ประวัติความเป็นมาไทยทรงดำ กลุ่มชนชาวไทดำ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท ดังกล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองไลว่า ? เมืองที่พวกผู้ไทดำอยู่นั้น คือเมืองแถงหนึ่ง เมืองควายหนึ่ง เมืองตุงหนึ่ง เมืองม่วยหนึ่ง เมืองลาหนึ่ง เมืองโมะหนึ่ง เมืองหวัดหนึ่ง เมืองซางหนึ่ง รวมเป็น 8 เมือง เมืองผู้ไทขาว 4 เมือง ผู้ไทดำ 8 เมืองเป็น 12 เมือง จึงเรียกว่าเมืองสิบสองผู้ไท แต่บัดนี้เรียก สิบสองจุไท ?
(อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.promma.ac.th/supaporn/unit5/p3_1_1.htm )
เขตสิบสองจุไท บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ในเวียดนามภาคเหนือ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของ ไทดำ ไทแดง และไทขาว เมื่อ ฝรั่งเศสเข้าปกครองเวียดนาม ได้เรียกชนเผ่าที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำดำว่า ไทดำที่เรียกว่าไทดำ เพราะชนดังกล่าวนิยมสวมเสื้อผ้าสีดำซึ่งย้อมด้วยต้นห้อมหรือคราม แตกต่างกับชนเผ่าที่อยู่ใกล้เคียงเช่น ไทขาวที่นิยมแต่งกายด้วยผ้าสีขาว และไทแดงที่ชอบใช้ผ้าสีแดงขลิบตกแต่งชายเสื้อ
ชาวไทยดำอยู่ที่เมืองแถงหรือแถน แต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว (แคว้นล้านช้าง) ทิศเหนือติดกับตอนใต้ของประเทศจีน
การอพยพและการตั้งรกรากในไทย ชาวไทดำอพยพเข้ามาตั้งรกรากในไทยถึง 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีที่โปรดให้ไปตี เมืองเวียงจันทร์ได้ในปี พ.ศ. 2321 ดังได้กล่าวไว้ในประวัติชาติไทยว่า "แล้วปีรุ่งขึ้นโปรด ฯ ให้ยกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบาง ไปตีเมืองทัน เมืองม่วย เมืองทั้ง 2 นี้เป็นเมืองของไทซ่งดำ ตั้งอยู่ในเขตแดนญวนเหนือ แล้วพาครัวไทเวียง ไทดำ ลงมากรุงธนบุรี ในเดือนยี่ ไทซ่งดำให้ไปอยู่เพชรบุรี " ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2378 ก็ได้นำครอบครัวชาวไทดำเข้ามาอยู่ในไทยอีก ดังบันทึกของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีกล่าวไว้ เมื่อคราวเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2430 ไว้ว่า ? พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาธรรมา ฯ ยกกองทัพขึ้นมาเมืองถึงเมืองแถง จัดราชการเรียบร้อยแล้วได้เอาครัวเมืองแถงและสิบสองจุไทซึ่งเป็นไทดำลงมากรุงเทพ ฯ เป็นอันมาก เพราะขืนไว้จะเกิดการยุ่งยากแก่ทางราชการขึ้นอีกครั้ง แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้พวกไทดำเหล่านั้น ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี จนได้ชื่อว่า ลาวซ่ง จากหลักฐานการอพยพเข้ามาในไทยทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นว่าไทดำหรือไทยทรงดำ มาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นแห่งแรกและจากคำบอกเล่าจากชาวไทยทรงดำเอง ก็บรรยายว่า เดินอพยพมาจากถิ่นฐานเดิมโดยทางเรือ มาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นบ้านชายทะเล ชาวไทยทรงดำไม่ชอบภูมิประเทศแถบนั้น จึงได้ย้ายถิ่นฐานมาเรื่อย ๆ จนถึงแถบอำเภอเขาย้อย ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาเหมือนกับถิ่นฐานเดิมจึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น ต่อมาชาวไทยทรงดำก็ได้ย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในที่อื่นๆ เช่น นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แต่ชาวไทยทรงดำในจังหวัดต่าง ๆ เหล่านั้นจะบอกที่มาเป็นแหล่งเดียวกันว่า มาจากจังหวัดเพชรบุรี
สารานุกรมไทยดำล้ำค่าของกลุ่มนักศึกษา โครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชน กล่าวถึงไทยดำไว้ว่า ไทยดำหรือไตดำ (Tai Dam, Black Tai) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ผู้ไทยดำ ไทยทรงดำ โซ่ง ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง เรียกอย่างไรคงไม่ผิด เพราะเป็นที่เข้าใจถึงกลุ่มชนเดียวกัน กลุ่มชนชาวไทยดำมีชื่อเรียกตนเองว่า "ไต" - ผู้ไต - ผู้ไตดำ (หรือไทยดำ)
ความหมายของคำว่า"ไต" คือกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยสาขาหนึ่งที่มีความเป็นอิสระ คำว่า "ดำ" หมายถึงการแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มสีดำ ชื่อเรียกขานในนาม "ไทยดำ" จึงมีความหมายโดยรวม ว่ากลุ่มชาติพันธุ์คนไทยสาขาหนึ่งในบรรดาหลายชนเผ่า ที่แต่งกายด้วยสีดำนั่นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยดำด้วย ไทยดำได้ถูกอพยพเข้าสู่ดินแดนของประเทศไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ใน พ.ศ.2322 เมื่อกองทัพไทยไปตีเวียงจันทน์ แล้วกวาดต้อนไทยดำที่อพยพมาจากสิบสองจุไท ส่งไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี
ต่อมาได้กวาดต้อนเข้ามาเพิ่มเติมอีก ในสมัยรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ.2335 และสมัยรัชกาลที่ 3 ใน พ.ศ.2381 ก่อนจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณหนองปรงในปัจจุบัน และถือว่าแผ่นดินหนองปรงนี้ คือบ้านเกิดเมืองนอนของชาวไทยดำ มีการสืบเชื้อสายมาหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน และได้กระจายกันอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี พิจิตร พิษณุโลก กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
ในสปป.ลาว ไทดำได้อพยพเข้าสู่หลวงน้ำทาในปี พศ.2438 เพราะเกิดศึกสงครามแย่งชิงอำนาจกันระหว่างบรรดาหัวหน้าของไทดำกลุ่มต่าง ๆ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในหลวงน้ำทาที่บ้านปุ่งบ้านทุ่งดี บ้านทุ่งอ้ม บ้านน้ำแง้นและบ้านทุ่งใจใต้ ต่อมาเกิดความไม่สงบในสิบสองจุไทขึ้นอีก เนื่องจากศึกฮ่อซึ่งเป็นพวกกบฏใต้เผงที่ถูกทางการจีนปราบปรามแตกหนีเข้ามาปล้นสะดม และก่อกวนอยู่ในเขตสิบสองจุไท ทำให้ชนเผ่าไทดำอพยพจากเมืองสะกบและเมืองวา แขวงไลเจา เข้าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านปุ่งบ้านนาลือและบ้านใหม่ ในปี พ.ศ.2439 เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้กระจายกันออกไปตั้งหมู่บ้านอยู่ทั่วเขตทุ่งราบหลวงน้ำทา ของสปป.ลาว
ชาวไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ซึ่งมีบรรพบุรุษและถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เดียนเบียนฟู ประเทศเวียตนาม ย้ายเข้ามาตั้งถิ่น ฐานในแถบเมืองเพชรบุรี เป็นที่แรกในประเทศไทย เมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว กลุ่มที่ย้ายมาอยู่ในเมืองไทยนี้เป็นกลุ่มที่อาศัย อยู่ในประเทศลาว คนไทยแต่ไหนแต่ไรมาจึงเรียกชนกลุ่มนี้โดยใช้คำนำหน้าว่า ?ชาวลาว? ซึ่งที่มาของชื่อชนกลุ่มนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่ามาจาก ?ไทสง? อันเป็นภาษาในสิบสองจุไท หมายถึงคนที่อาศัย ตามป่าเขา ต่อมาเพี้ยนเป็น ไทยโซ่ง แต่บ้างก็ว่าน่าจะเป็น ซ่วง ซึ่งมาจากคำว่า ?ซ่วงก้อม? อันเป็นคำเรียกกางเกงผู้ชาย (มีลักษณะขายาวแคบ สีดำ) จึงเรียกกันว่า ?ลาวซ่วงดำ? หรือ ?ลาวโซ่ง? ภายหลังด้วยเหตุผลทางการปกครอง จึงเรียกว่า ?ไทยโซ่ง? หรือ ?ไทยซ่วงดำ? และ ?ไทยทรงดำ?
แต่สำหรับเจ้าของวัฒนธรรมพึงพอใจที่จะให้ใคร ๆ เรียกว่า ?ไทยโซ่ง? หรือ ?ไทยทรงดำ? มากกว่า เพราะ มีความรู้สึกผูกพันและกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความเป็นไทย
คนไทยดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ภาษาไทดำจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท (Tai Language-Family) กลุ่มตะวันตกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับภาษาไทยและภาษาลาว สำเนียงพูดของคนไทยดำแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไปบ้างแต่ก็ไม่มาก ลักษณะตัวอักษรมีความสวยงามคล้ายกับอักษรลาวและอักษรไทยบางตัว
ชาวไทดำมีความเชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิม 2 ตระกูลคือ ตระกูลผีผู้ท้าวที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นเจ้านาย ชนชั้นปกครอง และตระกูลผีผู้น้อย สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสามัญ ชาวไทดำนับถือผีและมีการบวงสรวงผีเป็นประจำ โดยจะทำ "กะล่อหอง" เอาไว้ที่มุมหนึ่งในบ้านเพื่อใช้เป็นที่เซ่นไหว้บูชาผีบรรพบุรุษ สำหรับในการประกอบพิธีกรรมไทดำจะถือว่าผีผู้ท้าวนั้นมีศักดิ์สูงกว่าผีผู้น้อย ผู้น้อยจะต้องให้ความเคารพยำเกรง แต่สำหรับการดำเนินชีวิตนั้นทั้งสองตระกูลสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค
การอพยพของชาวไทดำ (ผศ.มนู อุดมเวช แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี บรรยายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2548 เวลา 13.30-15.30 น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัดการบรรยายเรื่อง ?ประวัติศาสตร์ไทดำในประเทศไทย?การบรรยายครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการวิจัย ?ประวัติศาสตร์ชาวไทดำในประเทศไทย? ของ ผศ.มนู ซึ่งได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชาวไทดำในประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชุมชนไทดำ โดยเน้นช่วงเวลาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึง พ.ศ.2540 วิธีการศึกษาใช้หลักฐานเอกสารและการสัมภาษณ์ประกอบกัน)
การอพยพของชาวไทดำ
บรรพบุรุษของชาวไทดำในประเทศไทย ส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี สมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ โดยเข้ามาด้วยอำนาจบังคับของกองทัพสยาม ที่กวาดต้อนชาวไทดำมาไว้ที่เพชรบุรี 3 ครั้ง
ในช่วง พ.ศ.2350-2400 ชาวไทดำได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในจังหวัดเพชรบุรีก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มการอพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่น กล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ.2400 มีการอพยพไปอยู่ที่สุพรรณบุรี, ในปี พ.ศ.2420 มีการอพยพไปทางนครปฐม ต่อมาในราว พ.ศ.2440 มีการอพยพครั้งใหญ่จากเพชรบุรีไปอยู่ที่ชุมพร ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี นครสวรรค์ และในช่วง พ.ศ.2460 มีการอพยพใหญ่อีกครั้งจากนครปฐม สุพรรณบุรี และเพชรบุรี ไปยังนครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก ส่วนในช่วง พ.ศ.2469-2475 มีการอพยพเป็นครั้งคราว ไปสุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก กาญจนบุรี นครปฐม นครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการอพยพข้ามมาจากประเทศลาวเข้ามาทางจังหวัดเลยด้วย
จากการวิจัยพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวไทดำอพยพ คือ ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและภัยแล้ง ชาวไทดำจำนวนมากอพยพจากภูมิลำเนาเดิมเพื่อไปหาที่ดินทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม โดยไม่คำนึงถึงปัญหาความห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมหรือภูมิลำเนาเดิม
ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีหลักฐานหรือบันทึกของรัฐที่แสดงถึงการรับรู้เรื่องราวการอพยพเนื่องจากความทุกข์ยากของชาวไทดำเลย ทั้งที่เป็นกระบวนการที่กินเวลายาวนานนับร้อยปี แสดงให้เห็นว่ารัฐขาดการเอาใจใส่ต่อคนกลุ่มนี้
เศรษฐกิจของชุมชนไทดำ
เดิมชุมชนไทดำเป็นชุมชนพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจ ทำนาเป็นอาชีพหลัก แม้จะอพยพไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ชาวไทดำก็ยังคงทำนาอยู่ แต่อาจเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชอย่างอื่นนอกเหนือจากข้าว ที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าชาวไทดำจะอพยพไปอยู่ในที่ดินที่ห่างไกลความเจริญออกไปเรื่อยๆ ทำให้ได้รับความยากลำบากเนื่องจากอยู่ห่างไกลเส้นทางคมนาคมและตลาด วิธีการได้มาซึ่งที่ดินใหม่ของผู้อพยพชาวไทดำ มีตั้งแต่การซื้อด้วยทุนเดิม ซื้อด้วยทุนที่สะสมอดออมขึ้นใหม่ แลกด้วยวัตถุสิ่งของต่างๆ ไปจนถึงการหักร้างถางพง จับจองที่ดินที่ยังไม่มีเจ้าของ
ชาวไทดำนิยมผลิตเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ด้วยตนเอง งานหัตถกรรมที่โดดเด่นคือ การผลิตเสื้อผ้า ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปลูกพืชเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นใยและทอผ้าเอง กล่าวได้ว่างานผลิตเสื้อผ้านั้นเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทดำ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกิจกรรมการผลิตเสื้อผ้าของชาวไทดำเริ่มจางหายไป เนื่องจากมีเสื้อผ้าราคาถูกจากโรงงานเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ชาวไทดำยังสนใจประกอบอาชีพอื่นๆ นอกภาคเกษตรมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้น่าจะเป็นอิทธิพลของการศึกษาและการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น
ปัจจัยพื้นฐานของชีวิตไทดำ
ชาวไทดำโดยทั่วไป มีความผูกพันกับเครือญาติและชาวไทดำด้วยกันเองค่อนข้างสูง วิถีชีวิตของชาวไทดำในรอบปีมีระบบที่แน่นอน เช่น เดือนอ้ายเป็นฤดูเก็บเกี่ยว, เดือน 4-5 ว่าง, เดือน 6 เตรียมการเพาะปลูก, เดือน 7-12 ทำนา
ชาวไทดำมีภาษาของตนเอง ซึ่งมีศัพท์แสงแตกต่างจากภาษาไทยภาคกลางมาก ทั้งยังมีตัวอักษรของตนเอง อันเป็นสมบัติเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้กันแถบลุ่มน้ำแดง-ลุ่มน้ำดำในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาษาเฉพาะของไทดำกำลังถดถอย โดยเฉพาะการอ่าน-เขียนที่เริ่มไม่ค่อยมีผู้รู้แล้ว
ที่อยู่อาศัยของชาวไทดำ
เป็นเรือนเครื่องผูก มีขดกุดบนหลังคาเหนือจั่ว มุงแฝกหรือหญ้าคา ใต้ถุนสูง ส่วนเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็ผลิตเอง โดยใช้ไม้ไผ่รวกเป็นหลัก
อาหารการกิน ชาวไทดำนิยมรับประทานข้าวเหนียวกับปลา ซึ่งมีการนำมาแปรรูปแบบต่างๆ เช่น ปลาร้า ปลาส้ม นอกจากนี้ยังนิยมดื่มเหล้ากันมาก
เครื่องนุ่งห่ม เดิมชาวไทดำจะผลิตเสื้อผ้าเอง มีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าใช้เอง การแต่งกายในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันบ้าง เครื่องแต่งกายหลักคือ ?เสื้อฮี? ซึ่งเป็นเสื้อแขนสั้น และโพกผ้าเปียว นอกจากนี้ผู้หญิงไทดำในอดีตยังแต่งผมด้วยการ ?ปั้นเกล้า? ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น แต่ปัจจุบันมีแต่ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ยังปั้นเกล้าอยู่ (มีการสาธิตวิธีการปั้นเกล้าโดยผู้หญิงไทดำให้ชมด้วย) ส่วนการทอผ้า ชาวไทดำก็เลิกทอมาตั้งแต่ พ.ศ.2490-2500 เป็นต้นมา
ปัจจัยระดับสูงของชีวิตไทดำ
ปัจจัยระดับสูงที่แสดงถึงความเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมเฉพาะของชาวไทดำ ได้แก่
การศึกษาและอักษร สมัยก่อนชาวไทดำได้รับการศึกษาน้อยมาก เพราะยากจน และโรงเรียนตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ชาวไทดำมีอักษรบันทึกวัฒนธรรม เช่นที่ปรากฏใน ?คำขับเขยบอกทาง? (เพื่อบอกทางไปเมืองแถงแก่วิญญาณ), ขับขึ้นบ้านใหม่ ความรู้ต่างๆ มีการถ่ายทอดกันในครอบครัว แต่ปัจจุบันผู้ที่อ่านอักษรไทดำได้กำลังหมดไป
ดนตรี การขับร้อง และการละเล่น ใช้แคนและการปรบมือเป็นพื้นฐาน มีเพลงสุดสะแนน เวียง พู่จำดอก และเกริงสร้อย ลีลาแคนมีทั้งแคนแล่น และแคนเดิน การ ?ขับ? ใช้ในโอกาสรื่นเริง ?ว่า? เป็นการร่ายกึ่งมีทำนอง ใช้ในพิธีกรรม ในวัฒนธรรมของชาวไทดำนั้น ดนตรี การขับร้อง และการละเล่นจะปะปนผสมผสานกันอยู่มากใน ?อิ้นกอน? ช่วงเดือน 5
การหาคู่ครอง ตามแบบแผนเดิม ชาวไทดำมักหาคู่ครองด้วยการไป ?อิ้นกอน? ในเดือน 5 ซึ่งเป็นกระบวนการที่ฝ่ายชายจะไปเล่นลูกช่วงตามหมู่บ้านต่างๆ ที่มีหญิงสาวคอยเล่นด้วย โดยฝ่ายชายมักจะไปค้างแรมคืนต่างหมู่บ้านไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งเดือน 5 นอกจากนี้ ชายและหญิงไทดำยังมีโอกาสพบปะกันใน ?ข่วง? (ลานบ้าน) อันเป็นที่ตำข้าว ปั่นด้าย ฯลฯ ของบ้านที่มีลูกสาว ซึ่งเปิดโอกาสให้ฝ่ายชายไปคุยได้ หากรักชอบกันก็จะนำไปสู่การแต่งงานในที่สุด
ศาสนา การนับถือผีเป็นเรื่องสำคัญตามประเพณีไทดำ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษนั้นเป็นสาระสำคัญที่นำไปสู่ประเพณีและพิธีกรรมอื่นๆ ในวัฒนธรรมชาวไทดำ เช่น ประเพณี ?ปาดตง? และพิธี ?เสนเฮือน? (เซ่นเรือน) ซึ่งกระทำทุก 3 ปี หรือ 5 ปี นอกจากนี้ ทุกบ้านยังมี ?กะล้อห่อง? และมีการ ?หน็องก้อ? ทุกครั้งที่ดื่มเหล้า คือให้ผีบรรพบุรุษดื่มก่อน อาจกล่าวได้ว่า ความผูกพันกับบรรพบุรุษนั้นเป็นแก่นของวัฒนธรรมไทดำเลยทีเดียว
นอกจากนี้ชาวไทดำยังมีความเชื่อเรื่องขวัญ เมื่อเกิดความเจ็บป่วย จะมีการทำพิธีเรียกขวัญ หรือเสนขวัญ โดยมี ?แม่มด? เป็นผู้ทำพิธี ทำหน้าที่ต่ออายุ และแก้ไขการกระทำต่างๆ ที่ผิดผี อันเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วย
ความเปลี่ยนแปลง ชาวไทดำประกอบอาชีพทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีความถนัดในการทำเกษตร และได้รักษาอาชีพในแนวทางนี้มาตลอด แม้ว่าพื้นที่บางแห่งที่ไม่สะดวกแก่การทำนา จะมีการเปลี่ยนไปทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงไก่บ้างก็ตาม ทั้งนี้ผู้วิจัยมองว่า คุณสมบัติเด่นของชาวไทดำคือ ความสามารถในการเรียนรู้ และความทรหดอดทนต่อความยากลำบาก
ปัจจัยพื้นฐานของชีวิตในชุมชนไทดำ ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมสมัยใหม่ เช่น เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ปัจจุบันชาวไทดำก็ซื้อหาจากท้องตลาด เนื่องจากราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาและแรงงานมากมายไปในการจัดหาวัสดุจากธรรมชาติมาจัดทำขึ้นเอง ทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในส่วนนี้ของชาวไทดำกำลังสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วนปัจจัยระดับสูงของวิถีชีวิตไทดำ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ คือ ความผูกพันที่มีต่อผีบรรพบุรุษนั้น ยังคงดำรงอยู่ในฐานะแก่นของวัฒนธรรมไทดำ กระนั้นก็ตาม บริบทสังคมที่เปลี่ยนไปก็ทำให้วัฒนธรรมบางอย่าง เช่น กระบวนการหาคู่ครอง การเดินทางเพื่อ ?อิ้นกอน? ค่อยๆ จางหายไป
ในช่วงท้ายของการบรรยาย ผู้วิจัยเสนอว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่น่าจะมีการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของชาวไทดำในประเทศไทยกับชาวไทดำลุ่มแม่น้ำแท้หรือแม่น้ำดำ ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้านของไทดำ ภาษาและอักษรของไทดำ คติความเชื่อและสัมพันธภาพในชุมชนไทดำ เป็นต้น
อำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี
มีกลุ่มชนไทยทรงดำอยู่อย่างหนาแน่น โดยจากรายงานด้านประชากรของอำเภอเขาย้อยมี
- ไทยทรงดำ 70 % - ไทย 14 %
- ลาวเวียง 3 % - จีน 10 %
- ลาวพวน 3 %
ไทยทรงดำหรือลาวโซ่งซึ่งจะอาศัยอยู่ในตำบลห้วยท่าช้าง หนองปรง ทับคาง เขาย้อย บางเค็ม หนองชุมพล และหนองชุมพลเหนือ ซึ่งยังมีการอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ของไทยทรงดำไว้มาก อาทิเช่น
1. เล่นลูกช่วง (เล่นคอน) หรือรำแคน นิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์
2. การเสนเรือน คือ การทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
3. การแต่งงาน เป็นประเพณีของไทยทรงดำ มีการแต่งกายชุดใหญ่ของไทยทรงดำ
4. ประเพณีการทำงานศพ จะทำพิธีแบบไทยทรงดำทุกคน
เยี่ยมเรือนเยือนเหย้าชาวไทยทรงดำไทย มีวัฒนธรรมที่เป็น เอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การแต่งกาย ทรงผม ภาษา บ้านเรือน อาหาร และการประกอบ อาชีพ รวมไปถึงความเชื่อที่สืบ ทอดกันมานาน ก่อให้เกิดพิธีกรรมและประเพณีที่น่าสนใจมากมายแม้ในกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกที่หลั่งไหลเข้าทดแทนวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับชาวไทยทรงดำ วัฒนธรรมหลายอย่างหาได้สูญสลายไปตามกระแสไม่ แต่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างน่าประทับใจ เช่น ภาษา การแต่งกาย งานประเพณีและการดำรงชีวิตที่สมถะเรียบง่ายแบบดั้งเดิม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ชาวไทยทรงดำพึงพอใจและดำรง รักษา ไว้อย่างภาคภูมิ
อ้างอิงมาจากhttp://www.thaisongdumphet.is.in.thเว๊ปไซด์ ไทยทรงดำปล.พอดีผมมีเชื้อสายไทยทรงดำมาจากแม่ผมเลยอยากลงประวัติไทยทรงดำเผยแผ่เพื่อให้ทราบกันครับ