โพชฌงค์ ๗ (องค์ปัญญาตรัสรู้)
อันบระกอบด้วย..
๑.สติ...การระลึกรู้
๒.ธัมมวิจยะ...การเลือกเฟ้นธรรม
๓.วิริยะ...ความเพียรพยายาม
๔.ปิติ...ความเอิบอิ่ม
๕.ปัสสัทธิ...ความสงบอิ่มใจ
๖.สมาธิ...ความตั้งใจมั่น
๗.อุเบกขา...วางเฉยอย่างมีสติกำกับ
....สติ....
สติระลึกรู้ การตั้งอยู่ของกายใจ
สิ่งที่ได้ทำไป จงครวญใคร่ระลึกตาม
ถูกผิดคิดรอบคอบ สิ่งใดชอบจึงทำการ
เตือนตนตลอดกาล ให้ชำนาญอย่าหลงลืม
....ธัมมวิจยะ....
ธัมมวิจยะ เลือกธรรมะให้เหมาะสม
อย่าตามค่านิยม ของสังคมที่เห่อกัน
เหมาะสมกับจริต และดวงจิตศรัทธามั่น
ก้าวหน้าทุกคืนวัน ธรรมะนั้นเหมาะกับเรา
....วิริยะ....
ความเพียรวิริยะ ไม่ปล่อยปละศรัทธามั่น
ทำอยู่ทุกคืนวัน ศรัทธามั่นเร่งความเพียร
เพียรชอบประกอบกิจ อย่าให้จิตนั้นผิดเพี้ยน
ศึกษาและเล่าเรียน ให้แนบเนียนเพียรใฝ่ดี
.....ปิติ.....
เมื่อจิตนั้นสงบ ก็จะพบกับปิติ
เกิดจากสมาธิ และดำริกุศลธรรม
เอิบอิ่มในอารมณ์ ได้ชื่นชมบุญหนุนนำ
สดชื่นในทางธรรม กุศลกรรมนำทางดี
.....ปัสสัทธิ....
ผ่านพ้นจากปิติ ปัสสัทธิย่อมตามมา
อิ่มใจสุขอุรา มีธรรมาคุ้มครองใจ
อิ่มใจในความสุข ไม่มีทุกข์จิตแจ่มใส
นิ่งอยู่ ณ ภายใน เอิบอิ่มใจในธรรมา
.....สมาธิ.....
เอิบอิ่มแล้วสงบ ก็จะพบสมาธิ
จิตนั้นหยุดดำริ มีสติคุ้มกายา
ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สงบในจิตวิญญา
สติเป็นสัมมา จะนำพาไม่ผิดทาง
....อุเบกขา....
จิตมีอุเบกขา หยุดไขว้คว้าแล้ววางเฉย
สติไม่ละเลย เพราะวางเฉยด้วยปัญญา
วางเฉยละปรุ่งแต่ง จิตไม่แกว่งแสวงหา
รู้เห็นด้วยปัญญา องค์ธัมมาสัมโพชฌงค์
๐๐๐............๐๐๐
:054:แด่การพิจารณาโพชฌงค์ ๗ องค์ปัญญาตรัสรู้
เชื่อมั่นและศรัทธาในธรรม
รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-กลุ่มยุทธธรรมสัญจร
๗ กันยายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๑.๔๗ น. ณ ศาลาน้อยริมน้ำโขง ชายแดนประเทศไทย