พระร่วงหลังรางปืน จังหวัดสุโขทัย นับว่าเป็น จักรพรรดิแห่งพระเครื่องเนื้อชิน ซึ่งเป็นพระเครื่องเนื้อชินสนิมแดง ที่หาได้ยากยิ่ง เพราะเป็นพระที่พบน้อยมาก และในจำนวนพระที่พบน้อยนั้น ยังมีพระที่ชำรุดอีกด้วย
พระร่วงหลังรางปืน มีเอกลักษณ์ที่ด้านหลัง เป็นร่องราง จึงเป็นที่มาของชื่อพระว่า พระร่วงรางปืน ในเวลาต่อมา
พระร่วงหลังรางปืน เป็นพระเครื่อง ที่มีลักษณะประติมากรรม ที่งดงาม สง่า ผึ่งผาย สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย
เซียนพระเครื่อง ได้ให้ความสนใจ พระร่วงหลังรางปืนนี้ ไม่แพ้พระเครื่องชุด พระไตรภาคี เนื่องจากเป็นพระเครื่อง ที่มีขนาดยาว คือ พิมพ์ใหญ่ ขนาดสูงประมาณ 8-9 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมาก ผู้หญิงที่มีพระร่วงหลังรางปืนนี้ ไม่ค่อยนิยมคล้องคอ ยกเว้นผู้ชาย หรือพวกนักรบ ที่ชอบคล้องคอ เพื่อความสง่างาม
พระร่วงหลังรางปืน สร้างจากเนื้อชิน ตะกั่วดำโบราณ จากเมืองสวรรคโลก เนื้อชินนี้ เป็นเนื้อชินที่ได้รับความนิยม เรียกกันว่า สนิมมันปู ซึ่งจะเกาะอยู่ตามส่วนอื่น ๆ ขององค์พระ
พระร่วงหลังรางปืน เป็นพระที่ถูกลักลอบขุดจากบริเวณ พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเก่าชะเลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จำนวนที่ขุดพบครั้งแรกนั้น มีประมาณ 400 องค์ สำหรับราคาที่ให้เช่าบูชาในขณะนั้น องค์ละ 100 บาท ก็ยังหาผู้บูชาไม่ค่อยจะได้ แต่สำหรับปัจจุบัน องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์ราคาจะสูงมาก เนื่องจากมีจำนวนน้อย
เดิมนั้น พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างลพบุรี สร้างขึ้นเป็นพุทธาวาสโดยตรง ได้รับการปฏิสังขรณ์ และแก้ไขดัดแปลงหลายครั้ง ทั้งในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ต่อมา ได้รับการขุดโดยกรมศิลปากร เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2497
พระร่วงหลังรางปืน ได้ถูกคนร้ายลักลอบขุด เมื่อ พ.ศ.2499 ตอนกลางคืน คนร้ายได้ลักลอบขุดเจาะฐานพระพุทธรูป ในพระวิหารด้านทิศตะวันตก ขององค์พระปรางค์ และได้งัดเอาศิลาแลงออกไป พบไหโบราณ 1 ใบ อยู่ในโพรงดินปนทราย ลักษณะคล้ายหม้อทะนน หรือกระโถนเคลือบสีขาว
ภายในไหที่คนร้ายขุดพบนั้น บรรจุพระพุทธรูปสกุลช่างลพบุรี 5 องค์ คือ
- พระพุทธรูปยืน ปางห้ามสมุทรทรงเทริด เนื้อสำริด สูง 10 นิ้ว
- พระพุทธรูปนั่ง ปางนาคปรก เนื้อสำริด หน้าตักกว้าง 3-4 นิ้ว 2 องค์
- พระพุทธรูปนั่งในซุ้มเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 3-4 นิ้ว 2 องค์
- พระร่วงหลังรางปืน ประมาณ 240 องค์
ต่อมา ไหโบราณ และพระพุทธรูปทั้งหมด ได้มีคนนำมาขายที่แถว ๆ เวิ้งนครเกษม พระร่วงรางปืนที่ได้ในครั้งนี้ เป็นพระร่วงหลังรางปืน ที่ชำรุดเสียประมาณ 50 องค์ ที่เหลืออยู่ก็ชำรุดเล็กน้อยตามขอบ ๆ ขององค์พระ พระที่สวยสมบูรณ์จริง ๆ นับได้คงไม่เกิน 20 องค์
พระร่วงของกรุนี้ เป็นพระเนื้อชินสนิมแดง ที่ด้านหลังพระร่วงกรุนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นร่องราง เลยเป็นที่มาของชื่อ พระร่วงหลังรางปืน และมีบางองค์ ที่เป็นแบบหลังตัน แต่พบเป็นจำนวนน้อย และที่ด้านหลังของพระ จะเป็นรอยเส้นเสี้ยน หรือลายกาบหมากทุกองค์
ในตอนนั้น พวกที่ลักลอบขุดเจาะได้แบ่ง พระร่วงรางปืน กันไปตามส่วน และนำพระร่วงรางปืน ออกมาจำหน่าย ซึ่งเมื่อมีข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็มีคนจากกรุงเทพมหานคร เดินทางไปเช่าหากัน จนราคาพระสูงขึ้นเป็นอันมาก และพระก็ได้หมดไปในที่สุด
ในปัจจุบัน พระร่วงรางปืน ที่พบจากกรุนี้ ได้แบ่งแยกออกเป็น
- พระร่วงหลังรางปืนพิมพ์ฐานสูง
- พระร่วงหลังรางปืนพิมพ์ฐานต่ำ
ข้อแตกต่างกันของ พระร่วงรางปืน ทั้ง 2 แบบนี้ ก็คือ ที่ฐานขององค์พระจะสูง และบางต่างกัน นอกนั้นรายละเอียดจะเหมือน ๆ กัน
ลักษณะร่องรางของด้านหลัง ของพระร่วงรางปืน ก็ยังแบ่งออกได้เป็น
- พระร่วงหลังรางปืนแบบร่องรางแคบ
- พระร่วงหลังรางปืนแบบร่องรางกว้าง
แต่ที่สำคัญ พระร่วงหลังรางปืน จะปรากฏรอยเสี้ยน ทั้ง 2 แบบ
เนื้อและสนิมของพระร่วงหลังรางปืน จะเป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดง สนิมออกแดงแกมม่วง สลับไขขาว สีของสนิมแดงใน พระร่วงหลังรางปืนของแท้ จะมีสีไม่เสมอกันทั้งองค์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จะมีสีอ่อนแก่สลับกันไป
ส่วนพระร่วงหลังรางปืนของเทียม มักจะมีสีเสมอกันทั้งองค์ พื้นผิวสนิมมักจะแตกระแหงเป็นเส้นเล็ก ๆ คล้ายใยแมงมุม
การแตกของสนิมของ พระร่วงหลังรางปืน มักแตกไปในทิศทางต่าง ๆ กัน สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสนิมแดงของแท้ ที่ขึ้นเต็มเป็นปื้น ซึ่งมักจะเป็นเช่นนี้
เนื่องจากพระร่วงหลังรางปืนนี้ สร้างขึ้นจากวัสดุที่เรียกว่า เนื้อชินตะกั่วดำโบราณพิเศษ จึงมีสนิมแดงที่เรียกว่า สนิมมันปู เกาะอยู่ตามขอบ หรือบริเวณที่เป็นสัน หรือส่วนที่เป็นฐานนูนอยู่โดยทั่วไป
ลักษณะของสนิมจะจับแน่นในเนื้อองค์พระโดยทั่วไป แต่ในปัจจุบัน พึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่า มีผู้ทำเลียนแบบของเก่า โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ทำการอบสนิมแดง โดยใช้เครื่องมือและสารเคมีเข้าช่วย ทำให้เกิดสนิมแดง ได้คล้ายคลึงกับของจริงมาก และมักใช้น้ำมันและผงสีดำทาทับไว้จนทั่ว เพื่ออำพรางสายตานักเลงดูพระรุ่นใหม่
ด้านพุทธคุณนั้น กล่าวกันว่า พระร่วงหลังรางปืนนั้น มีอานิสงส์สูงส่งทางโชคลาภ แคล้วคลาด คงกระพัน และป้องกันไฟไหม้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไม พระร่วงรางปืน จึงได้รับความนิยมในการแสวงหา เอามาบูชา จากบรรดาเซียนพระเครื่อง เป็นอย่างยิ่ง
ขอบพระคุณท่านเจ้าของพระด้วยครับ