาเรียนพระปริยัติธรรมในเวลานั้น สมเด็จพระสังฆราช บอกพระอภิธรรมแลพระวินัยแก่ศิษย์สงฆ์ ถึงบทคัณฐีพระอภิธรรมก็ไม่ได้เข้าใจความอธิบาย จึงส่งสงฆ์ศิษย์ทั้งหลายให้กลับไปก็เข้าสู่ห้องคิดตรึกตรองอรรถาธิบายในบทคัณฐีพระอภิธรรมนั้นอยู่

   ฝ่ายพระพุทธโฆษาจารย์รู้ว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่ทราบอรรถาธิบายในบทคัณฐีพระอภิธรรม จึงเขียนความอธิบายแลอรรถกถาลงไว้ในแผ่นกระดานใกล้อาศรมสมเด็จพระสังฆราช แล้วก็กลับมาสู่ที่อยู่

  ครั้นสมเด็จพระสังฆราชออกมาจากห้องได้เห็นอักษร ก็เข้าใจความอธิบายในบทคัณฐีพระอภิธรรมนั้น โดยแจ้งชัด จึงใช้คนปฏิบัติไปถามอาราธนาพระพุทธโฆษาจารย์มาไต่ถาม ครั้นได้ทราบความว่าพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นผู้บอกกล่าวสั่งสอนพระไตรปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์ไม่รับ จึงแจ้งกิจแห่งตนอันพระอุปัชฌาย์ส่งมาให้แปลพระปริยัติธรรมออกจากสีหฬสภาษา ขึ้นสู่มคธภาษา

   ฝ่ายสมเด็จพระสังฆราชก็มีความยินดียิ่งนัก รับคำว่า่สาธุดีแล้วจึงอาราธนาพระพุทธโฆษาจารย์ ให้รจนาตกแต่งคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคซึ่งเป็นยอดธรรมสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาค ให้ดูคัมภีร์หนึ่งเพื่อเห็นปัญญาสามารถก่อน

   ฝ่ายพระพุทธโฆษาจารย์ รับคำอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช แล้วจึงรจนาตกลงแต่งคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคซึ่งเป็นยอดธรรมสั่งสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาค ให้ดูคัมภีร์หนึ่งเพื่อเห็นปัญญาสามารถก่อน

   ฝ่ายพระพุทธโฆษาจารย์ รับคำอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช แล้วจึงรจนาตกลงแต่งคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคปกรณ์ ตั้งคาถาพระพุทธฎีกาว่า (สีเล ปติฏาย นโร สปญฺโญ)เป็นอาทิ ลงเป็นหลักสูตร จึงรจนาตกแต่งอรรถกถาได้โดยรวดเร็วยิ่งนัก ครั้นสำเร็จจบพระคัมภีร์แล้วก็ตั้งไว้ จึงจำวัดหลับไป พระคัมภีร์นั้นก็หายไป ด้วยสักกะเทวราชานุภาพ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: 17 มี.ค. 2554, 11:24:59 »

 ครั้นพระผู้เป็นเจ้าตื่นขึ้นไม่เห็นคัมภีร์ของตน ก็จารคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคขึ้นอีก เป็นคัมภีร์คำรบสองโดยรวดเร็วยิ่งนัก ด้วยแสงสว่างแห่งประทีป ครั้นสำเร็จแล้วก็วางคัมภีร์นั้นไว้ และจำวัดหลับไปอีก พระคัมภีร์นั้นก็หายไปด้วยเทวราชานุภาพแห่งท้าวสักกะเทวราชอีกเล่า

   ครั้นพระผู้เป็นเจ้าตื่นขึ้นไม่เห็นคัมภีร์เป็นคำรบสองนั้นแล้ว ก็รีบด่วนจารคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคขึ้นอีก เป็นคัมภีร์คำรบสาม ด้วยแสงประทีปอันสว่าง ครั้นจารเสร็จแล้ว จึงผูกคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคคำรบสามนั้นไว้กับจีวร

   พอเวลารุ่งเช้า พระผู้เป็นเจ้าตื่นขึ้น เห็นในพระคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคทั้งสองคัมภีร์ ที่พระผู้เป็นเจ้าได้รจนาและจารซึ่งหายไปนั้นอันท้าวสักกะเทวราชนำมาคืนให้ตั้งไว้ในที่ดังเก่า พระผู้เป็นเจ้าก็มีความโสมนัสชื่นชม

   ตามพระคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์กล่าวว่า ซึ่งสักกะเทวราชานุภาพบันดาลให้เป็นไปทั้งนี้ เพื่อให้เกิดบุญกิริยาวััตถุแก่มหาชน เพื่อได้ถวายใบลานใหม่ ให้พระผู้เป็นเจ้าจารพระวิสุทธิมรรคเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาได้หลายคัมภีร์

   แต่บัณฑิตทั้งปวงอนุมานว่า “ซึ่งสักกะเทวราชานุภาพให้เหตุเป็นไปทั้งนี้ เพื่อแสดงความสามารถแห่งปัญญาวิสารทะ แลวิริยะอุตสาหะของพระผู้เป็นเจ้าให้ปรากฏแก่ชนชาวลังกาทวีปทั่วไป”

   ครั้นแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจึงนำพระวิสุทธิมรรคทั้งสามพระคัมภีร์นั้นไปแจ้งเหตุต่อสมเด็จพระสังฆราช ๆ ก็มีความพิศวง จึงให้ชุมนุมสงฆ์ผู้รู้ชำนาญในพระปริยัติธรรม ช่วยตรวจสอนทานพระวิสุทธิมรรคทั้งสามคัมภีร์ ศัพท์อันมีนิบาตแลอุปสรรคเป็นต้น อันพระผู้เป็นเจ้าได้รจนาตกแต่งแลจารในบทใด ๆ ก็เสมอสมานกัน เป็นอันดีในบทนั้น ๆ ตั้งอยู่เหมืือนดังพระผู้เป็นเจ้าได้ตกแต่งแลจารไว้แต่แรกสิ้นทั้งสามคัมภีร์

   แลคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้มี ๒๓ ปริจเฉท

   ปริจเฉทเป็นปฐมนั้น ชื่อศีลนิเทศ แสดงด้วยศีลมีประเภทต่าง ๆ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๒ ชื่อธุงดงคนิเทศ แสดงด้วยธุดงควัตร ๑๓ ประการ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๓ ชื่อกัมมัฏฐานคหณนิเทศ แสดงด้วยวิธีเล่าเรียนพระสมถกรรมฐาน ๔๐ ประการ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๔ ชื่อปถวีกสิณนิเทศ แสดงด้วยปถวีกสิณเป็นต้นที่ ๑

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๕ ชื่อว่าอวเสสกสิณนิเทศ แสดงด้วยกสิณที่เหลือลง ๙ ประการ รวมกับปถวีกสิณเป็น ๑๐ ประการ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๖ ชื่ออศุภนิเทศ แสดงด้วยอศุภ ๙ ประการ

  ปริจเฉทเป็นคำรบ ๗ ชื่อฉานุสสตินิเทศ แสดงด้วยอนุสสติ ๖ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๘ ชื่อเสสานุสสตินิเทศ แสดงด้วยอนุสสติ ๔ ที่เหลือลงคือ มรณานุสสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปมานุสสติ รวมกับอนุสสติ ๖ จึงเป็นอนุสสติ ๑๐ ประการ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๙ ชื่อพรหมวิหารนิเทศ แสดงด้วยพรหมวิหารทั้ง ๔ คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๐ ชื่ออรูปนิเทศ แสดงด้วยอรูปสมาบัติ ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญายตนะสมาบัติ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๑ ชื่อสมาธินิเทศ แสดงด้วยสมาธิกับทั้งปฏิกูลสัญญาธาตุววัตถานนิเทศ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๒ ชื่ออิทธิวิธีนิเทศ แสดงด้วยฤทธิ์วิธีต่าง ๆ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: 17 มี.ค. 2554, 11:26:10 »


ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๓ ชื่ออภิญญานิเทศ แสดงด้วยอภิญญา ๕ มีทิพพโสต ทิพพจักษุ และเจโตปริยญาณ คือรู้วารจิตแห่งผู้อื่นเป็นต้น

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๔ ชื่อขันธนิเทศ แสดงด้วยปัญจขันธ์ และวิเศษนามแห่งขันธ์ต่าง ๆ

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๕ ชื่ออายตนธาตุนิเทศ แสดงด้วยอายตนะ ๒๑ และธาตุ ๑๘

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๖ ชื่ออินทรียสัจจนิเทศ แสดงด้วยอินทรีย์ ๒๒ และอริยสัจ ๔

  ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๗ ชื่อภูมินิเทศ แสดงด้วยธรรม ๖ คือขันธ์อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท อันเป็นภูมิภาพพื้นแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน

  ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๘ ชื่อวิสุทธินิเทศ แสดงด้วยความบริสุทธิ์แห่งทิฏฐิคือความเห็น

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๑๙ ชื่อกังขาวิตรณวิสุทธินิเทศ แสดงด้วยความบริสุทธิ์ที่ล่วงข้ามความกังขาสงสัยเสียได้

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๒๐ ชื่อมัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ แสดงด้วยความบริสุทธิ์ในการเห็นอริยมรรคด้วยญาณปัญญาว่า สิ่งนี้เป็นอริยมรรคสิ่งนี้มิใช่อริยมรรค

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๒๑ ชื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศแสดงด้วยความบริสุทธิ์ในการเห็นด้วยปัญญาว่า มรรคควรปฏิบัติสืบต่อขึ้นไป

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๒๒ ชื่อญาณทัสสนนิเทศ แสดงด้วยความบริสุทธิ์ในการเห็นอริยสัจและนิพพาน ด้วยปัญญาอันรู้เห็นจริงแจ้งชัด

   ปริจเฉทเป็นคำรบ ๒๓ ชื่อภาวนานิสังสนิเทศ แสดงด้วยอานิสงส์ผลแห่งการภาวนาในพระวิปัสนากัมมัฏฐาน รวมเป็น ๒๓ ปริจเฉทบริบูรณ์

   สมเด็จพระสังฆราชาธิบดี ได้เห็นคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค มีบทอันสม่ำเสมอกันเป็นอันดี ไม่มีวิปลาสคลาดเคลื่อนแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นแล้ว ก็บังเกิดโสมนัสยิ่งนัก จึงอนุญาตใ้ห้พระพุทธโฆษาจารย์แปลพระปริยัติธรรมจากสีหฬภาษาขึ้นสู่มคธภาษา และอนุญาตให้เสนาสนะที่อยู่ในโลหปราสาทชั้นเป็นปฐม เพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าทำกิจปริวรรตพระปริยัติได้โดยสะดวกดี ในคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์กล่าวว่า สมเด็จบรมกษัตริย์ผู้ทรงพระนามว่าพระเจ้ามหานามขัตติยราชผู้ครอบครองในลังกาทวีป ได้เสด็จมาด้วยราชบริพาร ตรัสปวารณาถวายภิกขาหาร บิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธโฆษาจารย์ จนตลอดเสร็จการปริวรรตพระปริยัติธรรม

   แต่นั้น พระพุทธโฆษาจารย์ก็ตั้งปณิธานวิริยะอุตสาหะแปลพระปริยัติธรรมพุทธวจนะ จากสีหฬภาษาขึ้นสู่มคธภาษา พร้อมทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกา และอนุฎีกา สิ้นไตรมาสก็สำเร็จการปริวรรต

   แต่ในคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์กล่าวว่า สิ้นสมพัตสรหนึ่งจึงสำเร็จ

   ฝ่ายสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นจอมสงฆ์ ก็ให้อนุโมทนาชื่นชมกล่าวคาถาสรรเสริญคุณของพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าเป็นอเนกปริยาย

   ครั้นการปริวรรตพระปริยัติธรรมสำเร็จแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์ ก็นมัสการลาสมเด็จพระสังฆราชาธิบดี และพระสงฆ์เถรานุเถระลงสู่สำเภากับด้วยพาณิช กลับเข้ามาสู่ชมพูทวีป นมัสการแจ้งเหตุแก่พระอุปัชฌาย์ให้ทราบสิ้นทุกประการ

   เรื่องนิทานประวัติแห่งพระพุทธโฆษาจารย์ มีพิสดารในคัมภีร์พุทธโฆสุปปัตติ และคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์ และในที่อื่นอีกต่าง ๆ ซึ่งเลือกคัดมากล่าวในอารัมภกถานี้แต่โดยย่อ พอประดับสติปัญญา และความศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชนเพียงเท่านี้

  อนึ่ง คัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้ แปลว่าเป็นพระคัมภีร์แสดงทางของธรรมอันบริสุทธิ์ คือพระอมตมหานิพพาน ตั้งแต่พระพุทธโฆษาจารย์ได้รจนาตกแต่งขึ้น ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่พระพุทธศาสนาทั้งในการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และการแสดงพระธรรมเทศนาเป็นที่ปลูกศรัทธาพุทธศาสนิกชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ให้ตั้งจิตบำเพ็ญรักษาศีลบริสุทธิ์ และเล่าเรียนพระสมถกัมมัฏฐาน และพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน แผ่ไพศาลรุ่งเรืองไปทั้งชมพูทวีปและลังกาทวีปหาที่สุดมิได้ สืบ ๆ มาจากปรัตยุบันกาลนี้

ที่มา
http://www.larnbuddhism.com/visut/1.1.html

ออฟไลน์ somboon matkeaw

  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 445
  • เพศ: ชาย
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล
ตอบ: คัมภีร์วิสุทธิมรรค
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: 17 มี.ค. 2554, 11:41:43 »
ขอขอบคุณครับท่าน สำหรับข้อมูลดีๆครับ :114: :114: :114: