กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ, กฎแห่งกรรม และ ประสบการณ์วิญญาณ => สนทนาภาษาผู้ประพฤติ => ข้อความที่เริ่มโดย: รวี สัจจะ... ที่ 22 เม.ย. 2553, 07:52:00

หัวข้อ: รวมธรรมคำบรรยาย ภาคเช้า 21/04/2553
เริ่มหัวข้อโดย: รวี สัจจะ... ที่ 22 เม.ย. 2553, 07:52:00
กุฏิน้อยในป่าไทร วัดทุ่งเซียด พุนพิน สุราษฏร์ธานี
   ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา๐๔.๓๐ น.
         เจริญสุข เจริญธรรมท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายลำดับต่อไปเป็นภาคปฏิบัติภาวนา
หลังจากที่เราท่านทั้งหลายได้ร่วมกันสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้ว เราก็มาเพิ่มกำลังบุญกุศล
ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในไตรสิกขาสาม คือ ทาน ศีัล ภาวนา และศีล สมาธิ ปัญญา ตามหน้าที่
และบทบาทของแต่ละท่านแต่ละคน เพื่อสร้างบุญกุศลเพิ่มพูลบารมีให้แก่ตัวของเราเอง
          ซึ่งการเจริญภาวนาในภาคเช้านี้ จะมีอุปสรรคนิวรณ์มาเป็นมารขวางกั้นการเจริญทางธรรม
นิวรณ์ที่ว่านั้นคคือ"ถีนะมิทธะ" ความซึมเซาง่วงเหงาหาวนอน เป็นนิวรณ์ที่มีกำลังมากในภาคเช้า
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า จิตของเรายังอาลัยยินดีในการหลับนอน จิตยังไม่ถอนออกมาจากอารมณ์นั้น
เมื่อเราเจริญภาวนาอารมณ์นั้นก็จะเพิ่มพูลมีกำลังมากขึ้น ความง่วงความซึมเซาจะเข้ามาครอบงำจิตของเรา
ถ้าเราเผลอสติตามองค์ภาวนาไม่ทัน มันก็จะทำให้เราเผลอหลับไป
          การแก้ปัญหาในกรณีนี้ก็คือเราต้องเคลียร์จิตของเราเสียก่อน คือปลุกจิตปลุกใจของเราให้มีกำลัง
ศรัทธาเพิ่มขึ้น ในการประพฤติปฏิบัติ ขจัดความอาลัยในการหลับนอนออกไปเสียก่อน ฆ่านิวรณ์ให้หมดกำลัง
ด้วยการเคลื่อนไหวทางกาย สลายทางจิต ทำความคิดให้เป็นกุศล สวดมนต์ด้วยเสียงที่ดังมีพลังเพื่อปลุกจิต
ให้ตื่น ฟื้นจากการซึมเซา ความง่วงเหงาหาวนอน ให้ความร้อนเกิดข้นในกายขณะสาธยายมนต์ ด้วยการสวดมนต์
ด้วยพลังปราณ คือสวดด้วยพลังลมขับขึ้นมาจากหน้าท้อง ขณะที่เราสาธยายมนต์นั้นสมาธิขั้นขนิกสมาธิก็เกิดขึ้น
เพราะว่าจิตของเราจดจ่ออยู่กับมนต์อักขระทั้งหลายนั้น และเมื่อเข้าสู่การภาวนาเราก็รักษาอารมณ์สมาธินั้นให้เจริญ
ก้าวหน้ายิ่่งขึ้นไป เพราะว่าคำว่าภาวนานั้นก็คือการพัฒนา ทำให้ดียิ่งขึ้นๆต่อไป
         ถ้าในขณะที่เราเจริญภาวนาอยู่นั้น นิวรณ์มันเข้ามา ก็ให้ใช้วิธีการเคลื่อนไหวทางกาย สลายทางจิต ตั้งสติใหม่
โดยการเปลี่ยนอิริยาบททางกาย จากการนั่งมาเป็นการยืนกำหนด การยืนกำหนดภาวนานั้น ให้เราตั้งสติเอาจิตมาคุมกาย
เสียก่อน การเอาจิตมาคุมกายนั้น ก็คือการระลึกนึกไปให้ทั่วกายของเรา ตั้งแต่เบื้องบนคือศรีษะลงมาไปจนถึงเบื้องล่าง
คือฝ่าเท้า ทำความรู้ตัวทั่วพร้อมให้บังเกิด คือความถึงพร้อมซึ่งสติและสัมปชัญญะให้ทั่วกาย สูดลมหายใจเข้าไปให้เต็มกำลัง
ขณะที่หายใจออกนั้นให้ทำความรู้สึกเทน้ำหนักของกายเราไปสู่ฝ่าเท้าที่สัมผัสผื้น เพื่อให้การยืนของเรานั้นมั่นคงไม่ซวนเซ
เหมือนวิชากำลังภายในของหนังจีน คือวิชาทองพันชั่ง จะทำให้การยืนกำหนดของเรานั้นมั่นคง ไม่ซวนเซเสียสมดุลย์ในการยืน
         เมื่อเรากำหนดท่ายืนของเราได้มั่นคงแล้ว ก็เข้าสู่องค์ภาวนาที่เคยประพฤติปฏิบัติมา ที่เรียกว่้าเสมอกันในอิริยาบทนั้น
คือการเสมอกันในทางปฏิบัติกรรมฐานที่ต่อเนื่องเสมอกัน กองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นไปในกอง
เดียวกัน ไม่ใช่ว่า ต้องนั่งเวลาเท่ากับการยืน เท่ากับการเดิน เท่ากับการนอน คือไม่ได้เอาเวลามาเป็นตัวกำหนดความเสมอกัน
แต่เสมอกันด้วยการเจริญกรรมฐานในกองเดียวกันให้ต่อเนื่อง
         ขอฝากไว้ว่า ในความเป็นสมาธินั้น สติเรายังมีอยู่และเห็นอยู่ เพียงแต่จิตนั้นไม่ได้เข้าไปปรุงแต่ง คือเห็นและรู้ว่ามันสงบ
เห็นและรู้ว่าปิติ สุข และสงบนิ่ง ถ้าเราขาดสติเผลอลงพวังค์ สงบนิ่งโดยไม่รู้สึกตัวไม่มีสตินั้น มันเป็นสมาธินอกระบบที่ไม่มีพลังงาน
เพราะว่าขาดซึ่งสติที่จะควบคุมจิต สาเหตุเกิดจากการที่สติของเรานั้นอ่อนกำลัง ตามองค์ภาวนาไม่ทัน เพราะเมื่อเข้าสู่ความเป็นสมาธ
นั้นจิตมันจะละเอียดลงเรื่อยๆ จนถึงความสงบเป็เอตัคตารมณ์เข้าสู่องค์ฌาน
        ขอให้การเจริญภาวนาของท่านจงบังเกิดความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป จะไม่ใช่เสียงบรรยายรบกวนอารมณ์สมาธิของท่านทั้งหลาย
ให้ท่านได้รับความวิเวกทางกาย เพื่อให้เกิดความวิเวกทางจิตในลำดับต่อไปตามสมควรแก่เวลา ขอเจริญสุข เจริญธรรม
                           .................................................................................................
เป็นคำบรรยายในยามเช้าเพื่อปลุกศรัทธาให้แก่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หลังจากการสวดมนต์ทำวัตรเช้าแล้ว โดยจะเป็นการเจริญ
ภาวนาในยามเช้าเป็นเวลาประมาณ ๔๕ นาที ก่อนที่จะแผ่เมตตา ขอขมา อธิษฐานจิต วันทาลาพระ จบการปฏิบัติภาคเช้าเวลา ๐๖.๐๐ น.
โดยเริ่มตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น.-๐๖.๐๐ น. สองชั่วโมงในยายเช้า
               ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิตแด่มวลมิตรทุกผู้คน
                          รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร
๒๒ เมษายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๗.๕๒ น. ณ กุฏิน้อยในป่าไทร วัดทุ่งเซียด พุนพิน สุราษฎร์ธานี
       
หัวข้อ: ตอบ: รวมธรรมคำบรรยาย ภาคเช้า 21/04/2553
เริ่มหัวข้อโดย: derbyrock ที่ 22 เม.ย. 2553, 09:53:24
กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ดีใจที่ได้กลับมาอ่านบทความของพระอาจารย์อีกครั้งครับ  
หัวข้อ: ตอบ: รวมธรรมคำบรรยาย ภาคเช้า 21/04/2553
เริ่มหัวข้อโดย: ~เสน่ห์ack01~ ที่ 22 เม.ย. 2553, 09:00:17
ในความเป็นสมาธินั้น สติเรายังมีอยู่และเห็นอยู่ เพียงแต่จิตนั้นไม่ได้เข้าไปปรุงแต่ง คือเห็นและรู้ว่ามันสงบ
เห็นและรู้ว่าปิติ สุข และสงบนิ่ง ถ้าเราขาดสติเผลอลงพวังค์ สงบนิ่งโดยไม่รู้สึกตัวไม่มีสตินั้น มันเป็นสมาธินอกระบบที่ไม่มีพลังงาน
เพราะว่าขาดซึ่งสติที่จะควบคุมจิต


...กราบนมัสการครับ ขอบพระคุณที่เมตตาสอนครับ...