ผู้เขียน หัวข้อ: ชายใดปรารถนาเป็นบุรุษทุก ๆ ชาติไป ก็พึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย  (อ่าน 1421 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ นายธรรมะ

  • ดีชั่วอยู่ที่ตัวทํา สูงต่ำอยู่ที่ทําตัว
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 615
  • เพศ: ชาย
  • เหนื่อย ได้แต่อย่า ท้อ
    • ดูรายละเอียด
ชายใดปรารถนาเป็นบุรุษทุก ๆ ชาติไป ก็พึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย


ศีลข้อ ๓ มีองค์ ๔ คือ

๑. คือชาย หรือหญิงที่มีเจ้าของ หรือมีผู้คุ้มครอง ดูแลรักษา
๒. จิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น
๓. พยายามที่จะเสพ
๔. ทำมรรคต่อมรรคให้ถึงกัน (อวัยวะสอดใส่)

ถ้าครบองค์ ๔ ที่วางไว้ ศีลข้อ ๓ นี้ก็ขาด ศีลข้อนี้ขึ้นอยู่กับเจตนา และคุณของผู้ถูกล่วงด้วย กล่าวคือ ถ้าจงใจมากโทษก็หนัก ถ้าจงใจน้อยโทษก็น้อย ถ้าผู้ถูกล่วงเป็นผู้มีศีลโทษก็หนัก

โทษของศีลข้อ ๓ นี้

อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย
อย่างเบาทำให้มีศัตรู คู่เวร เมื่อเกิดเป็นมนุษย์
(ในชาดกแสดงว่าทำให้เกิดเป็นกระเทย หรือเมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือมนุษย์แล้วต้องถูกตอน)

มหานารทกัสสปชาดก
มหานารทกัสสปชาดก - วิกิซอร์ซ



อรรถกถา มหานารทกัสสปชาดก
พระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี

ใจความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

แม้กระหม่อมฉันก็ระลึกชาติ ที่ตนท่องเที่ยวมาแล้วได้ ๗ ชาติ และระลึกชาติที่ตนจุติจากชาตินี้แล้ว จักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ ข้าแต่พระจอมประชาชน ชาติที่ ๗ ของกระหม่อมฉันในอดีต กระหม่อมฉันเกิดเป็นบุตรนายช่างทองในแคว้นมคธ ราชคฤห์มหานคร กระหม่อมฉันได้คบหาสหายผู้ลามก ทำบาปกรรมไว้มาก เที่ยวคบชู้ภรรยาของชายอื่น เหมือนจะไม่ตาย กรรมนั้นยังไม่ให้ผล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดไว้.

ในกาลต่อมา ด้วยกรรมอื่นๆ กระหม่อมฉันนั้นได้เกิดในวังสรัฐ เมืองโกสัมพี เป็นบุตรคนเดียว ในสกุลเศรษฐี ผู้สมบูรณ์มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมาย คนทั้งหลายสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์ ในชาตินั้น กระหม่อมฉันได้คบหาสมาคมมิตรสหายผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต เขาได้แนะนำให้กระหม่อมฉันรักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดราตรีเป็นอันมาก กรรมนั้นยังไม่ได้ให้ผล ดังขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ.

ครั้นภายหลัง บรรดากรรมทั้งหลาย ปรทารกกรรม อันใดที่กระหม่อมฉันได้กระทำไว้ ในมคธรัฐ ผลแห่งกรรมนั้นมาถึงกระหม่อมฉันแล้ว เหมือนดื่มยาพิษอันร้ายแรง ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากตระกูลเศรษฐีนั้นแล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรก สิ้นกาลนาน เพราะกรรมของตน กระหม่อมฉันได้ระลึกถึงทุกข์ที่ได้เสวยในนรกนั้น ไม่ได้ความสุขเลย กระหม่อมฉันยังทุกข์เป็นอันมาก ให้สิ้นไปในนรกนั้นนานปี แล้วเกิดเป็นลาถูกเขาตอน อยู่ในภิณณาคตนคร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตฺต ความว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม ชื่อว่า โลกนี้และโลกหน้า และผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีและทำชั่ว ย่อมมี แต่สงสารไม่สามารถจะชำระ สัตว์ทั้งหลายให้หมดจดได้ ด้วยว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจดด้วยกรรมเท่านั้น อลาตเสนาบดี และวีชกะผู้เป็นทาส ย่อมระลึกได้เพียงชาติเดียวเท่านั้น มิใช่แต่ท่านเหล่านั้นเท่านั้นที่ระลึกชาติได้ แม้กระหม่อมฉันก็ระลึกถึง ความที่ตนท่องเที่ยวในอดีตได้ถึง ๗ ชาติ ทั้งย่อมระลึกถึงชาติที่จะพึงไปจากนี้ แม้ในอนาคตถึง ๗ ชาติเหมือนกัน. บทว่า ยา เม สา ความว่า ชาติที่ ๗ ในอดีตของหม่อมฉันก็มีอยู่. บทว่า กมฺมารปุตฺโต ความว่า ในชาติที่ ๗ นั้นหม่อมฉันเกิดเป็นบุตรช่างทอง ในกรุงราชคฤห์ มคธรัฐ. บทว่า ปรทารสฺส เหเฐนฺตา ได้แก่ เบียดเบียนภรรยาของคนอื่น คือ ผิดในภัณฑะที่คนเหล่าอื่นรักษาคุ้มครองไว้. บทว่า อฏฺฐ เพราะกรรมชั่วนั้นที่หม่อมฉันทำในเวลานั้น ไม่ได้โอกาสได้ตั้งเก็บไว้ แต่เมื่อได้โอกาสจึงให้ผล เหมือนไฟอันเถ้าปิดไว้ฉะนั้น. บทว่า วํสภูมิยํ แปลว่า ในวังสรัฐ. บทว่า เอกปตฺโต ความว่า หม่อมฉันได้เป็นบุตรคนเดียว ในตระกูลเศรษฐี มีสมบัติถึง ๘๐ โกฏิ. บทว่า สาตเว รตํ ความว่า ยินดียิ่งในกัลยาณกรรม. บทว่า โส มํ ได้แก่ เขาได้เป็นสหาย ได้ชักนำหม่อมฉันให้ตั้งอยู่ในสิ่งเป็นประโยชน์ คือในกุศลกรรม. บทว่า ตํ กมฺมํ ความว่า กัลยาณกรรมของหม่อมฉันแม้นั้น ยังไม่ได้โอกาสในกาลนั้น ครั้นเมื่อได้โอกาสจึงให้ผล. บทว่า อุทกนฺติเก ความว่า ได้เป็นขุมทรัพย์ฝังไว้ในน้ำ บทว่า ยเมตํ ความว่า ลำดับในบรรดากรรมชั่ว มีประมาณเท่านี้ของหม่อมฉัน กรรมใดที่หม่อมฉัน กระทำแล้วในภรรยาของคนอื่น ในมคธรัฐ. ผลแห่งกรรมนั้นจึงติดตามมาถึงหม่อมฉัน. ถามว่า เหมือนอะไร? แก้ว่า เหมือนบุคคลบริโภคยาพิษ ฉะนั้น. อธิบายว่า กรรมนั้นย่อมถึงหม่อมฉัน เหมือนยาพิษที่ชั่วช้า กล้าแข็ง ร้ายกาจ กำเริบแก่บุคคลผู้บริโภค โภชนะอันมียาพิษ ฉะนั้น. บทว่า ตโต ได้แก่ จากตระกูลเศรษฐีในกรุงโกสัมพีนั้น. บทว่า ตํ สรํ ความว่า หม่อมฉัน เมื่อระลึกถึงทุกข์ที่หม่อมฉันเสวยในนรกนั้น ย่อมไม่ได้รับความสบายใจเลย หม่อมฉันย่อมเกิดแต่ความกลัวเท่านั้น. บทว่า ภินฺนาคเต ความว่า ในภินนาคตรัฐ หรือในนครชื่อว่า ภินนาคตะ. บทว่า อุทฺธตปฺผโล ได้แก่ พืชที่ถูกเขาตอน ก็แพะนั้นได้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง คนทั้งหลายแม้ขึ้นขี่หลังแพะ นำแพะนั้นไปเทียมแพะนั้น แม้ที่ยานน้อย.

พระนางรุจาราชธิดา เมื่อประกาศความนั้น จึงกล่าวว่า
กระหม่อมฉันพาลูกผู้ดีทั้งหลายไปด้วยหลังบ้าง ด้วยรถบ้าง นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือ การที่หม่อมฉันคบชู้กับภรรยาของคนอื่น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาตปุตฺตา ได้แก่ บุตรแห่งอำมาตย์ทั้งหลาย. บทว่า ตสฺส กมฺมสฺส ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ การที่หม่อมฉันหมกไหม้อยู่ในมหาโรรุวนรก และการที่หม่อมฉันถูกตอน ในกาลเป็นแพะ ทั้งหมดนั่นเป็นผลของกรรมนั้น คือ กรรมที่หม่อมฉันคบชู้กับภรรยาของคนอื่น.

ก็แล ครั้นหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลานั้นแล้ว ก็ถือปฏิสนธิในกำเนิดลิงในป่า ครั้นในวันที่หม่อมฉันเกิด พวกลิงเหล่านั้นนำหม่อมฉันไปแสดงแก่ลิงผู้เป็นนายฝูง ลิงผู้เป็นนายฝูงกล่าวว่า จงนำบุตรมาให้เรา ดังนี้แล้ว จับไว้มั่นแล้วกัดลูกอัณฑะของลิงนั้น ถึงจะร้องเท่าไรก็ไม่ปล่อย.
เมื่อพระนางรุจาราชธิดาประกาศความนั้น จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่พระชนกนาถผู้ปกครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติลานั้นแล้ว ก็ไปเป็นลิงอยู่ในป่าสูง ถูกลิงนายฝูงคนองปากขบกัดลูกอัณฑะ นั่นเป็นผลของการที่เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิลุจฺฉิตผโลเยว ความว่า หม่อมฉันถูกลิงนายฝูงคนองปากในป่านั้น ขบกัดลูกอัณฑะเอาทีเดียว.

เมื่อพระนางรุจาราชธิดาจะทรงแสดงชาติอื่นๆ จึงทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิงนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นโค ในทสันนรัฐ. ถูกเขาตอน มีกำลังแข็งแรง. กระหม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่สิ้นกาลนาน นั่นเป็นผลของกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น. ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว มาบังเกิดเป็นกระเทย ในตระกูลที่มีโภคสมบัติมาก ในแคว้นวัชชี. จะได้เกิดเป็นมนุษย์ยากจริงๆ. นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น.

ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกระเทยนั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นนางอัปสร ในนันทนวัน ณ ดาวดึงส์พิภพ มีวรรณะน่าใคร่ มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง เป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะ. ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ เมื่อกระหม่อมฉันอยู่ในดาวดึงส์พิภพนั้น ระลึกชาติแม้ในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ ที่กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว จักไปเกิดต่อไป.

กุศลที่กระหม่อมฉันทำไว้ ในเมืองโกสัมพี ตามมาให้ผล. กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์. ข้าแต่พระมหาราชา กระหม่อมฉันเป็นผู้อันชนทั้งหลาย สักการะแล้วเป็นนิตย์ ตลอด ๗ ชาติ. กระหม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐชาติที่ ๗ กระหม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย เป็นเทพบุตร ผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา. แม้วันนี้นางอัปสรทั้งหลายก็ยังร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัย อยู่ในนันทนวัน. เทพบุตรนามว่า ชวะ สามีกระหม่อมฉัน ยังรับพวงมาลัยอยู่.

๑๖ ปีในมนุษย์นี้ราวครู่หนึ่งของเทวดา. ๑๐๐ ปีในมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา. ดังที่ได้กราบทูลให้ทรงทราบมานี้ กรรมทั้งหลายย่อมติดตามไปทุกๆ ชาติ. แม้ตั้งอสงไขย ด้วยว่ากรรมจะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่วก็ตาม (ยังไม่ให้ผลแล้ว) ย่อมไม่พินาศไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสนฺเนสุ แปลว่า ในทสันนรัฐ. บทว่า ปสุ แปลว่า เป็นโค. บทว่า อหุ แก้เป็น อโหสิ แปลว่า ได้เป็นแล้ว. บทว่า นิลุจฺฉิโต ความว่า ในกาลที่หม่อมฉันเป็นลูกโคนั้นเอง พวกเขาได้ตอนพืชของหม่อมฉัน ด้วยคิดว่าจักเป็นที่ชอบใจ ด้วยประการฉะนี้. หม่อมฉันนั้นถูกเขาตอนแล้ว คือเป็นเหมือนคนมีกำลังดีถูกถอนพืช ฉะนั้น. บทว่า วชฺชีสุ กุลมาคโต นี้พระนางรุจาราชธิดาแสดงว่า หม่อมฉันจุติจากกำเนิดโคแล้ว บังเกิดในตระกูลคนผู้มีโภคะมากตระกูลหนึ่งในแคว้นวัชชี. ด้วยบทว่า เนวิตฺถี น ปุมา นี้ท่านกล่าวหมายถึงกระเทย. ภวเน ตาวตึสาหํ ความว่า หม่อมฉันเกิดในภพดาวดึงส์.

บทว่า ตตฺถ ิตาหํ เวเทห สรามิ ชาติโย อิมา ความว่า ได้ยินว่า พระนางรุจานั้นอยู่ในเทวโลกนั้นตรวจดูอยู่ว่า เรามาสู่เทวโลกเห็นปานนี้ มาจากไหนหนอ? เห็นแล้วซึ่งความเกิดในเทวโลกนั้น เพราะจุติจากความเป็นกระเทย ในตระกูลที่มีโภคะมาก ในแคว้นวัชชี. จากนั้น พระนางรุจาราชธิดาตรวจดูว่า เพราะกรรมอะไรหนอ เราจึงบังเกิดในที่อันน่ารื่นรมย์เช่นนี้. เห็นแล้วซึ่งกุศลมีทาน ที่ตนทำแล้วเป็นต้น ทำให้บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงโกสัมพี. ตรวจดูว่า เราบังเกิดในอัตภาพเป็นกระเทย ในภพอดีตเป็นลำดับ มาแต่ที่ไหน. ดังนี้ ได้รู้แล้วว่า ตนเคยเสวยทุกข์ใหญ่ ในกำเนิดโค ในทสันนรัฐ. เมื่อหวลระลึกถึงชาติต่อจากนั้น ได้เห็นตนถูกตอน ในกำเนิดลิง. เมื่อหวลระลึกชาติถัดจากนั้น จึงหวลระลึกถึงภาวะที่ตนถูกตอนพืชในกำเนิดแพะ ในภินนาคตะรัฐ. เมื่อหวลระลึกถัดจากชาตินั้น ได้ระลึกถึงภาวะที่ตนบังเกิดในโรรุวนรก.

ลำดับนั้น เมื่อพระนางรุจาราชธิดาระลึกถึง ภาวะที่ตนหมกไหม้ในนรก และทุกข์ที่ตนเสวยในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ความกลัวจึงเกิดขึ้น. ลำดับนั้น พระนางรุจาราชธิดา เมื่อหวลระลึกถึงชาติที่ ๖ ว่า เราเสวยทุกข์เห็นปานนี้ เพราะกรรมอะไรหนอ. จึงเห็นกัลยาณกรรมที่ตนกระทำ ในกรุงโกสัมพีในชาตินั้น. แล้วทรงตรวจดู ชาติที่ ๗ ได้เห็นกรรมคือ การคบชู้กับภรรยาคนอื่นที่ตนทำ เพราะอาศัยมิตรชั่ว ในมคธรัฐ. จึงได้รู้ว่า เราเสวยทุกข์ใหญ่นั้น เพราะผลแห่งกรรมนั้น.

ลำดับนั้น พระนางจึงตรวจดูว่า เราจุติจากชาตินี้แล้ว จักบังเกิดในภพไหนในอนาคต. ได้รู้ว่า เราจักบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกเทวราชนั่นแลอีก ดำรงอยู่ตลอดชีวิต. เมื่อพระนางได้ตรวจดูบ่อยๆ อย่างนี้. ได้ทราบว่าในอัตภาพที่ ๓ จักบังเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกเทวราชนั่นแล. ส่วนชาติที่ ๔ และที่ ๕ ก็เหมือนกัน. รู้ว่าเราจักบังเกิดเป็นอัครมเหสีของชวนะเทพบุตร ในเทวโลกนั้นนั่นเอง แล้วตรวจดูถัดจากชาตินั้นไป. รู้ว่าในอัตภาพที่ ๖ เราจุติจากภพดาวดึงส์นี้แล้ว จักบังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี ของพระเจ้าอังคติราช. เราจักมีนามว่า รุจา ดังนี้. จึงตรวจดูว่า ถัดจากชาตินั้นจักบังเกิด ณ ที่ไหน. รู้ว่าในชาติที่ ๗ จุติจากชาตินั้นแล้ว จักบังเกิดเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก ในภพดาวดึงส์. จักพ้นจากความเป็นหญิง. เพราะเหตุนั้น พระนางรุจาราชธิดาจึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงครอบครองวิเทหรัฐ หม่อมฉันอยู่ที่นั้นระลึกชาติได้ ๗ ชาติ. แม้ในอนาคตจุติจากชาตินี้ไปก็ระลึกได้ ๗ ชาติเหมือนกัน.

บทว่า ปริยาคตํ ความว่าโดยปริยาย ท่องเที่ยวไปมาตามวาระของตน. บทว่า สตฺต ชจฺจา ความว่า พระนางตรัสว่า ๗ ชาติ คือในเทวโลก ๕ ชาติกับชาติที่เป็นกระเทยในแคว้นวัชชี. และในชาติที่ ๖ นี้ พระนางทรงแสดงไว้ว่า หม่อมฉันเป็นผู้อันเขาบูชาสักการะ เป็นนิตย์ตลอด ๗ ชาตินั้น. บทว่า ฉฏฺา ว คติโย นี้ พระนางกล่าวว่า เราจักไม่พ้น ความเป็นหญิง ตลอด ๖ คติเหล่านี้ คือในเทวโลก ๕ คติ และในชาตินี้ ๑ คติ. บทว่า สตฺตมี จ ความว่า จุติต่อจากนั้นแล้ว เป็นชาติที่ ๗. บทว่า สนฺตานมยํ ความว่า มีความสืบต่อที่ตนทำ ด้วยอำนาจขั้วเดียวกันเป็นต้น. บทว่า คนฺเถนฺติ ความว่า เป็นเหมือนสืบต่อด้วยกัน. เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ทุกวันนี้นางบำเรอของเรา ก็ไม่รู้ความจุติของเราในนันทนวัน ย่อมร้อยพวงมาลัย เพื่อประโยชน์แก่เราเท่านั้น. บทว่า โส เม มาลํ ปฏิจฺฉติ ความว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า โดยชาติอันเป็นลำดับ เทพบุตรนามว่าชวะ ผู้เป็นสวามีของหม่อมฉัน ย่อมรับพวงดอกไม้ที่หล่นจากต้น.

บทว่า โสฬส ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ว่าโดยชาติของหม่อมฉันจนบัดนี้ได้ ๑๖ ปี. แต่กาลประมาณเท่านี้ เหมือนกับกาลครู่หนึ่งของเทวดา ก็เพราะเหตุนั้นหญิงบำเรอเหล่านั้น จึงไม่รู้แม้ถึงการจุติของหม่อมฉัน ยังคงร้อยพวงมาลัย เพื่อหม่อมฉันอยู่เชียว. บทว่า มานุสึ ความว่า อาศัยการนับปีของมนุษย์. บทว่า สรโทสตํ ความว่า เป็น ๑๐๐ ปี (ของมนุษย์) เทวดาทั้งหลายมีอายุยืนอย่างนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ด้วยเหตุนี้ ขอพระองค์จงทรงทราบปรโลก กรรมดีและกรรมชั่วว่ามีอยู่. บทว่า อนฺเวนฺติ ความว่า กรรมดีและกรรมชั่ว ย่อมติดตามเราไปทุกๆ ชาติอย่างนี้. บทว่า น หิ กมฺมํ วินสฺสติ ความว่า ทิฏฐเวทนียกรรม ย่อมให้ผลในอัตภาพนั้นนั่นเอง. อุปปัชชเวทนียกรรม ย่อมให้ผลในอัตภาพถัดไป ส่วนอปราปรเวทนียกรรมไม่ให้ผล จักไม่พินาศไป. พระนางรุจาราชธิดาทรงหมายเอา อปราปรเวทนีกรรมนั้น. จึงตรัสว่า กรรมจักไม่พินาศไปแล. ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เพราะผลแห่งกรรมที่หม่อมฉันทำชู้กับภรรยาของคนอื่น. หม่อมฉันจึงหมกไหม้ในนรก แล้วเสวยทุกข์อย่างใหญ่ ในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน. ถ้าแม้บัดนี้ พระองค์ทรงเชื่อถ้อยคำของคุณาชีวก จักกระทำอย่างนี้. พระองค์ก็จักเสวยทุกข์ เหมือนที่หม่อมฉันเสวยแล้ว นั่นแล. เพราะเหตุนั้น พระองค์อย่าได้ทรงกระทำอย่างนั้นเลย.

ลำดับนั้น พระนางรุจาราชธิดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไปแก่พระราชบิดานั้น จึงตรัสว่า
ชายใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆ ชาติไป ก็พึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย เหมือนบุคคลล้างเท้าสะอาด. แล้วเว้นจากเปือกตม ฉะนั้น.
หญิงใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆชาติไป ก็พึงยำเกรงสามี เหมือนนางเทพอัปสร ผู้เป็นบาทบริจาริกายำเกรงพระอินทร์ ฉะนั้น.
ผู้ใดปรารถนา โภคทรัพย์ อายุ ยศและสุขอันเป็นทิพย์ ก็พึงเว้นบาปทั้งหลาย ประพฤติแต่สุจริตธรรม ๓ อย่าง. สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม ควรเป็นผู้ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ มีปัญญาเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน.
นรชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่เป็นคนมียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง. นรชนเหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ ในปางก่อนแล้วโดยไม่ต้องสงสัย. สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของตัว.

ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริด้วยพระองค์เองเถิด. ข้าแต่พระจอมชน พระสนม (ผู้ทรงโฉมงดงาม) ปานดังนางเทพอัปสร ผู้ประดับประดา คลุมกายด้วยตาข่ายทอง เหล่านี้. พระองค์ทรงได้มา เพราะผลแห่งกรรมอะไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โหตุ แปลว่า เพื่อเป็น. บทว่า สพฺพสมนฺตโภคา แปลว่า มีโภคะทุกอย่างบริบูรณ์. บทว่า สุจิณฺณํ ได้แก่ สั่งสมไว้ด้วยดี คือกระทำกัลยาณกรรม. บทว่า กมฺมสฺสกา เส ความว่า มีกรรมเป็นของแห่งตน คือเสวยผลของกรรมที่ตนทำนั่นเอง. ไม่ใช่กรรมที่มารดาบิดาทำแล้ว ให้ผลแก่บุตรธิดา. ไม่ใช่กรรมที่บุตรธิดาเหล่านั้นทำแล้ว ให้ผลแก่มารดาบิดา. กรรมที่คนนอกนั้นกระทำ จะให้ผลแก่คนนอกนั้นอย่างไร? ศัพท์ว่า อิงฺฆ เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า ประท้วง. บทว่า อนุจินฺเตสิ แปลว่า พึงคิดบ่อยๆ. บทว่า ยา เม อิมา ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ อันดับแรกพึงคิด ด้วยตนเองดังนี้ว่า หญิงที่บำรุงบำเรอพระองค์ ๑,๖๐๐ นางนี้นั้น พระองค์นอนหลับได้ หรือได้มาเพราะกระทำการปล้นในหนทาง หรือตัดช่องย่องเบาเป็นต้นได้มา หรือได้มาเพราะอาศัยกัลยาณกรรมเป็นต้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความนั้น จึงตรัสว่า
พระนางรุจาราชกัญญายังพระเจ้าอังคติราชชนกนาถ ให้ทรงยินดี พระราชกุมารีผู้มีวัตรอันดีงาม กราบทูลทางสุคติแก่พระชนกนาถ ประหนึ่งบอกทางให้แก่คนหลงทาง และได้กราบทูลข้อธรรมถวาย โดยนัยต่างๆ ด้วยประการฉะนี้แล.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺเจวํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชกัญญานั้น ทรงยังพระราชบิดา ให้ทรงยินดีด้วยถ้อยคำ อันไพเราะเห็นปานนี้ ด้วยประการฉะนี้. ทูลบอกทางสุคติแด่พระชนกนาถนั้น เหมือนคนบอกหนทางแก่คนหลงทาง ฉะนั้น. และเมื่อจะทรงกล่าวธรรมแก่พระชนกนาถ นั่นแหละได้ ทรงกล่าวสุจริตธรรมด้วยนัยต่างๆ. บทว่า สุพฺพตา แปลว่า ผู้มีวัตรอันดีงาม.

พระนางรุจาราชธิดาได้ทูลเล่าถึงชาติที่ตนเกิดมาแล้วในอดีต และแสดงธรรมถวายแด่พระชนกนาถ ตั้งแต่เช้าตลอดคืนยังรุ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์อย่าทรงถือถ้อยคำของคนเปลือยกาย ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลย โลกนี้มี โลกหน้ามี สมณพราหมณ์มี ผลของความดีความชั่วก็มี ขอพระองค์จงทรงเชื่อฟังคำของกัลยาณมิตร เช่นกระหม่อมฉันกล่าวนี้เถิด อย่าได้ทรงแล่นไป ในที่มิใช่ท่าเลย แม้เมื่อพระนางรุจาราชธิดา กราบทูลถึงอย่างนี้ ก็ไม่อาจปลดเปลื้องพระชนกจากมิจฉาทิฏฐิได้ ส่วนพระเจ้าอังคติราชทรงสดับวาจาอันไพเราะของพระราชธิดานั้นแล้ว ทรงปลื้มพระราชหฤทัย. จริงอยู่ มารดาบิดาย่อมรักเอ็นดูถ้อยคำของบุตรที่รัก แต่คำพูดนั้นหาทำให้บิดาละมิจฉาทิฏฐิได้ไม่ แม้ชาวพระนคร ก็ลือกระฉ่อนกันว่า พระนางรุจาราชธิดาทรงแสดงธรรม หวังจะให้พระชนกละมิจฉาทิฏฐิ มหาชนพากันดีใจว่า พระราชธิดาเป็นบัณฑิต ปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระชนกได้แล้ว จักถึงความสวัสดีแก่ชาวพระนครทั้งหลาย.

พระนางรุจาราชธิดา เมื่อไม่อาจปลุกพระชนกให้ตื่นได้ ก็ไม่ทรงละความพยายามเลย ทรงดำริหาช่องทางต่อไปว่า จักหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง มากระทำความสวัสดีแก่พระชนก แล้วประคองอัญชลีกรรมขึ้นเหนือพระเศียร นมัสการทิศทั้ง ๑๐ แล้วทรงอธิษฐานว่า ในโลกนี้ย่อมมีสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีท้าวโลกบาล ท้าวมหาพรหมเป็นผู้บริหารโลก ข้าพเจ้าขอเชิญท่านเหล่านั้นมาปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิของพระชนกนาถของข้าพเจ้า ด้วยกำลังตน เมื่อพระคุณของพระชนกนาถไม่มี ขอเชิญด้วยคุณด้วยกำลัง และด้วยความสัจของข้าพเจ้า จงมาช่วยปลดเปลื้องความเห็นผิดนี้ จงได้มาทำความสวัสดีแก่สากลโลก.

ขอขอบคุณ www.84000.org

นายธรรมะ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก เว็บบอร์ดพลังจิตด้วยครับ
[shake]ศรัทธา ไม่ใช่ ไสยศาสตร์ ศรัทธา เพื่อ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีความ ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมเกิด ปาฏิหาริย์[/shake]

ออฟไลน์ arada

  • เรียนๆ รักๆ ปากกาถูกลัก ไม่พักเรียน
  • สัตตมะ
  • **
  • กระทู้: 1111
  • เพศ: ชาย
    • MSN Messenger - nuk_b@hotmail.com
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดีๆที่นำมาแบ่งปันเพื่อเป็นแง่คิดในการดำเนินชีวิต
ธรณีนี่นี้             เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์    หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร     เราชอบ

เรา บ่ ผิดท่านมล้าง    ดาบนั้นคืนสนอง