ผู้เขียน หัวข้อ: ตำราพิชัยสงครามซุนวู ( Sun Tzu The Art of War ) - ภาคปฐมบท...  (อ่าน 7352 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ suwatchai

  • การนิ่งเงียบต่อคนโง่คนสามหาว เป็นทางยาวสู่เกียรติที่ใฝ่ฝัน ทั้งรักษาในศักดิ์ศรีเป็นเกราะกัน ไม่หุนหันฉันท์หมาวัดที่จัญไร เราจงดูราชสีห์น่าเกรงขาม ทุกผู้นามเกรงกลัวได้ไฉน ไม่เคยเห่าเคยหอนไล่ผู้ใด แล้วไซร้ใยมีเกียรติเป็นราชันต์...
  • สมาชิกที่ถูกแบน
  • **
  • กระทู้: 241
  • เพศ: ชาย
  • Death Is Beautiful & Sweet ....
    • MSN Messenger - suwatchai.com@windowslive.com
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล

   ซุนวู มีฉายาว่าจ่างชิง เกิดในสมัยที่ขงจื้อ ( ก่อน ค.ศ. 551 – 497 ) ยังมีชีวิตอยู่ ซุนวูเป็นชาวเล่ออาน ( อำเภอฮั่กหมิน มณฑลซานตุงในปัจจุบัน )ในแคว้นฉีปลายยุคซุนชิว เป็นยอดนักการทหารในสมัยโบราณ คัมภีร์พิชัยสงครามซุนวู เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก  เป็นที่ยกย่องบูชาของนักการทหารทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งในประเทศจีนและในต่างประเทศ
   
ซุนวูมีชีวิตอยู่ในยุคที่สังคมจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการที่ระบบศักดินาเข้าแทนที่ระบบทาส ซุนวูเกิดในตระกูลเถียนซึ่งเป็นตัวแทนทางการเมืองของชนชั้นเจ้าในแคว้นฉียุคนั้น ตระกูลเถียนเป็นตระกูลขุนศึกที่มีความรู้และประสบการณ์ทางทหารลึกซึ่งกว้างไกล สภาพแวลล้อมที่ดีเลิศเช่นนี้ทำให้ซุนวูได้เรียนรู้หลักพิชัยสงครามตั้งแต่เด็ก และได้ปูพื้นฐานในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางการทหารและนักทฤษฎิพิชัยสงครามของท่านในภายหลัง
   
เมื่อครั้งที่ซุนวู คนพื้นเมืองรัฐฉีเขียน Art of War ( ศิลปะแห่งสงคราม ) หรือ Sun Tzu Ping Fa ( ตำราพิชัยสงคราม ) เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว เหอลู่ ซึ่งตอนนั้นเป็นเจ้าครองนครรัฐหวู่ ประทับใจในสิ่งที่ได้อ่านมากจนถึงกับเรียกตัวซุนวูเข้าพบ
   
เหอลู่ซึ่งได้อ่านศิลปะแห่งสงครามทั้งสิบสามบท อยากทดสอบความสามารถของซุนวู จึงได้เกณฑ์เหล่านางกำนัลในวังทั้งสิ้น 180 นางมาให้ซุนวูฝึกวิชาการทหาร
   
ซุนวูแบ่งพวกนางออกเป็นสองกอง แต่ละกองให้สนมคนโปรดของเหอลู่เป็นหัวหน้า จากนั้นก็ให้พวกนางถือหอก แล้วถามขึ้นว่า “พวกเจ้ารู้หรือไม่ว่าทางไหนด้านหน้า ทางไหนด้านหลัง ทางไหนด้านขวา ทางไหนด้านซ้าย?”
   
พวกนางกำนัลทั้งหมดรับคำ ซุนวูจึงสั่งว่า “เมื่อข้าสั่งว่า หันหน้า พวกเจ้าต้องหันตรงมาทางข้า เมื่อข้าสั่งว่า หันซ้าย พวกเจ้าต้องหันซ้าย เมื่อข้าสั่งว่าหันขวา พวกเจ้าต้องหันขวา เมื่อข้าสั่งว่า กลับหลัง พวกเจ้าต้องหันทางขวาไปข้างหลัง”

ทั้งหมดรับคำ ซุนวูชูดาบอาญาสิทธิ์เพื่อแสดงถึงความเอาจริงเอาจัง แล้วเริ่มตีกลองให้สัญญาณและตะโกนคำสั่ง แต่ไม่มีใครเคลื่อนไหว พวกนางกลับหัวเราะกันคิกคัก
   
ซุนวูบอกพวกนางอย่างอดทนว่าคำสั่งอาจจะไม่ชัดเจน ดังนั้น ถ้าพวกนางไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ นั่นย่อมเป็นความผิดของผู้บัญชาการทัพ แล้วออกคำสั่งแก่พวกนางอีกครั้งหนึ่ง
   
เมื่อเสียงกลองและคำสั่งดังขึ้นเป็นคำรบสอง เหล่านางกำนัลก็พากันหัวเราะอีก คราวนี้ซุนวูพูดว่า “คำสั่งที่ไม่ชัดเจนและผู้รับคำสั่งไม่เข้าใจ เป็นความผิดของผู้บัญชาการทัพ แต่เมื่อคำสั่งแจ้งชัด ทว่าทหารไม่ปฎบัติ ตาม ย่อมเป็นความผิดของนายทหาร” หลังจากพูดเช่นนั้นซุนวูก็สั่งให้นำตัวหัวหน้าสนมทั้งสองไปประหารชีวิต
   
เมื่อเจ้าครองนครรัฐหวู่ ซึ่งมาชมการหัดทหารอยู่บนโรงยกพื้น เห็นนางสนมคนโปรดกำลังถูกนำตัวไปประหาร ก็รีบส่งคนสนิทมาบอกซุนวูว่า “ข้าเชื่อแล้วว่าท่านสามารถฝึกทหารได้ แต่ถ้าขาดนางทั้งสอง อาหารและเหล้าของข้าคงจะจืดชืดไร้รสชาติ ข้าอยากให้ปล่อยนางเสีย”
   
ซุนวูตอบว่าเมื่อได้รับโองการให้นำทัพแล้ว ขุนพลย่อมปฏิเสธคำสั่งของผู้ปกครองได้ตามที่เห็นควร และยืนกรานให้ประหารชีวิตนางสนมทั้งสองเพื่อเป็นตัวอย่าง แล้วแต่งตั้งนางกำนัลอีกสองคนให้เป็นหัวหน้ากองแทน
   
ผลคือการฝึกทหารดำเนินไปอย่างราบรื่น พวกนางกำนัลต่างปฏิบัติตามคำสั่งอย่างแข็งขันทั้งซ้ายหัน , ขวาหัน , กลับหลังหัน , คุกเข่า , ลุกขึ้น ด้วยความถูกถ้วนทุกประการ โดยไม่แสดงความเอือมระอาออกมาให้เห็นแม้แต่น้อยนิด
   
เมื่อเหอลู่ไปแล้ว ซุนวูตั้งข้อสังเกตว่า “ท่านเจ้าครองนครเพียงชมชอบถ้อยคำที่ตนเองไม่อาจกระทำได้จริงในทางปฎิบัติ”
   
เจ้านครรัฐหวู่ได้ยินคำวิจารณ์ของซุนวูในเวลาต่อมา ก็ให้รู้สึกอับอายยิ่งนักทั้งก็อดยอมรับความสามารถของซุนวูมิได้ จึงรีบแต่งตั้งซุนวูให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพหวู่
   
นับจากปีที่ 506 ก่อนคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ซุนวูกรีฑาทัพถึงห้าครั้งไปตีรัฐฉู่ ซึ่งยึดถือรัฐหวู่เป็นเมืองขึ้น ซุนวูพิชิตกองทัพรัฐฉู่ได้สำเร็จ และเข้าล้อมอิงตู้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉู่ ผลคือเจ้านครรัฐฉู่ต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองหนีและเกือบเอาชีวิตไม่รอด
   
ในช่วงยี่สิบปีหลังจากนั้น กองทัพรัฐหวู่สามารถพิชิตรัฐฉี , รัฐฉิน และรัฐเยว่ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นซุนวูแล้ว ผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนมิได้ทำตามคำสอนของซุนวู ทำให้ประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั้งถึงปีที่ 473 ก่อนคริสต์ศักราช รัฐหวู่ก็ดับสูญ...
   
ตำราพิชัยสงครามซุนวูมีเนื้อหาอุดมสมบูรณ์ ซ่อนนัยลึกซึ่งกว้างไกล เป็นผลึกรวมทฤษฎีกับการปฏิบัติจากการวิจัยศึกสงครามในยุคชุนชิว คัมภีร์เล่มนี้ได้สรุปปัญหาต่างๆ เช่น สงคราม ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ฯลฯ ไว้อย่างเป็นระบบ
   
ในปัญหาการสงคราม ซุนวูเห็นว่าการเมืองแบบสะอาดยุติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญตัดสินผลแพ้ชนะของสงคราม ซุนวูสอนให้แก้ปัญหาสงครามอย่างสุขุมรอบคอบ คัดค้านการทำสงครามแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เสนอให้รักษาเสถียรภาพทางการเมือง และเตรียมกำลังทหารให้พร้อม เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด      

ในทางยุทธศาสตร์ ซุนวูยกย่องยุทธศาสตร์ชนะโดยสมบูรณ์หรือชนะโดยไม่ต้องรบ  เสนอให้วางแผนยุทธ ศาสตร์เหนือข้าศึกหนึ่งขั้น รักษาความเหนือกว่าในแง่ดุลกำลังเปรียบเทียบ เตรียมการก่อนรบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเน้นการเอาชนะอริรัฐในทางยุทธศาสตร์และทางการทูต
   
ในทางยุทธวิธี ซุนวูเน้นการจู่โจมอย่างฉับพลัน รบเร็วเผด็จศึกเร็ว   

ในด้านบัญชาการรบ ซุนวูเสนอให้สร้างภาวการณ์และผ่อนคลายตามภาวการณ์ รู้เขารู้เรา เรียกร้องให้รบทั้งในแบบและนอกแบบ เลี่ยงจุดแข็งตีจุดอ่อนรู้จักพลิกเป็นฝ่ายกระทำ โจมตีและทำลายข้าศึกด้วยยุทธวิธีเหนือคาดหมาย
   
ในด้านศิลปะแห่งการนำทัพ ซุนวูเสนอให้ผูกใจด้วยพระคุณ สร้างเอกภาพด้วยพระเดช ปกครองด้วยระเบียบวินัย คำสั่งต้องเด็ดขาด ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ทั้งให้รางวัลและลงโทษทัณฑ์ ถนอมรักไพร่พล ไม่ทารุณเชลยศึก และเน้นการสร้างองค์กรตามลำดับชั้น   

แม้ว่าตำราพิชัยสงครามซุนวู จะมีส่วนที่เป็นกากอยู่บ้าง แต่เมื่อนำไปเทียบกับด้านผลึกภูมิปัญญาอันยอดเยี่ยมแล้ว ก็เป็นเพี่ยงจุดด่างเล็กน้อยในเนื้อหยกบริสุทธิ์ ไม่อาจลบล้างคุณค่าอันยิ่งใหญ่ได้เลย
   
ตำราพิชัยสงครามซุนวู มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อศาสตร์พิชัยสงครามในสมัยต่อ ๆ มา นักการทหารและนักพิชัยสงครามในยุคหลัง ล้วนได้ซึมซับเก็บรับประสบการณ์จากผลึกทฤษฎีในคัมภีร์นี้ไม่มากก็น้อย เพราะเหตุนี้เอง ซุนวูจึงได้ชื่อว่า “ปฐมาจารย์พิชัยสงคราม” อีกทั้งมีคำกล่าวทำนองว่า “คัมภีร์พิชัยสงครามทุกเล่ม ไม่พ้นขอบข่ายพิชัยสงครามซุนวู” “ซุนวูไม่อ้างคนรุ่นก่อน แต่คนรุ่นหลังจะไม่อ้างซุนวูหาได้ไม่” นี้คือฐานะทางประวัติศาสตร์ของซุนวูและคุณค่าของพิชัยสงครามซุนวูซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน
   
ตำราพิชัยสงครามซุนวู มีชื่อเสียงมากในต่างประเทศ แรกสุดได้แพร่เข้าไปในญี่ปุ่นเมื่อศตวรรษที่7 ต่อมาได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย เชโกสโลวะเกีย เกาหลี เวียดนาม ฯลฯ ตามลำ ดับ โดยแผ่ซ่านไปสู่ยังนักการเมือง นักการทหาร และนักธุรกิจชาวต่างประเทศ

ตำราพิชัยซุนวูแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บทหรือบรรพดังนี้...
 
•   บรรพ 1 ประเมินสถานการณ์
•   บรรพ 2 การทำศึก
•   บรรพ 3 ยุทธศาสตร์การรบรุก
•   บรรพ 4 รูปลักษณ์การรบ
•   บรรพ 5 พลานุภาพ
•   บรรพ 6 ความอ่อนแอ-เข้มแข็ง
•   บรรพ 7 การดำเนินกลยุทธ์
•   บรรพ 8 สิ่งผันแปร 9 ประการ
•   บรรพ 9 การเดินทัพ
•   บรรพ 10 ภูมิประเทศ
•   บรรพ 11 พื้นที่ต่างกัน 9 ลักษณะ
•   บรรพ 12 การโจมตีด้วยเพลิง
•   บรรพ 13 การใช้สายลับ