กระดานสนทนาวัดบางพระ

หมวด ธรรมะ และ นอกเหตุ เหนือผล => ธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: ทรงกลด ที่ 22 มิ.ย. 2554, 07:19:01

หัวข้อ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 22 มิ.ย. 2554, 07:19:01
ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
วันพุธ ที่ 08 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น 


  ความรู้จักคิด (โยนิโสมนสิการ) และ การมีมิตรดี (กัลยาณมิตร) ที่กล่าวมาข้างต้นทำงานร่วมกันอย่างไร เกื้อกูลหนุนส่งกันอย่างไร จะเห็นได้จากกรณีศึกษาผ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้
   
๑. พระเจ้าอโศกมหาราช ( พ.ศ. ๒๗๐–๓๑๒)
   
๒. กิสาโคตมี (มีชีวิตอยู่ในพุทธกาล)
   
๓. หลุยส์ เบรลล์ (ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๕๒)
   
๔. อัลเฟรด  โนเบล (ค.ศ. ๑๘๓๓–๑๘๙๖)

(http://www.dailynews.co.th/content/images/1106/08/newspaper/p23url1.jpg)
อโศกมหาราช

จากทรราชกระหายสงครามเป็นมหาราชโลกไม่ลืม
   
  พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าพินทุสาร แห่งราชวงศ์โมริยะ แคว้นมคธ  ทรงมีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๓ (พ.ศ. ๒๗๐–๓๑๒) เมื่อครั้งที่พระราชบิดายังทรงพระชนม์อยู่นั้น ทรงแต่งตั้งให้พระองค์ไปดำรงตำแหน่งอุปราช ณ กรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี ครั้นพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์ทรงกรีธาทัพมายึดอำนาจทางการเมืองจากพระเชษฐาธิราช โดยทรงสังหารผลาญราชนิกุลร่วมสายโลหิตเดียวกันไปกว่า ๙๙ องค์ เหลือเพียงพระอนุชาหนึ่งองค์เท่านั้น
   
  จากนั้น ทรงจัดการการเมืองภายในอีก ๔ ปี (ตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธ ระบุว่า ทรงยึดอำนาจ พ.ศ. ๒๑๔) เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว จึงทรงทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา (พ.ศ. ๒๑๘)
   
  ในยุคต้นของการครองราชสมบัตินั้น พระเจ้าอโศกทรงกระหายสงครามมาก ทรงรุกรบไปทุกหนทุกแห่ง เข่นฆ่า สังหาร ผลาญชีวิตผู้คนไปมากมายนับไม่ถ้วน จนได้รับพระราชสมัญญาว่า “จัณฑาโศก” แปลว่า “อโศกทมิฬ”
   
  ด้วยเดชานุภาพทางการรบอันหาใครเปรียบไม่ได้ ทำให้อาณาจักรของพระเจ้าอโศกแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากมายเสียยิ่งกว่าประเทศอินเดียในปัจจุบันหลายเท่า แต่แล้ว อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ทรงกรีธาทัพไปทำสงครามยึดแคว้นกาลิงคะนั้นเอง จุดเปลี่ยนแห่งชีวิตของพระองค์ก็เดินทางมาถึง
   
  กล่าวกันว่า สงครามกับแคว้นกาลิงคะคราวนั้น กองทัพของพระองค์เข่นฆ่าทหาร ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไปมากมายหลายแสนคน เลือดนองแผ่นดินกาลิงคะดังหนึ่งทะเลเลือดกว้างไกลไปสุดลูกหูลูกตา ความเสียหายอันใหญ่หลวงคราวนี้ ก่อให้เกิดความ “สลดพระทัย” แก่พระเจ้าอโศกอย่างที่ไม่เคยทรงเป็นมาก่อน ทำให้พระองค์ทรงหันมาตั้งคำถามกับตนเองว่า สิ่งที่ทรงทำลงไปนั้นคุ้มกันหรือไม่กับชีวิตประชาชนที่ต้องมาสังเวยความกระหายสงครามของตนเอง
   
  ในที่สุด ผลของการรู้จักใช้ “โยนิโสมนสิการ” โดยมี “ชีวิตของผู้วายชนม์ในสงครามหลายแสนคน” เป็นกัลยาณมิตร ก็ทำให้พระองค์ทรงได้คำตอบว่า สิ่งที่ทรงทำอยู่นั้น ไม่ถูกต้อง หลังจากที่ทรงได้คิดคราวนั้นแล้ว ทรงเปลี่ยนพระทัยไปเป็นคนละคน
   
  กล่าวคือ จากอโศกทมิฬผู้กระหายเลือดกระหายสงคราม มากระหายธรรมคือความดีงามและสันติภาพแทน นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ จากนโยบาย “สงครามวิชัย” (มุ่งชัยชนะด้วยการทำสงครามขยายอาณาเขต) มาเป็น “ธรรมวิชัย” (มุ่งชัยชนะด้วยการเผยแผ่ธรรมไปยังอาณาเขตที่ยึดมาได้ทั้งหมด).

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
ที่มา
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=143635&categoryID=671
หัวข้อ: ตอบ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 22 มิ.ย. 2554, 07:25:29
ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา (๒)
วันพุธ ที่ 15 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น 


ข้อความในศิลาจารึกที่พระองค์โปรดให้จัดทำขึ้นในเวลาต่อมา บันทึกเหตุการณ์สำคัญอันเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในคราวนั้นเอาไว้ว่า
   
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้นประชาชนจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับไปเป็นเชลย จำนวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจำนวนนั้นได้ล้มตายไป
   
นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้วการทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการทรงอบรมสั่งสอนธรรม ก็ ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ
   
การที่ได้ทรงปราบปรามแคว้นกลิงคะลงนั้น ทำให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความสำนึกสลดพระทัย...
   
ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลง และถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงสำนึกว่า เป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง...
(http://www.dailynews.co.th/content/images/1106/15/newspaper/p23url.jpg)   
สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดได้แก่ ธรรมวิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทำสำเร็จแล้ว ทั้ง ณ ที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์...
   
ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ...
   
ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถานเป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ เป็นปีติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย...
   
ชัยชนะอันแท้จริงนั้น จะต้องเป็นธรรมวิชัยเท่านั้น ด้วยว่าธรรมวิชัยนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกบัดนี้ และโลกเบื้องหน้า
   
ขอปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นความยินดีในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้น ย่อมอำนวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า”
   
ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา (วินย.อ.๑/๔๓) ผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์เล่าถึงแรงจูงใจในการที่ทรงหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาว่า (นอกจากเกิดจากความสลดพระทัยในหายนะภัยที่เกิดแต่สงครามแล้ว) พระองค์ได้ทรงพบกับกัลยาณมิตร คือ สามเณรนิโครธซึ่งเป็นพระนัดดาของท้าวเธอเอง
   
ในการพบปะกันในวันหนึ่ง ทรงสอบถามถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรนิโครธ ได้แสดงหลักธรรมเรื่อง “ความไม่ประมาท” อันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาให้พระองค์สดับ หลังจากทรงสดับแล้ว ทรง “คิดได้” (โยนิโสมนสิการ) จึงทรงหันมาปฏิวัติการใช้ชีวิตของพระองค์ชนิดตรงกันข้ามกับที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ทรงเปลี่ยนพระองค์เองจาก “อโศกทมิฬ” มาเป็น “ศรีธรรมาโศกราช” (พระเจ้าอโศกผู้ทรงเป็นศรีแห่งธรรม) พระพุทธวัจนะในพระธรรมบทที่มีผลต่อการเปลี่ยนพระทัยมานับถือพระพุทธศาสนาของพระองค์มีอยู่หนึ่งบท ประกอบด้วยสี่บาท ดังนี้
   
“ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย  ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย  คนไม่ประมาทไม่มีวันตาย  คนประมาทไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว”   
   
ความเสียหายอันใหญ่หลวงในสงครามที่ทำให้สลดพระทัยเมื่อมาบวกกับพุทธธรรมจากกัลยาณมิตรอย่างสามเณรนิโครธ คงจะทำให้พระเจ้าอโศกทรงหันกลับมาพิจารณาชีวิตของพระองค์อย่างลึกซึ้ง ว่ามรรคาที่ทรงดำเนินอยู่นั้น เป็นหนทางอันตราย เป็นวิถีแห่งการก่อทุกข์ ก่อเวรกรรมอันใหญ่หลวงแก่เพื่อนมนุษย์ ยังความเสียหายเกินประมาณให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว และบั่นทอนสันติภาพ สันติสุขของสรรพชีพ สรรพสัตว์โดยแท้ นับแต่วันที่ทรงสลดพระทัยและได้อาศัยการแนะนำจากกัลยาณมิตรแล้ว ต่อมาทรงฝักใฝ่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นถึงขนาดที่ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เองจากพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์แห่งยุคสมัย ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพก็ถึงกับทรงสละราชสมบัติชั่วคราวมาบวชเป็นภิกษุในบวรพุทธศาสนา.

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
ที่มา
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=145042&categoryID=671
หัวข้อ: ตอบ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
เริ่มหัวข้อโดย: ทรงกลด ที่ 22 มิ.ย. 2554, 07:29:06
ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค2 กรณีศึกษา (3)
วันพุธ ที่ 22 มิถุนายน 2554 เวลา 0:00 น 

ภายหลังจากที่พระเจ้าอโศกทรงกลับพระทัยจากผู้กระหายสงครามมาเป็นผู้เผยแผ่ธรรมแล้ว ทรงยังคุณูปการเป็นอันมากให้เกิดขึ้นแก่อาณาจักรและศาสนจักรดังต่อไปนี้
   
(๑) ในทางอาณาจักร ทรงเปลี่ยนนโยบายการเมืองการปกครองจากสงครามวิชัย (เอาชนะโดยสงคราม) มาเป็นธรรมวิชัย ทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนจากกลียุคเพราะภัยสงครามเข้าสู่ยุคแห่งสันติภาพอันยาวนาน
   
(๒) ทรงเป็นผู้นำในการเปลี่ยน

แปลงค่านิยม ระบบความเชื่อ หรือกระบวนทัศน์แบบเดิมของอินเดียจากเดิมที่มีสาระไม่มากนักให้มีสาระมากขึ้น หรือในบางกรณีทรงยกเลิกของเดิมแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ในรัชสมัยของพระองค์  เช่น
   
- ทรงเปลี่ยนวิหารยาตรา ที่พระราชาเสด็จไปทรงพักผ่อนเพื่อทรงล่าสัตว์และแสวงหาความสำราญส่วนพระองค์มาเป็นธรรมยาตรา ที่พระราชาเสด็จไปทรงนมัสการพระสงฆ์ผู้ทรงศีล ปรึกษา สอบถาม เรียนรู้ธรรมะ ถวายไทยธรรม ตลอดถึงเสด็จประพาสเพื่อสอดส่องดูสารทุกข์สุกดิบของปวงอาณาประชาราษฎร์ พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ
   
- ทรงเปลี่ยนสมาช ที่เป็นงานสโมสรรื่นเริงสนุกสนานด้วยการเสพสุรายาเมา นำสัตว์ต่าง ๆ มาแข่งขัน ต่อสู้กัน ซึ่งเป็นเรื่องเริงรมย์สนุกสนานการโลกีย์ล้วน ๆ มาเป็นวิมานทรรศน์ คือ การจัดนิทรรศการสิ่งดีมีคุณค่าที่จรรโลงจิตใจให้ประชาชนได้เห็นสิ่งที่ดีงามอันจะน้อมนำไปสู่การมีใจสูง
   
- ทรงเปลี่ยน
พิธีมงคล ที่เป็นการเชื่อในโชคลางผ่าน
พิธีกรรมขรึมขลังขมังเวทย์มาเป็นธรรมมงคลที่เน้นการปฏิบัติต่อกันและกันให้ถูกต้อง (ตามแนวทิศ ๖) เป็นต้น
   
- ทรงเปลี่ยนเภรีโฆษ ที่เป็นเสียงกลองศึก อันหมายถึง การเกิดขึ้นของสงครามที่มาพร้อมกับความหายนะ เป็นธรรมโฆษ ที่เน้นการเชิญชวนประชาชนมาฟังธรรม
   
- ทรงยกเลิกการฆ่าสัตว์ทั้งเพื่อการบริโภคและการบูชายัญอย่างชนิดที่พลิกระบบความเชื่อของคนในยุคสมัยก่อนหน้านั้นรวมทั้งในยุคสมัยของพระองค์อย่างชนิดเป็นตรงกันข้าม จนเป็นที่สังเกตกันในหมู่ผู้ศึกษาพุทธศาสนาในอินเดียว่า บางที การที่ทรงยกเลิกการบริโภคเนื้อสัตว์และการบูชายัญนี่เอง อาจเป็นจุดเริ่มต้นของค่านิยมการรับประทานอาหาร “มังสวิรัติ” ในเวลาต่อมาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นได้ ในศิลาจารึก ฉบับที่ ๑ ระบุถึงวัตรปฏิบัติในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า
   
“ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้โปรดให้จารึกไว้
   
   ณ ถิ่นนี้  บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์มีชีวิตใด ๆ เพื่อการบูชายัญ ไม่พึงจัดงานชุมนุมเพื่อการเลี้ยงรื่นเริง (สมาช) ใด ๆ เพราะว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมองเห็นโทษเป็นอันมากในการชุมนุมเช่นนั้น ก็แลการชุมนุมบางอย่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดี มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง  (ต่างหาก)
   
   แต่ก่อนนี้ ในโรงครัวหลวงของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ สัตว์ได้ถูกฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร วันละหลายแสนตัว ครั้นมาในกาลบัดนี้  เมื่อธรรมโองการนี้อันพระองค์โปรดให้จารึกแล้ว สัตว์เพียง ๓ ตัวเท่านั้นที่ถูกฆ่า คือ นกยูง ๒ ตัว และเนื้อ ๑ ตัว ถึงแม้เนื้อนั้นก็ไม่ได้ถูกฆ่าเป็นประจำ ก็แลสัตว์ทั้งสามนี้ (ในกาลภายหน้า) ก็จักไม่ถูกฆ่าอีกเลย”
   
(๓) ทรงแต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์  ให้เป็นตัวแทนพระองค์เดินทางไปยังหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ราชธานีต่าง ๆ เพื่อสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วทุกหนทุกแห่ง
   
(๔) ทรงสร้างถนน ขุดบ่อน้ำสร้างที่พักริมทาง สร้างโรงพยาบาล
(อโรคยสาลา) สวนสาธารณะมากมายทั่วราชอาณาจักร
   
(๕) ทรงส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชน โดยผ่านการเรียนธรรมและเผยแผ่ธรรม เป็นเหตุให้มีประชาชนรู้หนังสือกันอย่างแพร่หลาย
   
(๖) ทรงโปรดให้ทำศิลาจารึก   บันทึกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าประดิษฐานยังชุมชนเมือง และสถานที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทุกแห่งทั่วทั้งพระราชอาณาจักร.

ว.วชิรเมธี สถาบันวิมุตตยาลัย
ที่มา
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=146516&categoryID=671
หัวข้อ: ตอบ: ธรรมะอินเทรนด์ : ภาค ๒ กรณีศึกษา
เริ่มหัวข้อโดย: saken6009 ที่ 23 มิ.ย. 2554, 05:31:47
ธรรมะอินเทรนด์ ภาค2 กรณีศึกษา 36; 36;
                                               
ขอบคุณท่าน ทรงกลด ที่นำบทความดีมากๆมาให้พี่น้องศิษย์วัดบางพระได้อ่านครับ :053: :053:
 
ติดตามอยู่ครับ อ่านแล้วเพลินดีมากๆครับ และ ได้สาระความรู้มากๆครับผม :016: :015:
   
(ขออนุญาตเข้ามาอ่าน เพื่อเป็นความรู้ ขอบคุณครับผม) :033: :033: