กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด มิตรไมตรี => บทความ บทกวี => ข้อความที่เริ่มโดย: OT^TO ที่ 18 พ.ค. 2553, 09:59:30

หัวข้อ: ย้อนเผ่าพันธุ์"มนุษย์โบราณ"ในไทย
เริ่มหัวข้อโดย: OT^TO ที่ 18 พ.ค. 2553, 09:59:30
(http://img62.imageshack.us/img62/3535/553000006988901.jpg)

หุ่นจำลองใบหน้าของมนุษย์ โฮโม อีเรกตัส ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดี ในประเทศเยอรมนี (ภาพประกอบจาก wikipedia/Lillyundfreya)

สุวรรณภูมิเป็นดินแดนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของโลกที่มีการค้นพบซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์จำนวนมาก รวมทั้งฟอสซิลของ "มนุษย์โบราณ" อายุนับแสนปี

ฟอสซิลมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ที่พบในประเทศไทย และเก่าแก่ที่สุดคือ "มนุษย์ลำปาง" (Lampang Man) มีอายุประมาณ 5 แสนปี ซึ่งจัดอยู่ในสปีชีส์ โฮโม อีเรกตัส (Homo erectus) สำรวจพบโดยทีมนักวิจัยไทยเมื่อปี 2542 ที่บริเวณปากถ้ำหินปูนแห่งหนึ่ง ที่มีการระเบิดเหมืองหิน ในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นฟอสซิลของมนุษย์ยุคเดียวกับที่พบก่อนหน้านั้นบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย (Java Man) และในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (Peking Man)

ซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของวิวัฒนาการมนุษย์บนแผ่นดินไทยอีกชิ้นหนึ่ง คือ ฟันกรามของมนุษย์ ที่พบโดยทีมนักวิจัยไทยและฝรั่งเศส ที่ถ้ำวิมานนาคินทร์ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ วัดอายุได้ราว 1.8 แสนปี อยู่ในช่วงปลายของยุคไพลสโตซีนตอนกลาง โดยพบปะปนอยู่กับฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ

อีกทั้งก่อนหน้านั้นยังมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคปัจจุบันในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย อายุประมาณ 2.5 หมื่นปี ที่แหล่งโบราณคดีบ้านหมอเขียว อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เมื่อช่วงปี 2534-2538 โดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (รัศมี ชูทรงเดช, 2544)

นอกจากฟอสซิลมนุษย์ยุคหินเก่าแล้ว ในประเทศไทยยังมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณและแหล่งโบราณคดีในยุคหินใหม่และยุคโลหะอีกหลายแห่งทั่วประเทศ โดยแห่งที่รู้จักมากที่สุดคือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งพบทั้งโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือที่ทำจากหินและโลหะสำริดที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ 1,800-5,000 ปี จึงสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางอารยธรรมของมนุษย์ในดินแดนสุวรรณภูมิได้เป็นอย่างดี

 

ขอบคุณที่มา...Science - Manager Online