หมวด ผู้ทรงวิทยาคุณ (เกจิอาจารย์) > เกจิอาจารย์ภาคเหนือ

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

<< < (2/3) > >>

ทรงกลด:
อ่านประวัติ พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ได้ความรู้และความบันเทิงดีครับ เหมาะกับผู้สนใจและนักปฏิบัิติ ไว้ศึกษาพิจารณากัน



พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


๏ นิมิตในสมาธิ

ในพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนเจริญในการปฏิบัติธรรมมาก ท่านสังเกตว่าหลวงปู่ตื้อมักจะทราบล่วงหน้าว่า ใครจะมาหาจากนิมิตเสมอ แล้วจะบอกพระอาจารย์เปลี่ยนให้ทราบด้วย ในตอนแรกพระอาจารย์เปลี่ยนยังไม่เชื่อ ก็จะคอยดู เมื่อถึงเวลาก็มีคนมาหาหลวงปู่ตามที่ท่านพูดจริง ทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนพยายามที่จะเข้าสมาธิแล้วเห็นนิมิตให้เร็วที่สุด (คือฝึกการใช้อนาคตังสญาณ) จนทำได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านรู้ได้ทันทีว่ามีใครมา มากี่คน แต่งกายอย่างไร เสื้อสีอะไร ลวดลายอย่างไร มาด้วยวัตถุประสงค์อะไรอย่างมิตรหรืออย่างศัตรู เมื่อเห็นแล้วจะเล่าให้หลวงปู่ตื้อทราบ ซึ่งหลวงปู่ก็รู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว

หลวงปู่ตื้อเคยพูดถึงเรื่องพระหมา พระแมว พระควาย ฯลฯ ว่าเป็นเพราะจิตใจตกต่ำเหมือนสัตว์อย่างนั้น จึงแสดงออกมาให้เห็นสัตว์ต่างๆ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ขอให้หลวงปู่อธิบายถึงนิมิตแปลกๆ เช่น เห็นคนเดินมาแล้วเปลี่ยนเป็นสุนัข จากสุนัขเป็นแมว เมื่อเข้ามาใกล้ก็กลับกลายเป็นคนเช่นเดิมนั้น เป็นเพราะจิตมีหลายระดับ แทรกกันเข้ามาตามลำดับ และได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมอีกคือ

- นิมิตเห็นคนธรรมดา นุ่งห่มด้วยสีเหลือง แสดงว่าจิตของผู้นั้นเป็นผู้มีสมาธิ มีใจเป็นพระ
- คนนุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าขาว แสดงว่าจิตของผู้นั้นเป็นผู้ที่มีศีลห้าเป็นปกติ มีใจเป็นเทพ
- คนนุ่งห่มด้วยชุดดำ แสดงว่าเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์
- ถ้าชุดดำและเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ขาด แสดงว่าจิตต่ำลงไปกว่าความเป็นคน

นิมิตที่แสดงว่าต่ำไปเรื่อยๆ ก็คือมาในรูปของควาย สุนัข ถ้าเป็นงูแสดงว่าต่ำหยาบช้าที่สุด มีนิมิตของผู้เป็นพระในลักษณะต่างๆ ที่ท่านพบมาดังนี้

- นุ่งสบง คลุมจีวร พาดสังฆาฏิ แสดงว่ามีศีลสมาธิและปัญญาดี เรียกว่าเป็นพระที่สมบูรณ์
- คลุมแต่จีวรมา แสดงว่ามีสมาธิดี นุ่งสบงใส่อังสะ แสดงว่ามีศีลบริสุทธิ์
- คลุมด้วยจีวรขาด แสดงว่าสมาธิที่เคยมีเสื่อมถอย
- ใส่กางเกง แสดงว่ามีศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่างพร้อย

ขณะที่พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง หากได้รับนิมิตพระดังกล่าวแล้ว ท่านมีเวลาว่างจะไปพบพระผู้นั้นเพื่อตักเตือนให้ประพฤติปฏิบัติดีขึ้น แม้จะอยู่คนละวัดก็ตาม


๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 6 จ.เชียงใหม่

ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้ชวนสามเณรองค์หนึ่ง เดินธุดงค์ไปพักปฏิบัติธรรมอยู่วัดป่าสะลวง บ้านสะลวงนอก ต.สะลวง อ.แม่ริน จ.เชียงใหม่ จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ ท่านนึกถึงพระพุทธบาทสี่รอยซึ่งหลวงปู่ตื้อเล่าให้ฟัง จึงอยากจะไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ต.สะลวง อ.แม่ริน

เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว จึงสะพายบาตรแบกกลด พร้อมอัฐบริขาร ออกเดินทางกับสามเณรองค์หนึ่ง จาก อ.แม่แตง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านบ้านกาวฮาว บ้านหนองแหวน บ้านหนองกาย แล้วเดินเข้าป่า ขึ้นเขาลงห้วยไปตามความสูงของเขาที่ผ่าน อาศัยด่านสัตว์และทางม้าทางโคทางของชาวบ้าน ที่เดินกันอยู่ในขณะนั้น เขาบางลูกสูงมากต้องพักกัน 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 ต้องค่อยๆ เหนี่ยวกิ่งไม้ขึ้นไป บางครั้งต้องช่วยกันฉุดขึ้นไป สามเณรที่ติดตามไปด้วยเกิดท้อถอย แต่พระอาจารย์เปลี่ยนพูดปลุกปลอบใจว่า เรามุ่งหน้ามาหาความสงบ ต้องการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง จึงต้องอดทนไม่ท้อถอย ครูบาอาจารย์ท่านยังทำได้ เราเป็นศิษย์ต้องทำให้ได้อย่างอาจารย์ ทำให้สามเณรเกิดกำลังใจ เมื่อเดินพ้นเทือกเขาที่สูงที่สุดแล้ว มองลงมาเห็นหมู่บ้านแม่แตงลิบๆ การเดินทางลงเขาก็ต้องระมัดระวังเท่ากับการขึ้นเขาเหมือนกัน ถ้าพลาดพลั้งตกเขาก็จะบาดเจ็บได้ เมื่อลงมาถึงข้างล่างได้พบลำธารซึ่งมีน้ำใสไหลเย็น จึงหยุดพักผ่อน เติมน้ำจนเต็มกระติก แล้วเดินทางต่อไป

การเดินทางในช่วงหลังนี้ ค่อนข้างจะง่ายกว่าช่วงแรกๆ เขาที่ต้องเดินข้ามไม่สูงชันนัก บางครั้งเดินผ่านสวนเมี่ยงของชาวไร่ บางครั้งเดินเลียบลำธาร แต่เป็นทางเดินสะดวก จากบ้านสะลวงจนถึงพระพุทธบาทสี่รอย เมื่อเวลา 6 โมงเย็นวันเดียวกัน รวมเวลาเดินทางทั้งสิ้น 9 ชั่วโมง ปรากฏว่าอากาศที่นั่นเย็นมาก และเริ่มมืดลง เมื่อนั่งพักใต้ต้นไทรหน้าวิหารจนหายเหนื่อยแล้ว จึงสำรวจพระพุทธบาทสี่รอยอย่างคร่าวๆ


๏ ประวัติพระพุทธบาทสี่รอย

เชื่อกันว่าพระพุทธบาทสี่รอยเป็นรอยพระพุทธบาทองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ แต่ละองค์ได้มาประทับรอยไว้ เพื่อให้ประชาชนในยุคหลังได้กราบไหว้ รอยพระพุทธบาททั้งสี่ซ้อนกันอยู่บนแท่นหินสูงจากดิน รอยใหญ่อยู่ข้างบน รอยขนาดย่อมกว่าจะอยู่ลึกลงไปเป็นชั้นๆ นับได้สี่รอย มีวิหารหลังใหญ่ปลูกคร่อมพระพุทธบาทสี่รอยไว้ (ซึ่งครูบาศรีวิชัยได้สร้างขึ้น ขณะท่านไปก่อสร้างและบูรณะวัดต่างๆ ที่เชียงใหม่) วิหารมีสภาพทรุดโทรมมาก ไม่มีคนดูแลและบำรุงรักษา เนื่องจากความเมื่อยล้าและอากาศหนาวเย็น พระอาจารย์เปลี่ยนจึงงดสรงน้ำ และได้ขึ้นไปทำวัตรสวดมนต์เย็นในวิหารตรงรอยพระพุทธบาท นั่งทำความเพียรแล้วก็ต่างเข้ากลดในบริเวณวิหารนั่นเอง ตกดึกอากาศหนาวเย็นมากขึ้นต้องใช้มุ้งกลดมาคลุมห่อร่างกาย ส่วนสามเณรต้องลุกขึ้นมาก่อไฟสู้กับอากาศหนาว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงจำวัดได้เพียงชั่วโมงเศษ ก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติความเพียรต่อ ที่พระพุทธบาทสี่รอยในปีนั้น เป็นปีที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ที่ท่านได้พบมาในชีวิตการเดินธุดงค์

รุ่งขึ้นเช้าได้ออกบิณฑบาตใกล้ๆ กับพระพุทธบาทสี่รอย มีชาวบ้านใส่บาตรเพียง 3 บ้าน ได้กล้วยมา 2 ลูก และข้าวเหนียวเล็กน้อย ด้วยความสงสารสามเณรที่ยังต้องเจริญเติบโต ต้องการอาหารมากว่า พระอาจารย์เปลี่ยนจึงแบ่งข้าวเหนียวและกล้วย 1 ลูกครึ่งให้สามเณร ตัวท่านเองฉันกล้วยเพียงครึ่งลูกเท่านั้น เมื่อฉันอาหารเสร็จและปฏิบัติกิจของสงฆ์แล้ว ได้สังเกตดูเห็นว่า พระพุทธบาทสี่รอย พระพุทธบาทเต็มไปด้วยใบไม้และหญ้า จึงคิดจะทำความสะอาดรอยพระพุทธบาท แต่มีป้ายติดห้ามคนลงไป ท่านจึงได้ยกเหตุผลต่างๆ ขึ้นมาพิจารณา แล้วกราบลงข้างรอยพระพุทธบาทอธิษฐานว่า ท่านมีความปรารถนาจะลงไปทำความสะอาดรอยพระพุทธบาททั้งสี่รอยนี้ให้แลดูสวยงามขึ้น ขออย่าให้การล่วงละเมิดครั้งนี้ต้องเป็นบาปกรรมเลย และขอให้งดโทษและอโหสิกรรมแก่ท่านด้วย อธิษฐานเสร็จแล้วจึงก้มลงกราบ แล้วปีนขึ้นไปที่รอยพระพุทธบาทรอยเล็กซึ่งอยู่ล่างสุด เก็บเศษใบไม้ ใบตอง หยากไย่ และเช็ดถูจนสะอาดแล้ว จึงปีนลงมาข้างล่างก้มกราบอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นท่านได้พิจารณาบริเวณโดยรอบซึ่งมีต้นหญ้าขึ้นเต็มไปหมด จึงได้ขอยืมขอบก (จอบ) จากชาวบ้านมาให้สามเณรดายหญ้าจนเสร็จในตอนเย็น แล้วพระอาจารย์เปลี่ยนก็ใช้บริเวณข้างวิหารเป็นที่เดินจงกรม ขณะเดินจงกรมจะมีงูตัวแดงๆ ยาวประมาณ 75 เซนติเมตร มีหงอนด้วย (ทราบภายหลังว่าเป็นงูเห่าไฟ) มานอนอยู่ในทางเดินจงกรมเกือบตลอดเวลา บางตัวนอนอยู่ บางตัวก็เลื้อยข้ามไป ท่านไม่กลัวจึงเดินข้ามและได้แผ่เมตตาให้งูเหล่านั้น

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่พระพุทธบาทสี่รอยได้ระยะหนึ่ง ก็มีหลวงตาแก่ๆ จากบ้านหนองกาย มาพักปฏิบัติธรรมด้วยวันหนึ่ง ท่านได้ไปสนทนากับหลวงตาและสามเณร ปรากฏว่ามีงูสองตัวเลื้อยตามไปขดตัวอยู่ในซอกหิน และยกหัวขึ้นฟังคำสนทนาจนกระทั่งเลิกเป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง เป็นที่น่าสังเกตว่างูจะมาอยู่ในทางเดินจงกรมของท่านเพียงองค์เดียว ไม่ไปขวางทางเดินจงกรมของหลวงตาหรือของสามเณรเลย และตั้งแต่สามเณรทำความสะอาดบริเวณพระพุทธบาทแล้ว มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ว่าจะไปธุดงค์ที่ใดไม่เคยเจ็บป่วย ซึ่งคงจะเป็นอานิสงส์จากการทำความสะอาดครั้งนี้ก็ได้


๏ บ้านผาแด่น ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง

หลังจากพักปฏิบัติธรรมที่พระพุทธบาทสี่รอยพอสมควรแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ต่อไปยังบ้านผาแด่น (เป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยง และเป็นที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม) การเดินทางช่วงนี้ลำบากขึ้น เพราะน้ำค้างลงหนักมากคล้ายฝนตก ดินชุ่มชื้นทางเดินลื่น จนทำให้ท่านลื่นไถลลงเขาไปหลายเมตร พระอาจารย์เปลี่ยนและสามเณรไปถึงบ้านผาแด่น เมื่อเวลาพลบค่ำ เมื่อเดินเข้าไปใกล้หมู่บ้านก็มีเด็กและผู้ใหญ่ออกมารับช่วยถืออัฐบริขาร และสะพายบาตร เดินนำไปส่งที่สำนักสงฆ์ของหมู่บ้าน เพราะหลวงปู่ชอบเคยมาอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว และได้ฝึกชาวบ้านจนรู้จักขนบธรรมเนียมที่จะปฏิบัติพระ

สำนักสงฆ์บ้านผาแด่นขณะนั้น มีพระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต พักปฏิบัติธรรมอยู่ แต่ท่านจะมาที่หมู่บ้านเวลาเช้าเพื่อบิณฑบาตร ฉันเสร็จจะปลีกตัวเข้าไปอยู่ในป่า ไม่พักในบริเวณสำนักสงฆ์ เพราะท่านเคยโดนพวกโจรจี้และทำร้าย เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนมาพัก จึงอยู่กับสามเณรเท่านั้น แต่สามเณรพักอยู่ไม่นานต้องย้ายไปอยู่กับหลวงปู่สาม อกิญจโน ที่บ้านแม่หลอดเพราะฉันอาหารของชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีกลิ่นคาวมากไม่ได้

เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนอยู่องค์เดียว จึงเร่งปฏิบัติตามความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน สลับกันไป ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อทำความเพียรจนพอใจแล้ว ท่านคิดเป็นห่วงสามเณรว่าเดินทางไปองค์เดียว ตามเส้นทางที่ชาวกะเหรี่ยงบอก เกรงว่าสามเณรจะไม่พบกับหลวงปู่สาม จึงบอกลาชาวบ้านที่ผาแด่นเพื่อเดินทางไปบ้านแม่หลอด ต้องเดินทางเข้าป่า ขึ้นเขาลงห้วยไปไม่นานนักก็ถึงบ้านแม่หลอด ได้พบสามเณรอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สาม และพระอาจารย์จันดี เขมปัญโญ ซึ่งเคยธุดงค์ไปทางใต้ด้วยกันอยู่ที่นี้ด้วย


๏ บ้านแม่หลอด ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง

ทั้งพระอาจารย์จันดี และหลวงปู่สาม ได้ชักชวนพระอาจารย์เปลี่ยน ขอให้เนสัชชิก (คือปฏิบัติธรรมในอิยาบถนั่ง) เพราะเป็นวันอุโบสถศีล พระอาจารย์เปลี่ยนจึงไม่ขัดข้อง แต่ขอไปพักผ่อนก่อนเพราะเดินทางมาเหนื่อยทั้งวัน นอนพักอยู่ครึ่งชั่วโมงจึงเข้ามาร่วมทำวัตรสวดมนต์เย็น และนั่งปฏิบัติธรรมตามที่ตกลงกันไว้

เนื่องจากอากาศที่บ้านแม่หลอดหนาวเย็น เมื่อนั่งปฏิบัติไปได้สัก 3 ชั่วโมงกว่า พระอาจารย์จันดีได้นั่งจนศีรษะเอนมาโดนพระอาจารย์เปลี่ยน ท่านจึงขอให้พระอาจารย์จันดี ไปนั่งห่างๆ ส่วนสามเณรได้ลงจากกุฏิไปพักผ่อนเมื่อเวลาเที่ยงคืน พระอาจารย์จันดีได้ลุกหนีออกไปอีกองค์ ประมาณตีสอง จึงเหลือเพียงสององค์นั่งปฏิบัติกันต่อไป จนประมาณ 05.30 น. หลวงปู่สามได้ลุกขึ้นไปผิงไฟ แล้วกลับมาเรียกพระอาจารย์เปลี่ยนเมื่อเวลา 06.00 น. เพื่อออกบิณฑบาต

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:
๏ บ้านแม่จิว ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง

พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่บ้านแม่หลอดได้ประมาณ 1 เดือน จึงชวนสามเณรเดินทางกลับ ได้เดินทางผ่านบ้านแม่จิว ห่างจากบ้านแม่หลอดประมาณ 4 กิโลเมตร ท่านได้ขอชาวบ้านช่วยปลูกกระต๊อบให้พัก แต่ชาวบ้านมีข้อแม้ว่า พระอาจารย์เปลี่ยนและสามเณรจะต้องพักจำพรรษาที่นั่น จึงปลูกให้ พระอาจารย์เปลี่ยนเห็นว่า หากอยู่ที่เดียวนานๆ จะทำให้ติดสถานที่ และท่านเองยังอยู่ในระหว่างแสวงหาความรู้จึงปฏิเสธไป

ที่บ้านแม่จิวนี้ หลวงปู่สามเคยมาพักปฏิบัติธรรมอยู่ 14 วัน พระอาจารย์เปลี่ยนได้พบกุฏิที่ชาวกะเหรี่ยงได้สร้างให้หลวงปู่สาม เมื่อ 2 ปีก่อน แต่สร้างไม่เสร็จ และได้พบบ่อน้ำหลวงปู่สามเคยให้ขุด แต่ขุดไม่สำเร็จ หลวงปู่สามก็เดินทางจากไปเสียก่อน บ่อน้ำนี้ขุดไว้ข้างๆ ลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านมา พระอาจารย์เปลี่ยนได้ยืนดูน้ำในบ่อที่ผุดขึ้นมาแรงขึ้นๆ คล้ายกับปลาช่อนเอาหางตีน้ำให้แตกกระจาย น้ำเริ่มวนเป็นวงกลมและขุ่นขึ้นเรื่อยๆ ท่านยืนดูจนน้ำหยุดนิ่ง จึงเดินกลับขึ้นไปและตรวจดูบริเวณนั้น พบว่าที่บ่อน้ำมีพญานาคอาศัยอยู่ เป็นพญานาคที่มีใจหยาบ โกรธง่าย ไม่อยากรับศีล ชอบลองฤทธิ์ เมื่อมีพระไปอยู่จึงแสดงออกไม่ยอมรับ เกรงว่าจะต้องรับศีลฟังธรรม

พระอาจารย์เปลี่ยนได้เดินทางจากบ้านแม่จิว กลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสะลวง อีกเป็นเวลา 8 วัน จึงเดินทางกลับวัดป่าพระอาจารย์ตื้อ พักอยู่วัดนี้ระยะหนึ่ง จึงย้อนกลับไปที่วัดป่าสะลวงอีกครั้ง คราวนี้ได้พบกับหลวงปู่สาม พระอาจารย์คำแปง พระอาจารย์ศรีจันทร์ และพระอาจารย์จันดี ซึ่งต่างก็เร่งทำกลดของตนเองเพื่อออกธุดงค์ต่อ


๏ กุฏิส่วนตัวที่วัดป่าสะลวง

ระหว่างอยู่ที่วัดป่าสะลวง พระอาจารย์เปลี่ยนได้สร้างกุฏิเพื่ออยู่อาศัยหลังหนึ่ง โดยชาวบ้านศรัทธาบริจาคกระเบื้อง ไม้ และวัสดุก่อสร้างให้ ท่านต้องขึ้นๆ ลงๆ หยิบเครื่องมือของใช้ต่างๆ เพียงองค์เดียว ไม่มีใครช่วยเหลือการก่อสร้างครั้งนี้เลย

พระอาจารย์เปลี่ยนพักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสะลวงระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางกลับไปหาหลวงปู่ตื้ออีก จากนั้นออกธุดงค์ไปหาพระอาจารย์จาม มหาปุญโญ วัดจิตตวนาราม บ้านช่อแล อ.แม่แตง ได้สนทนาแลกเปลี่ยนการปฏิบัติธรรม พระอาจารย์จามได้เทศน์ให้พัง และได้ฝึกหัดการภาวนากับท่านด้วย รูปร่างท่านอ้วนมากไม่สามารถนั่งปฏิบัติ ท่านจึงใช้อิริยาบถอื่นในการทำภาวนา (ปัจจุบันพระอาจารย์จามอยู่ที่วัดป่าวิเวกพัฒนารวม บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร)


๏ ดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว

ใกล้เข้าพรรษาที่ 6 พระอาจารย์เปลี่ยนตั้งใจจะหาครูบาอาจารย์ที่เป็นนักปฏิบัติ พอที่ท่านจะปฏิบัติตามได้ ในระหว่างนี้ท่านได้พบกับพระกลุ่มใหม่ คือ พระอาจารย์วิสูตร พระอาจารย์อุดม พระอาจารย์ประสิทธิ์ พระอาจารย์คำบ่อ ฐิตปัญโญ ทุกองค์คิดจะไปหาหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งในขณะนั้นได้ไปอยู่ดอยแม่ปั๋งแล้ว (พ.ศ. 2507)

การไปดอยแม่ปั๋ง จะต้องเดินข้ามดอยอีกหลายลูก มีดอยแม่ตองสูงใหญ่ที่สุด ทั้ง 4 องค์ต้องพักเป็นระยะถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งถึงยอด ส่วนพระอาจารย์เปลี่ยน รับภาระช่วยสะพายบาตรและกระติกน้ำของพระอาจารย์อุดมด้วย ท่านเดินทางจากเชิงดอยจนถึงยอดดอย โดยไม่พักระหว่างทางเลย

เมื่อไปถึงดอยแม่ปั๋ง ได้พบพระอาจารย์หนู สุจิตโต และกราบนมัสการขอพักและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่แหวนแล้ว คณะทั้งหมดก็ไปกราบหลวงปู่แหวน ณ กุฏิหลังเก่า ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังเหล็กๆ อยู่ข้างทางจงกรม (ปัจจุบันกุฏิหลังนี้ใช้เป็นที่เก็บของ) ขณะนั้นหลวงปู่แหวนยังไม่มีใครรู้จักมาก ในวัดจึงมีกุฏิอยู่ไม่กี่หลัง มีพระอาจารย์หนูเป็นผู้ปฏิบัติหลวงปู่แหวนเท่านั้น ซึ่ง ไม่ต้องรับภาระมากเท่ากับสมัยที่หลวงปู่แหวนเป็นที่รู้จัก และมีอายุมากขึ้นจนต้องดูแลท่านอย่างใกล้ชิด

หลวงปู่แหวนได้กล่าวกับคณะทั้งหมดว่า “มรรค ผล นิพพาน ยังมีอยู่ครบบริบูรณ์ พวกท่านจงพยายามทำกันนะ” เมื่อรับโอวาทแล้ว จึงกลับลงมาทำกิจส่วนตัวแล้วทำวัตรสวดมนต์เย็น หลังจากนั้นพระอาจารย์เปลี่ยนได้นั่งภาวนาและเดินจงกรมต่อ ขณะนั้นเป็นเวลาตีสอง พระอาจารย์หนูได้ก่อไฟให้หลวงปู่แหวนผิงไฟ หลวงปู่เห็นพระอาจารย์เปลี่ยนยังไม่นอน จึงพูดกับพระอาจารย์หนูว่า “ตุ๊นี่มันเอาจริง มันเดินมาทั้งวันแล้ว มันยังไม่พัก” เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนได้ยินคำชมของหลวงปู่แหวน ก็มีกำลังใจมากขึ้น จึงเดินจงกรมต่อไปอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย คืนแรกที่พระอาจารย์เปลี่ยนไปถึงได้นอนพักประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

คืนที่สอง ได้ไปปฏิบัติธรรมในวัดลัง นั่งภาวนาก็เห็นนิมิตว่าหลวงปู่แหวน นำทองคำมายื่นให้ท่านหนึ่งก้อน ขนาดเท่าผลมะตูม แล้วพูดว่า “นี่ก้อนทองคำ เอาทองคำให้มันได้ทองคำ” พระอาจารย์เปลี่ยนตอบปฏิเสธไม่รับก้อนทองคำ เพราะเป็นของธรรมดา เป็นธาตุ ไม่ทราบจะเอาไปใช้ประดับอะไร หลวงปู่แหวนจึงบอกว่า “กลืนทองคำนี้ลงไปไว้ในใจ ก้อนทองคำที่เราจะให้นี้คือ ทำใจของเราให้เหมือนก้อนทองคำ ให้มันเป็นทองคำ ให้มันเย็นฉ่ำอยู่ข้างใน ไม่ให้โกรธใคร ไม่ให้เกลียดใคร ให้เหมือนกับว่ามันวางอยู่เฉยๆ ใครจะด่า ใครจะว่า ก็ให้เฉยๆ เหมือนกับก้อนทองคำนี้ ทองคำเป็นของมีค่า ฉะนั้นต้องทำใจ ให้เหมือนกับทองคำ”

พระอาจารย์เปลี่ยนเข้าใจคำพูดของหลวงปู่แหวนในนิมิต จึงเกิดปลื้มปิติออกจากสมาธิลืมตามาดู เห็นหลวงปู่กำลังนั่งผิงไฟอยู่องค์เดียว พระอาจารย์เปลี่ยนจึงลุกออกมาเดินจงกรมอีก จนพอใจแล้ว จึงมาช่วยสุมไฟ หลวงปู่ได้บอกว่า “เอาดีๆ เน้อ” เมื่อท่านปฏิบัติหลวงปู่แหวนแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้กลับไปยังกุฏิและทำความเพียรต่อ

ระหว่างอยู่กับหลวงปู่แหวน พระอาจารย์เปลี่ยนได้ทำความเพียรอย่างไม่ท้อถอย เพราะอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ที่สามารถให้คำสั่งสอนและปฏิบัติเป็นเยี่ยงอย่างได้ ท่านจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะสนองคุณครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ โดยท่านและพระอาจารย์คำบ่อไปทำความสะอาดกุฏิของหลวงปู่และของพระอาจารย์หนู ต่อจากนั้นช่วยกันสรงน้ำหลวงปู่และพระอาจารย์หนูในตอนเย็นด้วย

พระอาจารย์เปลี่ยนและคณะพักปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ที่ดอยแม่ปั๋งได้ 16 วัน ก็กราบลาหลวงปู่เพื่อออกเดินทางและแสวงหาครูบาอาจารย์ต่อไป โดยพระอาจารย์เปลี่ยนและพระอาจารย์วิสูตร แยกกลุ่มธุดงค์ไปอำเภอสันกำแพง พักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี กับพระอาจารย์ทองบัว ได้ 20 วัน จึงเดินทางต่อไปยังวัดสันป่าตึง ไปกราบครูบาร่า ซึ่งได้แนะนำให้ไปพักที่วัดเชียงแสนน้อย เป็นวัดร้างอยู่ในป่า เขต อ.สันกำแพง เช่นเดียวกัน


๏ วัดเชียงแสนน้อย อ.สันกำแพง

เมื่อไปถึงวัดเชียงแสนน้อย เกิดมีลมพายุพัดปั่นป่วนขึ้นในบริเวณวัดประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไม่มีฝน เมื่อพายุสงบ จึงไปสรงน้ำแล้วกลับมาทำวัตรเย็น พระอาจารย์วิสูตรท่านเหนื่อยจึงนอนสูบบุหรี่ พระอาจารย์เปลี่ยนได้นั่งภาวนาต่อ ได้เกิดพายุขึ้นมาอีกครั้ง ท่านจึงหาของหนักๆ ทับมุ้งกลดไว้ไม่ให้ปลิวไปตามลม แล้วนั่งสมาธิต่อ ปรากฏว่ามีเจ้าที่มาสองคน นุ่งแต่กางเกงไม่ใส่เสื้อ สักลายไปหมดทั้งตัว ถือคันธนูและมีแล่งธนูสะพายอยู่ข้างหลัง คนหนึ่งได้จับขาพระอาจารย์วิสูตร อีกคนเอามือไปกดรัดคอ พระอาจารย์เปลี่ยนได้ยินเสียงพระอาจารย์วิสูตรร้องครางในลำคอ และดิ้นถีบบาตรมุ้งและกลดกระเด็นไปหมด จึงถามพระอาจารย์วิสูตรว่าเป็นอะไร ตอบว่า ผีตัวใหญ่มาก 2 ตัว มาบีบคอเจ็บจนพูดออกมาไม่ได้ พระอาจารย์เปลี่ยนจึงบอกว่า เรามาปฏิบัติภาวนา ต้องเดินจงกรมไม่ควรมานอนเฉย พระอาจารย์วิสูตรจึงเริ่มปฏิบัติแต่ก็ไม่จริงจังนัก

วันรุ่งขึ้นก่อนบินฑบาต พระอาจารย์เปลี่ยนได้บอกกับพระอาจารย์วิสูตรว่า “จะมีคนใส่บาตร 3 บ้าน บ้านแรกจะมีเด็กวิ่งออกมารับ เด็กคนนั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นหลาน บ้านที่สองเป็นโยมเฒ่าและผู้หญิงที่เคยเป็นภรรยาในอดีตชาติ บ้านที่สามจะมีเด็กวิ่งออกมา ชื่อ สุวรรณ เคยเป็นหลานเช่นเดียวกัน” เช้าวันนั้นทั้งสององค์ออกบิณฑบาติโดยเดินไปทางทิศตะวันตกของวัด และได้พบคนใส่บาตร 3 บ้าน ดังที่พระอาจารย์เปลี่ยนได้บอกไว้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า นิมิตจากสมาธิของท่านเป็นจริง

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:
๏ ยานวิเศษ

พระอาจารย์เปลี่ยนพักอยู่ที่วัดเชียงแสนน้อยได้ 15 วัน วันหนึ่งได้รับนิมิตว่า มีผู้นั่งยานลงมาจากสวรรค์ ลักษณะคล้ายๆ คลื่น หรือคล้ายๆ กับหลังนาคที่บันได แต่หัวตัดไม่ใช่หัวพญานาค ประดับประดาสวยงาม มาด้วยกัน 2 ลำ ลำใหญ่ 1 ลำ ลำเล็ก 1 ลำ พวกที่ไม่ได้นั่งยาน ก็ลอยลงมาจากสวรรค์ เมื่อลงมาถึงที่ใกล้เจดีย์ พระอาจารย์เปลี่ยนได้กำหนดจิต ถามผู้ที่นั่งมาในยานลำใหญ่ถึงสาเหตุที่มา ได้คำตอบว่า มาเยี่ยมวัดเก่า ตัวเขาชื่อราชมนตรีเทพบุตร เมื่อเป็นมนุษย์ชื่อว่า หมื่นดาบเจริญ เป็นผู้สร้างวัดนี้กับบริวารทั้งหลาย เหตุที่สร้างวัดเพราะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าจึงสร้างบารมีเป็นพุทธภูมิ ปัจจุบันอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เขารู้จักพระอาจารย์เปลี่ยนเพราะเคยสร้างวัดมาด้วยกัน ตอนนั้นพระอาจารย์เปลี่ยนเป็นทหารเอกคุมกองทัพของเขา ส่วนผู้ที่นั่งมาในยานลำเล็กนั้นเป็นลูกชาย


๏ ต้นมะม่วง

ที่วัดเชียงแสนน้อย มีตุ๊กแกตัวหนึ่งร้องมาจากต้นมะม่วงทุกๆ 5 นาที วันหนึ่งพระอาจารย์เปลี่ยนได้กำหนดจิตดูเสียงตุ๊กแกร้องจากข้างบนต้นลงมาเกือบจะถึงพื้นดิน ปรากฏร่างของหลวงพ่อองค์หนึ่งห่มผ้ามาหา ท่านจึงถามถึงเหตุที่มาอยู่ที่ต้นมะม่วง ได้คำตอบว่าเป็นห่วงต้นมะม่วง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงบอกให้หลวงพ่อไปเกิดเสีย อย่าห่วงต้นมะม่วงเลย แต่หลวงพ่อก็ไม่ยอมไป บางครั้งพระอาจารย์เปลี่ยนจะออกบิณฑบาตเดินผ่านต้นมะม่วง ก็จะเอามือตบต้นมะม่วงแล้วบอกให้หลวงพ่อไปเกิด จะฟันต้นมะม่วงทิ้งแล้ว ต้นมะม่วงนี้ปลูกขึ้นมาพร้อมกับการสร้างวัด หรือหลังสร้างวัดเล็กน้อย สมภารองค์ต่อมาห่วงใยต้นมะม่วงเพราะตายไป 1 ต้น โค่นไป 1 ต้น เหลืออีก 2 ต้น เป็นต้นเล็กมีตุ๊กแกหรือหลวงพ่อรักษาซึ่งเป็นต้นกลม สวยงามมาก อีกต้นหนึ่งเป็นต้นใหญ่ประมาณ 3 คนโอบ มีโพรงอยู่ที่ลำต้นที่เทพรักษา

ในวันวิสาบูชา ชาวบ้านจากสองตำบล นำโดยครูบาร่าจะพาชาวบ้านมาเวียนเทียนรอบเจดีย์ เวลากลางวันแดดร้อนชาวบ้านจะใช้ร่มเงาต้นมะม่วงเป็นที่พักผ่อน แต่ในเวลากลางวันนั้นมะม่วงกำลังให้ผลแล้วจึงหล่นลงมาตลอดเวลา ชาวบ้านซึ่งไปพักอยู่ใต้ร่มไม้ คงจะโดนมะม่วงหล่นใส่หัวบ้าง พระอาจารย์เปลี่ยนจึงแหงนหน้าพูดกับเทพบนต้นไม้ ให้จับมะม่วงไว้ให้ดี อย่างให้หล่นมาโดนชาวบ้าน ผลมะม่วงจึงหยุดหล่นประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อชาวบ้านออกจากร่มไม้แล้ว มะม่วงจึงร่วงลงมาถี่ๆ ตลอดเวลาเหมือนคนขึ้นไปเขย่ากิ่งให้หล่น ซึ่งคงจะเท่ากับจำนวนที่ถูกห้ามไม่ให้หล่นนั่นเอง


๏ เจดีย์

นอกจากนั้นมีเจดีย์องค์หนึ่ง ที่สร้างพร้อมกับวัด เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนนั่งสมาธิตรวจดู จะเห็นเณร 7 องค์ วิ่งอยู่รอบๆ เจดีย์ เล่ากันว่า เคยมีผู้มาขุดในเวลากลางวันสองหน แต่ไม่สำเร็จเพราะเกิดฟ้าผ่าขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ก่อนวันวิสาขบูชา ชาวบ้านมาทำความสะอาดเจดีย์กัน แต่ทำกันเฉพาะส่วนล่าง ไม่มีใครขึ้นไปทำส่วนบน พระอาจารย์เปลี่ยนจึงให้ทำบันไดพาดขึ้นไปเพื่อจะถอนหญ้า ซึ่งขึ้นอยู่ส่วนบนออก

พระอาจารย์เปลี่ยนบิณฑบาต 3 หมู่บ้าน ไม่ไกลกันนัก คือ บ้านสะลวงนอก บ้านสะลวงใน และบ้านกาวฮาว โดยท่านบิณฑบาตหมู่บ้านละ 1 อาทิตย์ สลับกันไป

ท่านตั้งใจว่าจะฝึกตัวเองให้มีความชำนาญมากขึ้นในการใช้สติควบคุมสมาธิ เพราะท่านคิดจะสอนญาติโยมผู้สนใจให้ปฏิบัติธรรมได้ ท่านคิดว่าถ้าท่านยังไม่รู้เรื่องอารมณ์จิตอย่างแท้จริงและละเอียดลออแล้ว จะยังไม่สอน ท่านจึงฝึกตามจิตโดยการเข้าสมาธิอย่างช้าๆ บางครั้งจิตท่านกำลังดิ่งลงสู่ความสงบอย่างรวดเร็ว ท่านต้องฝืนจิตไม่ให้เร็วเกินไป เพื่อพิจารณาอารมณ์ของจิตว่าก่อนจิตจะเป็นสมาธินั้น มีขั้นตอนการเข้าสู่ความสงบอย่างไร วางอารมณ์อะไรอย่างไร เมื่อไรและที่ไหน ท่านจะสอนสิ่งที่ยากให้เป็นง่ายโดยใช้ปัญญาเป็นหลัก

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ฝึกฝนและปฏิบัติตามที่ท่านตั้งใจไว้ ท่านเห็นว่าจะต้องมีผู้ไม่รู้อีกจำนวนมาก ที่ตามคำสอนคำอธิบายของท่านไม่ทัน เพราะมีคนเพียงส่วนน้อยที่จะเข้าใจใช้สติตามรู้สมาธิ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติที่ลำบาก จิตจะเข้าสู่ความสงบรวดเร็วมากจนกระทั่งไม่รู้อะไร เปรียบเหมือนการนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ผู้นั่งไม่สามารถเห็นรายละเอียดมากนักเพียงแต่เห็นภาพที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไปเชียงใหม่โดยรถยนต์ ซึ่งใช้เวลามาก จะทำให้ผู้ใช้รถสามารถแจกแจงสภาพต่างๆ ของเส้นทางที่ผ่านได้ละเอียดกว่า

พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่ที่วัดป่าสะลวงเพียงองค์เดียว ทำให้การปฏิบัติสะดวกยิ่งขึ้น เพราะสามารถกำหนดเวลาการปฏิบัติงานได้ตามลำพังไม่ต้องพะวงถึงคนอื่นๆ ท่านได้เพียรฝึกใช้สติตามสมาธิจนตามได้ทัน ความรู้ด้านธรรมะได้ผุดขึ้นมา และรู้เองโดยละเอียด ทำให้ท่านมีความพอใจที่จะอยู่องค์เดียว ไม่อยากคลุกคลีกับหมู่คณะ


๏ สามเณรดำ

ก่อนเข้าพรรษาหนึ่งเดือน มีสามเณรองค์หนึ่งมาบวชอยู่ด้วยเป็นผู้มีอายุแล้ว ชาวบ้านเรียกว่าเณรดำ เคยบวชเป็นพระมหานิกายมาแล้ว 5 พรรษา แล้วสึกออกไป เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนมาอยู่ที่วัดป่าสะลวง จึงมาบวชอยู่ด้วย

เณรดำขยันขันแข็ง ทำงานหนัก ชอบทำความสะอาดวัด เก็บกวาดลานวัดโดยไม่ต้องขอร้อง ท่านจึงขอยืมจักรเย็บผ้าของชาวบ้านมาตัดเย็บจีวรให้เณรดำ เมื่ออยู่มานานเข้า ท่านก็ได้ตรวจดูบุพกรรมของสามเณร จึงทราบว่าในชาติที่ท่านเป็นเจ้าของที่ ที่สร้างวัดป่าสะลวงในปัจจุบัน เณรดำเคยเป็นผู้ดูแลทำความสะอาดสวนให้ท่านมาก่อน

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


๏ พรรษาที่ 7 (พ.ศ. 2508) : จำพรรษา
วัดป่าสะลวง บ้านสะลวงนอก ต.สะลวง อ.แม่ริน จ.เชียงใหม่

ในระหว่างพรรษานี้ เมื่อถึงวันอุโบสถศีล ท่านจะให้ชาวบ้านที่มาปฏิบัติธรรมนั่งภาวนาและปฏิบัติเนสัชชิก สามเณรดำจึงต้องนั่งภาวนาอยู่ที่ศาลา นานเข้าก็เริ่มมีใจเบื่อหน่ายที่จะปฏิบัติธรรม จะแสดงอาการไม่พอใจ ที่ถูกพระอาจารย์เปลี่ยนบังคับให้นั่งสมาธิ ไม่มีเวลาทำงานอย่างอื่น

วันหนึ่งเสร็จจากการนั่งอบรมแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนนั่งภาวนาตามปกติ ได้นิมิตเห็นสามเณรดำถือมีดจะมาฟัน ท่านจึงลอยตัวขึ้นไปบนขื่อ สามเณรดำทำอันตรายไม่ได้ จึงใช้มีดฟันอยู่ข้างล่าง รุ่งขึ้นเช้าเมื่อไปพบกันที่ศาลา ก่อนออกบิณฑบาตท่านจึงบอกให้สามเณรดำปรับปรุงจิตใจให้ดี อย่าคิดร้ายกับอาจารย์ เมื่อสามเณรดำโดนทักเช่นนั้น จึงเกิดเกรงกลัวท่าน ไม่กล้าคิดร้ายอีก พยายามปรับปรุงตัวให้อยู่ในกรอบของบรรพชิตที่ดี


๏ กิจวัตรประจำวัน

พระอาจารย์เปลี่ยนจะตื่นนอนตอนเช้าประมาณ 03.30 น. สวดมนตร์ทำวัตรเช้า แล้วนั่งภาวนาและแผ่นเมตตาจนถึง 06.00 น. ท่านจะไปที่ศาลา เพื่อจัดที่นั่งและบาตรให้เรียบร้อย ต่อจากนั้นจะไปล้างหน้าและทำกิจส่วนตัว เรียบร้อยแล้วจะห่มจีวรคลุมสังฆาฏิแล้วเดินจงกรมต่อ จนถึงเวลา 07.00 น. จึงออกบิณฑบาต การออกบิณฑบาตจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ แล้วแต่เส้นทางที่จะต้องไป ถ้าไปบ้านสะลวงใน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ ถ้าไปบ้านสะลวงนอก ใช้เวลา 50 นาที ถ้าไปบ้านกาวฮาว จะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที

กลับจากบิณฑบาตประมาณ 08.30 น. เอาสังฆาฏิและจีวรซึ่งเปียกเหงื่อและน้ำค้างออกตาก แล้วเดินจงกรมต่อ รอชาวบ้านที่จะตามเอาอาหารมาให้ที่วัด ท่านจะแบ่งอาหารไว้เท่าที่จะฉัน ที่เหลือคืนใช้ชาวบ้านไปรับประทานที่บ้าน ถ้าเป็นวันพระ ชาวบ้านผู้มีศรัทธาก็จะรับประทานที่วัด และอยู่รักษาอุโบสถศีลที่วัดร่วมกัน แบ่งอาหารเสร็จแล้ว ท่านจะสวดมนต์ให้พรแก่ชาวบ้าน แล้วจึงฉันอาหารของท่าน ฉันเสร็จก็จะกลับกุฏิเพื่อนั่งภาวนาต่อไปอีกระยะหนึ่งประมาณ 1- 2 ชั่วโมง จึงพักผ่อนช่วงสั้นๆ ในตอนเช้าแล้วนั่งภาวนาต่ออีกจนถึงเวลา 13.30 น. ถ้าไม่ดูหนังสือ ก็เดินจงกรมต่อไป เริ่มกวาดลานวัดเวลา 16.00 น.

กวาดลานวัดเสร็จจะสรงน้ำ และตักน้ำเพื่อใช้ในการล้างบาตรในตอนเช้า หรือเท่าที่จำเป็นที่จะใช้ในกุฏิ จัดที่ต่างๆ ที่ศาลาเตรียมไว้ในเวลาเช้า ทำงานเสร็จประมาณ 18.00 น. ท่านจะเดินจงกรมต่อไปอีกจนกระทั่ง 19.00 น. จึงสวดมนต์ทำวัตรเย็น ใช้เวลาสวดมนต์ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วนั่งภาวนาต่อไปจนประมาณ 23.30 น. หลังจากนั้นเดินจงกรมต่ออีก 1 ชั่วโมง แล้วนั่งพิจารณาจนถึงเวลานอน จะนอนแบบสีหไสยาสน์ จนได้เวลาลุกขึ้นในตอนเช้าเพื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้า

พระอาจารย์เปลี่ยนใช้เวลาในการปฏิบัติธรรมเกือบทั้งวัน ท่านใช้เวลานอนพักผ่อนประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งบางครั้งเหลือเพียง 30 นาทีเท่านั้น ท่านทำจนเป็นปกตินิสัยตามเวลาที่กำหนดได้ไม่ต้องดูนาฬิกาเลย หากเป็นวันพระ ท่านจะนำชาวบ้านที่ไปวัด รับศีล ถือธุดงควัตรเนสัชชิก ปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถสาม คือ ยืน เดินจงกรม นั่งพิจารณา สลับกันไป แต่ของพระอาจารย์เปลี่ยนจะนั่งภาวนาในลักษณะเดียวเท่านั้น จนกระทั่งเวลา 05.00 น. นำชาวบ้านสวดมนต์ทำวัตรเช้าเป็นเสร็จพิธี


๏ กฎของไตรลักษณ์

ในพรรษานี้ พระอาจารย์เปลี่ยนได้พิจารณาการเกิด-ดับ เรื่องของสังขารร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาเรื่องของไตรลักษณ์ ว่าเป็นแน่ใจไม่มีข้อสงสัย พิจารณาจนรู้แน่ว่าสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของที่ไม่เที่ยง ได้กำหนดดูรูปกายของเราเอง ของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นทุกข์จริง ทำให้จิตใจเกิดการเบื่อหน่าย เป็นเหตุให้ท่านคิดว่าตัวท่านเองได้สำเร็จมรรคผลแล้ว เมื่อมีความเห็นเช่นนี้ เกิดความคิดว่าอาจจะเป็นความเห็นผิด แต่เมื่อหวนกลับมาพิจารณาว่า สังขารทั้งปวง ทั้งภายในภายนอกไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดในโลก เกิดแล้วต้องดับแตกสลายเหมือนกันหมด ท่านได้นั่งพิจารณาจนเกิดสติปัญญาขึ้นมาเพื่อเตือนตนเองอยู่เสมอ

เรื่องสำเร็จมรรคผล เกิดการโต้เถียงขึ้นภายในใจของท่าน ใจหนึ่งมีความเห็นว่า ไม่มีอะไรในโลกที่ต้องมาห่วงใย ใจจึงไม่รับอะไรเลย ทำให้ท่านไม่อยากฉันข้าวฉันน้ำ ไปบิณฑบาตได้อาหารก็ตั้งไว้ตรงนั้น ไม่คิดอยากฉัน อยากภาวนาอยู่ตลอดเวลา แต่คราวนี้ท่านมองเห็นด้วยปัญญา ถึงไม่อยากฉันข้าว แต่เมื่อลองฉัน ก็ฉันได้ตามปกติ ผิดกับครั้งพรรษาที่ 2 ขณะอยู่ที่ จ.พังงา บังเกิดปิติจนไม่อยากฉันข้าวเลย ท่านได้พิจารณาเรื่องการบิณฑบาต ก็เพื่อรับอาหารจากชาวบ้านมาเกินประทังชีวิต มิได้กินเพื่อความอยากในรสของอาหารหรือเพื่อความต้องการของปากและท้อง มิได้คำนึงว่าได้มากหรือน้อย ใครจะใส่หรือไม่ใส่ก็ตาม แล้วแต่ศรัทธาของผู้ที่ใส่บาตร ท่านจะแผ่เมตตาขณะเดินบิณฑบาตในทุกแห่งที่ผ่าน จะแผ่รอบตัวเรื่อยๆ ไป

นอกจากนั้นท่านได้พิจารณาถึงความทุกข์ของร่างกาย ที่ต้องเดินเพื่อแสวงหาอาหาร ทุกข์ที่เกิดจากสภาวะอากาศ ฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ ทุกข์อันอาจจะเกิดอันตรายที่มองไม่เห็นจากธรรมชาติ หรือจากสัตว์ป่า สัตว์เลื้อยคลายนานาชนิด แต่ก็จำเป็นต้องแสวงหา เพราะร่างกายต้องการอาหารมาดับความทุกข์


๏ การขับไล่

ขณะอยู่ที่วัดป่าสะลวง ก่อนออกพรรษาเล็กน้อย มีชาวบ้านพยายามจะไล่พระอาจารย์เปลี่ยนให้ออกจากวัด เนื่องจากท่านเป็นพระฝ่ายธรรมยุติ และปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ชาวบ้านในเขตนั้นนิยมนับถือท่านมาก แต่พระอาจารย์เปลี่ยนไม่สนใจ หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา พอท่านเดินออกไปบิณฑบาตชาวบ้านผู้นั้นจะออกมายืนหันหลังเพื่อขวางทางเดิน ซึ่งกว้างพอจะเดินเรียงหนึ่งเท่านั้น เมื่อท่านจะเดินผ่านที่ตรงนั้น จึงต้องลงจากทางเดิน อ้อมไปในพงหญ้าซึ่งเปียกชุ่มไปด้วยน้ำค้าง ท่านได้รับความลำบากมาก เมื่อเดินผ่านไปแล้ว ชาวบ้านผู้นี้จะเดินเข้าบ้านไป เว้นไป 3-4 วัน ก็ออกมายืนขวางทางอีก จนกระทั่งออกพรรษาได้เดือนครึ่ง จึงเลิกไป

ต่อมาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือมีชาวบ้านอยู่ใกล้วัดคนหนึ่ง ถือประโยชน์ส่วนตัวเข้าไปตัดไม้จะเอาไปปลูกสร้างบ้าน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อยู่ในเขตวัดข้างๆ กุฏิพระอาจารย์เปลี่ยน ท่านจึงทักท้วงเขาก็ไม่ฟัง กระทั่งผ่านไปถึงวันที่สาม ขณะกำลังโค่นไม้อยู่ ไม้ต้นที่โค่นหักล้มลงมาโดนอีกต้นหนึ่งซึ่งอยู่ริมห้วย ทำให้ต้นที่อยู่ริมห้วยล้มลงเกือบจะโดนกุฏิของพระอาจารย์เปลี่ยน ตกตอนเย็นท่านเห็นชายผู้นั้นต้องคลานกลับบ้านไม่สามารถเดินได้ ต้องใช้เวลารักษาตัว 4-5 วัน โดยไม่รู้สาเหตุและต้องมาทำพิธีบวงสรวงที่วัด จึงเดินได้ตามปกติ

หลังจากนั้นก็มีการขับไล่พระอาจารย์เปลี่ยนอีก โดยเจ้าคณะได้ให้พระที่อยู่ในปกครองของตน ไปถามปัญหาพระอาจารย์เปลี่ยน หากตอบไม่ได้ ท่านจะต้องออกไปจากวัดป่าสะลวงทันที พระที่ไปถามปัญหา ต้องขอร้องชาวบ้านให้ไปเป็นเพื่อนด้วย แต่ไปถึงแล้ว ไม่มีองค์ใดกล้าถามปัญหาที่เตรียมมา บางครั้งส่งพระที่เป็นมหามาพบแต่ก็ถามปัญหาไม่ได้ อาจเป็นเพราะเกิดความประหม่า จึงลืมคำถามหมด พระองค์ที่ถูกใช้มา ถามปัญหาไม่ได้ก็ไม่กล้ากลับวัด ต้องไปนอนบ้านโยมแทน นานเข้าก็ต้องสึกออกไป

การคิดขับไล่นี้ทำกันถึงสี่ครั้ง จนพระบางองค์ที่อยู่วัดในหมู่บ้านสะลวงนอกมีความเกรงกลัวเจ้าคณะจังหวัด เพราะทำตามคำสั่งไม่ได้ ลาสึกออกไปจนหมด เหลือแต่สามเณรเพียงสององค์ ชาวบ้านจึงขอร้องให้พระอาจารย์เปลี่ยนไปอยู่ที่วัดในหมู่บ้านสะลวงนอก แต่ท่านปฏิเสธเนื่องจากท่านเป็นพระธุดงค์จะอยู่แต่วัดในป่าเท่านั้น ต่อมาชาวบ้านมีศรัทธาปลูกกุฏิถวายท่านหนึ่งหลัง ซึ่งท่านได้นิมนต์พระทุกวัดในละแวกนั้นเท่าที่จะนิมนต์ได้มาช่วยกันฉลองกุฏิ เพื่อสร้างศรัทธาให้กับชาวบ้านที่ร่วมมือร่วมใจกันสร้างกุฏิ

ครั้นออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้วัดในหมู่บ้านสะลวงนอก เกิดไม่พอใจพระอาจารย์เปลี่ยน โดยถือเหตุที่ไม่ยอมไปจากวัดป่าสะลวง ทำให้พระต้องสึกไปเหลือแต่สามเณร ดังนั้นเวลาเห็นท่านเดินผ่านไปบิณฑบาต ชายคนนั้นก็เอามือจับเสาบ้านของตนพร้อมกับพูดซ้ำๆ “ใครจะใส่บาตรให้ธรรมยุติก็ใส่เถอะ ใส่บาตรธรรมยุติแล้วเหาะไม่ได้หรอก” พระอาจารย์เปลี่ยนได้ยินแล้วจึงแผ่เมตตาอยู่ในใจ ให้ชายผู้นั้นมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ชาวบ้านคนนี้ยืนว่าท่านเพียงวันเดียว วันที่สองท่านเดินผ่านไม่เห็นเขาอีก วันที่สามมีพระมาตามท่านไปดูแลอาการป่วยของหลวงปู่ตื้อ ท่านจึงเก็บอัฐบริขาร และไปพยาบาลหลวงปู่ตื้อ 1 คืน วันรุ่งขึ้นประมาณบ่าย 4 โมง มีคนมาบอกข่าวว่า ผู้ชายคนที่ด่าว่าพระอาจารย์เปลี่ยนได้ถึงแก่กรรมแล้ว และชาวบ้านในแถบนั้นสงสัยว่าท่านปล่อยคุณไสยไปใส่ เขาจึงตาย เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนมีโอกาสไปหาหลวงปู่ๆ ได้ให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า เขาเป็นลูกศิษย์เทวทัตมาเกิด จึงต้องรับกรรม :004:


๏ พิสูจน์นิมิต

พระอาจารย์เปลี่ยน ได้รับนิมิตต่างๆ มาก และได้พิสูจน์ว่านิมิตนั้นเป็นจริง เช่น ครั้งหนึ่งได้รับนิมิตว่า มีผู้หญิงอายุมากแล้วคนหนึ่งใส่บาตรท่านเพียงครั้งเดียว ได้เคยคิดจะถักหมวกถวายท่านเพื่อสวมในหน้าหนาว ท่านเห็นในนิมิตว่า เขาไปหาท่านและพูดว่า “จะขอลาแล้ว” พระอาจารย์เปลี่ยนจึงส่งจิตไปดูที่บ้าน พบว่ากำลังใกล้จะตาย ลมหายใจสั้นลง และสิ้นในที่สุด พอตายแล้วมีผู้หญิงสองคนมาจับแขนผู้หญิงที่ตาย แล้วเอาแส้เฆี่ยนตีด้วย รุ่งขึ้นเช้า พระอาจารย์เปลี่ยนออกบิณฑบาตได้พบลูกเขยของผู้หญิงคนนั้น จึงถามว่าแม่เสียแล้วใช่ไหม ลูกเขยแปลกใจที่ท่านทราบ พระอาจารย์เปลี่ยนจึงบอกว่าเขาไปลาท่านที่วัด เขาไปไม่มีสุข เขามีทุกข์ ทำบุญอุทิศให้เขาบ้าง และใส่เสื้อให้เขาด้วย

ปกติผู้หญิงคนนี้ชอบทำแต่ปาณาติบาต แต่ลูกเขยและลูกสาวชอบทำบุญอยู่เสมอ นิมิตในเรื่องนี้จึงเป็นทุคตินิมิต ส่วนสุคตินิมิตนั้นพระอาจารย์เปลี่ยนได้พบในเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งชอบถวายดอกไม้ ธูปเทียน ทุกครั้งที่ไปวัดหรือไปหาพระอาจารย์เปลี่ยน เมื่อตายแล้วปรากฏว่ามีดออกไม้เคารพศพเป็นจำนวนมาก หญิงผู้นี้ได้ไปสู่สุคติ นอกจากนั้นชาวบ้านหลายคนที่เคยถวายปัจจัยค่ารถ ค่ายานพาหนะแก่พระ เมื่อเวลาจะละสังขารไป บางคนมียานลอยลงมารับ บางคนมีรถมารับ เพื่อพาไปยังสถานที่ที่เป็นทิพย์ ซึ่งเขาได้สร้างสมบุญไว้


ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

ทรงกลด:
๏ การออกธุดงค์ครั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่

หลังออกพรรษาแล้ว ท่านได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสะลวงนานพอสมควรแล้ว ก็กลับไปหาหลวงปู่ตื้อ ได้พักปฏิบัติหลวงปู่ตื้อและได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านอีกประมาณ 1 เดือน จึงย้อนกลับมาที่วัดป่าสะลวง เพราะเป็นสถานที่ที่ปฏิบัติภาวนาได้ดีอีกแห่งหนึ่ง วันหนึ่งท่านไปบิณฑบาต สังเกตเห็นสุนัขตัวเมียตัวหนึ่งอยู่กับเจ้าของบ้านที่เป็นผู้หญิง เมื่อท่านไปบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านนี้ สุนัขจะวิ่งไปเตือนให้เจ้าของบ้านได้รู้ แล้วรีบนำอาหารออกมาใส่บาตร สุนัขทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำ

พระอาจารย์เปลี่ยนจึงตั้งจิตดูสุนัข จึงรู้ว่า เมื่อก่อนสุนัขเคยเกิดเป็นลูกสาวของเจ้าของบ้าน แต่ผิดศีลข้อสามเพราะคบชู้ เมื่อสามีรู้ก็ไม่ยอมรับ พร้อมกับสาบานว่าถ้ามีชู้จริงขอให้เกิดเป็นสุนัขด้วย ผลของกรรมนี้เมื่อตายไปจึงเกิดเป็นสุนัขอาศัยอยู่กับหญิงเจ้าของบ้านนั้นเอง ท่านจึงบอกเจ้าของบ้านให้รู้และดูแลสุนัขให้ดี

ส่วนนิมิตรูปสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ควาย สุนัข แมว มีผ่านเข้ามาให้ท่านเห็นประจำ เป็นเพราะจิตผู้นั้นยังต่ำหรือเคยเป็นสัตว์นั้นมาก่อน แต่ยังไม่หมดวิบากกรรม จึงพาให้เห็นในรูปเดิม เช่น คราวที่อยู่วัดป่าสะลวง มีพระจากผาแด่นมาพักที่วัด ท่านได้รับนิมิตว่ามีพระมา 2 องค์ มีลักษณะเป็นควายมานอนอยู่ที่ศาลา รุ่งขึ้นเช้าเตรียมตัวออกบิณฑบาตได้พบพระ 2 องค์นั้นจริง แต่ยังนอนหลับอยู่บนศาลา ได้ทราบภายหลังว่า พระทั้ง 2 องค์บวชได้ 10 พรรษาแล้ว แต่การภาวนายังไม่ก้าวหน้า เมื่อมีโอกาสเรียนถามหลวงปู่ตื้อ ท่านอธิบายว่าเป็นเพราะจิตไม่ถึงไหน ยังเป็นสัตว์อยู่ จึงเห็นนิมิตอย่างนั้น

ครั้งหนึ่งขณะนั่งภาวนา เห็นนิมิตผู้หญิงคนหนึ่งเดินยิ้มมาพอเข้ามาใกล้ก็เป็นสุนัข จากสุนัขเป็นแมว ก่อนจะถึงท่านก็กลับเป็นอีกคน เมื่อได้พบหญิงนี้จริง ท่านเห็นเป็นการไม่สมควรเพราะไม่มีผู้ชายอยู่จึงไล่ให้กลับก่อน เรื่องนี้ท่านให้คำอธิบายว่า ผู้หญิงคนนี้เคยเกิดเป็นสุนัข แล้วจึงเกิดเป็นแมว ต่อจากนั้นจึงเกิดเป็นคน แต่จิตยังไม่มีความแรงทางด้านกามารมณ์อยู่ จึงมีนิมิตออกมาให้เห็น การได้นิมิตมานี้ บางครั้งก็มาตักเตือนให้ระวังอันตรายจากการโดนทำร้ายร่างกายบ้าง จากการรบกวนจากเพศตรงกันข้ามบ้าง ท่านจึงต้องคอยตรวจสอบตลอดเวลา และทำให้พระอาจารย์เปลี่ยนมีความรู้ และเข้าใจในคำเทศน์ของหลวงปู่ตื้อที่ว่า พระหมา พระแมว ฯลฯ โดยไม่มีข้อสงสัยอีกเลย

นอกจากนั้นการที่มีความเกี่ยวข้องกับใครด้านต่างๆ ก็เป็นเพราะเมื่อชาติก่อนๆ พระอาจารย์เปลี่ยนเคยบวช บุคคลเหล่านี้เคยกราบไหว้เคารพท่าน มาในชาตินี้จึงยังมีความผูกพันอยู่ เช่น บางคนเคยใส่บาตรกับท่าน จึงชวนผู้ใกล้ชิดมาใส่บาตรด้วย บางคนเคยกราบไหว้ท่านในอดีตชาติ ในชาตินี้ก็มาแสดงความอ่อนน้อมต่อท่าน เมื่อออกพรรษาที่ 7 แล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนได้ท่องเที่ยวธุดงค์เข้าและออกวัดป่าสะลวง อยู่จนวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2509 จึงออกจากบ้านสะลวงนอกไปสู่บ้านปง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


๏ บ้านปง (วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509)

ขณะอยู่ที่วัดป่าสะลวง พระอาจารย์เปลี่ยนได้นิมิตว่า ตัวท่านเองลอยอยู่บนท้องฟ้า แล้วมองลงมาเห็นหลวงปู่ชอบ ฐานสโม กำลังเดินเอาผ้าอาบน้ำคลุมศีรษะไว้ ท่านจึงลงมากราบนมัสการหลวงปู่ชอบ ได้ถามหลวงปู่ว่าจะไปไหน หลวงปู่ตอบว่าจะไปสรงน้ำแล้วก็เดินเลยไป ท่านจึงลอยขึ้นไปเบื้องบนอีกครั้งหนึ่ง ผ่านบ้านของชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งออกมานั่งไหว้นิมนต์ให้ท่านลงมาพักที่สำนักแห่งหนึ่ง และจะถวายรองเท้าแก่ท่าน 4 คู่ ต่อจากนั้นท่านจึงลอยกลับไปวัดป่าสะลวง

หลังนิมิตได้ประมาณ 10 วัน พระอาจารย์เปลี่ยนก็ออกธุดงค์ไปวัดป่าอาจารย์ตื้อ ปากทางเข้าโครงการชลประทานแม่แฝก อ.แม่แตง ได้พบหลวงปู่ตื้อและเล่านิมิตให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่บอกว่า จะมีโยมมาอุปัฏฐากในภายภาคหน้า พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่กับหลวงปู่ตื้อจนกระทั่งขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย จึงเดินธุดงค์ต่อไป และได้ผ่านไปพบวัดร้าง คือ วัดอรัญญวิเวก (สำนักสงฆ์อรัญญวิเวก) บ้านปง ชาวบ้านเรียกว่า วัดดอยบ้านปง ดูสภาพวัดเหมือนนิมิตที่ท่านได้เห็นเมื่ออยู่ที่วัดป่าสะลวง

ท่านได้เดินสำรวจจนทั่วบริเวณ เห็นว่าเงียบสงัดดีมาก จึงตกลงใจพักปฏิบัติธรรม ณ สำนักนี้ ท่านเลือกกุฏิที่ดีที่สุดในขณะนั้นเป็นที่พัก มีสองห้องแต่ปลวกกินเสียหนึ่งห้อง อีกห้องหนึ่งมีสภาพพออยู่อาศัยได้ (ทราบภายหลังว่าเป็นกุฏิที่หลวงปู่แหวนเคยพักและจำพรรษา) พระอาจารย์เปลี่ยนอยู่กุฏิหลวงปู่แหวนได้ 2 วัน ตกกลางคืนขณะนอนได้นิมิตเห็นพระองค์หนึ่งไต่เสากุฏิขึ้นมา เอามือมาตีที่หน้าท่าน ท่านจึงตีตอบบ้าง พระองค์นั้นจึงลงจากกุฏิไป (ภายหลังท่านได้นั่งสมาธิดูจึงทราบว่า พระองค์นั้นคือ หลวงพ่อคำ ได้เสียชีวิตไปในสมัยที่จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวน พ.ศ. 2490 และได้เห็นโครงกระดูกรของผู้อื่นอีกมากมายใต้กุฏินั้น) อยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ได้ 4 วัน ชาวบ้านในละแวกนั้น มีแม่บัวคำและสามีชื่อนายเมา หนานศรีธน และคนอื่นๆ ท่านได้จำพรรษาอยู่เพื่อโปรดเขาเป็นการชั่วคราว แม่บัวคำได้ซื้อรองเท้ามาถวายถึง 3 คู่ จากตลาดบ้านปงซึ่งมีแต่คู่เล็กๆ ท่านรับไว้แต่ใส่ไม่ได้ ในที่สุดแม่บัวคำได้วัดเท้าและสั่งตัดจากในเมืองเชียงใหม่ถวายอีก 1 คู่ แม่บัวคำจึงได้ถวายรองเท้าแก่พระอาจารย์เปลี่ยน 4 คู่ จริงตามที่ได้บอกไว้ในนิมิต


๏ การสร้างกุฏิ

พระอาจารย์เปลี่ยนมาพักอยู่ไม่นาน การปฏิบัติธรรมของท่านเจริญก้าวหน้า จึงได้รับความสงบมาก การทำความเพียรด้านอื่นๆ ก็ไม่ติดขัด เพราะสถานที่สงบเงียบและวิเวกดี การปฏิบัติธรรมของท่านเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ชาวบ้านมีศรัทธาในการปฏิบัติธรรมของท่าน จึงพร้อมใจกันสร้างกุฏิให้ท่านใหม่ โดยรื้อกุฏิหลังเก่าพร้อมกับโค่นต้นไม้ในวัดอีก 5 ต้น มาสร้างกุฏิ ภายหลังใช้เป็นศาลาโรงฉัน (พ.ศ. 2536 ได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กแทน) ครั้นโค่นต้นไม้ไปปลูกเป็นกุฏิแล้ว ได้มีชาวบ้านปงมาเรียนท่านว่า ได้ยินเสียงร้องไห้ดังมาจากวัด หลายวัน ต่อมาท่านได้นิมิตเห็นรุกขเทวดา 2 ครอบครัว ครอบครัวแรก 3 คน อีกครอบครัวหนึ่ง 4 คน มาหาท่านพร้อมกับแจ้งว่า พวกเขาเดือดร้อนเรื่องที่อยู่ เนื่องจากต้นไม้ที่เคยอยู่อาศัยถูกชาวบ้านโค่นมาสร้างกุฏิ จึงขอให้ท่านหาที่อยู่ให้ใหม่ พระอาจารย์เปลี่ยนจึงให้ไปอยู่ที่ต้นชาดซึ่งอยู่ทางเหนือของวัด ซึ่งมีรุกขเทวดาอยู่หลายครอบครัวแล้ว


๏ วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ในอดีตชาติ

หลังจากอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านปง ได้ประมาณ 2-3 เดือน ก่อนเข้าพรรษา พระอาจารย์เปลี่ยนได้นั่งสมาธิตรวจดูวัดในอดีต จึงเห็นว่าใต้โบสถ์นั้นมีพระพุทธรูปทองสององค์ (ปัจจุบันมองไม่เห็นในนิมิตแล้ว) คุณแม่บัวใส ซึ่งเป็นพี่สาวของแม่บัวคำ (ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้ง 2 ท่าน) เป็นผู้สร้างโบสถ์ และเป็นหัวแรงในการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในวัด ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีพระที่ร่วมมือในการก่อสร้าง 5 องค์ คือ หลวงพ่อคำอ้าย มีพรรษา 5 พรรษา พระอาจารย์เปลี่ยน มีพรรษา 4 พรรษา พระอีกสามองค์ มีพรรษาลดหลั่นกันลงมา โบสถ์ในอดีตแรกก่อสร้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อปูนขึ้นมาและตีไม้ขึ้นพอเป็นรูปร่างโบสถ์เท่านั้น ภายในมีพระพุทธรูปดินปั้น 3 องค์ ทองสัมฤทธิ์ 2 องค์ วางเรียงกัน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว คุณแม่บัวใสได้เป็นประธานจัดงานฉลองโบสถ์ มีชาวบ้านมาร่วมงานประมาณ 300 คน

พระอาจารย์เปลี่ยนได้ถามพวกภพภูมิต่างๆ ที่อยู่ในวัดอรัญญวิเวก บ้านปง ถึงเรื่องอายุของวัดได้รับคำตอบว่า วัดสร้างมานาน 783 ปี ( ปัจจุบัน พ.ศ. 2546- วัดมีอายุ 818 ปี) พระอาจารย์เปลี่ยนบวชเป็นพระมาถึงปัจจุบันได้ 7 ชาติแล้ว ท่านได้ร่วมก่อสร้างวัดอรัญญวิเวก บ้านปง ในชาติที่ 2 แล้วชาติปัจจุบัน เป็นชาติที่ 7


๏ แม่บัวใส

เป็นผู้มีศรัทธาอันแรงกล้าได้อุปัฏฐาก วัดอริญญวิเวก บ้านปง และพระอาจารย์เปลี่ยน มาแต่ต้น พระอาจารย์เปลี่ยนจึงตรวจดูบุพกรรมก็ทราบว่า ครั้งหนึ่งตัวท่านเคยเกิดเป็นบุตรชายคนโตของแม่บัวใส และมีน้องชายอีกคน ซึ่งในชาตินี้เกิดเป็นบุตรชายของแม่บัวใส และเป็นครูอยู่ที่บ้านปง (ขณะนี้ได้เกษียณอายุราชการแล้ว) ในชาตินั้นเมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนตั้งใจจะบวช แม่บัวใสมีศรัทธาเตรียมอัฐบริขารอย่างดี ให้ท่านใช้ในการบวช ในชาติปัจจุบันพระอาจารย์เปลี่ยนจึงเป็นผู้ชักจูงแม่บัวใสให้ยินดีและศรัทธาในการถือศีล และการก่อสร้างต่างๆ ของวัด ไม่ว่าจะเป็นกุฏิ ศาลา โบสถ์ เจดีย์ ฯลฯ แม่บัวใสจะทำด้วยความเต็มใจยิ่ง ทั้งนี้เพราะแม่บัวใสได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดอรัญญวิเวกบ้านปง มาตั้งแต่ในอดีตชาติ เมื่อเกิดมาในชาติปัจจุบันก็ได้มาสร้างต่ออีก

ที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9335

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version