ผู้เขียน หัวข้อ: น่าสลดใจ ชาวพุทธ  (อ่าน 1079 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ joker

  • ใจและจิตต้องดูแลให้สดใสและมีกำลังเสมอ
  • จตุตถะ
  • ****
  • กระทู้: 218
    • ดูรายละเอียด
น่าสลดใจ ชาวพุทธ
« เมื่อ: 28 ก.ย. 2550, 10:12:36 »
อ่านข่าวแล้วสลดใจ เมืองพระเมืองพุทธทำไมทำกันอย่างนี้

http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php




 
 Home  มติชน  ข่าวสด  ประชาชาติธุรกิจ  มติชนสุดสัปดาห์  ศิลปวัฒนธรรม  เทคโนโลยีชาวบ้าน  เส้นทางเศรษฐี 
 
 
 
 








 

  วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6147

ทหารพม่าบุกวัด จับพระ700รูป

ยังลุยปราบเดือด! นักข่าวญี่ปุ่นสังเวย




นาทีปราบ- ทหารพม่าเข้าปะทะและยิงเข้าใส่ฝูงชน ระหว่างการสลายผู้ชุมนุมกว่าหมื่นคน โดยประกาศให้กลับบ้านภายใน 10 นาทีไม่เช่นนั้นจะยิง จากนั้นทางการแถลงว่า มีผู้เสียชีวิต 9 ราย รวมถึงนักข่าวชาวญี่ปุ่น 1 ราย เมื่อ 27 ก.ย.

 
ทหารพม่าเมินเสียงประณามจากทั่วโลก ยกกำลังบุกวัด 3 แห่ง ปฏิบัติการสุดโหดไร้มนุษยธรรม รุมทำร้ายยิงทุบตีก่อนจับพระสงฆ์ไปกว่า 700 รูป พอตกบ่ายยกขบวนยืนเรียงหน้า กราดกระสุนใส่ฝูงชนที่มาชุมนุมนับหมื่นคน นักข่าวชาวญี่ปุ่นถูกลูกหลงดับคาที่ เป็นชาวต่างชาติรายแรกที่สังเวยเหตุการณ์นี้ ขณะที่รัฐบาลพยายามปิดหูปิดตาชาวโลก สั่งปิดร้านอินเตอร์เน็ตและการสื่อสาร ท่ามกลางประชาชนนับหมื่นที่ยังชุมนุมท้าทายเคอร์ฟิวอยู่ทั้งที่เจดีย์ซูเล และชเวดากอง ออสซี่จี้อาเซียนคว่ำบาตร งดความช่วยเหลือกับรัฐบาลพม่า และเตรียมใช้มาตรการเข้มงวดกับการเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่รัฐบาลด้วย การบินไทย-ทหารพร้อมส่งเครื่องบินรับคนไทยกลับหากฉุกเฉิน ราชทัณฑ์คุมเข้มห้ามเปิดข่าวให้นักโทษพม่าดู ด้านการค้า-ท่องเที่ยวชายแดนซบเซา คาดเสียรายได้วันละหลายสิบล้าน "แอ้ด"แนะดึงจีน-สหรัฐแก้ปัญหาพม่า ชี้ลำพังอาเซียนทำอะไรไม่ได้มาก

-สุดโหดบุกวัดทำร้าย-จับพระ

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์ในประเทศพม่าว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าไม่สนใจแรงกดดันและเสียงประณามจากประชาคมโลก เดินหน้าปฏิบัติการกวาดล้างสลายกลุ่มชุมนุมต่อต้าน ที่มีพระภิกษุสงฆ์เป็นแกนนำ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยในช่วงเช้ามืด ส่งทหารบุกวัด 3 แห่งในกรุงย่างกุ้ง ไล่ทุบตีจับกุมพระไป 700 กว่ารูป ทิ้งคราบเลือดปรากฏเป็นหลักฐานเปรอะเปื้อนเต็มวัด พอตกบ่ายตั้งแถวกราดยิงเข้าใส่ฝูงชนนับหมื่นแตกกระเจิง ขณะที่คนญี่ปุ่นกลายเป็นชาวต่างชาติศพแรก ที่ต้องจบชีวิตเพราะถูกลูกหลงจากเหตุปราบปราม

เว็บไซต์ข่าวอิรวดี สื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า รายงานว่า ช่วงเช้ามืดวันที่ 27 ก.ย. ทหารและตำรวจปราบจลาจลพม่าบุกวัดอย่างน้อย 3 แห่งในกรุงย่างกุ้ง มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นไม่ให้พระกลับเข้าไปเป็นแกนนำเดินขบวนประท้วงรัฐบาลพม่า โดยวัดแรกที่เกิดเหตุ คือ วัดเนยายาน ซึ่งเมื่อปี 2531 เคยเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพม่าเช่นกัน ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ทหารขับรถพังประตูวัดเข้าไปด้านใน จากนั้นลงมือทุบตีเตะต่อยและจับกุมพระไปประมาณ 200 รูป ปลอกกระสุนตกเกลื่อนพื้น

วัดแห่งที่สอง โมออง มีพระถูกจับ 500 รูป ซึ่งพระที่หนีรอดไปได้และย้อนกลับมาที่วัด เล่าว่า พื้นวัดเต็มไปด้วยคราบเลือด ส่วนวัดมะขิ่น เป็นวัดแห่งที่สามที่ตกเป็นเหยื่อการปราบปราม ภายหลังจากทหารจับเจ้าอาวาสและพระลูกวัด 4 รูป และยังจับเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ที่พักรักษาตัวอยู่ในวัดไปอีก 4 คน นอกจากนั้นทหารพม่ายังไปจับตัวนายมิ่น เทง โฆษกและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเอ็นแอลดี รวมถึงแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ อีกหลายคน แต่ไม่รู้ว่าทางการพม่านำตัวบุคคลเหล่านี้ไปคุมขังที่ใด

-ปิดร้านเน็ต-ตัดขาดสื่อต่างชาติ

ซีเอ็นเอ็นแจ้งว่า จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งพระและประชาชนจากเหตุปราบปรามช่วง 2 วันที่ผ่านมา มี 10 ราย นอกจากนี้ทางการพม่ายังปิดร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตและมือถือ เพื่อพยายามตัดขาดการสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมกับโลกภายนอก อย่างไรก็ตามสื่อของรัฐบาลทหารพม่า เช่น หนังสือพิมพ์นิวไลต์ออฟเมียนมาร์ ตอบโต้ว่า มีชาวบ้านตายเพราะปะทะกับเจ้าหน้าที่เพียง 1 รายเท่านั้น ขณะที่สื่อต่างชาติกำลังจงใจบิดเบือนข่าวเพื่อยุยงให้ชาวพม่าลุกฮือก่อประท้วงครั้งใหญ่

-ทหารไล่ยิง-ม็อบนับหมื่นกระเจิง

สำหรับสถานการณ์บริเวณเจดีย์ซูเล 1 ใน 2 ศูนย์กลางการเดินขบวน พระและประชาชนนับหมื่นคนยังคงออกมาชุมนุมเต็มท้องถนน ท้าทายคำสั่งเคอร์ฟิวและห้ามชุมนุมเกิน 5 คนของรัฐ ทำให้ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ขู่ให้ประชาชนสลายตัวภายใน 10 นาที ไม่เช่นนั้นจะใช้มาตรการเด็ดขาด ก่อนเปิดฉากยิงปืนใส่ฝูงชนจริงๆ ตามคำขู่ เป็นเหตุให้ม็อบแตกกระจาย คนหลายพันคนล่าถอยหนีไปตั้งหลักในเขตตามวย ซึ่งทหารได้แยกกำลังเข้าล้อมม็อบกลุ่มนี้ ก่อนยิงขู่และยังไม่ทราบชะตากรรม ว่ามีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากน้อยขนาดไหน ส่วนที่เจดีย์ชเวดากอง ศูนย์กลางการชุมนุมอีกแห่งนั้นบรรยากาศค่อนข้างสงบ เพราะทหารตรึงกำลังอย่างหนาแน่น

นายวิน มิน หนึ่งในกลุ่มอดีตแกนนำนักศึกษาพม่าผู้จัดชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2531 วิเคราะห์ว่า การประท้วงครั้งใหม่ ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นแกนนำ คงจะไม่ยุติง่ายๆ แม้รัฐบาลพม่าจะใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากความกล้าหาญของพระและแนวร่วมจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวพม่าทั่วประเทศได้เห็นความโหดร้ายของรัฐบาลและลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า การที่รัฐบาลทหารพม่าปล่อยให้การชุมนุมต่อเนื่องหลายวันก่อนส่งทหารเข้าสลาย น่าจะเป็นเพราะรัฐบาลใช้เวลาระหว่างนั้นส่งสายลับเข้าแทรกซึมเพื่อให้ได้ข้อมูลแกนนำจัดการชุมนุมตลอดจนเครือข่ายของกลุ่มผู้ประท้วง เพื่อนำไปสู่การจัดการปราบปรามขั้นเด็ดขาดต่อไป
ฆ่านักข่าว- นายเคนจิ นางาอิ อายุ 52 ปี นักข่าวญี่ปุ่นจากสำนักข่าวเอพีเอฟ พยายามบันทึกภาพเหตุการณ์ ก่อนจะเสียชีวิต ระหว่างทหารพม่าล้อมปราบม็อบพระสงฆ์และประชาชนกลางนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 27 ก.ย.

 


-ฆ่าต่างชาติรายแรก-นักข่าวญี่ปุ่น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเหตุจลาจลบริเวณเจดีย์ซูเล 1 คน ต่อมา คนของสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงย่างกุ้งได้เดินทางไปพิสูจน์ศพที่โรงพยาบาลและพบว่าผู้ตาย คือ นายเคนจิ นากาอิ ชาวญี่ปุ่น วัย 50 ปี นักข่าวสำนักข่าวเอพีเอฟ ส่งผลให้นายเคนจิเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะเหตุประท้วง

-ออสซี่จี้อาเซียนคว่ำบาทพม่า

ขณะเดียวกันที่กรุงโตเกียว นายฮิโตชิ คิมูระ รมช.ต่างประเทศ เตรียมเรียกตัวนายฮลา มินท์ เอกอัครราชทูตพม่า เข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลพม่าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม ซึ่งญี่ปุ่นจะติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิด ก่อนตัดสินใจว่าจะมีมาตรการลงโทษพม่าหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้ยกเลิกให้ความช่วยเหลือแก่พม่าตั้งแต่ปี 2546 หลังจากนางออง ซาน ซู จี ผู้นำประชาธิปไตยถูกจับกุมตัวไปกักขัง แต่ก็ยังจัดตั้งกองทุนสำหรับความต้องการฉุกเฉินอย่างโครงการเกี่ยวกับสุขภาพให้แก่พม่า นอกจากนี้ปัจจุบันในพม่ามีชาวญี่ปุ่น 615 คน และบริษัทญี่ปุ่น 74 แห่ง

สำหรับปฏิกิริยาของนานาชาติภายหลังจากรัฐบาลพม่าใช้อาวุธปืนสลายม็อบ นายจอห์น ฮาวเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียจะออกมาตรการลงโทษทางการเงินแก่พม่า และจะเข้มงวดในการตรวจลงตราหนังสือเดินทางของเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าด้วย และตนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งรัฐบาลจีน อินเดีย รวมถึงสมาชิกประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะต้องใช้อิทธิพลที่มีอยู่กดดันรัฐบาลพม่าให้ยุติการใช้ความรุนแรงปราบผู้ประท้วง ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่มอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก สหรัฐ ระบุว่า เตรียมเปิดประชุมนอกรอบเพื่อหารือถึงปัญหาพม่า นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าให้หนักขึ้นด้วย

-น.ศ.เผารูปบิ๊กพม่าหน้าสถานทูต

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย ถ.สาทร มีกลุ่มนักศึกษาพม่า 30 คน เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและประท้วงรัฐบาลทหารพม่า ที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามพระสงฆ์และประชาชน ที่ร่วมกันเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารพม่าให้ปล่อยตัว นางอ่อง ซาน ชูจี พร้อมกับกล่าวโจมตีก่อนร่วมกันร้องเพลง จากนั้นกลุ่มนักศึกษาพม่าได้เผารูปของพล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานพีเอสดีซี พร้อมกระทืบด้วยความเกลียดชัง

นอกจากนี้มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ นำโดยน.พ.เหวง โตจิราการ นางประทีป อึ้งทรงธรรม และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย มายื่นหนังสือประท้วงด้วย เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าเคารพในสิทธิมนุษยชนของพระสงฆ์ และประชาชนชาวพม่า ที่ร่วมกันชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีกำลังตำรวจสน.ยานนาวา และตำรวจสันติบาล เจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรอง เข้าร่วมดูสังเกตการณ์ กระทั่งเวลา 11.00 น. กลุ่มนักศึกษาพม่าได้พากันสลายการชุมนุม แต่ได้นัดรวมตัวกันอีกในวันที่ 28 ก.ย. เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก

-ทหาร-บินไทยพร้อมขนคนไทยกลับ

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า รัฐบาลพม่าได้ประกาศจุดยืน ซึ่งหลังจากประกาศเคอร์ฟิว มีการให้กำลังทหารเข้ามาเสริมในการสลายม็อบ ซึ่งจากสรุปรายงานไม่มีเหตุการณ์ใดรุนแรง เมื่อถามว่าจะมีปัญหากระทบตามแนวชายแดนประเทศไทยหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า ไม่มีปัญหาเพราะแนวชายแดนอยู่ไกลกับเหตุการณ์คงไม่มีผลกระทบอะไร

ส่วนจะดำเนินการอพยพคนไทยในพม่ากลับสู่ประเทศไทยอย่างไร พล.อ.สนธิกล่าวว่า ได้คุยกับพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.แล้วว่า กองทัพอากาศพร้อมสนับสนุนเครื่องบินไปรับคนไทย ในส่วนของพม่านั้นผู้ช่วยทูตทหาร เอกอัครราชทูตได้คุยกัน และประสานกับคนไทยทุกคนที่อยู่ในพม่า หากมีเหตุการณ์ขึ้นมาคงจะมีการประสาน เพื่อนำคนไทยกลับประเทศ เมื่อถามว่าทางพม่าให้การดูแลคนไทยที่อยู่ในประเทศอย่างไรบ้าง พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ได้รับการประสานจากผู้ช่วยทูตทหารว่าเรื่องในภาพรวมมีความปลอดภัยไม่มีผลกระทบ

พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมเต็มที่หากสถานการณ์ในพม่ามีความรุนแรง และต้องอพยพคนไทยและนักธุรกิจไทยในพม่า โดยกำลังรอการประสานงานคมช. หากเห็นว่าต้องมีการนำคนไทยกลับ การบินไทยก็จะเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับ ขณะที่สายการบินอื่นๆ ก็จะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน รวมทั้งจะขอความร่วมมือจากกองทัพในการใช้เครื่องซี-130 นำคนไทยกลับประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

-การบินไทยเปลี่ยนตารางบิน

วันเดียวกัน การบินไทยปรับเปลี่ยนตารางการบินสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางไปยังพม่าระหว่างวันที่ 27-29 ก.ย. คือ เที่ยวบินที่ทีจี 305 กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง เดิมออกเดินทางจากกรุงเทพฯ 18.10 น. ถึงย่างกุ้ง 19.00 น. เปลี่ยนเป็นออกจากกรุงเทพฯ 16.30 น. ถึงย่างกุ้ง 17.20 น. เที่ยวบินที่ทีจี 306 ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ เดิมออกจากย่างกุ้ง 20.00 น. ถึงกรุงเทพฯ 21.45 น. เปลี่ยนเป็นจากย่างกุ้ง 18.20 น.ถึงกรุงเทพฯ 20.05 น. สามารถโทรศัพท์ติดต่อ ได้ที่การบินไทย 0-2356-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง

-สั่งคุกห้ามเปิดข่าวจลาจลในพม่า

นายอาทร เครือรัตน์ ผบ.เรือนจำสมุทรสาคร เปิดเผยถึงการควบคุมดูแลผู้ต้องขังชาวพม่าว่า ขณะนี้มีผู้ต้องขังชาวพม่าประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่คดียาเสพติดและคดีอาญาทั่วไป ซึ่งกรมราชทัณฑ์สั่งให้จับตาดูความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อความวุ่นวายภายในเรือนจำ โดยให้จัดโทรทัศน์ในแดนคุมขังที่มีชาวพม่าอยู่ ห้ามเปิดข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประท้วงในพม่าอย่างเด็ดขาด จะอนุญาตให้เปิดเฉพาะข่าวบันเทิงเท่านั้น และจะปิดโทรทัศน์ไม่เกินเวลา 21.00 น.ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ และคงไม่ต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มงวด อย่างไรก็ตามผู้ต้องขังชาวพม่าเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องการบ้านการเมืองนัก เพียงแค่ต้องการเงินส่งกลับไปให้ญาติพี่น้องทางบ้านและเลี้ยงตัวเองไปวันๆเท่านั้น

ด้านนายประเสริฐ ป้ำกระโทก ผบ.เรือนจำกลางสมุทรสงคราม กล่าวว่า ผู้ต้องขังชาวพม่าในเรือนจำกลางสมุทรสงครามมีอยู่ทั้งสิ้น 64 คน โดยเป็นผู้ต้องขังที่ถูกจับในคดีหลบหนีเข้าเมืองและยาเสพติด ขณะนี้ได้สั่งเจ้าหน้าที่จับตาดูความเคลื่อนไหวอย่าให้มีการจับกลุ่มของผู้ต้องขัง และปิดกั้นข่าวสารเกี่ยวกับประท้วงในพม่า เพื่อป้องกันก่อความวุ่นวายในเรือนจำ

-การค้า-ทัวร์วูบวันละ30ล.

นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า แม้พม่าไม่ปิดด่านชายแดน ด้านอ.แม่สอด จ.ตาก ก็เหมือนปิด ส่งผลกระทบต่อสินค้าประเภทเครื่องอุปโภค-บริโภค ยารักษาโรคและน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากผู้ประกอบการค้าในพม่าไม่มั่นใจในสถานการณ์ ปิดกิจการหมดทั้งประเทศ งดสั่งสินค้าจากไทยไปย่างกุ้ง เพราะกลัวถูกปล้นระหว่างทางในการขนส่ง ทำให้สินค้าจากไทยด้านอ.แม่สอดตกค้างอยู่ในโกดัง ทำให้ไทยเสียโอกาสการค้าวันละกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปนานเท่าไร นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าต เหลือเพียง 2.50 บาท จากเดิม 2.60 บาท ต่อ 100 จ๊าต

ด้านจ.เชียงราย ล่าสุดการสั่งจองทัวร์ไปตามเส้นทางแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา โดยเฉพาะเส้นทางไปเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนแม่สายประมาณ 168 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบแล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวถอนหรือยกเลิกทัวร์ อย่างไรก็ตามผลกระทบถือว่าไม่เลวร้ายมากนักเนื่องจากไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว ขณะที่ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ยังคงเปิดตามปกติ

-"แอ้ด"แนะดึงจีน-สหรัฐแก้ปัญหาพม่า

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาเกิดขึ้นในพม่า ซึ่งไทยมักหนีไม่พ้นเพราะอยู่ในอาเซียน ซึ่งจะต้องมีปฏิกิริยาอะไรในนามของอาเซียนออกไปหรือไม่นั้น พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ได้คุยกันทั้งประเทศที่อยู่นอกอาเซียน กับประธานาธิบดีสหรัฐ โดยบอกว่าในส่วนของไทยเราไม่มีทรัพยากร มาตรการอะไรที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาพม่าดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราคงต้องการความช่วยเหลือ ต้องการความร่วมมือจากมิตรประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดว่ามีความจำเป็น เพราะพลังและศักยภาพของเราที่จะเข้าไปดำเนินการนั้น คงมีไม่พอ คำพูดหรือความร่วมมือก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเปิดช่องทางสำหรับการพูดคุยกัน นั่นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่ถ้าเราไม่มีช่องทางที่จะคุย โอกาสนั้นคงไม่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า จีนและอินเดียจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาพม่าได้อย่างไร และอาเซียนจะถูกมองว่ากำลังปล่อยให้กลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่านอกอาเซียนเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของการแทรกแซง แต่จะทำให้สถานการณ์ไม่ไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ทั้งจีนและอินเดียคงจะระมัดระวังในการดำเนินการ คงไม่ใช้วิธีการที่พม่ายอมรับไม่ได้ คิดว่าส่วนต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำ การจะแก้ปัญหาให้หมดไปภายใน 1-2 สัปดาห์เป็นเรื่องที่ยากลำบากเป็นอย่างมาก และปัญหาที่สำคัญอย่างที่ประเทศตะวันตกมองคือ เรื่องของประชาธิปไตย เรื่องการควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นมุมมองของทางตะวันตกว่าไม่ควรเป็นอย่างนั้น แต่ในส่วนของอาเซียนเราก็เห็นด้วยว่าไม่ควรควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี เป็นเวลานานๆ แต่การแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ เรามีศักยภาพพอหรือไม่ที่จะไปให้ข้อสังเกต ข้อเสนอ แล้วพม่าเองก็ยอมรับ เราคงไม่มีศักยภาพพอที่จะไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายให้เกิดขึ้นได้ ถ้าหากว่าประเทศที่เป็นเจ้าภาพไม่เห็นด้วย

-นัดชุมนุมเรียกร้องสันติวิธี

ด้านนายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง จนบาดเจ็บล้มตายไป รัฐบาลไทยควรร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน ในการกดดันรัฐบาลพม่า โดย 1.ขอให้รัฐบาลพม่าทบทวนนโยบายขึ้นราคาน้ำมันและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ โดยคำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 2.ขอเรียกร้องรัฐบาลพม่าให้ยุติการปราบปรามประชาชน และหาทางทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ทำให้รัฐบาลพม่าเร่งเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ได้รับการแจ้งจากเครือข่ายสันติวิธี และกลุ่มผู้สนับสนุนสันติวิธีว่าจะมีการนัดชุมนุมกันที่สถานทูตพม่าในวันที่ 28 ก.ย.เวลา 10.30 น.โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมจะนัดกันนุ่งขาวห่มขาว เพื่อเจริญสติภาวนาเพื่อสันติภาพในพม่า และในเวลา 19.00 น.วันเดียวกัน จะมีการจุดเทียนแสดงพลังแห่งแสงสว่างเพื่อสันติภาพในพม่า เป็นการสนับสนุนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนด้วยสันติวิธี และเรียกร้องรัฐบาลทหารพม่ามิให้ใช้มาตรการรุนแรงตอบโต้ประชาชนชาวพม่า

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนเครือข่ายพุทธิกา และตัวแทนองค์กร 17 องค์กร กล่าวภายหลังยื่นหนังสือถึงมหาเถรสมาคมว่า ต้องการเรียกร้องให้กรรมการมหาเถรสมาคม แสดงท่าทีต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธในพม่า เนื่องจากมีพระสงฆ์รวมทั้งประชาชนเสียชีวิต จึงต้องการส่งความปรารถนาไปถึงรัฐบาลพม่าให้ใช้วิธีอหิงสาและสันติวิธี ในการจัดการกับปัญหาหรือความเดือดร้อนต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย

-แม่ทัพ3เผยเตรียมพร้อมรับมือ

พล.ท.จิรเดช คชรัตน์ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 เตรียมสถานที่พักชั่วคราว เพื่อดูแลความปลอดภัย สำหรับชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์ เหมือนในอดีตที่เราให้ที่พักพิง เมื่อเหตุการณ์สงบก็ผลักดันกลับไป โดยเน้นย้ำให้ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 ได้เตรียมพร้อมตลอดแนวชายแดนไว้ตลอดเวลา ซึ่งระดับการป้องกันใช้แค่ระดับปกติ อย่างไรก็ตามพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่มีการโทรศัพท์ติดตามสถานการณ์ตลอด จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องประสานไปยังผู้นำทางทหารพม่าแต่อย่างใด

-คาดคนพม่าหนีร้อนพึ่งเย็น

นายโคทม อารียา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพม่าจะกระทบต่อคนไทยมากน้อยแค่ไหนว่า อาจเป็นผลให้คนไทยที่อยู่ในประเทศพม่าได้รับอันตรายและอาจจะทำให้ สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในประเทศพม่าเลวร้ายลง ซึ่งก็เหมือนกับเป็นการจุดประกายความร้อนแรง และจะทำให้มีคนหนีความร้อนแรงมาสู่ที่ร่ม และอาจจะเป็นผลให้ประชาชนพม่าอพยพเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้นไทยไม่ควรที่จะให้ความทุกข์ของคนอื่นมาเป็นความสุขของเราเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลไทยควรแสดงจุดยืนอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของเพื่อนบ้าน นายโคทมกล่าวว่า ควรจะทำทั้งทางตรงทางอ้อม ทางตรงควรพูดผ่านเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า หรือเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย รวมไปถึงการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน ทางอ้อมคือ จะต้องใช้เวทีระหว่างประเทศหรือมิตรประเทศที่มีบทบาทต่อประเทศพม่า ซึ่งรัฐบาลก็ควรที่จะแสดงจุดยืนออกมาให้เป็นรูปธรรมชัดเจน

เมื่อถามว่าศักยภาพของไทยในการที่จะไปเจรจากับประเทศพม่าจะมีน้ำหนักหรือไม่ นายโคทมกล่าวว่า อาจมีแต่มีน้อย แต่ว่าในฐานะที่ประเทศไทย และพม่าเป็นสมาชิกในองค์กรระหว่างประเทศร่วมกัน อาจทำให้ประเทศพม่าฟังได้บ้าง

หน้า 1

 


 
 
 
 ? แลกเปลี่ยนความรู้ - แสดงความคิดเห็นของท่านได้ที่นี่ ?
 โดยคุณ:   
อีเมลล์:   
ความเห็นท้ายข่าว:
? ? ? ? ? ? 
   

     
   หน้าที่ : [1] 

 
ความคิดเห็นที่ : 1           โดยคุณ : กำถั่ว

♣  ท่านโคทมเขามีหู เขาก็ฟัง แต่เขาไม่ทำตามหรอกเชื่อเหอะ ใครจะยอมสละอำนาจง่ายๆ ไม่ใช่บังธิวีรบุหลุดของไทยนี่ แค่ปีเดียวก็พอแล้ว



58.9.76.163
หากความเห็นนี้มีคำไม่เหมาะสมโปรดคลิกที่นี่!....
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
 
     
 
 
 
 

 
 




 













 
 
 
 |  มติชนรายวัน |  ข่าวสดรายวัน |  ประชาชาติธุรกิจ |  มติชนสุดสัปดาห์ |  ศิลปวัฒนธรรม |  เทคโนชาวบ้าน |  เส้นทางเศรษฐี |  ศูนย์ข้อมูล |  สำนักพิมพ์  | 
E-mail : webeditor@matichon.co.th 
Copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved. Design by Computer Department Matichon Information Center.   
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ก.ย. 2550, 10:15:00 โดย นก »