หลวงปู่ภัททันตะ อาสภมหาเถระ ละสังขารแล้ว 26 พ.ย.53
หลวงปู่มหาภัททันตะ อาสภมหาเถระ
อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยา
วัดภัททันตะอาสภาราม ต.หนองปรือ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
มรณภาพแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สิริอายุได้ 99 ปี และจะมีการสรงน้ำศพ ที่ศาลาการเปรียญ วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพ ในวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลาประมาณ 13.00 น. จึงขอโอกาสแจ้งมาเพื่อโปรดทราบและไปร่วมพิธีเพื่อแสดงความกตัญญูและไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายโดยทั่วกัน
สังเขปประวัติ
หลวงพ่อดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระฯ พระมหาบูรพาจารย์แห่งวงศ์วิปัสนากรรมฐานแห่งยุคกึ่งกลางพุทธกาลนี้ มีนามเดิมว่า หม่องขิ่น ถือกำเนิดในตระกูลตวยเต้าจี้ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางชั้นสูงของพม่า โยมบิดามีชื่อว่า อุโพอ้าน โยมมารดามีนามว่า ต่อเปียว ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คน เกิดที่บ้านตำบลจวนละเหยียน อำเภอเยสะโจ จังหวัดปะคุกกู่ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 1 ฯ8 ปีกุน จุลศักราช
1273 ตรงกับเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2454 เวลา 10.54 น.
เมื่อท่านได้เจริญวัยจนมีอายุได้ 7 ปี โยมบิดามารดาจึงพร้อมใจนำท่านไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดจวนละเหยียนเหนือ ซึ่งมีพระภัททันตะปุญญมหาเถระเป็นเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ ได้รับการศึกษาเริ่มต้นตั้งแต่ นโม พุทฺธาย สิทฺธ ตลอดไปจน ทศมหาชาดก ซึ่งเป็นวิชชาพื้นฐานการศึกษาพระพุทธศาสนาของเยาวชนพม่า ไปได้สักระยะหนึ่ง พระภัททันตะ ปุญญมหาเถระก็ถึงแก่มรณภาพ เด็กชายหม่องขิ่น เลยจำเป็นต้องย้ายที่เรียนไปที่วัดโชติการาม อำเภอสะโจ เมืองปะคุกกู่ โดยมีพระภัททันตะ ญาณมหาเถระเป็นพระ
อาจารย์อนุศาสน์สั่งสอนสืบต่อมา
เวลาผ่านไปจนเด็กชายหม่องขิ่น มีอายุได้ 15 ปี เมื่อปีพ.ศ. 2469 จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโชติการามนั่นเอง โดยมีท่านพระภัททันตะ ญาณมหาเถระ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า อาสโภ จากนั้น ท่านพระอาจารย์ก็ได้การอบรมสั่งสอนระเบียบวินัยข้อวัตรปฎิบัติต่างๆ ตลอดจนให้การศึกษาไวยกรณ์บาลีมหากัจจายน์ และพระอภิธรรมมัตถสังคหะอรรถกถา อันเป็นพื้นฐานการศึกษาพระบาลีพระไตรปิฏกของคณะสงฆ์พม่าเป็นลำดับมา
กาลต่อมา เมื่อท่านพระภัททันตะ ญาณมหาเถระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า อันสามเณรอาสโภรูปนี้ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงได้อย่างไม่ต้องสงสัย ท่านจึงได้อาสภสามเณรนี้ไปถวายตัวให้กับท่านพระภัททันตะ ปัญญามหาเถระ อัครมหาบัณฑิต ปัญจนิกายปารคู สะยาดอร์ ผู้เป็นคณะปาโมกข์ ณ. มหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นวิทยาลัยสงฆ์ของพม่า มีพระจากทั่วประเทศมาศึกษาบาลีนับเป็นจำนวนพันๆรูปเลยทีเดียว สามเณรอาสโภก็ได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างไม่ลดละเป็นการถาวร ที่มหาวิสุตารามหาวิทยาลัยนั้น โดยท่านได้ศึกษาพระคัมภีร์ชั้นสูงต่างๆ เช่น พระคัมภีร์อภิธานฉันปกรณะ อลังการะ รูปสิทธิ สัททนีติ พระคัมภีร์กังขาวิตรณีอรรถกถา และพระคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา จนแทงตลอดอย่างดียิ่งเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2473 อาสภสามเณร ซึ่งมีอายุได้ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้กลับอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนอย่างสมภาคภูมิ ณ วัดจวนละเหยียน อ. เยสะโจ จังหวัดปะคุกกู่ ที่บ้านเกิดแห่งท่าน เมื่อ 17ฯ 8 ปีมะแม จุลศักราช 1293 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ. 2473 โดยมีพระภัททันตะ ญาณมหาเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ พระภัททันตะ อูเกลาสะมหาเถระ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระภัททันตะ อูปัญญามหาเถระ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนาตามเดิมว่า อาสโภ จากนั้น พระอาสภะภิกขุ ก็ได้เดินทางกลับไปศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงที่มหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย กับพระมหาเถระผู้ทรงคุณอย่างยอดเยี่ยม ระดับอัครมหาบัณฑิตและอภิชมหารัฐคุรุเป็นหลายองค์ จนที่สุด พระภิกษุอาสโภก็ได้สำเร็จการศึกษาชั้นธัมมาจริยะซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแห่งการศึกษาของคณะสงฆ์พม่า เมื่อปีพ.ศ. 2480 เมื่อท่านมีอายุได้ 27 ปีเท่านั้น
แต่แม้พระอาสภภิกขุสังฆะเจ้า จะได้ผ่านการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงมามากมายอย่างนี้ แต่พระภัททันตะ อาสภะ ธัมมาจริยะ ก็ยังไม่ประสงค์ที่จะหยุดศึกษาต่อแต่เพียงเท่านั้น แต่ท่านปรารถนาที่จะได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ความเป็นพหูสูตให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก พระอาสภะ ธัมมาจริยะจึงได้ออกจากมหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย ไปศึกษาธรรมะเพิ่มเติมจากพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงเกริกไกรในสมัยนั้นอีก อันมี
1.พระคุณท่านภัททันตะ นารทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต ปัญจนิกายปารคู วัดทักขิณาราม นครมัณฑเลย์
2. พระคุณท่านภัททันตะ โกญทัญญะมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต วัดพญาจีใต้ กรุงย่างกุ้ง
3.พระคุณท่านภัททันตะ นันทิมามหาเถระ อัครมหาบัณฑิต ปัญจนิกายปารคูสันจอง สะยาดอร์ วัดขิ่มมะกัน นครมัณฑเลย์
4.พระคุณท่านภัททันตะ นันทิยมหาเถระ วัดตูมอง นครอมรปุระ ซึ่งมีสมญานามพิเศษว่า พระอาจารย์ใหญ่สะยาดอร์ดัง ญะหวา (ทไวไลท์) เพราะท่านมีเทคนิคพิเศษในการสอนพระอภิธรรมอันลึกซึ้งในความมืดแห่งรัตติกาล โดยไม่ต้องใช้ไฟส่องสว่างและหนังสือหนังหามาประกอบการสอนแต่อย่างไรทั้งสิ้น เป็นการถ่ายทอดกันจากใจถึงใจโดยตรง เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
5. พระคุณท่านภัททันตะวิมลมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต วัดมงคลเก่า นครอมรปุระ ซึ่งท่านองค์นี้ มีสมญานามว่า ท่านอาจารย์ใหญ่โมกุกสะยาดอร์ มีคุณวิเศษที่สามารถสอนพระพุทธวจนะได้อย่างแม่นยำและถูกต้องถ่องแท้ อีกทั้งท่านยังเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง ซึ่งเมื่อท่านภัททันตะ วิมลมหาเถระได้มรณภาพลง ก็ได้ปรากฏเหตุการณ์ปาฏิหาริย์เป็นหลายประการ สร้างความอัศจรรย์แก่มหาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง
ท่านพระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ได้ใช้เวลาศึกษาความรู้พิเศษเพิ่มเติมจากพระคณาจารย์ผู้ทรงธรรมวิเศษยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ถึง 3 ปี จึงได้เดินทางกลับคืนมาสู่มหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย บรรดาพระมหาเถระ คณะปาโมกข์ฝ่ายคันถธุระแห่งมหาวิทยาลัย เมื่อได้ทราบความเป็นมาเป็นไปของท่านอาสภเถระ ธัมมาจริยะแล้ว ก็มีความยินดีพอใจอนุโมทนาเป็นอย่างมาก จึงมีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งท่านให้เป็นคณะวาจกะสะยาดอร์ คือเป็นพระคณาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ประจำมหาวิทยาลัย เพื่อให้การอนุศาสน์สั่งสอนพระภิกษุสามเณรโดยทั่วไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2483 เรื่อยมา ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิสุตารามนี้ มีพระอาจารย์ใหญ่ระดับคณะวาจกะเพียง7องค์เท่านั้น
สู่เส้นทางวิปัสสนา
ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ คณะวาจกะสะยาดอร์ ได้บำเพ็ญองค์เป็นพุทธสาวกชั้นเยี่ยม โดยการสั่งสอนพระพุทธธรรมแก่พระภิกขุสังฆะทั้งหลาย อันเป็นการธำรงพระปริยัติศาสนาให้คงอยู่มาเป็นเวลาช้านาน ประมาณ กว่า 1 ทศวรรษ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2493 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระฯ ได้หักเหจากอาจารย์บอกธรรมมาเป็นวิปัสสนาจารย์โดยสมบูรณ์ เมื่อท่านได้มีโอกาสพบกับพระภัททันตะ คันธมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต ผู้มีเกียรติคุณสูงเด่นในวิชาการชั้นสูง อันเป็นที่ยอมรับของมหาชนทั้งหลายโดยทั่วไป โดยเมื่อท่านได้สนทนากับท่านคันธมหาเถระพอสมควรแล้ว ท่านพระคันธมหาเถระ ก็หยิบหนังสือเล่มหนึ่งส่งให้ พร้อมกับสั่งกำชับว่า จงอ่านให้ได้ ซึ่งพระอาสภเถระเมื่อได้ลองอ่านดู ก็พบว่า หนังสือนั้นมีชื่อว่า แนวปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งรจนาโดยพระอาจารย์ภัททันตะโสภณมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต หรือพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์
หมายเหตุ,ท่านพระมหาสี สะยาดอ สุดยอดพระวิปัสนาจารย์แห่ง
เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ องค์นี้ นับเป็นพระ ผู้แตกฉานในพระวิปัสนากรรมฐานอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดอย่างยิ่ง จนได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็นปุจฉกะ(ผู้ถาม)ในการกระทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 6 ของโลก ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ เมื่อปีพ.ศ. 2496 โดยทำหน้าที่เดียวกับพระมหากัสสปะเถระที่ทำหน้าที่ซักถามพระวินัยแก่พระอุบาลีเถระในคราวสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรกนั่นเลยเทียว..!!!!!
และเมื่อพระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ อ่านแนวทางปฏิบัติวิปัสสนาที่เขียนโดยท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์จบ ท่านอาสภเถระ ก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่า
ในสมัยปัจจุบันทุกวันนี้ การปฏิบัติวิปัสสาที่ถูกต้องและได้ผลจริงยังมีอยู่อีกหรือนี่..
??
เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้บอกพระกรรมฐาน ด้วยความเข้มงวดกวดขันเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อพระภัททันตะ อาสภเถระ ฯ ได้ปฏิบัติไปๆ ก็ให้อัศจรรย์ใจในผลของการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มมากยิ่งขึ้นทุกวัน และที่สุด ก็ได้บรรลุถึงผลสมดังความมุ่งหมาย วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานใดๆที่เคยค้างคาใจมาแต่กาลก่อน ก็ล้วนปลาสนาการหายไปจนหมดสิ้น การเป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่งที่สุดเลยทีเดียว....
สืบสายธรรมแท้จากพระอรหันต์ครั้งพุทธกาล
มหาเหตุที่สำคัญอย่างยิ่งยวดประการหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านพระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ คณะวาจกะ สะยาดอร์ ได้บรรลุธรรมเบื้องสูงดังกล่าวมานั้น ก็เห็นจะเป็นการที่ท่าน ได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้องร่องรอยตามพระพุทธวจนะแห่งองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริงนั้นเอง
เหตุดังกล่าวย่อมปรากฏชัดว่า อันแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาที่ท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์ได้สอนนั้น เป็นวิธีการสอนวิปัสสนาที่ใช้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยสืบวิปัสสนาวงศ์มาแต่องค์พระอรหันต์ผู้เป็นสัทธิวิหาริก(ลูกศิษย์) ของท่านพระมหาโมคคัลลีบุตรสังฆวุฒาจารย์ ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้อาราธนามาประดิษฐานบวรพระพุทธศาสนา เผยแผ่พระพุทธธรรมยังสุวรรณภูมิประเทศเมื่อ 2000 กว่าปีที่ แล้วอย่างแท้
ความผิดเพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ ซึ่งไม่ปรากฏแต่อย่างใด นี่คือความสำคัญอย่างเอก และเป็นอานิสงส์โดยตรงของการที่ชนชาวพม่า มีความศรัทธามั่นคงในพระพุทธและพระธรรมเป็นยอดทั้งสิ้น
โอกาสที่สัทธรรมปฏิรูปหรือธรรมะปลอม ที่ไม่ว่าจะเกิดจากการหลงนิมิตหรือกรรมฐานเพี้ยนเพราะถูกกิเลสหลอกให้เห็นผิดเป็นชอบ หรือเห็นน้ำตาลเป็นเกลือหรือเกลือเป็นน้ำตาล จึงยากที่สุดจักสอดแทรกเข้ามาแทนที่พระพุทธธรรมอันพิสุทธิ์ได้ นี้แล จึงก่อให้เกิดเป็นมหาคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่สุด ต่อทั้งชนชาวพม่าเองและพุทธศาสนิกชนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ที่อาจจะยังพอยึดถือและพึ่งพาอาศัย ได้บ้าง เมื่อต้องการศึกษาของจริงของแท้ ที่ไม่ใช่เรื่องฝันในฝันกลางคืนดึกๆ หรือ กลางวันแสกๆ ที่มีที่สุดแห่งการปฎิบัติก็คือการบริจาคเงินเพื่อแลกกับโลกีย์หรือกามสุข (ลาภ ,ยศ,สรรเสริญ)แบบโลกๆ แทนที่จะสอนคนให้หลุดพ้นจากวัฏฏะอย่างสิ้นเชิงตามรอยบาทแห่งพระพุทธองค์ เหมือนอย่างบางสำนัก บางวัด ในบางประเทศนิยมทำกันแต่อย่างไรทั้งสิ้น
และก็ด้วยอานิสงส์ดังว่านี้เอง ประเทศไทยของเรา จึงพลอยได้รับอานิสงส์พิเศษสุด จากความมั่นคงในพุทธธรรมของชาวพม่า เมื่อ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถระ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร (ที่ต่อมาได้รับโปรดเกล้าสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ) ซึ่งเมื่อปีพ.ศ.2495 ท่านมีตำแหน่งเป็นสังฆมนตรี ว่าการองค์การปกครอง ได้เกิดมหากุศลจิตที่ประสงค์จะให้เกิดการบำเพ็ญวิปัสสนาที่ถูกต้องขึ้นในประเทศไทย และเมื่อท่านพระพิมลธรรมได้พิจารณาด้วยจิตใจที่เป็นกลางอย่างยิ่งแล้ว พบว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศพม่านั้น มีความถูกต้องแม่นยำและไม่ผิดเพี้ยนจากพระพุทธวจนะ เพราะเหตุที่สืบสายมาโดยตรงจากพระอรหันต์ผู้เป็นศิษย์ในพระโมคคัลลีบุตรอรหันตเถระสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชอย่างแท้จริง สมควรที่จะยึดถือเป็นแบบอย่างได้อย่างมั่นใจ สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถระ) หรือพระพิมลธรรม ในสมัยนั้น จึงได้ส่งศิษย์เอกท่านหนึ่งของท่าน คือ พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ เปรียญธรรม 9 ประโยค (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สูงขึ้นมาเรื่อยๆจนที่สุดได้เป็นที่พระเทพสิทธิมุนี พระวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังกลางกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา ซึ่งมีจิตใจฝักใฝ่ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่ง ให้ไปเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักวิปัสสนาสาสนยิตสา ที่ฯพณฯ อูนุ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าในสมัยนั้นได้สร้างขึ้นที่เมืองย่างกุ้ง โดยได้ฝากให้อยู่ในความดูแลของท่านพระอาจารย์โสภณมหาเถระ หรือท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์ ซึ่งเป็นเจ้าสำนักใหญ่อยู่ในขณะนั้น ซึ่งพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ก็ได้ตั้งใจเร่งความเพียรในการปฏิบัติธรรมอย่างดียิ่ง โดยท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์ ก็ได้มอบหมายให้
พระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ศิษย์เอกของท่านซึ่งบรรลุธรรมมาแต่ก่อนเรียบร้อยแล้ว คอยดูแลและสอบอารมณ์ท่านพระมหาโชดก แทนท่านซึ่งมีภารกิจแห่งความเป็นเจ้าสำนักมากมาย ทำให้ไม่อาจจะมาคอยควบคุมและสอบอารมณ์พระกรรมฐานได้ทุกวัน ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ จึงได้เป็นเสมือนหนึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงในท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนี หรือพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิไปโดยปริยาย
จำเนียรกาลแห่งการปฏิบัติธรรมพระกรรมฐานในสำนักสาสยิตสาของพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิผ่านไปเพียง 3 เดือน ท่านพระมหาโชดกก็ได้สำเร็จวิปัสสนาสมดังความมุ่งหมาย เป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง ท่านพระมหาโชดกจึงเตรียมเดินทางกลับมายังประเทศไทย ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมจึงได้ทำเรื่องไปยังสภาการพระพุทธศาสนาแห่งพม่าขอให้ส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญมาสอนวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทยด้วย ซึ่งทางสภาการพระพุทธศาสนาก็ได้มอบหมายให้ท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์เป็นผู้คัดเลือก ผลก็ปรากฏว่า ท่านได้เจาะจงเลือกพระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะให้รับภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ โดยสั่งกำชับไว้ด้วยว่า จงอย่าขัดข้องหรือปฏิเสธเลย ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ผู้ทรงภูมิรู้แห่งวิปัสสนาวิธีจากลุ่มแม่น้ำอิระวดี จึงมีอันได้เดินทางจากปิตุภาค มาตุภูมิเดิม มาเป็นพระอาจารย์บอกพระกรรมฐานอยู่ที่คณะ 5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2596 เป็นต้นมา
พระมหารัตนวิปัสสนาจารย์แห่งยุคกึ่งพุทธศาสนยุกาล
ก็เมื่อท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ ได้เดินทางมาบอกพระกรรมฐานที่ประเทศไทยเป็นการถาวรตามคำบัญชาของพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์ ผู้เป็นพระมหาบูรพาจารย์แล้ว ท่านก็ได้ร่วมกับพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ทำการเผยแพร่วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ถูกต้องร่องรอยตามพระพุทธวจนะในพระไตรปิฏกและตามแนวแห่งปฐมอรหันต์ผู้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิเมื่อ 2 พันกว่าปีก่อน เพื่อสนองพระคุณพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างทุ่มเทและตั้งอกตั้งใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งก็ได้มีพระภิกษุสามเณรตลอดจนบุคคลทุกระดับชั้น ทุกสาขาวิชาชีพ สนใจศรัทธามาขอเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่ปรากฏผลและบรรลุธรรมจากการปฏิบัติแนวทางที่ถูกต้องนี้ตามควรแก่บุรพวาสนาแห่งตนมากมาย
ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณสูงส่งและโดดเด่นเป็นพิเศษ ก็มีอาทิเช่น
1. สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี พระราชมารดาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน http://www.gmwebsite.com/Webboard/Topic.asp?TopicID=Topic-080308142424564
หมายเหตุ , สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงมีอัธยาสัยใฝ่ธรรมมาแต่ดั้งเดิม ก็ได้เคยเสด็จมาทรงเจริญพระวิปัสสนากรรมฐาน กับท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ และท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทฺธิ ที่คณะ 5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร ด้วยพระราชศรัทธาอย่างเปี่ยมล้น เมื่อปีพ.ศ. 2498 จนเป็นที่รับรู้กันว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงบรรลุธรรม ชั้นสูงแล้ว คุณแห่งพระวิปัสสนาที่ทรงสำเร็จ ก็ยิ่งส่งเสริมให้พระองค์ทรงเป็นบริสุทธิเทพยิ่งกว่าเทพใดๆ สมกับที่ทรงสถิตสถาพรอยู่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เป็นทั้งศักดิ์และศรีแห่งบ้านแห่งเมืองไทยนี้ทั้งหมดแล้วอย่างแท้จริง
2. พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัล ) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี พระวิปัสสนาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคนี้ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพระพุทธศาสนามากมาย อีกทั้งยังเคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำมาแต่ก่อน และรู้เห็นการที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ มาแก้กรรมฐานกับท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ และท่านเจ้าคุณโชดก ที่วัดมหาธาตุด้วยองค์เองอีกด้วย
3. พระราชอุทัยกวี(พุฒ) วัดมณีสถิตย์ อ. เมือง จ.อุทัยธานี พระอริยคณาจารย์องค์สำคัญผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณและเป็นที่เคารพนับถือของชาวอุทัยธานีอย่างกว้างขวางในยุคร่วมสมัยนี้
4. พระสุธรรมญาณเถระ (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
หมายเหตุ, ครูบาอินทจักรรักษานี้ เป็นพระพี่ชายแท้ๆของหลวงพ่อพระพุทธบาทตากผ้า อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ของพระอริยสงฆ์องค์สำคัญอีกองค์หนึ่งของอ.สันป่าตอง ซึ่งก็คือ หลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋น ธัมมปัญโญ พระอรหันตเจ้า แห่งวัดร้องขุ้ม ด้วย ซึ่งอาจจนับได้ว่า หลวงปู่ครูบาเจ้าบุญปั๋นนี้ เป็นหลานศิษย์ของสำนักกรรมฐาน วัดมหาธาตุ ที่มีหลวงพ่อภัททันตะ อาสภเถระฯ เป็นอาจารย์ใหญ่ก็ว่าได้ไม่ผิดเลย
5. พระสุพรหมญาณเถระ (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
หมายเหตุ, พระอริยเจ้าองค์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งแห่งภาคหนึ่ง ถึงขนาดที่ครูบาเจ้าศรีวิไชย นักบุญแห่งล้านนาไทยยังต้องขอดูตัว ซึ่งทรงอภิญญาอันยิ่งใหญ่ และทรงอิทธิจิตอันแก่กล้าถึงขนาดสามารถเหยียบศิลาแลงทั้งแท่งให้เป็นรอยเหมือนหนึ่งเหยียบลงในดินเลนที่อ่อนนุ่มได้เป็นมหัศจรรย์ (ยังปรากฏรอยเท้าในแผ่นหินเป็นหลักฐานอยู่ที่หลังวัดพระพุทธบาทตากผ้าจนถึงทุกวันนี้) ก็เคยมาเรียนพระกรรมฐานที่คณะ 5 วัดมหาธาตุ กับท่านหลวงพ่อภัททันตะ อาสภเถระฯ และท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทฺธิ ในครั้งหนึ่งด้วย
6. พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท )วัดฟ้าหลั่ง กิ่งอ.ดอยหล่อ จ. เชียงใหม่ พระอริยเจ้าอาวุโสสายเหนือผู้บรรลุคุณธรรมสูงสุด และอิทธิฤทธิ์บุญฤทธิ์อย่างยอดยิ่ง ที่แม้แต่หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ. เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พระอริยเจ้าสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็ยังให้ความเคารพยกย่องเป็นพิเศษ ก็เคยลงมาฝึกกรรมฐานกับหลวงพ่อภัททันตะ อาสภเถระ ที่คณะ 5 วัดมหาธาตุ เช่นเดียวกัน
7. พระเทพมงคลมุนีหรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางที่สุดทั่วไปในนาม หลวงพ่อสด จันทสโรแห่งวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ผู้สร้างพระของขวัญ วัดปากน้ำอันบันลือลั่นที่สุดนั่นแล
หมายเหตุ , การที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ต้นตำรับวิชชาธรรมกายอันโด่งดัง ได้มาแก้กรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริงกับพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ และท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทฺธิ นี้ เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจริง มีหลักฐานทั้งวัตถุและบุคคลชั้นที่ 1 (ภาษากฏหมาย) ที่เจ้าตัวได้จดบันทึกไว้เอง หรือรู้เห็นทันเหตุการณ์ด้วยตนเองยืนยันไว้อย่างหนาแน่นที่สุดทั้งสิ้น
1. ก็คือ จดหมายเปิดผนึกพร้อมรูปถ่ายลายเซ็นรับรอง ที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ได้เขียนและนำมามอบถวายไว้ที่คณะ 5 วัดมหาธาตุด้วยองค์เอง
2. คำบอกเล่าของ พระธรรมสิงหบุราจารย์หรือ หลวงพ่อจรัล ฐิตธัมโม พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดัง ก้องฟ้าเมืองไทย แห่งวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งท่านได้เคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อสด และอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนอวสานทั้งหมด และได้เคยเล่าเรื่องราวที่มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงของพระพุทธธรรมและบวรพระพุทธศาสนาโดยองค์รวมนี้ทั้งโดยการเทศน์และตีพิมพ์เป็นหนังสือไว้เป็นหลักฐานในหลายที่หลายแห่ง เป็นหลายครั้งหลายครา ซึ่งจะขออนุญาตอัญเชิญมาถ่ายทอดให้ได้รับทราบกันทั่วไปในโอกาสต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บบอร์ดพลังจิตด้วยครับ