ผู้เขียน หัวข้อ: "วิธีฝึกทิพยจักษุของฝรั่งและโยคีในอินเดีย"  (อ่าน 7099 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
"วิธีฝึกทิพยจักษุของฝรั่งและโยคีในอินเดีย"
โดย...หลวงวิจิตรวาทการ


วิธีที่ฝรั่งและโยคีในอินเดียใช้สำหรับทำให้เกิดทิพยจักษุ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในอดีต, อนาคต และปัจจุบัน มีอยู่ ๓ วิธี คือ

วิธีที่ ๑ โดยแตะต้องวัตถุอันใดอันหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล, สถานที่, หรือเหตุการณ์ที่ต้องการจะทราบนั้น
วิธีที่ ๒ โดยมองดูลูกแก้ว หรือถ้วยน้ำ
วิธีที่ ๓ โดยสะกดตัวเองให้หลับ อย่างวิธีเข้าฌานของเรา

วิธีที่ ๑ และวิธีที่ ๒ นั้น พอจะนำมาบรรยายไว้ในที่นี้ เพื่อเป็นเครื่องประกอบความดำริของผู้ที่ใฝ่ใจในวิชชานี้บ้าง แต่ส่วนวิธีที่ ๓ นั้น เป็นเรื่องสะกดดวงจิต ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของหนังสือเล่มนี้
แต่วิธีที่ ๑ และ ๒ นั้น หาอันตรายมิได้ และแม้จะทำไม่สำเร็จ ก็เป็นประโยชน์ที่ยังเป็นเครื่องหัดความจำและมโนคติของเราให้ดีขึ้นอย่างหนึ่ง ทั้งปลูกสมาธิให้เกิดขึ้นได้อีกอย่างหนึ่ง
ความจำ มโนคติ และสมาธิ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นประโยชน์แก่เราในกิจการทุกประเภท

ส่วนวิธีการนั้น เขาอธิบายไว้ดังต่อไปนี้

ขั้นแรกของวิธีที่ ๑ นั้น เขาให้ตั้งต้นที่ของง่าย ๆ ไปก่อน เช่น เอาจดหมายเก่า ที่มีคนเขียนถึงเราเป็นเวลานานมาแล้วมากำไว้ในมือ และพยายามนึกถึงคนที่เขียนนั้น ว่ามีลักษณะรูปร่างหน้าตา นิสัยใจคอเป็นประการใด พยายามทำเช่นนี้ จากคนที่เรารู้จักดีที่สุดก่อน จนถึงคนที่เรารู้จักน้อยที่สุด

ขั้นที่ ๒ เมื่อไปเที่ยวที่แห่งหนึ่งแห่งใด ต่างถิ่นต่างจังหวัด จงเก็บเอาก้อนดินก้อนหนึ่งมา ถือก้อนดินไว้ในมือ พยายามระลึกถึงที่นั้น จนเห็นภาพติดตาเราเกือบเป็นอุคคหนิมิต

ขั้นที่ ๓ เอาสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งมาจากที่ที่เราไม่เคยเห็นเลย แต่เคยทราบเรื่องอยู่บ้าง เช่น เอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่ง ที่มาจากประเทศอังกฤษ ที่เราไม่เคยเห็นเลย แต่ได้ทราบจากหนังสือบ้าง โดยมีใครเล่าให้ฟังบ้าง ว่าประเทศนั้นเป็นอย่างไร เอาผ้าเช็ดหน้านั้นมาถือไว้ แล้วพยายามเขียนภาพประเทศอังกฤษลงในหัวเรา และใช้มโนคติให้แลเห็นเสมือนหนึ่งตัวเราอยู่ในที่นั้น ๆ

ขั้นที่ ๔ เอาของซึ่งมาจากที่ที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยทราบเรื่องราวเลยมาถือไว้ และพยายามนึกเอาเองว่า ของเหล่านั้นมาจากที่แห่งไร

ขั้นที่ ๕ ถ้าสามารถจะทำได้ ลองเก็บเอาของที่คนใดคนหนึ่งซึ่งเราไม่รู้จักเลย เขาโยนทิ้ง เป็นต้นว่ากล่องบุหรี่ กลักไม้ขีดไฟ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ เอามาถือไว้ แล้วพยายามนึกถึงคนเหล่านั้น ว่านิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีอาชีพในทางไร เวลานี้กำลังทำอะไรอยู่ ฯลฯ

ตามวิธีที่อธิบายมาเป็นขั้น ๆ นี้ จะเห็นได้ว่า มโนคติเป็นเครื่องช่วยอย่างสำคัญ และกระแสที่ติดอยู่กับสิ่งของนั้น ๆ เป็นเครื่องทำให้มโนคติของเราใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที ถึงกับถูกต้องตามความจริงมากที่สุดในเมื่อฝึกหัดมาก ๆ เข้า ฝรั่งได้ใช้วิธีนี้ จับผู้ร้ายได้บางครั้ง ในกรณีที่เหลือวิสัยที่จะทราบตัวผู้ร้ายได้ แต่เผอิญผู้ร้ายทิ้งของบางอย่างไว้ในที่ที่กระทำผิด เอาของนั้นมาให้ผู้เชี่ยวชาญในวิชชานี้ลองทำ เมื่อผู้เชี่ยวชาญบอกตัวว่า คนไหนเป็นผู้ร้าย ตำรวจก็ลองเชิญตัวมาไต่ถาม และโดยอาศัยความฉลาดของผู้ที่ซักไซ้ไล่เลียง ในที่สุดจะทำให้ผู้ร้ายต้องรับสารภาพ หรือเป็นโอกาสให้ได้พิสูจน์ ที่กฎหมายต้องการขึ้นมาเอง


ที่มา
http://www.puansanid.com/forums/showthread.php?t=4451
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว....ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา...สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา...กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
วิธีที่ ๒ การมองดูลูกแก้วนั้น ก็คือ อาโปกสิณนั่นเอง โดยที่ครั้งโบราณใช้วิธีมองในน้ำ ส่วนลูกแก้วนั้น เป็นของใหม่ที่ฝรั่งคิดทำขึ้นภายหลัง แท้จริงของอะไรที่ใส หรือมีเงา ก็เอาใช้ได้ทั้งนั้น ถึงในเวลานี้ ชาวอียิปต์และอินเดียก็ยังใช้น้ำใส่ในถ้วย พวกแอฟริกาใช้มองดูน้ำในบ่อ พวกนิวซีแลนด์ใช้หยดเลือดของสัตว์ แต่ชาวยุโรปเห็นว่า ลูกแก้วเป็นสิ่งที่ฝึกหัดได้เร็วที่สุด

วิธีฝึกหัดนั้น เขาวางแบบไว้ดังนี้

๑. ให้หัดในห้องที่เงียบ ๆ ซึ่งจะไม่ถูกรบกวนเลย และอากาศไม่ร้อนเกินไป ควรจะเป็นห้องเปล่า ไม่มีรูปภาพอะไรอยู่ในนั้น ไม่สว่างเกินไปและไม่มืดเกินไป ทั้งต้องให้แสงสว่างมาข้างหลัง มิให้แสงเข้ามาข้างหน้า

๒. สิ่งที่จะดูนั้น จะเป็นลูกแก้วหรือถ้วยแก้วธรรมดาบรรจุน้ำก็ตาม จะต้องมีผ้า หรือกระดาษดำรองข้างล่าง

๓. ห้ามมิให้ฝึกหัดทันทีที่รับประทานอาหารแล้ว ต้องรอให้อาหารย่อยเสียก่อน

๔. ให้นั่งอย่างสบายที่สุด มองดูข้างในลูกแก้วหรือถ้วยน้ำนั้น ไม่ใช่มองดูรอบนอก ไม่ให้เพ่งเกินไป ให้มองอย่างที่เรามองดูอะไรตามปรกติ และข้อสำคัญที่สุดก็คือ สมาธิ ทำให้ใจแน่วแน่อยู่ในลูกแก้วและถ้วยน้ำนั้น มิให้นึกถึงอย่างอื่นเลยเป็นอันขาด

๕. ใน ๑๐ ครั้งแรก คงจะไม่เห็นอะไรเลย และนับว่าถ้าใครเห็นในครั้งที่ ๒ ก็จะจัดเป็นอย่างเร็วที่สุด ในครั้งแรกให้นั่งเพียง ๑๕ นาที แล้วเก็บลูกแก้วหรือถ้วยนั้นไว้ในที่มืด มิให้ใครแตะต้อง วันรุ่งขึ้นให้นั่งในเวลาเดียวกันกับที่นั่งมาแล้วในวันก่อน ขยายเวลาให้นานขึ้นอีก ๕ นาทีทุกครั้งไป จนถึงหนึ่งชั่วโมง แต่มิให้นานมากกว่านั้น

๖. เมื่อใดเห็นว่า ภายในลูกแก้วหรือในถ้วยน้ำ เป็นหมอกหรือควัน และมีจุดกลมเท่าปลายเข็มหมุด เป็นสีขาววนเวียนอยู่กลางหมอกนั้น ก็เป็นอันว่าเราได้ชัยชนะแล้ว ในเวลานั้น ให้รวมกำลังใจทั้งหมด หันไปหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราต้องการทราบ เช่นพี่น้องมิตรสหายของเราที่อยู่ห่างไกลกำลังทำอะไรอยู่ ตามธรรมดาจะมองเห็นทันที และการดูในครั้งหลัง ๆ จะเปลี่ยนดูคนอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป จนในที่สุด ดูตัวเราเองสำหรับอนาคต หรือจะดูเหตุการณ์ใด ๆ ที่เราอาจตั้งปัญหากับหมอดูได้แล้ว เราอาจตั้งปัญหากับลูกแก้วได้เสมอ


วิธีการดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นแต่คัดลอกมาจากตำราเท่านั้น ไม่รับรองว่าจะทำได้ผลสำเร็จเพียงไร

ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นวิธีที่มองเห็นโดยการฝึก โดยความตั้งใจให้แลเห็น แต่นอกจากนั้นคนเรายังอาจเห็นได้ด้วยความบังเอิญ เช่นในอุทาหรณ์ ๒-๓ เรื่อง ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (ดู “วิชชาทิพยจักษุ (Clairvoyance) ของฝรั่งและโยคี” - ผู้คัดลอก)

ส่วนในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น ท่านบัญญัติให้ใช้อาโลกกสิณเป็นสำคัญ กล่าวคือ ให้กระทำให้เกิดความสว่าง ซึ่งสามารถจะทำลายความลี้ลับ และสิ่งกั้นกางทั้งหลาย ให้ดวงตาสามารถแลเห็นได้ตลอด จนกระทั่งเห็นสัตว์กำลังเกิด กำลังจุติ

เรื่องนี้ลัทธิโยคีเขาก็มีเช่นนั้น และเขากล่าวไว้ว่า ผู้บรรลุทิพยจักษุ ย่อมสามารถแลเห็นเจตภูต ซึ่งกำลังวิ่งพล่านซับซ้อนกันอยู่ในโลก แต่อรรถาธิบายของพระพุทธโฆษาจารย์นั้น ไม่ปรากฏว่าจะใช้ทิพยจักษุเป็นเครื่องรู้อดีต ทำนายอนาคตได้ อย่างวิธีของโยคีและฝรั่ง


.....................................................
คัดลอกโดย.......“ง้วนดิน”
จากหนังสือ.......วิชชาแปดประการ (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๑)
ผู้แต่ง.............พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ
http://www.puansanid.com/forums/showthread.php?t=4451

ออฟไลน์ ทรงกลด

  • ผู้อาวุโส
  • *****
  • กระทู้: 2199
  • เพศ: ชาย
  • ศิษย์หลวงโด่ง.....
    • ดูรายละเอียด
ฟัง..เรื่อง วิชชาแปดประการ โดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ



http://www.braille-cet.in.th/Braille-CET/index.php?option=com_content&view=article&id=505%3A2010-05-03-10-40-26&catid=83&Itemid=69


วิชชาแปดประการ
ผู้เขียน   หลวงวิจิตรวาทการ, พล.ต.

:: เนื้อหาโดยสังเขป
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวของหลักธรรมชั้นสูงของพระพุทธเจ้า ในการฝึกจิต ฝึกสมาธิให้บรรลุธรรมชั้นสูง เนื้อหาอาจจะดูยากและหนัก แต่ถ้าทำความเข้าใจอย่างช้าๆ ก็จะเข้าใจหลักธรรมนี้ได้เป็นอย่างดี

:: สารบัญ
ก. หลักของโยคี
ข. หลักเรื่องกสิณและฌาณ
- วิปัสสนาญาณ (ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา)
- มโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)
- อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ได้)
- ทิพโสต (หูทิพย์)
- เจโตปริยญาณ (รู้จักกำหนดใจผู้อื่น)
- ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
- ทิพยจักษุ (ตาทิพย์)
- อาสวักขยญาณ (รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 มิ.ย. 2554, 12:41:18 โดย ทรงกลด »

ออฟไลน์ jidarsarika

  • ปัญจมะ
  • *****
  • กระทู้: 93
  • เพศ: หญิง
  • อาจาริโย วันทามิ
    • ดูรายละเอียด
ขอบคุณสำหรับบทความที่น่าสนใจของพี่ชายมากค่ะ (กำลังคิดๆถึง อยากศึกษาเรื่องนี้อยู่พอดี)
หนูก้อสนใจอยากฝึกกสิณน้ำ-ไฟ กับมโนมยิท แต่คงต้องฝึกนั่งสมาธิให้เข้มแข็งก่อนค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิ.ย. 2554, 04:03:17 โดย jidarsarika »
พุทธัง ธรรมมัง สังฆัง มาตาปิตุโร อาจาริโย