ประวัติพระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ)

หลวงพ่อเปิ่น นามเดิม เปิ่น นามสกุล ภู่ระหงษ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ เดือน ๙ ปีกุน ณ บ้านเลขที่ ๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายฟัก นางยวง ภู่ระหงษ์ เป็นบุตรคนที่ ๙ ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันรวม ๑๐ คน คือ
๑. นางจันทร์ อ่ำระมาด ถึงแก่กรรม
๒. นางอินทร์ คงประจักษ์ ถึงแก่กรรม
๓. นายเถิ่ง ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๔. นายชุ ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๕. นางไว ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๖. นายเลื่อน ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๗. นายไล้ ภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๘. นางรองภู่ระหงษ์ ถึงแก่กรรม
๙. พระอุดมประชานาถ “เปิ่น ภู่ระหงษ์”
๑๐. นางอางค์ เฮงทองเลิศ

ชีวิตปฐมวัยของหลวงพ่อเปิ่น
ด.ช.เปิ่น ในวัยเด็ก เป็นผู้มีอุปนิสัยที่ใฝ่สนใจศึกษาในศาสตร์ด้านวิชาอาคม โดยเริ่มแรกบิดาของท่านเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งคาถาอาคมให้บางส่วน ต่อมาทางครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากทำมาหากินที่จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ด.ช.เปิ่น จึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแดง แห่งวัดทุ่งคอก ผู้ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ที่สำคัญในช่วงนั้นนั่นเองที่เด็กชายเปิ่นเติบโตขึ้นเป็นนายเปิ่นแล้ว และได้พบเจอกับเพื่อนที่มีอยากเรียน อยากทราบในสายไสยเวทเหมือนกัน จึงเป็นที่ถูกคอกันยิ่งนัก ซึ่งต่อมาเพื่อนคนนี้ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนานามว่า “หลวงพ่อจำปา” (มรณภาพแล้ว) เจ้าอาวาสวัดประดู่ กรุงเทพมหานคร

ต่อมาทางครอบครัวของนายเปิ่นได้ย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิมคือตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมอีกครั้ง ซึ่งพอดีถึงเวลาอายุครบเกณฑ์ทหาร ในสมัยนั้นการเกณฑ์ทหารแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือทหารประจำการ กับทหารโยธา การเข้าเกณฑ์ทหารในครั้งนั้น นายเปิ่นได้ถูกคัดเลือกให้เป็นทหารโยธา ผลัดที่ ๒ แต่นายเปิ่นก็ไม่ได้เป็นทหารรับใช้ชาติ เพราะทางการประกาศยุบเลิกทหารโยธาเสียก่อน จึงต้องช่วยพ่อแม่ทำนาเรื่อยมา  สมัยนี้เองที่นายเปิ่นได้รับการถ่ายทอดวิชาสักยันต์อันเกรียงไกร จากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระ

หลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต หากเทียบกันในเรื่องไสยเวทคาถา จัดได้ว่าไม่เป็นสองรองใคร เพียงแค่ท่านเพ่งกระแสจิตเท่านั้น แม้จะมีอันตรายใด ๆ ก็ตามไม่สามารถกล้ำกรายเข้ามาได้ อีกทั้งเรื่องยาสมุนไพรรักษาโรค ที่อื่นหมดทางที่จะรักษาให้หายได้ แต่เมื่อได้มากราบนมัสการขอความเมตตาจากท่าน ท่านจะปรุงยาให้ไปต้มรับประทาน ก็หายได้เหมือนปาฏิหาริย์ คาถาอาคมต่างๆ ตลอดยาสมุนไพร ที่หลวงพ่อท่านรักและเมตตาศิษย์คนนี้เป็นพิเศษ วิชาการต่าง ๆ ท่านจึงถ่ายทอดให้โดยไม่ปิดบัง

เข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์
เมื่อถึงเวลาหนึ่งซึ่งนายเปิ่นคิดไปว่า ควรจะบวชเรียนเพื่อศึกษาในสายวิชาที่ได้ศึกษามานั้นอย่างจริงจัง  ซึ่งวิชาดังกล่าวจะให้ได้ผลอย่างจริงจังจิตใจจะต้องนิ่งสงบไม่มีทางใดดีกว่านอกจาก บวชเรียนเท่านั้น  จึงขออนุญาตคุณพ่อและคุณแม่ว่าอยากจะบวช ซึ่งทั้งสองท่าน ต่างก็มีความยินดีมีความปลื้มอกปลื้มใจที่ลูกมีจิตศรัทธาจะบวชเรียนในพระ พุทธศาสนานอกจากจะได้รับอานิสงส์จากการบวชของลูกแล้วก็ยังเป็นการที่ลูกจะ ตอบแทนพระคุณตามโบราณกาลที่ถือเนื่องกันมาโดยลำดับ

ดังนั้นวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน จึงเข้าสู่บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

บรรพชา โดยมีเจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทองอยู่  ปทุมรัตน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เปลี่ยน  ฐิตฺธมฺโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า

“ฐิตคุโณ”

เส้นทางธรรม วัดทุ่งนางหลอก – วัดโคกเขมา – วัดบางพระ
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตามหน้าที่ของพระนวกะ ว่างจากงานก็ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านชราภาพมากแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ จากท่านด้วย ท่านก็ได้ให้ความเมตตาอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ด้วยดี ที่สำคัญของพระปฏิบัติก็คือกัมมัฎฐาน จิตใจเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด เวทมนต์คาถาจะขลังหรือศักดิ์ก็เพราะจิต ด้วยเหตุดังกล่าวหลวงพ่อจึงเน้นการปฏิบัตินี้มาก และได้ฝึกหัดให้ชำนาญ ยิ่งกว่านั้นท่านยังได้รับถ่ายทอด อักขระโบราณ เป็นรูปแบบยันต์ต่าง ๆ การลงอาคมคาถา ตามทางเดินของสายพระเวทย์ กล่าวกันว่าอักขระที่หลวงพ่อเปิ่นลงหรือเขียนนั้น สวยงามมีเสน่ห์เป็นยิ่งนัก ในช่วง ๔ ปีกว่า ที่อยู่รับใช้ และเล่าเรียนวิชาอาคมต่าง ๆ จากหลวงพ่อหิ่ม ก็รู้สึกภูมิใจมากที่ไม่เสียทีได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาทำให้รู้และเข้าใจในวิชาการต่างๆ และอยู่ปรนนิบัติจนถึงกาลที่หลวงพ่อหิ่มละสังขาร (มรณภาพ) ซึ่งนับเป็นศิษย์องค์สุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติหลวงพ่อ

อย่างไรก็ดี การศึกษาเล่าเรียนใด ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แม้นได้รับจากหลวงพ่อหิ่มมาก็ยังไม่อิ่มในรสแห่งพระธรรม เสร็จจากงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อหิ่มแล้ว ก็ตั้งใจจะแสวงสัจธรรมต่อไปอีก จึงเข้าไปกราบลาหลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน พระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธมฺโม พระอนุสาวนาจารย์ เพื่อเดินธุดงควัตรแสวงหาธรรมเพิ่มต่อไป พระอาจารย์ทั้งสองต่างก็พลอยยินดีและอนุโมทนาในการที่จะปฏิบัติธรรมเพิ่มยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เมื่อได้รับอนุญาตจากอาจารย์ทั้งสองแล้ว จึงได้ออกเดินทางไปเรียนกับพระอาจารย์ท่านต่างๆ เช่น “หลวงพ่อโอภาสี” (พระมหาชวน) วัดบางมด เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นต้น และเมื่อได้ศึกษาวิชาจากหลวงพ่อโอภาสีแล้ว ท่านก็ได้จาริกธุดงค์ไปยังป่าเขาลำเนาไพรในจังหวัดต่างๆ อาทิเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่าได้จาริกธุดงค์ข้ามขุนเขาตะนาวศรี เข้าสู่เมืองมะริด เข้าสู่บ้องตี้เซซาโว่เกริงกาเวีย ซึ่งป่าแถบนั้นเป็นป่าที่ซ่อนอาถรรพ์ลี้ลับนานาประการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์ อันตรายจากสิ่งลี้ลับมนต์ดำแห่งป่า สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้หลวงพ่อเกิดความหวาดกลัวแต่ประการใด ตรงกันข้ามท่านกลับมุ่งความตั้งใจจะเข้าสู่แดนลี้ลับนี้ให้ได้

ช่วงนี้เองที่ข่าวคราวของท่านเงียบหายไปอย่างสนิท มีเพียงจากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าเจอท่านบ้าง ชาวเขา ชาวป่า พวกกะเหรี่ยง บอกว่าเจอท่าน และท่านได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวป่าชาวเขาเหล่านี้ กระทั่ง ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔  ปรากฏเหตุว่าชาวบ้านได้พบกับพระธุดงค์วัยเกือบสี่สิบมาปักกลดอยู่ชายทุ่ง ใกล้กับวัดทุ่งนางหรอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี พระธุดงค์องค์นี้ได้สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านอย่างมากมาย ทั้งปฏิปทาที่เคร่ง ทั้งสายวิชาพระเวท ทั้งยาสมุนไพรช่วยเหลือชาวบ้าน ยิ่งเกิดศรัทธาอันสูงสุดของชาวบ้านที่พุ่งตรงสู่พระธุดงค์รูปนี้ “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ ” คือองค์พระธุดงค์องค์นั้น ประจวบกับวัดทุ่งนางหลอก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีเจ้าอาวาสมีเพียงพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่สองสามรูป จนจะกลายเป็นวัดร้างอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันกราบอาราธนานิมนต์หลวงพ่อเปิ่นขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนางหลอก โดยตลอดระยะเวลาประมาณ ๒ ปี ที่หลวงพ่อเปิ่นได้ครองวัดแห่งนี้ ท่านก็ได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

ด้วยความเมตตาธรรม และเห็นว่าพอจะช่วยได้ หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จะช่วยเป็นผู้นำให้ ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถของท่านทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านทั้งหลายที่มีความเดือดร้อน เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ และพระคาถาอาคมต่าง ๆ ที่จำเป็น ชาวบ้านทั้งหลายต่างมีความชื่นชมศรัทธาเลื่อมใสท่านมากยิ่งขึ้น

ต่อมาหลวงพ่อท่านเกิดอาพาธอย่างกะทันหัน จึงต้องเข้ามารักษาตัวในเมือง ท่านจึงได้กลับมารักษาตัวที่วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตั้งใจไว้ว่าเมื่อหายป่วยดีแล้วก็จะกลับไปพัฒนาส่วนอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป

เมื่อหายจากอาการอาพาธแล้ว ท่านก็ตั้งใจจะกราบลาพระอาจารย์ที่วัดบางพระเพื่อเดินทางกลับไปยังวัดทุ่งนางหลอก ซึ่งช่วงนี้ประจวบเหมาะกับที่ชาวบ้านวัดโคกเขมา มาขอพระจากพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธัมโม ไปเป็นเจ้าอาวาสเพื่อพัฒนาวัด

 พระอาจารย์เปลี่ยน ท่านได้บอกชาวบ้านโคกเขมาว่า ดีแล้ว ศิษย์ของฉันเขาไปธุดงค์ เผอิญไม่สบายกลับมารักษาตัว หายดีแล้ว ก็จะกลับไปพัฒนาวัดทุ่งนางหรอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรีอีก ฉันเองก็ไม่อยากจะให้เขาไปไกล คิดถึงเขา ฉันจะให้เขาไปช่วยพัฒนาวัดโคกเขมาให้รับรองว่าไม่ผิดหวัง ศิษย์โปรดของ”หลวงพ่อหิ่ม” ชาวบ้านเมื่อได้ทราบเช่นนั้น พากันปลื้มอกปลื้มใจไม่ผิดหวังแน่นอน กิตติศัพท์”หลวงพ่อหิ่ม”ก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว ว่าแน่แค่ไหน จึงกราบอาราธนาให้ท่านไปช่วยสงเคราะห์พัฒนาด้วย ท่านก็ยินดีรับด้วยความเต็มใจ เพื่อฉลองพระคุณของพระอาจารย์ที่ได้ช่วยเหลือมาตลอด

คณะสงฆ์ในตำบลแหลมบัว ออกประกาศและแต่งตั้งให้ “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ” เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙ และนี่เป็นจุดแห่งบุญญาบารมีและชื่อเสียงของ”หลวงพ่อเปิ่น” เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา หลวงพ่อได้เริ่มพัฒนาวัดมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งช่วงนี้เองที่ชื่อเสียงด้านการสักยันต์ การรักษาโรคด้วยสมุนไพร และวัตถุมงคลต่างๆ ของหลวงพ่อเปิ่นเริ่มมีชื่อเสียงปรากฏขึ้นมา จนกล่าวได้ว่าช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมานี้ เป็นเวลาที่วัดโคกเขมาได้เจริญรุดหน้าขึ้นอย่างสูง

ในส่วนของวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อหลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต มรณภาพลงและหลวงพ่อเปิ่นออกจาริกแสวงธรรม ทางวัดบางพระเงียบเหงาลง ต่อมา”หลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน์” พระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อเปิ่นได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่หิ่ม จนมรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๕๑๖ เจ้าอาวาสวัดบางพระ จึงว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกัน ไปกราบอาราธนาหลวงพ่อเปิ่นให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ซึ่งในตอนแรกหลวงพ่อไม่ยอมมาด้วยสาเหตุว่าไม่มีใครดูแลวัดโคกเขมา ซึ่งเป็นเหมือนกับวัดที่ท่านสร้างขึ้นมาใหม่ ภาระและความรับผิดชอบยังอยู่ที่ท่าน แต่ผลที่สุดท่านก็ยอมที่จะมา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องหาพระมาดูแลวัดโคกเขมาให้ได้ก่อน ท่านจึงจะยอมกลับวัดบางพระ

ตำแหน่งและสมณศักดิ์
ในวันที่   ๒๕  เดือน  สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๑๘    อาศัยอำนาจตามความในข้อ   ๒๓    แห่งกฎมหาเถรสมาคม   ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ จึงแต่งตั้งให้ พระใบฎีกาเปิ่น ฉายา ฐิตคุโณ อายุ ๕๓ พรรษา ๒๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ โดยมี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ประทับตราประจำตำแหน่ง

ในวันที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ ให้พระฎีกาเปิ่น วัดบางพระ จังหวัดนครปฐม เป็น “พระครูฐาปนกิจสุนทร”

ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ หลวงพ่อท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์จาก พระครูฐาปนกิจสุนทร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็น “พระอุดมประชานาถ”

ด้วยการพัฒนาวัดและชุมชนมาโดยตลอด ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ถวายปริญญาบัตร พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ แก่องค์หลวงพ่อ แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อได้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ของประชาชนโดยแท้ ท่านไม่ทิ้งธุระทางการศึกษา พัฒนาสาธารณะประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาไว้มากเพื่อเป็นแนวทางแก่พระภิกษุ – สามเณรในพระพุทธศาสนา

ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ น. ณ โรงพยาบาลศิริราช หลวงพ่อได้ละสังขารด้วยอายุ ๗๙ ปี ๕๔ พรรษา ยังความอาลัย เศร้าโศก เสียใจแก่ปุถุชนจิต แต่ได้แสดงให้เห็นถึงมรณานุสสติแก่ศิษยานุศิษย์ คุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ในพระพุทธศาสนามากมาย จะเป็นตำนานแห่งแผ่นดินไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เป็นเครื่องเตือนสติให้พุทธศาสนิกชนได้รู้จักและปฏิบัติสืบสานกันต่อไป