วัดป่าภูก้อน
บ้านนาคำ ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี
วัดป่าภูก้อน บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี
เกิดจากความดำริของพุทธบริษัทผู้ตระหนักถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ และความสำคัญของป่าไม้ธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกวัน โดยมุ่งดำเนินตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ตลอดจนสัตว์ป่า และพรรณไม้นานาพันธุ์ เพื่อให้เป็นมรดกของลูกหลานไทยคู่กับแผ่นดินไทย พร้อมทั้งเพื่อจรรโลงส่งเสริมพระบวรพุทธศาสนา ให้เจริญมั่งคงคู่แผ่นดินไทยตราบชั่วกาลนาน
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ คุณโอฬาร และคุณปิยวรรณ วีรวรรณ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาแสวงหาความสงบยังจังหวัดสกลนครและจังหวัดอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในวัตรปฏิปทาของพระป่า ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก แห่งวัดป่านาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี และท่านพระอาจารย์หนูสิน ฉันทสีโล พร้อมทั้งคณะศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านนาคำใหญ่ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น โดยนิมนต์พระอาจารย์ชาลี ถิรธมฺโม จากวัดถ้ำจันทร์ ตำบลชมพูพร อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย ให้มาอยู่เป็นประธาน และเป็นขวัญกำลังใจในการนำพาสร้างวัดแห่งนี้
ภูก้อน เป็นชื่อของภูเขาลูกหนึ่ง ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านนาคำ หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี เป็นภูเขาลูกใหญ่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๒๗ เมตร สภาพโดยรอบเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ อากาศชื้น มีหมอกปกคลุม เป็นต้นน้ำลำธารซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี
วัดป่าภูก้อน เป็นวัดสังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูง-ป่าน้ำโสม บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน ๓ จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย และจังหวัดหนองคาย เป็นวัดที่ถูกต้องตามระเบียบกรมการศาสนาตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ และเพื่อรักษาบริเวณวัดไว้ให้มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ จึงขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่โดยรอบวัด ซึ่งต่อมาได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ให้จัดตั้งพุทธอุทยานขนาดเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่ ได้รับขนานนามว่าพุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมี ท่านพระครูจิตตภาวนาญาณ (พระอาจารย์ชาลี ถิรธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าภูก้อน และเจ้าคณะอำเภอนายูง (ธรรมยุต) ทั้งนี้ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับเกียรติจากท่านจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีฝังลูกนิมิตและผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓
พุทธอุทยานแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่ธุดงควัตรของพระนวกะจากโรงเรียนนายร้อยทั้ง ๔ เหล่าทัพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ประกอบพิธีบรรพชาในภาคฤดูร้อน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วประทานอนุญาตให้อบรมกัมมัฏฐาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นเวลา ๕ ปีติดต่อกันมา
ด้วยความสง่างามและศักดิ์สิทธิ์ของอาณาเขตพุทธอุทยานและป่าสงวนแห่งชาติ จึงมีผู้ได้พบเห็นหลักฐานของความอัศจรรย์ของธรรมชาติแห่งนี้อยู่เสมอ คณะศรัทธาญาติโยมจึงร่วมกันดำริสร้างองค์พระมหาเจดีย์ มีนามว่า พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ ณ ยอด ภูเจ้าเมือง วัดป่าภูก้อน เป็น ๑ ใน โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ และอัญเชิญตราสัญลักษณ์และพระรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานภายในองค์พระเจดีย์ด้วย
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กราบทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศพระประธาน พระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา หน้าองค์พระมหาเจดีย์ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และยังได้รับมอบประกาศนียบัตรจากกรมป่าไม้ เป็นวัดอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นระดับจังหวัด ประเภทดูแลรักษาป่าดั้งเดิม ประจำปี ๒๕๔๔
เนื่องในมหามงคลสมัย ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่จะมาถึง ด้วยความสำนึกระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน คณะพุทธบริษัทจึงพร้อมใจกันจัดสร้าง พระพุทธไสยาสน์หินอ่อนขาว ปางปรินิพพาน ยาว ๒๐ เมตร โดยแบ่งหินอ่อนเป็นก้อนๆ เรียงซ้อนกัน ๔๒ ก้อน เพื่อเป็นเอกลักษณ์ทางพุทธศิลป์ในแผ่นดินแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ โดยเฉพาะ โดยได้เรียนเชิญอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะและออกแบบฐานพระพุทธรูป พระโลกุตตระและรัศมีรอบองค์พระโดยไม่คิดค่าจ้าง
นอกจากนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์นริศ รัตนวิมล ช่างสลักหินอ่อนผู้เป็นสุดยอดของแผ่นดิน ดังผลงานฝีมือแกะสลักรูปเหมือนบูรพาจารย์ที่ประดิษฐานอยู่ในองค์พระมหาเจดีย์ วัดป่าภูก้อน เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักองค์พระพุทธรูป นับเป็นการร่วมกันสร้างนฤมิตศิลป์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาไว้บนยอดเขาอาสนะพุทธะ ซึ่งเป็นลานหินภูเขาแข็งแกร่ง ยาวประมาณ ๑๑๐ เมตร ในการนี้ อาจารย์วิวัฒน์ วอทอง สถาปนิก และอาจารย์กฤษฎา นนทนาคร วิศวกรโครงสร้าง ได้ร่วมกันออกแบบวิหารพระครอบองค์พระพุทธรูปไว้อีกชั้นหนึ่ง ขนาดกว้าง ๓๙ เมตร ยาว ๔๙ เมตร เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แห่งรัตนโกสินทร์ โดยใช้เวลาในการแกะสลักและสร้างพระวิหารให้แล้วเสร็จภายในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ งบประมาณการสร้างรวมทั้งสิ้น ๑๒๐ ล้านบาท
ทั้งนี้ ทางวัดและคณะศรัทธายังได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระปรมาภิไธยย่อ เพื่อประดิษฐานบนผ้าทิพย์และขอพระราชทานนามพระพุทธรูป เพื่อเป็นมหาสิริมหามงคลในการนี้ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.esanclick.com/newses.php?No=20330