ประวัติวัดบางพระ

วัดบางพระ ชื่อเดิมคือ วัดปากคลองบางพระ สังกัดมหานิกายอยู่ในการปกครองคณะสงฆ์ ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่วัด ๓๑ ไร่ ๑ งาน ๖๐ ตารางวา และธรณีสงฆ์ ๒๒ ไร่ ๒ งาน ๑๙ ตารางวา

วัดบางพระสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๒๐ จัดอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างที่แน่ชัด เพราะคนในยุคนั้นมิได้มีการบันทึกไว้ ที่นำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ในปัจจุบันก็คือภาพจิตกรรมฝาผนังภายในอุโบสถหลังเดิมซึ่งกว้างประมาณ ๔ วายาวประมาณ ๘ วา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาธรรมดาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ภายในอุโบสถหลังเดิมมีพระประธานเป็นพระ ปฏิมากรหินทรายแดงประทับนั่งปางมารวิชัยลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อสิทธิมงคล” เป็นองค์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักเบื้อง หน้าพระประธานเป็นพระพุทธปฏิมาประทับนั่งปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๒๖ นิ้ว และ ยังมีพระพุทธปฏิมาประทับนั่งทางด้านขวามือองค์พระประธาน ๓ องค์ และทางด้านซ้ายมือ องค์พระประธานอีก ๓ องค์ มองกันตามแบบแล้วอุโบสถหลังเก่าของวัดบางพระ ช่างทรงคุณค่ายิ่งนัก ลักษณะทั่วไปก่ออิฐถือปูน หลังคาลด ๒ ชั้น ประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกา ที่สำคัญคือหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินธรรมดา กรมศิลปากรจัดให้อยู่ในดินเผาสมัยอยุธยาตอนกลาง พระประธานที่เป็นพระปฏิมากรหินทรายแดง จัดให้อยู่ในสมัยอโยธยาสุพรรณภูมิ (อู่ทอง)

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เป็นภาพเก่าแก่ เป็นผลให้ทราบถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับอดีตขององค์พระพุทธเจ้า มีการปฏิสังขรณ์เมื่อสมัยรัชการที่ ๔ คงมีการเขียนทับและแก้ไขเพียงเล็กน้อย แต่พื้นเบื้องหลังยังคงใช้สีอ่อน มีดอกไม้ร่วงอันเป็นคติของอยุธยา ภาพที่น่าสนใจอีกภาพหนึ่งก็คือ “ภาพมารผจญ” เป็นภาพที่พระพุทธเจ้าทรงจีวรแดง ประทับนิ่งบนดอกบัวแก้ว แม่ธรณีบีบมวยผม นับเป็นศิลปะแบบเก่าที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นภาพที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง สีในภาพใช้เพียง ๔ สี คือ ขาว ดำ แดง และเขียวใบแค

มาถึงช่วงตอนเจริญรุ่งเรืองอย่างสุดขีดของวัดบางพระ ในช่วงนั้นเมื่อ เจ้าอธิการ หิ่มอินทโชโต เข้ามาปกครองวัดบางพระ ในสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ที่เหมือนกันของเจ้าอาวาสวัดบางพระทุกรูป คือ จะเป็นพระนักปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทรงซึ่งคุณธรรมมีเมตตาธรรมสูงมาก เมื่อมาถึงหลวงปู่หิ่ม เป็นยุคที่วัดบางพระ เจริญอย่างยิ่ง ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ นอกจากนี้แล้วหลวงปู่หิ่มยังสร้างพระพุทธบาทจำลอง เพื่อช่วยเหลือศรัทธาชาวบ้านที่ใคร่จะไปนมัสการพระพุทธบาทจำลอง ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ไกล ต้องเสียค่าใช้จ่ายกันสูง พระพุทธบาทจำลองนี้ มีขนาดกว้าง ๑.๑๐ เมตร ยาว ๔.๒๐ เมตร สร้างด้วยโลหะ ทุกกลางเดือนสี่จะมีงานเทศกาลเพื่อให้ประชาชนชาวบ้านได้นมัสการ ปิดทองกราบไหว้พระพุทธบาทจำลอง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ นั้น เป็นไปในด้านวัตถุ ในด้านทางจิตใจ ในด้านทางสายวิชา หลวงปู่หิ่มนับเป็นหนึ่งในส่วนนี้ ท่านเก่งในทางปรุงยาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างน่าอัศจรรย์ คนบ้า คนคลั่ง หรือโรคมะเร็ง เมื่อมาหาหลวงปู่หิ่มเพื่อให้ท่านรักษา หลวงปู่หิ่มจะให้คนปั้นหุ่นดินเหนียวแทนตัวคนป่วย ลงวันเดือนปีเกิดพร้อมด้วยเงินค่าครู ๑ สลึง (สมัยนั้น) แล้วท่านจะนั่งตรวจดูอาการคืนหนึ่งก่อน จึงจะปรุงยาให้ เมื่อคนไข้ได้รับประทานแล้วจะหายแทบทุกราย

ในส่วนสายพระเวท ด้านอักขระพระคาถาไม่เป็นที่เปิดเผยกันมากนักทราบเพียงแต่ว่า หลวงปู่หิ่มท่านสุดยอดในสายพระเวทคาถา มีอะไรแปลก ๆ อยู่เสมอ ในส่วนการสักยันต์ นั้นหลวงพ่อเปิ่นท่านเรียนมาจากหลวงปู่หิ่มทั้งหมด พ.ศ.๒๔๙๕ หลวงปู่หิ่มได้มรณภาพ ลง พ.ศ.๒๔๙๖-พ.ศ.๒๖๑๖ พระอธิการทองอยู่ ปทุมรัตน เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๕๑๘-พ.ศ.๒๕๔๕ พระอุดมประชานาถ(หลวงพ่อเปิ่น) เป็นเจ้าอาวาส

ความเป็นมาของอุโบสถหลังเก่าของวัดบางพระนั้น ไม่มีการบันทึกเอาไว้ว่าสร้างในสมัยใด มีเพียงการคาดคะเนตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน คำนวณจากอายุของเนื้อแท้ของถาวรวัตถุ ลักษณะอุโบสถเป็นแบบมหาอุตม์ พื้นที่ภายในกำแพ ลงแก้วยกดินสูง มีสถูปเจดีย์ล้อมรอบสี่ด้าน ด้านหน้าหันออกสู่แม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน) ด้านหน้ามีเรือสำเภาก่ออิฐถือปูน กลางลำเรือก่อเป็นเจดีย์ เป็นการบ่งให้ทราบว่าแถบถิ่นแถวนี้มีการค้าขายกันทางเรือ เมื่อชุมชนขยาย ผู้คนเข้ามาอาศัยกันมากขึ้น ล่วงมาจนหลวงปู่หิ่มท่านเล็งเห็นว่าอุโบสถหลังเก่านั้นเล็กเกินไป เมื่อทำสังฆกรรมจึงไม่สะดวก ไม่พอที่จะรองรับญาติโยมเป็นจำนวนมาก และสภาพของโบสถ์ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อุโบสถหลังใหม่ของวัดบางพระจึงได้สร้างขึ้นในสมัยนั้น การสร้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ท่านได้เกณฑ์พระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านมาช่วยกันทำ โดยการชักลากไม้ในป่าแถวนั้น โดยมีชาวบ้านมาช่วยกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน เสาที่สร้างอุโบสถเป็นไม้ขนาดใหญ่ ส่วนเพดานปูด้วยแผ่นไม้กระดานทั้งหมด ภายในอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อโต (พระประธาน) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคยปรากฏว่ามีคนเห็นองค์หลวงพ่อโตมีน้ำตาไหลออกมา

หลวงปู่หิ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๐ จนกระทั่งล่วงมาถึงยุคสมัยของหลวงพ่อเปิ่น ปกครองวัดบางพระ ศาสนวัตถุเริ่มทรุดโทรม อุโบสถที่ทำสังฆกรรมซึ่งทำมาจากไม้เริ่มผุกร่อน เพดานหักพัง มีรูรั่วอยู่ทั่วไป เวลาฝนพระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรมไม่สะดวก ได้รับความเดือดร้อน จึงเริ่มที่จะทำการบูรณะกันใหม่ เปลี่ยนจากเสาไม้มาเป็นเสาปูน เพดานเทคาน พื้นเพดานเทปูนทั้งหมดเพื่อความคงทน ในการบูรณะนั้นค่อนข้างจะเป็นงานใหญ่ เพราะต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก ช่วงนั้นสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ร้านค้า บริษัท โรงงาน ได้ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลวงพ่อเปิ่นในสมันนั้นยังไม่ค่อยมีชื่อเสียง ถนนหนทางที่เข้าไปยังวัดยังขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อฝนตกสภาพถนนกลายเป็นโคลน สาธุชนที่เข้าวัดบางพระในเวลานั้น เข้าไปด้วยพลังศรัทธาอันสูงส่งต่อหลวงพ่อเปิ่น เข้ากราบด้วยศรัทธาอันใสบริสุทธิ์ บุญบารมีของหลวงพ่อเปิ่นในการจรรโลงพระศาสนา ในการสร้างศาสนวัตถุ แม้ท่านจะลำบากตรากตรำทำงานหนักเพียงใด ท่านไม่เคยบ่นหรือย่อท้อ ยิ้มแย้มแจ่มใส เต็มไปด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่ง เมตตาธรรมที่ท่านมอบให้กับสาธุชนที่เข้ากราบ ปัจจุบันต่างยอมรับกันว่าหลวงพ่อเปิ่นท่านเป็นพระแท้ที่สร้างสมบารมีด้วยการพัฒนาจนลือเลื่องยอมรับกันไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (หลวงพ่อสำอางค์ ปภสฺสโร) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ซึ่งท่านก็ได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อจากหลวงพ่อเปิ่นได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

ลำดับเจ้าอาวาส

รูปที่ ๑ ฯลฯ พ.ศ. ถึง พ.ศ. (ไม่ปรากฏข้อมูล)

รูปที่ ๒ ฯลฯ พ.ศ. ถึงพ.ศ (ไม่ปรากฏข้อมูล)

รูปที่ ๓ พระอธิการเฒ่า พ.ศ.๒๓๓๐ ถึง พ.ศ.๒๓๗๙

รูปที่ ๔ พระอธิการวัชร์ พ.ศ.๒๓๘๐ ถึง พ.ศ.๒๔๑๙

รูปที่ ๕ พระอธิการแพ พ.ศ.๒๔๒๐ ถึง พ.ศ.๒๔๔๐

รูปที่ ๖ เจ้าอธิการหิ่ม  อินฺทโชโต พ.ศ.๒๔๔๑ ถึง พ.ศ.๒๔๙๕

รูปที่ ๗ พระอธิการอยู่ปทุมรัตน พ.ศ.๒๔๙๖ ถึง พ.ศ.๒๕๑๖

รูปที่ ๘ พระอุดมประชานาถ (เปิ่น  ฐิตคุโน) พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๕๔๕

รูปที่ ๙ พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (สำอางค์  ปภสฺสโร) พ.ศ.๒๕๔๕ ถึงปัจจุบัน

วัดบางพระสังกัดมหานิกาย  อยู่ในการปกครองคณะสงฆ์ตำบลวัดละมุด(วัดศรีมหาโพธิ์)  อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม ภาค  ๑๔