ผู้เขียน หัวข้อ: "ตะกรุดใบลาน ๓ ห่วง" วัตถุมงคลชิ้นแรกที่หลวงพ่อ....สร้างไว้  (อ่าน 5343 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)

  • *โปรดระวัง - สีลัพพตปรามาส, ๗ เดือน ๑๙ วันจะเก็บแต่ความทรงจำที่ดีๆไว้, ตถตา (เช่นนั้นเอง).
  • ...
  • *****
  • กระทู้: 6436
  • เพศ: ชาย
  • ผู้สอนคือผู้ลวง? ผู้เรียนคือผู้หัดที่จะลวง?
    • ดูรายละเอียด
    • เฟสบุ๊ควัดบางพระ (หลวงพ่อเปิ่น)
        เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗) จะด้วยความบังเอิญหรือจังหวะของกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่พัดพามาบรรจบกันก็ตามที ทำให้ผมได้เจอ “ตะกรุดใบลาน ๓ ห่วง” ที่หลวงพ่อท่านสร้างไว้ เป็นครั้งแรก และเพื่อยืนยันว่าตะกรุดที่เจอมานี้ใช่ของที่หลวงพ่อท่านสร้างไว้จริงๆ ผมจึงนำตะกรุดดอกนี้ไปขอความเมตตาหลวงพ่อให้ท่านช่วยพิจารณาให้อีกทีว่าใช่หรือไม่


ตะกรุดใบลาน ๓ ห่วง

        เมื่อส่งตะกรุดให้หลวงพ่อท่านดู ปรากฏว่าท่านจับดูพลิกไปพลิกมาสักครู่หนึ่ง ก่อนจะพูดขึ้นมาว่า.. “ของที่กูทำไว้ตั้งแต่อยู่ใต้ศาลานี่หว่า มึงไปหามาจากไหนวะ” สิ้นเสียงของหลวงพ่อผมก็ได้แต่ยิ้ม นึกดีใจว่าใช่ตะกรุดที่หลวงพ่อท่านเคยสร้างไว้อย่างแน่นอน

        หลังจากนั้นอีกประมาณสองสามวัน ระหว่างที่แวะมาช่วยงานท่าน ผมก็ได้โอกาสกราบเรียนสอบถามท่านถึงประวัติการสร้าง หลวงพ่อท่านก็เมตตาเล่าให้ฟัง จึงได้นำรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังดังนี้..

        ตะกรุดชุดนี้ท่านทำไว้ตอนที่ท่านยังอยู่กุฏิใต้ศาลาการเปรียญ (ประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๒๓) สมัยนั้นหลวงพ่อเปิ่นท่านยังอยู่ที่กุฏิริมน้ำ ส่วนตัวท่านเองมีหน้าที่ตรวจตราข้าวของเครื่องใช้ของวัดที่ห้องเก็บของ (ใต้ศาลาการเปรียญในปัจจุบัน) ใครจะมายืมของวัดเพื่อไปใช้ในงานต่างๆ ท่านก็จะคอยอำนวยความสะดวกให้ ทั้งการยืม-คืน ทำความสะอาด ตรวจนับสิ่งของว่าครบถ้วนหรือไม่ เป็นต้น



ภาพหลวงพ่อตอนที่อยู่กุฏิใต้ศาลาการเปรียญวัดบางพระ

        ใบลานที่นำมาทำตะกรุดนี้ หลวงพ่อท่านเล่าว่าเป็นใบลานเก่าที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยหลวงปู่หิ่ม ในใบลานมีอักษรขอมจารึกไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (ใบลานบางใบท่านลองอ่านดูปรากฏว่าจารึกพระปาฏิโมกข์ไว้) ท่านจึงนำใบลานนั้นมาตัดแบ่ง จากนั้นจึงหาผ้ามาตัดให้ขนาดพอดีกับใบลานที่ตัดไว้ โดยท่านเองได้เขียนบนผ้าด้วย “ยันต์ลงตะกรุดโทน” ตามตำราที่ท่านเรียนกับหลวงพ่อเปิ่นมา เมื่อเขียนยันต์ลงบนผ้าเรียบร้อยแล้ว ก็นำใบลานมาม้วนคู่กับผ้ายันต์ จากนั้นก็หาเชือกมามัดใบลานกับผ้ายันต์ไว้เพื่อรอถักเชือกต่อไป (เชือกที่นำมาใช้ถักมี ๒ สี คือสีเขียวและสีเทา ซึ่งหลวงพ่อท่านถักตะกรุดด้วยตัวของท่านเอง โดยถักเป็นลักษณะตะกรุด ๓ ห่วง เอกลักษณ์จุดสังเกตของตะกรุดชุดนี้คือแทบทุกดอกจะต้องมีรอยต่อเชือก และขนาดของตะกรุดจะไม่เสมอกันทั้งดอกจะใหญ่ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการม้วนใบลานและผ้ายันต์ที่ไม่เสมอกันทำให้เล็กข้างใหญ่ข้าง) หลังจากที่ถักเชือกตะกรุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้นำตะกรุดมาใส่ถาดเตรียมปลุกเสก (ซึ่งตะกรุดชุดนี้ท่านได้ปลุกเสกเดี่ยวด้วยตัวท่านเองภายในกุฏิ เป็นเวลา ๑ พรรษา)


ยันต์ลงตะกรุดโทนที่หลวงพ่อท่านใช้เขียนทำตะกรุดใบลาน ๓ ห่วง

*ผ้าที่ท่านนำมาใช้เขียนยันต์นั้น ท่านให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ว่ามีผ้า ๓ สี ๓ ชนิดคละกันไป ดังนี้

๑.ผ้าสีขาว เป็นผ้าห่อศพบ้าง เป็นผ้าคลุมโลงศพบ้าง (ผ้าขาวบางผืนที่ได้มายังมีคราบน้ำเหลืองน้ำเลือดจากศพติดอยู่เป็นดวง)

๒. ผ้าสีเหลือง คือผ้าที่ตัดจากสบงบ้าง ผ้าอาบบ้าง ส่วนหนึ่งก็เป็นผ้าจีวรที่ญาติโยมถวายกับท่านไว้บ้าง

๓. ผ้าสีแดง เป็นเศษผ้าที่เหลือจากผ้าที่หลวงพ่อเปิ่นท่านใช้ทำเสื้อยันต์ยุคแรก (ที่ใช้แม่พิมพ์สักยันต์มาปั๊มยันต์ลงบนเสื้อ)



ผ้าแดงที่นำมาเขียนยันต์ได้มาจากเศษผ้าที่ตัดทำเสื้อยันต์หลวงพ่อเปิ่นยุคแรก


ตะกรุดดอกที่ได้มานี้ ด้านในเป็นผ้ายันต์สีแดง

        จำนวนการสร้าง ท่านบอกว่าท่านทำตามจำนวนใบลานที่ตัดแบ่งไว้ ใบลานมีเท่าไหร่ก็ทำตะกรุดไว้เท่านั้น รวมจำนวนที่สร้างไว้ทั้งหมดประมาณ ๕๐๐ ดอก

        เกี่ยวกับขั้นตอนการปลุกเสก ท่านใช้ “โองการยันนะรังสี” เป็นองค์ภาวนา ในตอนแรกยังมีสะดุดติดขัดอยู่บ้าง พอภาวนาไปได้สักพักก็เริ่มคล่องตัว คาถาที่ว่ายาวๆ ก็สามารถภาวนาไปได้อย่างราบรื่นเรื่อยไป พอจบก็ขึ้นใหม่ไปเรื่อยๆ ท่านปลุกเสกอยู่ ๑ พรรษา จึงได้นำออกมาแจกจ่าย



        พอปลุกเสกครบพรรษา ท่านก็ได้นำออกมาแจก โดยไม่ได้คิดราคาค่างวดอะไรแจกอย่างเดียว มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อท่านจำได้ว่า มีนายทหารชื่อจ่าปรีชา แกนำขบวนผ้าป่ามาทอดที่วัดบางพระ ท่านก็นำตะกรุด ๓ ห่วง นี้มาแจกให้ไป หลังจากนั้นมาสักพักใหญ่ๆ (เป็นตอนที่หลวงพ่อเปิ่นท่านย้ายกุฏิจากกุฏิชายน้ำมาอยู่กุฏิด้านใน “กุฏิหลวงพี่ญาในปัจจุบัน” แล้ว) จ่าปรีชาก็กลับมาขอตะกรุด ๓ ห่วงกับหลวงพ่อเปิ่น โดยบอกว่าตนเองแขวนตะกรุดดอกนี้แล้วไปเจอประสบการณ์มา หลวงพ่อเปิ่นท่านหัวเราะแล้วชี้มาที่ท่านพร้อมกับบอกว่า ไปขอกับหลวงพี่อางค์ท่านนู่น ท่านเป็นคนทำฉันไม่ได้ทำ วันนั้นท่านบอกว่าได้นำตะกรุด ๓ ห่วงนี้ออกมาแจกไปอีกพอสมควร ไม่ช้าไม่นานก็แจกจนหมด พอท่านเล่าประวัติความเป็นมาจบ ท่านก็หยิบตะกรุดมาเป่าด้วย "โองการยันนะรังสี" ให้อีกรอบ


พอเล่าประวัติจบท่านก็เมตตาใช้ “โองการยันนะรังสี” เป่าตะกรุดให้อีกรอบ

ขอยุติกระทู้สุดท้ายแต่เพียงเท่านี้..ขอบคุณครับ

:001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001: :001:

ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์)
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
เวลา ๒๒.๑๕ น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ส.ค. 2557, 12:45:17 โดย ปุญฺญานุสฺสติ(สิบทัศน์) »